ข้าวกับการค้า จริงหรือที่ว่าคนไทยจะมีข้าวไม่พอกิน
ทุกปีชาวนาไทยผลิตข้าวได้ถึง 20 ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้เราเก็บไว้บริโภคเองภายในประเทศ 11 ล้านตัน และส่งออก 9 ล้าน ตัน ในสถานการณ์ที่จีน อินเดีย เวียดนาม หยุดส่งข้าวออก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศ หันมามองที่ตลาดข้าวประเทศไทย แน่นอนว่าผู้ส่งออกข้าว อาจจะรู้สึกว่านี่คือโอกาสทองของไทย ที่จะเพิ่มจำนวนข้าวที่จะส่งออกไปขายได้มากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ภายในประเทศที่ข้าวสารกำลังขึ้นราคา ประกอบกับข่าวการจลาจลและการชุมนุมประท้วงอาหารราคาแพงในต่างประเทศ นี่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้ผู้บริโภคข้าวภายในประเทศย่อมเป็นกังวลกับสถานการณ์ข้าวในประเทศ ไทย
การรุกคืบของพืชพลังงาน และนิคมอุตสาหกรรม
ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ที่การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและบริการกำลังเติบโตอย่างหนัก ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมกำลังหดตัวเล็กลง เนื่องจากอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงและ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอกับการเลี้ยงดูครอบครัวอีกต่อไป
หลายปีที่ผ่านมา ที่ยางพาราราคาสูงขึ้นจนใจหาย พื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ผลิตอาหารจำนวนมากในหลายภาคของประเทศไทย ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราราคางามแทน
และหลายปีมาแล้วที่ยูคาลิปตัสได้เข้ายึดหัวหาดพื้นที่ปลูกพืชอาหารในภาคอีสาน การขยายตัวและความต้องการของอุตสาหกรรมกระดาษเติบโต รุกคืบไปทั้งในพื้นที่ราบที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชอาหารและสู่พื้นที่โคกดอนที่เคยเป็นพื้นที่ป่าชุมชนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในเขตอีสานตอนใต้ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และภาคตะวันออกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
พร้อมๆ กับการรุกคืบอย่างรวดเร็วของการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน ทั้งอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และการบูมของปาล์มน้ำมันสุดๆ ในปีที่ผ่านมา ทำให้ฤดูกาลผลิตที่แล้วมีชาวนาหลายคนปรับพื้นที่นา ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทน พร้อมกับการตอบรับของฝ่ายนโยบายที่ตั้งเป้าหมายให้มีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้ถึง 3 ล้านไร่ ทั่วประเทศ
การเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในภาคต่างๆ ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดในภาคอีสานและภาคตะวันออก คือ นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง อุตสาหกรรมเกลือขนาดมหึมาที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ในขณะที่ภาคใต้ กำลังกลายสภาพเป็นภูเขายางพารา ป่าปาล์มน้ำมัน และ เขตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
การสำรวจพื้นที่ปลูกข้าว และพื้นที่ผลิตอาหารในพื้นที่ 13 จังหวัดทั่วประเทศของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน จึงพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวในหลายจังหวัด อยู่ในสภาพค่อยๆ ลดลงตามลำดับในหลายจังหวัด
ถ้าไม่มีสถานการณ์ ข้าวราคาแพง เพราะประเทศอื่นปลูกข้าวได้น้อยลง ประเทศไทยมีโอกาสจะเจอวิกฤตพื้นที่ปลูกข้าว และพื้นที่ปลูกพืชอาหารลดลงไปอย่างเงียบๆ หรือไม่ เรื่องนี้น่าจะช่วยเตือนสติได้ดีต่อประเด็นการคุ้มครองพื้นที่ปลูกพืชเพื่อ อาหาร หรือความมั่นคงทางอาหารของคนไทย
ที่ดินไม่ได้อยู่ในมือชาวนา
เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเหมือนกับไทย แต่เมื่อฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้บูมอย่างหนัก ให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชพลังงาน และพืชเพื่อการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศเป็นหลัก ปัจจุบันนี้ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ต้องกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว ที่เป็นอาหารหลักของคนในประเทศ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ประเทศฟิลิปปินส์ปลูกข้าวได้ไม่พอเพียงกับการบริโภคของคนในประเทศ ก็เพราะว่าที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้อยู่ในมือชาวนา แต่กลับอยู่ในมือของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ นักการเมือง เขตอุตสาหกรรม และนายทุนที่กักตุนที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไรเป็นหลัก สถานการณ์เช่นนี้อันที่จริงแล้วก็ไม่ห่างไกลนักจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
