ปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน จุดเชื่อมต่อประชานิยมกับเศรษฐกิจพอเพียง
นอกเหนือจากปัญหาคอรัปชั่น วิกฤติการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทักษิณมาจนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีรากฐานจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ถูกจัดวางให้เป็นคู่ตรงข้ามระหว่างแนวทางเศรษฐกิจประชานิยม กับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
“ประชานิยม” ยุคทักษิณถูกสังคมส่วนหนึ่งมองว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนทรัพยากรทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนรากหญ้า เพื่อหวังผลทางการเมืองด้านคะแนนนิยม โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและพึ่งตนเองได้ในระยะยาวหรือ ไม่ แต่ในทางตรงข้ามกับเป็นการสร้างลัทธิบริโภคนิยมแก่ประชาชนรากหญ้าเพื่อให้ เศรษฐกิจระดับบนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เติบโต ผลที่ตามมาก็คือ ยิ่งประชานิยมมากเท่าใด รัฐยิ่งเข้มแข็งได้รับความนิยม เศรษฐกิจกลุ่มทุนก็ยิ่งเติบโต แต่ประชาชนกลับอ่อนแอ ต้องพึ่งพาการอุปถัมภ์จากรัฐบาลอย่างไม่จบสิ้น
ข้อวิพากษ์ต่อแนวทางเศรษฐกิจประชานิยมดังกล่าว เป็นการปูทางสำหรับแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่กำลังบอกสังคมว่า เราควรมีวิถีเศรษฐกิจแบบมีคุณธรรม ประหยัด อดออม รู้จักประมาณตน ดูเหมือนรัฐกำลังบอกเป็นนัยว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ประชาชนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและ บริโภค และการวางแผนทางเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาดด้วยตัวเอง มากกว่าเรียกร้องให้รัฐสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้ ประชาชนต้องปรับวิถีชีวิตเอง โดยรัฐจะเป็นผู้แนะนำให้
แต่ไม่ว่าจะเป็นประชานิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งสองแนวทางล้วนมีจุดแข็งและปัญหาบางประการต่อการมองภาวะความยากจนและคนจน จุดแข็งของประชานิยมอยู่ตรงที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของความยากจนว่า ประชาชนขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เป็นอยู่ปิดกั้นสิทธิและช่องทางการเข้าถึง ทรัพยากรของคนจน รัฐจึงต้องมีบทบาทนำในการกระจายทรัพยากรให้ประชาชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลทักษิณเลือกที่จะกระจายให้เพียงแค่ทรัพยากรที่หมุนเวียนระยะสั้น เช่น เงินทุน แต่ไม่ปรับรื้อโครงสร้างการผูกขาดทรัพยากร เช่น ที่ดิน เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินที่มั่นคงให้คนจน จึงทำให้คนจนอาจลืมตาอ้าปากได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และจะยิ่งจนหนักกว่าเดิมเมื่อกลไกตลาดพรากเอาทรัพยากรไปจากคนจน
ส่วนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จุดแข็งอยู่ตรงที่เข้าใจปัญหาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในแง่บริโภคนิยม หนทางที่ประชาชนจะหลุดพ้นจากความยากจน ไม่ใช่การป้อนทรัพยากรให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่คือ การสร้างวิถีการผลิตและบริโภคที่ชาญฉลาด แทนที่จะตกอยู่ภายใต้มายาคติบริโภคนิยม แต่ประชาชนควรใช้การบริโภคอย่างพอเพียงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับตลาดได้ อย่างมั่นคง แต่ปัญหาของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การเหมารวมปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นเรื่องพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ โดยละเลยปัญหาโครงสร้างการผูกขาดทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ประชาชนจะมีเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร จะบริโภคชาญฉลาดได้อย่างไร หากพวกเขาเข้าถึงทรัพยากรไม่ได้ โดยเฉพาะที่ดินเพื่อทำการผลิต
ถ้าเพียงแต่เราเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของประชานิยมและเศรษฐกิจพอเพียง เราก็อาจจะสามารถสร้างแนวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้แก่ประชาชนรากหญ้า สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ก็คือ การปฏิรูปกระจายการถือครองที่ดิน
