ผู้เขียน: ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา
ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวที่เกิดขึ้นในแหล่งปลูกต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลูกหรือข้าวป่าล้วนมีมากมาย อีกทั้งนิเวศที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวเฉพาะแหล่ง จนเกิดการสร้างอัตลักษณ์ของพันธุ์ข้าวประจำถิ่น
ภายหลังจากที่ประเทศเดินเข้าสู่สังคมการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรชาวนาถูกตั้งกฎกติกาใหม่แล้วจำยอมที่จะต้องนำพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงมาใช้แทนข้าวพื้นเมือง ทั้งๆ ที่หลายแห่งพบว่าพันธุ์ข้าวปรับปรุงไม่ได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นนั้นเลย
จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะไม่มีข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหลืออยู่อีกต่อไป นั่นหมายถึงว่าพันธุ์ข้าวที่บรรพบุรุษได้คัดเลือกไว้นับเป็นเวลาพันๆ ปี คงจะสูญพันธุ์ไป โดยไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก
แต่เมื่อราวปี 2556 ชาวนาบ้านน้อยเลิงฮัง หรือบ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 ครัวเรือน ได้รวมตัวกันเพื่อคิดจะกอบกู้พันธุ์ข้าวท้องถิ่น แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ‘หอมดอกฮัง’” เพื่อตามหา เรียนรู้ ฟื้นฟูและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เคยเป็นเชื้อแนวในนาโคกเพื่อนำกลับมาปลูกและขยายพันธุ์
(คำ ว่า “ฮัง” เป็นภาษาท้องถิ่นที่เรียกต้นรัง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่น พอถึงเดือนมีนาคม-เมษายน จะออกดอก มีกลิ่นหอม จึงได้นำมาเป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้กลุ่มที่ชื่อว่า หอมดอกฮัง เพราะตั้งตามนิเวศท้องถิ่น ไม่ใช่ชื่อพันธุ์ข้าว)
หลายปีผ่านไปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหอมดอกฮังต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวประจำถิ่นผ่านความรู้จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร ในแปลงนาอินทรีย์ที่ใช้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติ จนสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้จำนวน 99 สายพันธุ์ ในปัจจุบัน
ทีมงานเทคโนฯ ลงพื้นที่บ้านโคกสะอาด เพื่อติดตามการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ‘หอมดอกฮัง’” จากตัวแทนกลุ่ม จำนวน 3 คน
ท่านแรกที่ถือเป็นคนสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผลักดันเจตนารมณ์ของกลุ่มให้เป็นผลสำเร็จจนถึงวันนี้ คือ คุณดาวิทย์ พุทธิไสย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสะอาด สกลนคร ได้กล่าวว่า ข้าวเหล่านี้เป็นสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หายไปจากสังคมชาวไทยนานแล้ว โดยเฉพาะในท้องถิ่นนี้ แต่ได้กลับกลายมาเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว
ดังนั้น ข้าวพันธุ์พื้นเมืองทั้งหมดนี้ทางประธานกลุ่มคือ คุณนฤทธิ์ ไชยรักษ์ พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มได้ร่วมมือกันฟื้นฟูขึ้นมา และสามารถรวบรวมได้ถึง 99 สายพันธุ์ ครั้นพอประสบความสำเร็จในการรวบรวมพันธุ์แล้ว จึงได้ตั้งชื่อกลุ่มของตัวเองว่า “กลุ่มข้าวดอกฮัง”
