จังหวัดน่านร่วมกับภาคประชาชนเเละเอกชนหาทางออกปัญหาป่าไม้เป็นที่รับรู้กันว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติในจังหวัดน่านบางส่วนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เนื่องจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในจังหวัดน่านจึงตกเป็นจำเลยทางสังคมตลอดมา ทั้งที่รากเหง้าของปัญหาถูกสั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ล่าสุดทางจังหวัดได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเเละภาคประชาชนหาทางลดการปลูกข้าวโพดเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง..
นายอนุชา ธนแพทย์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดน่าน บอกเล่าว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อยู่อย่างยากลำบากเพราะอยู่บนพื้นที่สูง การประกอบอาชีพด้วยการทำไร่ เสี่ยงต่ออันตราย จากภัยธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุม เพราะถูกกล่าวหาตลอดเวลาว่าเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด การทำการเกษตรทำตามกฎหมาย เป็นไปตามตามนโยบายของรัฐ เช่น รัฐระบุว่าเป็นพื้นที่ห้ามบุกรุกใหม่ ก็จะต้องไม่บุกรุก พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐต้องมีร่องรอยการทำการเกษตร อย่างน้อยต้องมีตอซังข้าวโพด
“เกษตรกรมีชีวิตลำบากในเรื่องของหนี้สิน แต่ก่อนมีวิถีแบบทำไร่เลื่อนลอยพอกินพอใช้ไม่ได้แสวงหาความร่ำรวยมากมาย แต่ต่อมาเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวมีการพัฒนาขึ้น ทำให้อาชีพเดิมๆของเกษตรกรไม่เพียงพอ เมื่อไม่พอกินพอใช้ก็ต้องหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนพืชต่างๆที่เคยปลูกในไร่ในเมื่อก่อน”
นายอนุชา ธนแพทย์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดน่าน
แม้จะถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็น ผู้บุกรุกทำลายป่า นายอนุชาในฐานะเกษตรกรบอกว่า คนน่านให้ความสำคัญกับป่าไม้ คนน่านขาดป่าไม่ได้ ป่าให้ประโยชน์สารพัด กินอยู่ใช้ปัจจัยสี่ทั้งหมด เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนจะดูแลรักษาป่าชุมชนเพื่อให้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพแต่ต้องเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้
“ที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยของสังคมที่ทำให้พื้นที่เสื่อโทรมลง เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ไม่มีพืชที่เข้ามาทดแทนที่ง่ายต่อการเพาะปลูกอย่างข้าวโพด เรากำลังหาวิถีทางทำให้พื้นที่ป่าให้เป็นสีเขียว เราคิดอยู่ตลอดว่าจะหาทางแก้ไข หาทางดำเนินการอย่างไรคิดตลอดแต่ไม่ค่อยมีหนทางที่มีอนาคตมากนัก ถ้าหากขาดรายได้จากการปลูกข้าวโพด หนี้สินหรือการต้องส่งลูกไปเรียนหนังสือ ค่าใช้จ่ายการศึกษา ค่าครองชีพ ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนเครื่องจักรกล ต่างๆทั้งหมด ถ้าไม่มีรายได้เข้ามาจุนเจือก็จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน”
ที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีป่าชุมชนอยู่ทุกหมู่บ้าน ส่วนที่เห็นเป็นภูเขาหัวโล้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นไร่หมุนเวียนมาก่อน ตอนหลังมีการกระจายตัวจากความต้องการข้าวโพดมากขึ้น ไร่หมุนเวียนจึงกลายเป็นไร่ถาวร กลายเป็นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด ดังนั้นการจะเพิ่มพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านต้องช่วยกันแก้ไข ทุกหน่วยงานทุกองค์กร ต้องร่วมกันด้วยความจริงใจ ขณะเดียวกันรัฐควรมีนโยบายต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย สร้างความ เชื่อมั่นให้ชุมชนได้ แก้ปัญหาให้ตรงจุด หากจะพัฒนาพื้นที่ป่าที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด ให้เป็นพื้นที่วนเกษตร พืชไม้ผล ไม้ยืนต้น ต้องหาตลาดมารองรับ ให้มีรายได้ใกล้เคียงกับการปลูกข้าวโพด ก็จะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้
นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่าจังหวัดให้ความสำคัญกับป่าไม้ เพราะน่านเป็นพื้นที่ต้นน้ำให้กับ 6 จังหวัดภาคเหนือ 20 จังหวัดในภาคกลาง จะไม่ให้มีการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด โดยได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี สร้างป่าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ เช่น การปลูกกาแฟ มะม่วงหิมพานต์ อะโวคาโด้ ไม้ผลต่างๆ และจะส่งเสริมการเลี้ยงโค พร้อมจัดหาตลาดเพื่อรองรับ
ขณะเดียวกันจังหวัดยังได้วางแนวทางในการลดโครงสร้างรายได้ภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนถึง 80 % แต่มาเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านสินค้าบริการ สร้างผู้ประกอบการ ให้เป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งน่านเติบโตเป็นอันดับ 3 ของประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมกับหอการค้าและผู้ประกอบการ จัดทำหลักสูตรธุรกิจการค้าในโรงเรียนมัธยม เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านธุรกิจการค้า มีทางเลือกด้านอาชีพ ส่วนเด็กนักเรียนลูกของเกษตรกรไร่ข้าวโพด จังหวัดจะจัดหาทุนการศึกษา ให้ได้เรียนในสายอาชีพอื่นต่อไป