ในประเทศไทยมีเกษตรกรถึง 3.2 ล้านคนไปร่วมลงชื่อไว้ในการจดทะเบียนคนจน เมื่อสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ เปิดให้มีการลงชื่อเกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ปัจจุบันชื่อเหล่านั้นก็ยังคงอยู่เช่นเดิม เพราะยังไม่มีการช่วยเหลือใดๆ นอกเหนือจากการได้ลงชื่อ ในจำนวน 3.2 ล้านคน มีเกษตรกรที่ระบุว่าตนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน มีที่ดินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกิน 1.6 ล้านคน และขอเช่าที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน
ในขณะที่สถานการณ์ข้าวขึ้นราคาได้ทำให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลกันมากขึ้นว่า มีชาวนาจำนวนมากในภาคกลางที่ต้องเช่าที่คนอื่นทำนา จากการสัมภาษณ์ชาวนาที่ตำบลบางขุด จังหวัดชัยนาทของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนพบว่ามีชาวนาในตำบลบางขุดถึง 70 % ที่ ต้องเช่าที่คนอื่นทำนา ชาวนาในพื้นที่เขตนี้ปลูกข้าวขายมานานแล้ว แต่ยิ่งทำยิ่งขาดทุน มีหนี้สิน และต้องตัดที่นาขายไปที่ละส่วน จนไม่มีที่นาเหลืออยู่และต้องเช่าที่นาแทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ที่นาที่ได้เช่าก็คือที่นาที่ตนเองเคยเป็นเจ้าของนั่นเอง
หากที่ดินไม่ได้อยู่ในมือชาวนา ความมั่นคงทางอาหารของคนไทยจึงขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของที่นาในประเทศไทยจะยังคงรักษาพื้นที่นาไว้เป็นที่ปลูกข้าวได้อีกนาน แค่ไหน
รู้จักข้าว รู้จักชาวนา
มีหลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าปลูกข้าวแล้วยังจนเป็นหนี้เป็นสิน แล้วชาวนายังทนปลูกข้าวอยู่ทำไม ทำไมไม่ไปทำอาชีพอื่น ที่รายได้ดีกว่านี้ หรือเปลี่ยนไปทำงานตามโรงงาน เป็นกรรมกร หรือทำงานรับจ้างอะไรก็ได้
ประเด็นคือหลายสิบปีที่ผ่านมา ราคาข้าวไม่เคยสูงเช่นนี้มาก่อน สถานการณ์ปัจจุบันคือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสถานการณ์ที่ข้าวในตลาดโลกไม่เพียงพอกับการบริโภค ตลาดจึงเป็นของผู้ขายและผู้ซื้อยินดีจ่ายเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ในประเทศไทยหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเช่นนี้ การขายข้าวที่ผ่านมาเป็นตลาดของผู้ซื้อ ผลผลิตข้าวของประเทศไทยมีมากจนล้นเกินความต้องการ และมีส่วนเหลือถึง 45% ที่ ต้องผลักดันให้เกิดการส่งออก เมื่อความต้องการในการซื้อข้าวน้อยกว่าข้าวที่ผลิตได้ ผู้ซื้อคือพ่อค้าคนกลางจึงสามารถกดราคาข้าวของชาวนาให้ต่ำลงได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราได้ยินกันเสมอว่า ชาวนาเป็นผู้ปลูกข้าว แต่ราคาข้าวกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าข้าวมีปริมาณมากเกินไป ทำไมไม่ลดปริมาณข้าวที่ผลิตลง ชาวนาจะได้กำหนดราคาข้าวได้เอง ปัญหาคือชาวนาถูกส่งเสริมให้ปลูกข้าวเพื่อส่งออกมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันพื้นที่การปลูกข้าวของประเทศไทยมีมากถึงเกือบ 100 ล้านไร่ มีชาวนาหรือเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน คนผูกพันทำกินหากินอยู่กับผืนนา และการผลิตข้าวล้นเกินของชาวนานี้ ได้มีส่วนสร้างกำไรให้กับพ่อค้าคนกลางและผู้ค้าข้าวส่งออก ทำให้เศรษฐกิจการค้าข้าวและการส่งออกข้าวของไทยเติบโตอยู่จนทุกวันนี้ ปัญหานี้จึงเกี่ยวข้องกับระดับโครงสร้าง ที่รัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ชาวนายังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยความเคยชินในระบบการผลิตที่เน้นเทคโนโลยีก็ตาม หรือจะเป็นด้วยผลพวงของการส่งเสริมให้ปลูกข้าวจำนวนมากและใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกพัฒนามาให้ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม ปัจจุบันชาวนาไทยติดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตรชนิดงอมแงม ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาอยู่ในระดับที่สูง และถ้าราคาข้าวที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้าไม่สูงมากพอในปีนั้นๆ ชาวนาก็ต้องเผชิญปัญหาขาดทุนการผลิต ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวให้ชนปี เมื่อชาวนามีหนี้สินมาก ทางเลือกที่จะขายข้าวของชาวนาจึงมีไม่มาก แม้ราคาข้าวที่ได้จากพ่อค้าจะต่ำ แต่นั่นก็ยังทำให้ชาวนามีเงินจำนวนหนึ่งไปหมุนเวียนใช้ในครอบครัว
คนไทยจะมีข้าวพอกินตลอดไปหรือไม่
คำถามที่ว่า คนไทยจะมีข้าวพอกินตลอดไปหรือไม่ จึงน่าจะขึ้นอยู่กับว่า เราจะยังรักษาให้มีชาวนารายย่อยประกอบอาชีพทำนาต่อไปได้อีกนานหรือไม่ รัฐควรจะวางแผนอย่างจริงจังเพื่อ แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและปัญหาหนี้สินของชาวนา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนายังคงผลิตข้าวให้เรากินตลอดไป การประกันราคาข้าวในราคาที่สูงเช่นราคาในปัจจุบันควรจะเกิดขึ้นทุกปี นั่นจึงจะเป็นการรับประกันได้ว่า เราในฐานะผู้บริโภคจะมีความมั่นคงในด้านอาหารตลอดไป และชาวนาผู้ผลิตข้าวจะมีความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน
เขียนโดย นรัญกร กลวัชร /23 /5/2010
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.