มลพิษ "หมอกควัน" ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี ซึ่งในปีนี้ (2559) ถือเป็นจุดแตกหักที่หลายฝ่ายต้องการให้เร่งแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะผลกระทบทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า-ภูเขาหัวโล้น ผลกระทบต่อสุขภาพ และภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่น้อยกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท
7 มหา"ลัยวิจัยไทยไร้หมอกควัน
ล่าสุดข้อมูลจากแผนงานวิจัยท้าทาย ไทย ตามโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) โดยความร่วมมือกันของเครือข่าย 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง "ประเทศไทยไร้หมอกควัน" โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนนำ
ข้อมูลได้ระบุว่า ปัญหาหมอกควันสร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการเดินทาง และพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของประเทศเผชิญกับปัญหาสุขอนามัย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนังอักเสบและโรคตาอักเสบมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการได้รับพิษของหมอกควัน โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)
กรณีเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปี 2549-2550 มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโรคหอบหืดราว 15,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันเพิ่มขึ้น 25.94%
ทุบเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว อาทิ ในปี 2550 ช่วงเดือนมีนาคม จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือลดลง 9.6% ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการเข้าพักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียเม็ดเงินในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ราว 2,000 ล้านบาท
โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดหมอกควัน เกิดจากไฟป่าทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การเผาเศษวัสดุเหลือทางการเกษตรเพื่อเก็บเห็ดเผาะ ผักหวาน และการเผาขยะชุมชน แต่อีกสาเหตุสำคัญคือ การกำจัดขยะในแปลงไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เช่น ตอซังข้าวโพด ด้วยการเผาทิ้งเพื่อเตรียมการผลิตในรอบฤดูฝน ซึ่งปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน
ทั้งนี้ การโต้แย้งด้วยทัศนคติว่า จำเลยคือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอย่างต่อเนื่องกระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ออกมาร่วมแก้ไขตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงไป
ด้านนักวิชาการ และภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอข้อมูลในเชิงลึกถึงความคุ้มต่อต้นทุนการผลิต และสิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดได้รับ กับสิ่งที่แลกไปคุ้มกันหรือไม่ และหากไม่คุ้มควรจะแก้ไขและปรับโครงสร้างการเกษตรในพื้นที่ครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่การปลูกข้าวโพดได้อย่างไร โดยจะเริ่มต้นที่ "แม่แจ่มโมเดล" พร้อมทั้งเสนอให้เกิดโมเดล "ผู้ก่อมลพิษ" ต้องรับผิดชอบด้านภาษีสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงลดผลกระทบในทุกมิติ
ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นเหตุ
นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเหนือและการค้าชายแดน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาหมอกควันในระยะ 10 ปี เกิดจากการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่ต้องมีการเผาเศษวัสดุในแปลงเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ในปี 2557 อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดราว 118,791 ไร่ มีผลผลิตราว 83,103 ตัน
หากมองตัวเลขในเชิงลึกแล้ว ต้นเหตุที่ทำให้มีการปลูกข้าวโพดกันมาก เนื่องจากมีราคาที่จูงใจ (ในปี 2559 ราคาอยู่ที่ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม) โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมและรับซื้อในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยใช้ข้าวโพดปีละ 5-6 ล้านตัน ปลูกในประเทศได้เพียง 4 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องนำวัตถุดิบอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์มาใช้ด้วยปีละ ประมาณ 1 ล้านตัน และพบว่าในปี 2558 นำเข้าข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ 3-4 ล้านตัน มาทดแทนปลายข้าวที่ขาดแคลน และยังมีการนำเข้ากากข้าวโพด ซึ่งเสียภาษีนำเข้า 9% แต่ราคาก็ยังถูกกว่าของไทย
เหลือรายได้สุทธิ 1 บาท/กก.
จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มมีผลตอบแทนรายได้อยู่ที่ราว 83 ล้านบาท/ปี (มูลค่าข้าวโพดที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 6.08 บาท/กก. หรือ 505 ล้านบาท) หากดูย้อนหลังราคาข้าวโพดในปี 2550 ปี 2552 และปี 2553 ราคาอยู่ที่ 8 บาท/กก. เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 3 บาท/กก. ขณะที่ในปีหลัง ๆ จากนั้น ราคาข้าวโพดตกต่ำ 5-6 บาท/กก. เกษตรกรเหลือรายได้สุทธิ 1 บาท/กก. โดยปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุถึงผลตอบแทนเฉลี่ยราคาขายหักต้นทุนอยู่ที่ 770 บาท/ตัน
"การผลิตข้าวโพดไม่ตอบโจทย์รายได้ให้กับเกษตรกร แต่ประโยชน์กลับตกอยู่กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะข้าวโพดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตฯอาหารสัตว์/เลี้ยงสัตว์/แปรรูปสัตว์เจริญก้าวหน้ามาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง ในทางกลับกัน จากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่าการปลูกข้าวโพดส่วนหนึ่งปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยการบุกรุกทำลายป่า ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น การพังทลายของหน้าดิน การปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำ/ดิน ภัยธรรมชาติ และยังส่งผลกระทบถึงพื้นที่ปลายน้ำในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงและถี่มากขึ้น ปัญหาความแห้งแล้ง ปัญหาขาดน้ำที่กำลังประสบ ถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะส่งผลให้ประชากรในส่วนกลางจะต้องใช้น้ำกร่อย เพราะขาดน้ำที่จะไล่น้ำทะเล ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ถูกคิดเป็นต้นทุนของนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์"
คนพื้นที่ทุกข์-ต้นน้ำถูกทำลาย
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า แม้ว่าข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง แต่ต้องมีการบริหารจัดการให้ยั่งยืน ไม่ใช่สร้างปัญหาให้กับสังคม กล่าวคือซื้อข้าวโพดแล้ว ไม่สนใจเศษวัสดุเหลือทิ้งในแปลง เพื่อต้องการลดต้นทุน ปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ให้คนในพื้นที่รับภาระทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ ป่าต้นน้ำถูกทำลาย และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเสียหายไปด้วย
หากจะให้มีการเลิกปลูกข้าวโพด ก็จะต้องมาดูข้อดีและข้อเสียว่าหากเราได้กำไรดี การปลูกข้าวโพดก็จะต้องไม่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของคน ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ สิ่งแวดล้อม สังคม และธุรกิจในพื้นที่ด้วย
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์/ข้าวโพดต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่งโดยหลักผู้สร้างความเสียหายต้องเป็นผู้รับผิดชอบผ่านการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และต้องโซนนิ่งพื้นที่ว่าบางพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ป่าต้นน้ำ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาป่าต้นน้ำเพื่อคนทั้งประเทศ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.