โดย ชูลิต วัชรสินธุ์, สมชาย มหรรณพนที
ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510, 2511, 2515, 2520 และ พ.ศ. 2522 ภัยแล้งครั้งที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เกิดจากฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝนยาวนานกว่าปกติ คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ปริมาณฝนรายปีต่ำกว่าค่าปกติในทุกภาค บริเวณที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง คือ ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางทั้งหมด ด้านเหนือและด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ทำให้เกิดความเสียหายและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะขาดน้ำกินน้ำใช้และกระแสไฟฟ้า พืชผลที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้รับความเสียหายมากมาย
หลังจากปี 2522 ก็เกิดสภาวะฝนแล้งในปีต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง ปีที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เช่น ปี พ.ศ. 2529, 2530, 2533, 2534, 2535, 2537, 2542, 2548 และล่าสุด พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะภัยแล้งในปี พ.ศ. 2537, พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2558 เป็นปีที่เกิดภัยแล้งเป็นบริเวณกว้างในเกือบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ต้องมีการจัดสรรปันส่วนน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์
สาเหตุใหญ่ของภัยแล้งเกิดจากภัยธรรมชาติ ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานในฤดูฝน และการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ การบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การขยายตัวของชุมชน และพื้นที่การเกษตร เป็นต้น
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ประมาณ 99.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30.85 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นลุ่มน้ำ สายหลักที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำสาขาหลัก คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เทือกเขาแหล่งต้นน้ำลำธาร มีที่ราบตามหุบเขาและริมน้ำ ตอนกลางพื้นที่
ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ลุ่มน้ำท่วมถึง ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ น้ำท่วมขัง การใช้พื้นที่ในลุ่มน้ำ กล่าวได้คือพื้นที่ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 45.63 เป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร รองลงมาเป็นการใช้ที่ดินประเภทป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 45.30 และพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 5.35 ที่เหลือเป็นการใช้ที่ดินประเภทอื่น ๆ และแหล่งน้ำ ร้อยละ 2.09 และร้อยละ 1.64 ตามลำดับ
แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม โดยมีพื้นที่การเกษตรที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการพัฒนาโครงการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในปัจจุบัน มีโครงการทุกประเภทรวม 48,917 โครงการ พื้นที่ชลประทานและพื้นที่รับประโยชน์รวม 20.865 ล้านไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 27,356.58 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาตรเก็บกักน้ำของโครงการขนาดใหญ่ที่มีความจุอ่าง เก็บน้ำมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 11 โครงการ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 25,987.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นความจุอ่างเก็บน้ำใช้งาน 19,186.04 ล้าน ลบ.ม.
ความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันและอนาคต
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งผลิตอาหารด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว มีความต้องการใช้น้ำเป็นปริมาณมาก รวมทั้งมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีปริมาตรความจุอ่างเก็บน้ำมากกว่าทุกลุ่มน้ำในประเทศ เมื่อพิจารณาความต้องการใช้น้ำในรายลุ่มน้ำสาขาหลัก แยกเป็นกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความต้องการน้ำด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศวิทยาท้ายน้ำ
ในปัจจุบันลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความต้องการใช้น้ำรวม 30,583 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 36,550 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าโดยเป็นความต้องการใช้น้ำภาคการเกษตรร้อยละ 82
จากการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำและปริมาตรน้ำเก็บกักในลุ่มเจ้าพระยา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
ในขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฤดูฝนช่วงน้ำหลากขาดแหล่งเก็บน้ำหลากเพื่อการบรรเทาอุทกภัย จากแผนงานที่คาดการณ์ไว้ในการพัฒนาโครงการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในอนาคตแล้ว จะเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้งอีกประการหนึ่ง นอกจากนั้นโครงการผันน้ำที่ได้มีการศึกษาเพื่อการพัฒนาก็จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ความไม่สมดุลจากการพัฒนา
ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการพัฒนานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่การขุดคลองเพื่อการ คมนาคมทางน้ำ การระบายน้ำหลากท่วม และการปรับปรุงคลองต่าง ๆ มาเป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร การเริ่มสร้างฝาย และเขื่อนทดน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ฝายแม่แฝก เขื่อนพระรามหก และเขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น
จากการเริ่มแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการพัฒนาเขื่อนเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน การคมนาคมขนส่ง ชุมชนเมือง การเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว มีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น เป็นแหล่งเก็บน้ำ ทำให้มีการพัฒนาระบบชลประทาน ทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่การเกษตร การใช้พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีการใช้น้ำมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาในปีน้ำน้อยเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทุกปี
การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
พื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงการเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่ชลประทานกว่า 7 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ใหญ่ท ี่สุดของประเทศ เพราะมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ รวมทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก
แต่บางปีไม่มีการวางแผนและควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งให้เหมาะสม กับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดการแย่งกันใช้น้ำของเกษตรกร โดยเฉพาะในปีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ยิ่งมีปัญหารุนแรงมาก เพราะน้ำแล้งมาก
การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีแนวโน้มการใช้น้ำเป็นปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และกลุ่มผู้ใช้น้ำต่าง ๆ ต้องมาทำความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เป็นการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ หรือเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นภารกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาดำเนินการร่วมกัน
ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โดยกำหนดแนวทางต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ต้องวางแผนจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและผลผลิตในพื้นที่ชลประทาน โดยจัดกลุ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อจัดการน้ำในระดับคลองสายหลัก หรือโครงการส่งน้ำให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ควบคุมการใช้พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งให้เท่าเทียมกัน จัดพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะกับดินและน้ำ และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง 3.การเพิ่มอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ 4.การผันน้ำ คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนภูมิพล
ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยานับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทั้งนี้เพราะการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีการจัดการด้านการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยควรจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดังนี้ 1.การวางแผนจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและผลผลิตในพื้นที่ชลประทาน 3.การเพิ่มอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ 4.การผันน้ำคือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล
พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ประสบปัญหาภัยแล้งมาหลายครั้ง เห็นได้จากปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในปีที่ต้นเดือนมกราคมมีปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานของทั้งสองเขื่อนน้อยกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม. เช่น ปี 2523, 2537 และ 2542 ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการใช้น้ำในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ในต้นปี 2558 ปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวม 5,378 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าค่าต่ำสุดของปีน้ำปกติ คือ 6,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มากกว่าปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานของทั้งสองเขื่อนในเดือนมกราคมของปี 2523, 2537 และ 2542 แต่ก็เกิดปัญหาวิกฤตน้ำอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ขาดการวางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองเขื่อน เพื่อการใช้น้ำจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างจริงจัง ประกอบกับที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกในช่วงต้นฤดูฝน ทำให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น สภาวะวิกฤตในช่วงปลายฤดูฝนแต่ละปี จะต้องพิจารณาถึงปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนทั้งสองเขื่อนว่าปริมาตรน้ำใช้งานเท่าไร จะได้วางแผนการจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
และเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งได้ผลอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐต้องมีการวางแผนร่วมกัน และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรือการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.