“โจทย์ก็คือถ้าไม่ให้เขาปลูกข้าวโพด ก็ต้องมีทางออกว่าจะให้ปลูกอะไรทดแทน ในฐานะที่ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผมก็มาคุยกับทุกภาคส่วน เอาเรื่องมาตรการที่จะดูแลรักษาป่าก่อน ที่ผมบอกว่าจะต้องคงสภาพป่าไว้นั่นก็คือหนึ่ง ในช่วงที่ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องไม่มีนายทุนที่ไหนมาใช้พื้นที่ บุกรุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน บุกรุกไม่ว่าจะเป็นยางพาราหรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เป็นเฉพาะประชาชนคนน่านที่อยู่ ในส่วนที่สองก็คือพื้นที่ที่เป็นป่าอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวน ไม่ให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกเพิ่มให้คงสภาพอยู่ตรงนั้นก่อน แล้วจะได้จำกัดพื้นที่เพื่อที่จะวางแผนที่จะมาแก้ไข แนวทางของเราที่จะทำให้เพิ่มพื้นที่ป่าก็คือใช้แนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับโครงการตัวอย่างโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาทำโครงการพัฒนาภูฟ้า นั่นก็คือสร้างป่าสร้างรายได้ให้กับประชาชน"
สำหรับการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่าจังหวัดจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ หรือบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำงานด้านการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้กับทุกหน่วยงาน โดยล่าสุดนี้ได้จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้แก่เกษตรกรโดยจัดการแสดงคอนเสิร์ตวงดนตรีคาราบาว “คนไทยรักษ์ หวงแหนป่า” ร่วมกับบริษัท เครือเจิญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)
“จังหวัดน่านนั้นจะพยายามประสานขอความร่วมมือจากบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการหวงแหนป่า รักษ์ป่า หรือปลูกป่า เราก็ประสานมาทำงานที่จังหวัดน่าน ศักยภาพของน่านถ้าเราจะทำตามลำพังก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ขอความร่วมมือบริษัทห้างร้านที่ต้องการเข้ามาทำโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ในสังคมเมืองน่าน เราประสานหมดไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งซีพีด้วย”
นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินโครงการ “ธรรมชาติปลอดภัย” ร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในพื้นที่อำเภอเชียงกลางและอำเภอสันติสุข ขณะเดียวกันยังมีห้างแม็คโคร สาขาจังหวัดน่าน เป็นช่องทางให้เกษตรกรจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร หากเกษตรกรกลุ่มใดมีความเข้มแข็ง ผลิตพืชผักคุณภาพดีก็จะรับมายังส่วนกลางเพื่อกระจายผลผลิตไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือการส่งเสริมด้านอาชีพให้กับเกษตรกร รวมทั้งการทำแปลงวิจัยพืชเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดบนดอย ปัจจุบันมีแปลงทดลองอยู่ที่บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ
"ในจังหวัดน่านมีแกนนำ มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ก่อนหน้านี้ทางเครือก็ร่วมกับมูลนิธิฮักเมืองน่าน ซึ่งได้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่า การคืนพื้นที่ป่าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขุดนาแลกป่า โดยหลัก ๆ เราจะเข้าไปเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม แกนนำต่างๆ ส่วนของเราจะหาพืชทางเลือก อาชีพทางเลือกไปเสนอให้แก่เกษตรกรเพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด"
นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน
นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวถึงบทบาทการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ว่า มูลนิธิมีบทบาท 2 แนวทางคือ
1.การอนุรักษ์ป่าที่ยังเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเห็นสภาพโล่ง แต่ยังมีป่าที่ยังหลงเหลือในหมู่บ้านเป็นป่าชุมชนที่เรียกว่าป่าหน้าหมู่ เช่น ป่าเหมือง ป่าฝาย ป่าสาธารณะต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลายด้วยการเสริมความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น
2.ป่าที่เปลี่ยนสภาพโล่งแล้ว มูลนิธิกำลังรณรงค์สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆที่มีความเห็นด้วยเพื่อกลับเข้ามาฟื้นฟูใหม่
“ในแง่การสร้างจิตสำนึกและมวลชนร่วมเราใช้หลักแนววัฒนธรรมชุมชน คือการบวชป่า การสืบชะตา ส่วนแนวทางที่สองเป็นกิจกรรมที่เป็นการฟื้นสภาพโล่งก็เป็นการหลักวิทยาศาสตร์เข้าช่วย คือการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า การอนุบาลเพาะกล้าพันธุ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการปลูกฟื้นโดยเน้นให้ชุมชนเป็นหลัก ให้องค์การท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทหลัก ให้หน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐเป็นหน่วยหนุนเสริม”
นายประทีป อินแสง ประธานสภากรรมการวิทยาลัยชุมชนน่าน ยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดน่านมีปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าจริง แต่ชาวน่านพร้อมที่จะกลับมาแก้ปัญหา วิทยาลัยชุมชนซึ่งมีฐานะสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดน่าน จึงใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งปัญหาของจังหวัดน่านคือการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ภูเขาหัวโล้น วิทยาลัยชุมชนจึงจัดทำหลักสูตรในเรื่องการสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างกระบวนการคิดใหม่ และวิธีการนำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่าสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน พัฒนาเรื่องคนให้มีความรู้ มีปัญญา
“ปัญหาทางโครงสร้างที่มีระยะ เวลามาไม่น้อยกว่า 50 ปี ทั้งเชิงของนโยบายของรัฐบาล เรื่องสัมปทานป่าไม้ เรื่องความมั่นคง และเรื่องเศรษฐกิจ ชาวบ้านต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต เกิดความไม่เข้าใจและข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อคนต้นน้ำ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม วันนี้สรุปแล้วว่าทำอย่างไรให้กลับคืนสู่ชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของตนเอง” นายประทีปกล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.