คุณดาวิทย์อธิบายว่า ลักษณะพื้นที่การปลูกข้าวของชาวบ้านในแถบนี้จะอยู่บนที่สูงหรือโคก และมีต้นไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่จำนวนมากคือ ต้นรัง และพอถึงเดือนมีนาคม-เมษายน จะออกดอก มีกลิ่นหอม
“ฉะนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเป็นการสื่อให้คนทั่วไปรู้จักกลุ่มเป็นอย่างดี ทางสมาชิกกลุ่มจึงได้เห็นชอบให้นำรูปและชื่อดอกต้นรังหรือดอกฮัง มาเป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้ประจำกลุ่ม”
สำหรับบทบาทของคุณดาวิทย์จะรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลุ่ม ทำหน้าที่ประสานงานในกิจกรรมต่างๆ ช่วยในเรื่องการดูแลด้านการตลาด รวมถึงได้มีการติดต่อโดยตรงกับทางสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด ซึ่งถือเป็นแหล่งทุนที่ทำให้ชาวบ้านสามารถนำเงินมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้
คุณดาวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้งหมดนี้ ถูกผลิตและจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น เป็นการผลิตสายพันธุ์ข้าวที่ผ่านกระบวนการคัดสายพันธุ์อย่างถูกต้อง เพื่อให้เป็นข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์แท้และบริสุทธิ์อย่างแท้จริง และสามารถจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
“จากที่ผ่านมา ชาวบ้านได้บริโภคข้าวที่ไม่ปลอดภัยทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ฉะนั้น ในวันนี้พวกเขาจึงลุกขึ้นเพื่อแสวงหาความปลอดภัยของชีวิตด้วยการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อนำมาปลูกแบบอินทรีย์ที่ตั้งใจจะนำมาบริโภคในครัวเรือนมากกว่าเพื่อการค้า
ดังนั้น หากชาวนาทั่วประเทศได้มีโอกาสปลูกข้าวที่ดีให้แก่ครอบครัวก็จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพดี และที่สำคัญกลุ่มนี้มีหลักและปรัชญาความคิดที่ว่า “การเป็นชาวนาถือเป็นความภาคภูมิใจ มีเกียรติ ศักดิ์ศรีและมีคุณค่า เพราะสามารถกำหนดราคา กำหนดชื่อพันธุ์ข้าวได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งนโยบายของใคร”
อีกท่านที่มีส่วนในการนำทีมกลุ่มคือ คุณนฤทธิ์ ไชยรักษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพันธุ์ พื้นเมือง “หอมดอกฮัง” ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 4 บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โทรศัพท์ 08-2855-2766
คุณนฤทธิ์กล่าวว่า ข้าวหอมดอกฮังเป็นชื่อกลุ่มที่ตั้งตามนิเวศของพื้นที่ เนื่องจากบ้านโคกสะอาดมีชื่อเดิมว่า บ้านน้อยเลิงฮัง ซึ่งคำว่า ฮัง เป็นภาษาท้องถิ่นที่เรียกต้นรัง เป็นต้นไม้ที่มีจำนวนมากในพื้นที่ จึงได้นำมาเป็นชื่อกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และไม่ใช่เป็นชื่อพันธุ์ข้าว
คุณนฤทธิ์ชี้ว่า ข้าวพื้นเมืองในชื่อ “ข้าวหอมดอกฮัง” เป็นสายพันธุ์แท้ที่ผ่านกระบวนการคัดตามกรรมวิธีดั้งเดิม จนกระทั่งได้เป็นพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ มีจำนวน 99 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้มีตระกูลข้าวหอมจำนวน 40 สายพันธุ์ ทั้งนี้ ในแต่ละสายพันธุ์มีความโดดเด่นทางด้านคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อการบริโภค อาทิ หอมนิล ปล้องแอ้ว เหนียวแดง มะลิแดง ก๋ำน้อย ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้หายไปจากท้องถิ่นนี้นานกว่า 30 ปี จึงเป็นเหตุผลให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อจะได้นำสายพันธุ์เหล่านี้กลับมาเพาะปลูกในพื้นที่อีกครั้ง
