คำถาม ในภาวะโลกร้อนแบบนี้ เกษตรกรจะต้องปรับตัวอย่างไรครับ ขอทราบแนวทางแก้ปัญหานี้ด้วยครับ
ก้องเกียรติ การัญยกาล
อ.เมือง จ.สุโขทัย
คำตอบ นักวิชาการ และอาจารย์จากสถาบันการศึกษา ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวด้านการเกษตรจากผลพวงของภาวะโลกร้อน พอสรุปได้ดังนี้
-พัฒนาพันธุ์ข้าว ปัจจุบันข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมคือ ข้าวไร่ ข้าวอายุสั้นข้าวสู้น้ำ ข้าวนาทุ่ง มีพันธุ์พื้นบ้านซึ่งเหลืออยู่พอสมควร แต่ชาวบ้านไม่ปลูก เพราะข้าวไม่ตอบสนองกับปุ๋ยเคมี ปลูกแล้วไม่มีตลาดขาย สถานการณ์ในตอนนี้คือ เรากำลังสูญเสียวิธีการจัดการอาหารอย่างสิ้นเชิงจากเกษตรกรรายย่อย ยังจำเป็นที่ต้องไปพึ่งพาภาคเอกชน
-ใช้สารเคมีให้ลดลง เกษตรกรที่ปลูกอ้อยรายย่อยบางรายที่ปรับตัว เลิกใช้สารเคมี พบว่าเกษตรกรปรับตัวได้ดี โดยจับด้วงกินอ้อยที่มีจำนวนมากไปขาย เป็นรายได้อีกทาง หรือหันไปปลูกพืชที่เป็นอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ฝัก แฝง แตงโม และข้าวพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ
-ส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยจัดทำโครงการตามความต้องการของชุมชน โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้น
-มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอาการที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นพัฒนาพืชให้ทนแล้ง เป็นทางเลือกที่จะไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชต่อไป
-แก้ปัญหาน้ำน้อย เมื่อน้ำมีน้อย เป็นปัญหาต่อการเพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ เกษตรกรต้องจัดหาแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง โดยการขุดสระ หรือบ่อน้ำรองรับน้ำในฤดูฝนหาพันธุ์ ปลามาใส่ในบ่อ เพื่อเพิ่มรายได้และบริโภคเอง มีการเจาะน้ำบาดาล ใช้ระบบน้ำหยดในการรดน้ำต้นไม้ จะช่วยประหยัดน้ำ ต้องหันมาปลูกพืชเหล่านี้ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์แล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
-ภาครัฐ ต้องอำนวยความสะดวก เกษตรกรที่ปรับตัวได้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ มีการศึกษาสูง มีข้อมูลมาก สามารถ
เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีเงินทุนเพียงพอชี้ให้เห็นว่า เรามีเกษตรกรที่มีศักยภาพอยู่จำนวนไม่น้อย ส่วนเกษตรกรบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องอำนวยความสะดวก โดยการส่งต่อความรู้ เผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เผยแพร่ข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างแม่นยำ สนับสนุนด้านสินเชื่อ และการตลาดแก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
-มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริหารระดับท้องถิ่น ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
-มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของเกษตรกรไทย จะต้องมาจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วทันการใช้งาน แต่ปัจจุบันการวิจัยด้านเกษตรของไทยมีน้อย ทั้งปริมาณและคุณภาพ งบวิจัยด้านเกษตรมีน้อย เรายังขาดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ หน่วยงานวิจัยของรัฐ ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ระบบการอุดหนุนการวิจัยมีน้อย ฯลฯ นอกจากนั้น ระบบการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐยังเข้าไม่ถึงเป้าหมาย
การวางแผนการใช้ที่ดิน จะบรรเทาผลกระทบได้ รวมถึงปรับปรุงการจัดการดินและน้ำ การจัดการดินและธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ พัฒนาพันธุ์พืช ปรับเปลี่ยนฤดูปลูก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องนำมูลสัตว์มาใช้เป็นก๊าซหุงต้ม และนำกลับไปเป็นอินทรียวัตถุให้กับพืช และท้ายสุดสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในภาคเกษตรนั่นเอง ทั้งหมดนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรไทย สร้างความเข้มแข็ง และความยืดหยุ่นในการปรับตัว เกษตรกรอยู่ดีกินดี และมีความสุข นำไปสู่ประเทศยั่งยืน
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 10 พ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.