ย้อนกลับไปปลายปี 2555 รัฐบาล สปป.ลาว พยายามผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและองค์การระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกษตรกรชาวลาวหันไปปลูกยางพาราเพื่อการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากราคายางในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น รวมถึงอุปสงค์จากจีนที่ต้องการนำเข้ายางพารามากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้นักธุรกิจต่างชาติจำนวนมากโดยเฉพาะนักลงทุนจีนต่างตบเท้าเข้าไปลงทุนทำสวนยางพารากันอย่างคึกคัก
จีนในฐานะผู้บริโภคยางพาราอันดับ1ของโลก โดยเกือบ 80% เป็นยางพาราที่นำเข้าจากนอกประเทศ การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยในปี2556 จีนบริโภคยางพารามากถึง 3.9 ล้านตัน หรือคิดเป็น 35% ของการบริโภคยางพาราทั่วโลก ในขณะที่จีนมีผลผลิตยางพาราเพียง 0.79 ล้านตัน หรือราว 21% เท่านั้น
อย่าง ไรก็ตาม สถานการณ์ราคายางตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว-จีน ลดฮวบกว่า 820 ล้านดอลลาร์ หรือ 23% ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ยิ่งกว่านั้น เกษตรกรชาวลาวจำนวนมากยังตัดสินใจตัดโค่นต้นยางทิ้ง และหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน
วีโอเอ ภาษาลาว รายงานความคืบหน้าว่า เกษตรกรในแขวงบ่อแก้ว ตัดสินใจตัดต้นยางพาราทิ้ง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินและการขาดทุนจำนวนมาก โดยปัจจุบันราคายางพาราตกต่ำอย่างรุนแรงและต่อเนื่องสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรอย่างหนัก
นายคำแพงไชยะจักรองหัวหน้ากระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ แขวงบ่อแก้ว เผยว่า ขณะนี้เกษตรกรลาวจำนวนมากหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ทดแทน เพื่อหวังจะชดเชยความเสียหายจากราคายางที่ดิ่งแรงอย่างต่อ เนื่อง โดยปี 2556 ราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ 17,000 กีบ (ราว 73.96 บาท) ต่อกิโลกรัม เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2,500 กีบ (ราว 10.88 บาท) ในปัจจุบัน ส่งผลให้รายรับของชาวสวนยางพาราใน สปป.ลาวลดลงกว่า 85% เทียบกับปี 2556
กระทรวงกสิกรรม-ป่าไม้ ยังไม่มีสถิติที่ชัดเจนว่าเกษตรกรลาวได้ตัดโค่นต้นยางพาราไปแล้วเป็นเนื้อที่รวมเท่าใดทั้งประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีการตัดโค่นต้นยางพาราอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในแขวงบ่อแก้วมีเนื้อที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 26,246 เฮกตาร์ โดยเป็นการปลูกยางพาราตามพันธสัญญาระหว่างนักลงทุนจีนและ เกษตรกรท้องถิ่น ที่ได้ตกลงร่วมกันทั้งสิ้น 9 บริษัทเอกชนจีน ในเนื้อที่ราว 13,209 เฮกตาร์ และ 2 บริษัทเอกชนท้องถิ่น 2,069 เฮกตาร์ ส่วนที่เหลือประมาณ 10,968 เฮกตาร์นั้นเป็นการปลูกยางพาราโดยเกษตรกรท้องถิ่นเอง
นอกจากนี้ แขวงหลวงน้ำทา หนึ่งในจังหวัดที่มีการปลูกยางพาราเพื่อการส่งออกและได้รับผลกระทบมากที่สุด พบว่า เกษตรกรลาวได้ตัดโค่นต้นยางพาราไปแล้วในเนื้อที่กว้าง กว่า 1,500 เฮกตาร์ และยังจะตัดโค่นต่อไปอีกต่อเนื่อง โดยในแขวงหลวงน้ำทามีการปลูกยางพาราไปแล้วกว่า 35,000 เฮกตาร์ หรือราว 218,750 ไร่
ปัจจุบัน สปป.ลาวมีสวนยางพาราทั่วประเทศกว่า 250,000 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่เป็นสัมปทานการเพาะปลูกจากนักลงทุนต่างประเทศ อาทิ จีน เวียดนาม และไทยแม้เกษตรกรชาวลาวส่วนใหญ่มีการปลูกยางพาราภายใต้พันธสัญญาของบริษัทต่างชาติ แต่สภาวะเสี่ยงเช่นนี้
ความพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ของทั้งเจ้าของสัมปทานและปากท้องชาวบ้านเอง จึงหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้น "เมล็ดกาแฟ" หนึ่งในผลผลิตคุณภาพของ สปป.ลาว
เกษตรกรลาวมีพื้นที่ปลูกกาแฟ รวมทิ้งสิ้น 130,000 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตปากซอง และเมืองบาเจียงในแขวงจำปาสัก, เมืองเหล่างาม แขวงสาระวัน, เมืองท่าแตงแขวงเซกอง ที่ได้ส่งออกเมล็ดกาแฟไปตลาดต่างประเทศราว 98,000 ตันในปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 26,000 ตันในปีก่อนหน้าและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ตันในปี 2563 และ 280,000 ตันในปี 2568 ตามลำดับ
ด้านสมาคมกาแฟลาวเผยว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการส่งออกกาแฟอย่างเต็มที่ โดยทางสมาคมจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนท้องถิ่น รวมถึงดูแลการเจรจาต่อรองและประสานงานกับตลาดโลก ซึ่งการทำความเข้าใจกระบวนการทำตลาดอย่างถ่องแท้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์กาแฟลาวในตลาดโลกได้
ผู้แทนสมาคมกาแฟลาวกล่าวว่า"แม้ปัจจุบันราคากาแฟอราบิก้า ที่นับว่าเป็นกาแฟที่ได้รับความ นิยมมากที่สุด ร่วงลงอยู่ที่ 2,755 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิมที่มีราคาสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่โรบัสต้าซึ่งขายมานานกว่า ราคาลดลงอยู่ที่ 1,641 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิม 2,500 ดอลลาร์ต่อตัน แต่เชื่อว่า ความพยายามผลักดันคุณภาพเมล็ดกาแฟที่ผ่านมาจะส่งผลให้เราสามารถปรับเพิ่มราคาเมล็ดกาแฟให้เทียบเท่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลและเวียดนามได้"
โดย ตลาดส่งออกกาแฟของสปป.ลาว ได้แก่ ไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน โปแลนด์ เยอรมนี สหรัฐ ฝรั่งเศส เบลเยียม สวีเดน ไทย และเวียดนาม ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สปป.ลาวเป็นผู้ผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ตามหลังเวียดนามและอินโดนีเซีย
ความหวังใหม่จากการฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกและการอัดเพิ่มคุณภาพเมล็ดกาแฟมากขึ้นอาจช่วยบรรเทาปัญหาปากท้องชาวบ้านได้บ้างเพราะปัจจัยของราคายางพาราในตลาดโลกที่ไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่มีอิทธิพลต่อราคายางพารามากขึ้น โดยปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษข้างหน้า โลกอาจเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างปี 2557-2565 แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา
หนทางปลูกพืชทดแทนยางพาราเพื่อช่วยอุ้มภาคเกษตร อันเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สปป.ลาว จึงนับเป็นก้าวความท้าทายสำคัญในการพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลลาวชุดใหม่
ที่มา : ประชาชาติธุกิจ วันที่ 15 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.