ราชาที่ดินเมืองไทย คืออีกสมญาของ เจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐกิจอันดับ1 ของไทยวัย 79 ปี ชื่อของเขาถูกจดจำหลายแง่มุม รวมทั้งผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า คลอด 3 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจที่เจริญนิยมซื้อเก็บไว้แล้ว ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นของสะสมที่เจริญโปรดปรานมากเป็นพิเศษ พอร์ตอสังหาริมทรัพย์ของเขา นอกจากที่ดินแล้ว ยังมีอาคารอีกสารพัดประเภทกระจายอยู่ตาม ย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยสไตล์ที่ซื้อแล้วเก็บไม่ขายออก เพราะเจริญมีความเชื่อที่ว่ายิ่งนานมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ยิ่งงอกเงย ส่งผลให้พอร์ตอสังหาริมทรัพย์ของเจริญใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น สำนักข่าวไทยเคยรายงานข่าว อ้างอิงผลการศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นรัฐไร้พรมแดนว่า ชายผู้นี้ครอบครองที่ดินทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 6.3 แสนไร่ แต่ข้อมูลอีกด้านบอกว่าเจริญมีที่ดินในมือเพียง 3 แสนไร่เท่านั้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเจริญเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในมือโดยให้นโยบายกับทีมงามว่า ให้พัฒนาที่ดินให้เกิดรายได้และสร้างความเจริญต่อชุมชน ความคิดดังกล่าวค่อยๆ ต่อยอดกระทั่งกลายเป็นอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ที่อาจกล่าวได้ว่า ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
โครงการในกลุ่ม บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวริรด์ฯ
ปัจจุบัน กิจการในกลุ่มทีซีซี คอร์ปอ เรชั่น ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทและอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองหลักทั่วประเทศ เป็นเจ้าของโรงแรมตั้งแต่บัดเจ็ตโฮเต็ลไปจนถึงโรงแรมระดับ 6 ดาว ไม่รวมที่ดินแปลงงามในย่านเมืองเก่าที่หาไม่ได้แล้วอีกมากมาย รวมถึงพื้นที่เกษตรนับแสนไร่ในเขตภาคเหนือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เจริญปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่หลายครั้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากระบบปิดมาเป็นตลาดเสรี และแสวงหาโอกาสใหม่หลังยุคทองสัมปทานสุราสิ้นสุดลง ก่อนความคิดของเจริญ ตกผลึกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
2 เสาหลัก อสังหาฯ
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของเจริญแบ่ง ออกเป็น 2 เสาหลัก เสาแรกมี บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท จำกัด หรือ” ทีซีซีแลนด์ “เป็นเสาหลัก เสานี้ มี โสมพัฒน์ กับ วัลลภา (ลูกสาวคนที่ 2 ของเจริญ-คุณหญิงวรรณา) โสมพัฒน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มตามลำดับ (วัลลภาเป็นผู้จัดระเบียบ โฉนด กองมหึมา ซึ่งเป็นฐานในการรุกธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเจริญในเวลาถัดมา) โมเดลธุรกิจ คืออสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
ส่วนเสาที่ 2 คือ บริษัท ทีซีซีแอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย)ฯ หรือ “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” เป็นเสาหลักมี ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โมเดลธุรกิจคือ อสังหาริมทรัพย์ครบวงจร อีกเช่นกัน ? คนภายนอกมักสับสนว่า 2 เสาหลัก อสังหาฯของเจริญแตกต่างกันอย่างไร นักสังเกตการณ์คนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า ความต่างระหว่าง 2 เสานี้คือ เสาแรก (ทีซีซี แลนด์) เน้นพัฒนาที่ดินที่เจริญกับคุณหญิงวรรณาสะสมมาตั้งแต่ก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ และพัฒนาเพื่อเช่าเท่านั้น ส่วนเสาที่ 2 (ทีซีซี แอสเซ็ทส์) เน้นพัฒนาที่ดินที่กว้านซื้อเข้ามาใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อเช่าจากที่ดินเดิมด้วย
โครงการรอพัฒนา & ปรับปรุง ทีซีซี แลนด์
ทีซีซี แลนด์