บรรดานักการเมือง และนักวางแผนทางนโยบายทั้งส่วนรัฐและเอกชนต่างก็รู้ดีว่า เฉพาะในภาคเกษตร เรามีเกษตรกรที่มีที่ทำกินไม่พอเพียงถึง 8 แสนครัวเรือน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท พวกเขารู้ดีกว่านั้นด้วยว่า ลำพังกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท โครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาความยากจนจากการขาดแคลนทรัพยากรเช่นนี้ไม่ได้ แม้จะมีความพยายามนำเอานโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาช่วยแก้ปัญหา แต่ คนจนจะเอาทรัพยากรที่ไหนมาแปลง เพราะที่ดินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มทุน เช่นเดียวกันกับการประหยัด อดออมแบบเศรษฐกิจพอเพียง ก็ทำได้เพียงชะลอปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนจนจะสร้างการผลิตที่มั่นคงอย่างไรถ้าไม่มีที่ดิน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความยากจนอยู่ดี
หากแนวทางเศรษฐกิจประชานิยมหมายถึง เป้าหมาย แนวทาง และวิธีการทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจน และสามารถมีเศรษฐกิจพึ่งตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ ประชานิยมจะเกิดได้จริงด้วยการปฏิรูปการถือครองที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ โดยให้คนจนมีสิทธิการเข้าถึงและจัดการที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ อย่างมั่นคงเพื่อเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ที่เข้มแข็งต่อไปด้วย
เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นไปได้จริง ต้องปฏิรูปการถือครองที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ ให้คนจนมีสิทธิการเข้าถึง ถือครอง และจัดการที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ ประชาชนจึงจะสามารถวางแผนการผลิตและการบริโภคอย่างชาญฉลาดได้
ด้วยการปรับโครงสร้างการจัดการที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ พร้อมไปกับการปรับวิถีการผลิตและการบริโภคให้พอเพียง ประชานิยมกับเศรษฐกิจพอเพียงก็หาใช่แนวทางเศรษฐกิจแบบคู่ตรงข้ามกันไม่ แต่ควรเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินควบคู่กัน
แต่เพราะแนวทางเศรษฐกิจสองด้านนี้ถูกทำให้เป็นการเมืองมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นการเมืองของชนชั้นนำที่อาศัยความจน และคนจนเป็นเครื่องมือเสียมากกว่าจะสนใจการเมืองของคนจนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปที่ดินด้วยการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเป็น ธรรมให้แก่คนจน จึงถูกหลงลืมมาโดยตลอด แม้ในช่วงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเร็วนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ต่างก็ชูนโยบายประชานิยมสารพัดแบบ แต่ไม่มีพรรคไหนกล้าประกาศนโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนอย่างแท้จริง
เพราะหากบรรดานักการเมือง เทคโนแครตทั้งหลายปฏิรูปที่ดินด้วยการกระจายการถือครองที่ดินให้คนจนอย่าง จริงจัง มันจะไปกระทบความมั่งคั่งของชนชั้นนำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจเก่าหรือ ใหม่ มันจะทำให้แนวทางเศรษฐกิจเสรีที่มีเป้าหมายให้กลุ่มทุนข้ามชาติเติบโตซึ่ง ซ่อนอยู่ภายใต้แนวนโยบายประชานิยมหรือกระทั่งเศรษฐกิจพอเพียงประสบปัญหาไป ด้วย และท้ายที่สุดแล้วมันจะทำให้ประชาชนคนรากหญ้ายืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่คิดพึ่งบารมีรัฐและนักการเมืองตลอดเวลา การหาคะแนนเสียงจากการลดแลกแจกแถมชั่วครั้งชั่วคราวก็
ไม่ว่าทักษิณจะไป หรืออำมาตยาธิปไตยจะมา สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่สาระสำคัญที่แท้จริงสำหรับคนจน ความเข้มแข็งของประชาชนทั้งในเชิงการสร้างสำนึก ความรู้ การเคลื่อนไหว การแสวงหาพันธมิตร และอื่นๆ เพื่อสร้างและผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยกระจายการถือครองที่ดินและ ทรัพยากรอื่นๆ เพื่อให้คนจนมีสิทธิที่มั่นคงต่อฐานทรัพยากรทั้งระดับปัจเจกและชุมชน พร้อมกับเสริมสร้างวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่บนเงื่อนไขการรื้อโครงสร้าง การจัดการทรัพยากรดังกล่าว จึงจะทำให้การเมืองของคนจนมีความหมายไปกว่าการเมืองอันน่าเบื่อที่เป็นอยู่ ขณะนี้
เรื่องโดย กฤษฎา บุญชัย
นักวิชาการอิสระ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.