ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีการปกครองบริหาร เริ่มต้นด้วยการมีรัฐและมีผู้ใช้อำนาจรัฐคือรัฐบาล การปกครองบริหารมีจุดเน้นอยู่ที่การใช้อำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมาย เรียกว่า อำนาจรัฐ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจะปกครองบริหารชุมชนหรือสังคมมนุษย์นั้นให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนา และที่สำคัญ ต้องมีความยุติธรรมในการแจกแจงทรัพยากรต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่โดยดุษณีภาพ ในกรณีที่ไม่เห็นพ้องกับการแจกแจงดังกล่าวไม่ว่าเรื่องแจก แจงอำนาจ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม รวมทั้งค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม ก็จะมีการเรียกร้องอย่างสันติ หรือโดยการประท้วง หรืออาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
แต่ความขัดแย้งที่สำคัญตัวแปรหนึ่งก็คือระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในปฐมภูมินั้นเศรษฐกิจมาจากการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยว การแจกแจงก็มักจะอยู่กับสิทธิเด็ดขาดของผู้เป็นหัวหน้าทีมล่าสัตว์ ความยุติธรรมและความเป็นธรรมคงเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และจากความไม่เท่าเทียมจากการแจกแจงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ย่อมนำไปสู่การแตกต่างกันของอำนาจซึ่งเป็นสภาพดั้งเดิมอยู่แล้ว เพราะผู้มีอำนาจแจกแจงย่อมมีอำนาจอยู่เหนือผู้อยู่ใต้ปกครองบริหาร และย่อมรวมไปถึงการแจกแจงสถานะทางสังคมด้วย ระบบเศรษฐกิจจึงเป็นระบบหลักระบบหนึ่ง ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ ได้กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ส่วนระบบอื่นๆ ทั้งการเมือง สังคม สถาบันต่างๆ ค่านิยม สุนทรีย์ เช่น ดนตรี ศิลปะ มาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ซึ่งเหมา เจ๋อตุง มองตรงกันข้ามโดยเน้นว่าตัวแปรทางการเมืองเป็นตัวแปรพื้นฐาน เพราะการเมืองคือการมีอำนาจรัฐที่จะกำหนดระบบเศรษฐกิจ ข้อถกเถียงดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับกาละและเทศะ จึงยากที่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิด
ปรากฏการณ์ที่สำคัญก็คือ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเสมอในระบบเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรเลี้ยงสัตว์ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นที่มาในแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ จะเป็นจุดของความขัดแย้ง ถ้าเป็นเศรษฐกิจเกษตรก็มีความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและน้ำ ในกรณีที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมก็มีความขัดแย้งในเรื่องน้ำ พลังงาน ผู้ใช้แรงงาน ทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบ แหล่งการจำหน่ายสินค้า ฯลฯ ซึ่งจากความขัดแย้งดังกล่าวนี้ทำให้ต้องมีการหาที่ดินและตลาด รวมทั้งวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่ลัทธิการรุกรานประเทศอื่น ที่เรียกว่า ลัทธิล่าอาณานิคม ที่สำคัญที่สุดคือ ที่ดิน น้ำ และความรู้ทางวิทยาการ และจากการพัฒนาอุตสาหกรรมได้นำไปสู่การผลิตอาวุธทำให้ได้เปรียบในการทำสงคราม ดุลแห่งอำนาจทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เกิดความแตกต่างจากตัวแปรเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม มาในยุคข่าวสารข้อมูล ความสำคัญอยู่ที่ความรู้ทางวิทยาการที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะเป็นยุคแห่งความรู้และขายสิ่งประดิษฐ์ที่ก้าวไกลกว่าสังคมอุตสาหกรรม ที่ดินและโรงงานมีความสำคัญน้อยลง
แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ได้นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ประเทศต่างๆ จึงต้องมองตัวเองว่าจะมุ่งเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจใด เช่น ประเทศที่มีประวัติความเป็นมาในเรื่องการทำเกษตรกรรมก็ยังคิดว่าน่าจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางเกษตรกรรม ซึ่งมีการกล่าวบ่อยๆ ว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเกษตรกรรมจึงควรมุ่งเน้นในทางนี้ แต่หลายคนก็มองว่าเกษตรกรรมยังมีความสำคัญอยู่แต่จะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรม มิฉะนั้นประเทศไม่สามารถจะก้าวไปข้างหน้าได้เทียมทันกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ข้อที่ต้องระมัดระวังก็คือไม่ปล่อยให้การมีระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือการมีข่าวสารข้อมูลจนลืมเรื่องเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรรมเป็นเรื่องการผลิตอาหารซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ประเทศใดที่ไม่มีการทำเกษตรกรรมแม้จะสามารถทำรายได้ได้จากอุตสาหกรรมและการบริการ เช่นประเทศสิงคโปร์มุ่งเน้นที่การค้าแต่ไม่มีเกษตรกรรม และเชื่อมั่นว่ามีความร่ำรวยพอที่จะซื้อจากที่อื่น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเกิดปัญหาวิกฤตเมื่อใดก็จะกลายเป็นปัญหาหลักของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องกินอาหาร สิงคโปร์เองขาดน้ำจืด ถ้ามาเลเซียตัดน้ำจืดเมื่อไหร่ก็จะอยู่ในฐานะลำบาก เมื่อเป็นเช่นนี้สรุปได้ว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปยังรูปแบบอื่น เช่น อุตสาหกรรมและข่าวสารข้อมูล แต่จะทิ้งเกษตรกรรมไม่ได้เป็นอันขาด
ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศควบคู่กับการทำเกษตรกรรม แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ต้องมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโดยการมีโครงการ R&D หรือ Research and Development จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเทศทุนเช่นเครื่องจักร มิฉะนั้นจะกลายเป็นประเทศที่ซื้อเทคโนโลยีจากประเทศอื่นเพื่อทำการผลิต ซึ่งเทคโนโลยีเป็นของที่มีราคาแพงทำให้เสียดุลการค้าอย่า
มากมายจากสินค้าทุน นอกเหนือจากนั้น การพัฒนาคุณภาพและการจัดให้ราคาอยู่ในขั้นไม่แพงเกินไป เพื่อหาช่องทางเข้าสู่ตลาดสินค้าต่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สินค้าขึ้นอยู่กับคุณภาพและราคาซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการแข่งขัน แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วจะต้องมีระบบการเมืองการปกครองที่ไม่นำไปสู่ข้ออ้างของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ตลาดของการขายสินค้าจำกัด ขณะเดียวกันการแข่งขันในการผลิตสินค้าก็ขึ้นอยู่กับความชำนัญการของผู้ใช้แรงงาน และการมีสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานในระดับที่ทำให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข มิฉะนั้นจะมีผลกระทบในทางลบต่อสินค้า
ในส่วนของข่าวสารข้อมูล เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคคลื่นอารยธรรมคลื่นลูกที่สาม ประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ สมองกล ฯลฯ ย่อมจะตามไม่ทันกับประเทศที่ก้าวไกลกว่าในด้านนี้ และมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในอนาคตจะหันไปเป็นเศรษฐกิจแบบการสื่อสารและข่าวสาร ทางเทคโนโลยี (ICT) มากยิ่งขึ้น ในทางเศรษฐกิจก็มีศัพท์ที่ว่า Digital Economy และ e-Commerce ในการศึกษาก็มี e-Learning การบริหารภาครัฐก็มี e-Government และอื่นๆ อีกมากมาย การสื่อสารที่สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงจะทำให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ และบางส่วนทดแทนการประกอบธุรกิจแบบแบบเดิม เช่น การซื้อขายสินค้าโดยผ่านทางเว็บไซต์ อินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่นนายแจ็ค หม่า กลายเป็นมหาเศรษฐีจากบริษัทอาลีบาบา ด้วยการขายสินค้าโดยไม่มีสินค้าแม้แต่ตัวเดียวไว้ในการครอบครอง และสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ จากเทคโนโลยีที่เรียกว่า ICT ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของมนุษย์ ค่านิยมและทัศนคติ ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จิตวิทยาสังคม วัฒนธรรม และผลสุดท้ายส่งผลถึงกระบวนการทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติดอกมะลิในตูนิเซียและอาหรับสปริงส์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นแนวโน้มของสังคมโลกโดยมีคำกล่าวว่า ใน 30-40 ปีข้างหน้า การงานที่คนรุ่นนี้จะกระทำไม่ว่าทางภาครัฐหรือเอกชน จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
คำถามสำคัญที่สุดก็เกิดขึ้นว่า ถ้าสังคมมนุษย์ สังคมโลก และสังคมไทยซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับอิทธิพลจากตัวแปร ต่างๆ ที่กล่าวมา จะวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจ การประกอบธุรกิจ อย่างไร ทั้งในแง่ปัจเจกประเทศ ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนภูมิภาคคืออาเซียน หรือ AEC และในแง่การเป็นสมาชิกของประชาคมโลกซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจที่กล่าวมาทั้งหมดมีความเป็นพลวัต ซึ่งถ้าจะให้อยู่รอดต้องมีการปรับตัวทั้งในแง่ลักษณะของเศรษฐกิจที่จะดำเนินต่อไป โดยจะสามารถจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ แต่มีตัวแปรหนึ่งที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ และจำเป็นต้องรักษาไว้ นั่นคือ เศรษฐกิจการเกษตร อันประกอบด้วย
1. จะต้องมีการผลิตอาหาร คือ ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ให้พอเพียงต่อการบริโภค นอกเหนือจากการส่งออก
