by พรรณิการ์ วานิช
ภัยแล้งจากวิกฤตเอลนีโญที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์กำลังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในโลก โดยปีนี้ยอดการผลิตข้าวคาดว่าจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
สำนักข่าวสเตรทส์ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานความกังวลถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารในโลก อันเป็นพลพวงจากวิกฤตภัยแล้งซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยเผชิญ ทำให้หลายประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้มากเท่าปีก่อนๆ และคาดว่าปีนี้ ยอดการผลิตข้าวโดยรวมของโลกจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2010
หลายเดือนที่ผ่านมา คลื่นความร้อนได้แผ่ปกคลุมไปทั่วเอเชีย สร้างความเสียหายให้กับพืชผลการเกษตรในประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้นๆของโลกอย่างอินเดีย ประเทศไทยเองก็เจอภัยแล้งติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว ขณะที่นาข้าวในเวียดนามก็ได้รับความเสียหายอย่างมากจากวิกฤตน้ำแม่น้ำโขงแห้งขอด ในฐานะที่เวียดนามเป็นประเทศปลายน้ำ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวถึงร้อยละ 60 ของตลาดโลก คิดเป็นจำนวน 43 ล้านตัน
ในขณะนี้ สภาธัญพืชระหว่างประเทศ (IGC) ยืนยันว่าภัยแล้งยังไม่กระทบต่อราคาข้าว เนื่องจากยังมีสต็อกข้าวเก่าเป็นจำนวนมากในอินเดียและไทย แต่หากข้าวหมดสต็อกเมื่อใด ย่อมส่งผลกระทบต่อประชากรกว่าครึ่งโลกที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนยากจนที่ไม่สามารถรับมือกับราคาข้าวที่จะพุ่งสูงขึ้นในอนาคตได้
ที่มา : VoiceTV วันที่ 2 พ.ค. 2559