” ทีซีซี แลนด์” เดิมมี แคปปิตอลแลนด์ จากสิงคโปร์เป็นพันธมิตรถือหุ้น 40% ใช้ชื่อ บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ฯ พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูออกมาขายหลายโครงการ ก่อนเจริญ ขอซื้อหุ้นคืนเนื่องจากแนวคิดธุรกิจต่างกัน ฝ่ายสิงคโปร์มุ่งพัฒนาเพื่อขาย แต่เจริญกลับมองว่าเมื่อเวลาผ่านไปที่ดินและอาคารราคาจะสูงขึ้นๆให้เช่าเป็นประโยชน์มากกว่า เมื่อเจริญปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ ใหม่ ประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก อสังหาริมทรัพย์ถูกยกให้เป็น 1 ใน 5 และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถูก แยกออกเป็น 2 เสา เสา 1 คือ “ทีซีซี แลนด์” อีกเสาคือ “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” (จะกล่าวต่อภายหลัง) ตามที่กล่าวข้างต้น
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทีซีซี แลนด์ ขยับโครงสร้างธุรกิจหลายครั้ง แต่ที่ถือเป็นการวางหมากธุรกิจใหม่ ครั้งสำคัญ คือ ตั้ง บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ฯ ขึ้นมารับผิดชอบธุรกิจโรงแรม สำนักงาน และ ค้าปลีก โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมขึ้นตรงกับ วัลลภา รองประธานกลุ่ม ส่วน 2 กลุ่มที่เหลือ (สำนักงานและค้าปลีก) ไตรโสรัส ผู้สามีเป็นผู้รับผิดชอบ ปี 2558 ทีซีซี แลนด์ ปรับแนวทางธุรกิจค้าปลีกแบบพลิกด้าน เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมตั้งบริษัทใหม่ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ เอสเตทฯ ขึ้นมารับผิดชอบธุรกิจค้าปลีกโดยตรง
ค้าปลีกสไตล์เจริญ
หลัง ปักหมุดธุรกิจค้าปลีกด้วย โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ริมฝั่งเจ้าพระยา ย่านเจริญกรุง ในปี 2555 ทีซีซี แลนด์ เปิดเกมรุกขยายธุรกิจค้าปลีกต่อเนื่อง ด้านหนึ่งคือต่อยอดความสำเร็จของ เอเชียทีค ออกไปหัวเมืองท่องเที่ยว (เป้าหมาย 6 แห่ง) อีกด้านคือ รีโนเวตและเปลี่ยนรูปแบบศูนย์การค้าที่มีอยู่เดิมเพื่อจับตลาด คนเจนวาย และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างโครงการที่จอดรถริมทางหลวง ตามเป้าหมายพื้นที่ค้าปลีกของ เจริญจะเพิ่มจาก 1. 5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เป็น 3.5-4 แสนตร.ม.ในปี 2562 มูลค่าทรัพย์สินรวมจาก 2 หมื่นล้านบาทวันนี้เป็น 4 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า
โรงแรมเรือธงอนาคต
กล่าว สำหรับกลุ่มโรงแรม ในสังกัด ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ แม้ปัจจุบัน สถานะนับเป็นลำดับ 2 รองจากกลุ่มค้าปลีก แต่อนาคตอันใกล้ กลุ่มโรงแรมกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักของ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรงแรมในสังกัด ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ มากกว่า 20 แห่ง (เฉพาะในประเทศ) จาก 4 แบรนด์ (แมริออท-อิมพีเรียล-อินน์ และ ริทซ์-คาร์ลตัน ) คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่กลุ่มค้าปลีก ปรับเปลี่ยน กลุ่มโรงแรมก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทั้งแปลงโฉมของเดิม และเติมของใหม่ลงไปในพอร์ต พร้อมกับ”แผนรุกใหม่”โดยต้นปีที่ผ่านมา ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ประกาศแผนเปิดโรงแรมหรูที่จับมือร่วม กันพัฒนากับ แมริออท เชนโรงแรมระดับโลก 7 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ แบงค็อก แมริออท ควีนส์ ปาร์ค สุขุมวิท (อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค เดิม)หนึ่งในโรงแรมระดับตำนานของกรุงเทพฯ พร้อมกับเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าที่ วัลลภาประกาศว่า รายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงแรม(เฉพาะในประเทศ) จะขึ้นมาเป็น 70 % ของรายได้รวม (ปัจจุบัน 40 % ) ซึ่งตีความเป็นอื่นไม่ได้นอกจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะก้าวขึ้นอยู่แถวหน้าของ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์
ลำดับแนวรุกที่ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์เสาหลักอสังหาริมทรัพย์หมายเลข 1 ของเจริญคือมุ่งโต ด้วยแนวคิดอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร และไปสู่เป้าหมายการสร้างมูลค่าจากอาคารที่มีอยู่เดิม พัฒนาโครงการใหม่บนที่ดินสะสม แสวงหาโอกาสจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ดังที่วางน้ำหนักแนวรุกอนาคตไว้ที่กลุ่มโรงแรมเป็นสำคัญ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 23 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.