2. ต้องมีการธำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่จะเอื้ออำนวยต่อข้อที่ 1. การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมจนทำลายสภาพแวดล้อมและทำลายพืชพรรณธัญญาหารและสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร เช่น ปลา เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งยวด นอกจากนี้จะไม่พัฒนาอุตสาหกรรมจนใช้พื้นที่เกษตรกรรมอย่างเกินขอบเขต และไม่ทำลายป่าจนสัตว์ไม่มีที่อยู่อาศัย ในกรณีที่พื้นที่เกษตรกรรมน้อยลงต้องใช้ความรู้ทางวิทยาการเพื่อเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีน้อยกว่าเดิม
3. พื้นที่เกษตรจะต้องรักษาไว้ให้เป็นของคนภายในประเทศ การปล่อยให้ครอบครองโดยชาติอื่นไม่ว่าจะซื้อผ่านตัวแทน หรือในแง่การเช่าระยะยาว เช่น สิ่งที่จีนทำกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของเรา เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
4. ต้องมีการผลิตนักเกษตรกรรุ่นใหม่แทนรุ่นเดิมที่ใช้ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จักรกล รวมทั้งปุ๋ยชีวภาพ หรือแม้กระทั่งสัตว์ต่างๆ ที่มีการปรับปรุงแล้ว เช่น การใช้วัวไถนา หรือแบบที่ไม่นำไปสู่มลภาวะและอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้
5. รูปแบบการจัดการเกษตรกรรมโดยมีนาแปลงเล็กๆ อาจต้องมีการรวมกันแปลงใหญ่ในลักษณะของสหกรณ์ เพื่อเพิ่มเนื้อที่การเพาะปลูกเนื่องจากไม่มีคันนา และอาจจะใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ในการทำเกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรม มีการจัดการโดยมีบริษัทช่วยในการบริหารตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุใส่ภาชนะ การจำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศหลังจากที่มีการเหลือไว้จากการบริโภคพอเพียงแล้ว
6. ระดับที่สูงกว่าผลผลิตทางเกษตรกรรมเพื่อการบริโภคก็คือ เกษตรกรรมที่มีผลผลิตที่มีลักษณะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น แตงลูกโตๆ ราคาแพงอย่างที่ผลิตในญี่ปุ่น ทุเรียนพันธุ์พิเศษเช่นทุเรียนเมืองนนท์ ผลไม้ เช่น ส้ม ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เพื่อจำหน่ายกับผู้มีฐานะและเพื่อการส่งออก กล้วย เช่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า อันเป็นที่นิยมของบางชาติ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสินค้าที่นอกเหนือจากการบริโภคขั้นพื้นฐาน แต่อาจจะเป็นสินค้าที่เงินและรายได้เข้าประเทศ
การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินตามการพัฒนาของสังคมโลก เราต้องมีอุตสาหกรรม และต้องพัฒนาข่าวสารข้อมูล แต่สิ่งที่เราทิ้งไม่ได้อย่างเด็ดขาดคือ เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อการบริโภคและเพื่อการส่งออก
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เราต้องธำรงรักษาไว้ เนื่องจากเรามีความได้เปรียบอยู่แล้วในเรื่องภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ในส่วนของภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งจะนำไปสู่ภูมิเศรษฐศาสตร์หรือภูมิเศรษฐกิจ เรายังมีความได้เปรียบในแง่การมีวัตถุดิบที่เป็นฮาร์ดแวร์ (กระด้างภัณฑ์) เช่น พระราชวัง วัดวาอาราม สิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์เช่น อยุธยา พิมาย และละมุนภัณฑ์ (ซอฟท์แวร์) อันได้แก่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารไทย เช่น ต้มยำกุ้ง สินค้าพื้นเมืองเช่น สินค้าโอทอป ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและธุรกิจที่ต้องธำรงไว้มิให้สูญหายไปกับสังคมไทย ทั้งนี้เพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ เราคือดุมล้อเกวียนของประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางของสายการบิน มีข้อได้เปรียบมาก
นี่คือตัวอย่างของข้อคิดที่จะมองอย่างมีวิสัยทัศน์ไปในอนาคตว่าในฐานะ 1 ใน 10 ประเทศของอาเซียน และหนึ่งในประเทศของการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังเกิดขึ้นคือ การเติบโตของประเทศเอเชีย อันได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย รวมทั้งบราซิล อัฟริกาใต้ และรัสเซีย สามประเทศนี้แม้จะไม่ใช่ประเทศเอเชียก็ตามแต่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์แบบใหม่ โดยระยะทางและการสื่อสารไม่เป็นอุปสรรค กลุ่มนี้เรียกว่า BRICS จึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการวางตัวในสภาวะอันใหม่ แต่ที่มองข้ามไม่ได้และขอกล่าวย้ำคือ เราต้องมีอาหารเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงก่อนที่จะพัฒนาส่วนอื่นจนลืมประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ประเด็นมนุษย์เกิดมาต้องรับประทานอาหาร อาหารจึงต้องมาก่อนความจำเป็นอย่างอื่นไม่ว่ายุคไหนทั้งสิ้น
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 11 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.