เนื่องในโอกาส “วันแรงงาน” วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลายสำนักโพลได้สำรวจความเห็นของแรงงาน ตัวอย่างเช่น สำนักวิจัยซูเปอร์โพล สำรวจความสุขมวลรวมของแรงงาน จากการถามกลุ่มตัวอย่างทั่วทุกภาค พบว่าปัจจัยที่เป็นตัวช่วยให้มีความสุขมากที่สุดคือครอบครัว ส่วนใหญ่มีความสุขตามแบบอย่างชีวิตเพียงพอ แต่ 84.3% บ่นว่ามีหนี้สิน
แม้ผลของโพลจะไม่ได้ระบุว่าปัญหาหนี้สินเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ และบ่อนทำลายความสุข แต่ความจริงย่อมเป็นเช่นนั้น สมดังคำกล่าวในพระพุทธศาสนาที่ว่า “อินาทานัง ทุกขัง” แปลว่า “หนี้สินคือความทุกข์” ผลการศึกษาขององค์กรต่างๆ พบว่า “หนี้ครัวเรือน” เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และคนไทยมีหนี้สินเกือบทุกกลุ่ม
ข้อมูลจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ที่ได้จากการวิจัยเชิงลึก ระหว่างปี 2557 ถึง 2559 พบว่าภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2557 เพิ่มขึ้นจาก 55.6% เป็น 85% ของจีดีพี คิดเป็นตัวเงิน 12 ล้านล้านบาท หากรวมหนี้นอกระบบจะอยู่ในระดับที่เกิน 100% เป็นระดับล้มละลายของหนี้ภาคประชาชน
ส่วนข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า มีเกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครอบครัว มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เรียกได้ว่ายากจนแสนสาหัส หรือจนยิ่งกว่าจน มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพียง 12,000 บาท แต่มีหนี้สินถึง 60,000 บาท สาเหตุสำคัญเพราะมีที่ดินทำกินไม่ถึง 30 ไร่ ซ้ำยังอยู่นอกเขตชลประทานถึง 80% ต้องพึ่งความปรานีของเทวดา
นักวิชาการระบุถึงสาเหตุของหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะระดับความรู้ด้านการเงินต่ำ มีทัศนคติการบริหารจัดการการเงินส่วนตัวผิดๆและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่กลุ่มครูก็มีปัญหาหนี้สินทั้งๆที่มีรายได้และสวัสดิการดีขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องทัศนคติการ บริหารเงินถูกกระแสบริโภคนิยมครอบงำ จึงใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความพอเพียง
หลักฐานที่แสดงว่าครูมีปัญหาหนี้สิน คือการที่กระทรวงการคลังต้องจัดทำโครงการช่วยเหลือมาแล้วถึง 4 โครงการ และกำลังดำเนินโครงการที่ 5 เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครูทั้งระบบ 470,000 คน โครงการเดิมที่ทำมาแล้วเป็นแค่พักดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นเวลา 2–3 ปี ส่วนโครงการใหม่จะแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จรวมทั้งลดการผ่อนและดอกเบี้ย แต่ไม่มีปรับทัศนคติ
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้มีลักษณะเหมือนกับหลายประเทศคือมีระดับหนี้สินสะสมในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่มีหนี้สินในระดับสูง จึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาหนี้ที่สะสมมานานและเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังแค่ใช้มาตรการผ่อนคลายให้ดูดีชั่วคราว.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 3 พ.ค. 2559