คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "เงินกู้นอกระบบ" เป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงของประชาชนรากหญ้าของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนปัญหาระดับชาติที่ประชาชนระดับฐานรากของประเทศจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ นำมาซึ่งปัญหาสังคมจากที่ประชาชนถูกเอาเปรียบด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง รวมถึงความเสี่ยงต่อการถูกติดตามทวงหนี้ด้วยวิธีรุนแรง
ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลที่ผ่านมา คือการสร้างแหล่งเงินทุนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เปิดให้ใบอนุญาต "นาโนไฟแนนซ์" หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ"โดยหวังจะให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ทั้งเปิดทางกับผู้ที่จะขึ้นมาเป็น "คู่แข่ง" ของเจ้าหนี้นอกระบบ โดยกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอรับใบอนุญาตต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ด้วยอัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี
แต่ปรากฏว่าปี 2558 ยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์กลับไม่คึกคัก และส่วนใหญ่ยังเป็นการให้กู้ฐานลูกค้าเดิมของบริษัท มากกว่าปล่อยกู้ลูกค้าใหม่ และมูลค่าการปล่อยกู้ไม่มาก เนื่องจากผู้ปล่อยกู้มีความกังวลต่อความเสี่ยงหนี้เสียจึงมีการคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มงวด
เพราะผู้ประกอบการ "นาโนไฟแนนซ์" ยังกังวลกับปัญหาหนี้เสีย เรียกว่ายังใจไม่ถึงเท่ากับเจ้าหนี้นอกระบบ
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการ คลัง (สศค.) ระบุว่า นับตั้งแต่วันแรก (26 ม.ค. 2558) ที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับการขอไลเซนส์จนถึงสิ้นปี 2558 มีนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาต 25 ราย แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 7 ราย เท่าที่เปิดให้สินเชื่อกับลูกค้า โดยยอดสินเชื่อที่ปล่อยอยู่ที่ 115 ล้านบาท ด้วยจำนวนลูกค้า 5,847 ราย เรียกว่าเฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น
เมื่อนโยบาย "นาโนไฟแนนซ์" ยังไม่สัมฤทธิผล และบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่หนี้นอกระบบก็ยังมีให้เห็นกันทั่ว
ล่าสุด นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า เตรียมนำเสนอแพ็กเกจแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมด้วยการเปิดให้ใบอนุญาตทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ที่เรียกว่า "Pico Finance" เป็นหน่วยย่อยที่เล็กกว่านาโนไฟแนนซ์
สำหรับบริษัทที่มีธุรกิจจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ก็สามารถขอรับใบอนุญาต "Pico Finance" โดยเป็นการให้สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี เท่ากับนาโนไฟแนนซ์
โดยหวังว่าจะให้บรรดา "เจ้าหนี้นอกระบบ" ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้ามารับใบอนุญาตให้อยู่ในระบบ เพื่อที่จะสามารถจัดการและควบคุมกับปัญหาหนี้นอกระบบได้
นายกฤษฎาอธิบายว่า ผู้ประกอบการ Pico Finance จะต้องปล่อยสินเชื่อในพื้นที่ที่จดทะเบียน คือหากจดทะเบียนจังหวัดใดก็จะได้สิทธิ์ปล่อยสินเชื่อในจังหวัดนั้น ๆต่างจากนาโนไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อได้ทั่วประเทศ
"นาโนไฟแนนซ์เป็นการเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้เล่น ซึ่งปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ แต่ผลปรากฏว่ายอดสินเชื่อยังไม่สะท้อนการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนอย่างทั่วถึง จึงเสนอให้จัดตั้ง Pico Finance เป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีขนาดย่อยลงไปอีกระดับหนึ่ง" นายกฤษฎากล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องเรียกว่าเป็นมาตรการแบบเดิม ๆ ของรัฐบาล แม้ว่าแนวทางนี้อาจทำให้บรรดาเจ้าหนี้นอกระบบเข้าจดทะเบียนรับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และทำให้กลายเป็นเจ้าหนี้ในระบบได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
แต่หากรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลการปล่อยกู้รายย่อยเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง หนี้ในระบบเหล่านี้ก็อาจไม่ต่างจากหนี้นอกระบบที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังกลายเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้กันอย่างง่ายดายมากขึ้นด้วย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.