แล้วยังชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดมุ่งหมายของกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ‘หอมดอกฮัง’” ประกอบไปด้วย 1. เพื่อรวบรวมสายพันธุ์ข้าวประจำถิ่นที่เคยมี 2.ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านในท้องถิ่นและที่อื่นนำข้าวเหล่านี้ไปปลูกบริโภคเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และ 3.ต้องการทำเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา ถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของข้าวแต่ละสายพันธุ์
ประธานกลุ่มกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเคยมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวกับทางกรมการข้าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวซึ่งกันและกัน พร้อมกับได้เผยแพร่กระจายพันธุ์ข้าวลงไปสู่ชุมชน ในกลุ่มต่างๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคราชการและเอกชน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากทาง อบต.อุ่มจาน เพื่อนำมาจัดทำกิจกรรมต่างๆ
“นอกจากนั้น ผลผลิตข้าวที่ได้จะนำไปแปรรูปเป็นข้าวกล้องและข้าวฮาง ขณะเดียวกัน ยังต้องการส่งเสริมให้มีการปลูกและบริโภคข้าวบางสายพันธุ์ที่มี ประโยชน์ต่อร่างกายสูง อย่างข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวก๋ำน้อย ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวฮางสามสี ปล้องแอ้ว ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวเจ้า 15 ฯลฯ เป็นต้น โดยข้าวเหล่านี้จะต้องปลูกในแบบอินทรีย์ที่สมบูรณ์เท่านั้น โดยกำหนดราคาจำหน่าย ถ้าเป็นข้าวกล้องอินทรีย์ กิโลกรัมละ 80 บาท ถ้าเป็นข้าวฮาง กิโลกรัมละ 85 บาท”
พันธุ์ข้าวทั้ง 99 สายพันธุ์ จะถูกปลูกทุกปี เพื่อเป็นการเก็บรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ไว้ให้มีตลอดเวลา คุณนฤทธิ์เผยว่า ทุกครั้งก่อนเริ่มปลูกแต่ละรอบจะต้องมีการตรวจสอบแปลงนาของสมาชิกเพื่อให้แน่ใจว่ามีความพร้อมกับการปลูกแบบอินทรีย์หรือไม่
“แต่กระนั้นยังมีความได้เปรียบเชิงนิเวศที่เหมาะกับการทำนาแบบอินทรีย์ เพราะมีต้นไม้ใหญ่เล็กล้อมรอบผืนนา ถือเป็นการป้องกันสารเคมีจากแหล่งอื่น ซึ่งลักษณะพิเศษเช่นนี้ไม่ค่อยมีในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม เนื้อที่ทำนาของสมาชิกแต่ละคนมีจำนวนเนื้อที่ต่างกัน”
ประธานกลุ่มระบุว่า ชาวบ้านจะปลูกข้าวนาปีเท่านั้น เพราะนิเวศของชุมชนแห่งนี้มีลักษณะที่เนินสูงหรือโคก แล้วใช้เฉพาะน้ำจากธรรมชาติทำนา โดยเริ่มทำนาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แล้วไปเก็บเกี่ยวราวเดือนพฤศจิกายน เริ่มดำข้าวทุกสายพันธุ์ แต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะต่างกันเพราะข้าวแต่ละสายพันธุ์มีอายุต่างกัน มีทั้งข้าวเบามาก เบากลาง และข้าวหนัก
สำหรับชาวบ้านต่างถิ่นที่สนใจต้องการนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปปลูก ประธานกลุ่มชี้ว่า จะต้องมาเข้าอบรมความรู้และเทคนิค ทั้งนี้ เพราะการปลูกข้าวพื้นเมืองต้องมีเทคนิคและต่างกับการปลูกพันธุ์ข้าวทั่วไป
คุณสมัย เป็นสมาชิกกลุ่มที่เก่าแก่บอกว่า เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้รับการสั่งสอนจากพ่อ-แม่ และบรรพบุรุษให้ทำนากัน แต่กลับจะต้องไปหาซื้อพันธุ์ข้าวจาก แหล่งอื่นมาปลูก ภายหลังที่ปลูกได้สัก 2 ปี ปรากฏว่าเมล็ดข้าวแห้ง ปลูกต่อไปอีกไม่ได้ อีกทั้งจะต้องหมั่นใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพดินเสีย จึงต้องไปหาซื้อมาใหม่อีกเพื่อนำมาผสมกัน ขณะเดียวกัน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเก่าแก่ค่อยๆ หายสาบสูญไปเพราะคนรุ่นหลังปลูกแล้วไม่เก็บไว้ทำพันธุ์
“ครั้นพอมีหลายหน่วยงานเข้ามาสอนแนะนำเพื่อให้เก็บรักษาอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ จึงทำให้ชาวบ้านตื่นตัว แล้วศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จากนั้นชาวบ้านเริ่มขยายกลุ่มออกไปยังครอบครัวอื่นอีกเป็นจำนวนมาก บางรายมีรายได้จากการขายทั้งข้าวและเมล็ดพันธุ์ หรือบางรายนำไปสีแล้วขาย”
ส่วนคุณสมัยจะปลูกข้าวเพื่อเน้นขายเมล็ดพันธุ์ โดยได้คัดสายพันธุ์จากแปลงนาหลักที่ปลูกอย่างมีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักการปลูกแบบอินทรีย์ ใช้พันธุ์ข้าวที่ปลูกจำนวน 2 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วใช้ปุ๋ยคอกจากมูลวัวที่เลี้ยงไว้ จำนวน 9 ตัว
ในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คุณสมัยยังนำถั่ว ข้าวโพด ฟักทอง และผักต่างๆ มาปลูก เพราะการทำเช่นนี้เพื่อให้ข้าวมีลักษณะอ่อน แล้วยังสามารถกำหนดราคาขายได้เอง โดยขายกระสอบขนาด 25 กิโลกรัม ในราคา 600 บาท ทั้งนี้ คุณสมัยชี้ว่าผลผลิตไม่ต่างจากการปลูกข้าวอื่น แต่ต่างกันตรงมีคุณภาพและความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ในปี 2559 จึงมีแผนขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 ไร่
สำหรับความรู้สึก คุณสมัยเผยว่า มีความดีใจมาก เพราะต่อไปนี้ไม่ต้องไปหาซื้อพันธุ์ข้าวที่อื่นมาปลูกอีกต่อไป เป็นการช่วยลดต้นทุนได้มาก แล้วที่สำคัญคือร่างกายได้รับแต่สิ่งที่มีประโยชน์
“จึงฝากบอกผ่านมายังท่านผู้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านว่า ให้ช่วยกันหันมาอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองกัน ซึ่งแต่ละแห่งมีอยู่แล้ว ขอให้ใส่ใจช่วยกันฟื้นฟูกลับมาสู่ท้องถิ่นตัวเอง
ส่วนท่านที่ไม่ได้ปลูกก็อยากให้ช่วยกันหาซื้อข้าวพันธุ์พื้นเมืองมาบริโภค เพราะไม่เพียงท่านได้รับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ท่านยังมีโอกาสช่วยทำให้ชาวนามีกำลังใจในการหันมาปลูกข้าวพื้นเมืองเพื่ออนุรักษ์ด้วย”
ไม่แน่นะ ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตข้าวพันธุ์พื้นเมืองของกลุ่มข้าวหอมดอกฮัง อาจเป็นหนึ่งของข้าวคุณภาพระดับประเทศก็ย่อมเป็นได้ ใช่ป่ะ…
สำหรับผู้สนใจต้องการสั่งซื้อข้าวพื้นเมืองของกลุ่มข้าวหอมดอกฮัง ซึ่งมีทั้งการขายเมล็ดพันธุ์และข้าวสารบรรจุถุง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 08-1976-6179 (คุณดาวิทย์) และโทรศัพท์ 08-2855-2766 (คุณนฤทธิ์)
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 21 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.