“วันนี้เราไประยอง เราคาดหวังว่า จะได้กะปิจากกุ้งเคยในระยอง แน่นอนเรายังได้กะปิเหมือนเดิม แต่เคยไม่ได้มาจากระยองแล้วเพราะเราใช้แบบไม่ยั่งยืน เลยต้องไปหามาจากแหล่งอื่น เราไปลำพูน อยากได้เครื่องแกะสลักจากไม้ฉำฉา ก็นึกว่าจะเป็นไม้จากที่นั่น แต่ปรากฏวันนี้ลำพูนไม้ฉำฉาหมดไปแล้ว ต้องเอาไม้มาจากที่อื่นเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”
“ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ฉายภาพความจริงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจฐานรากในบ้านเรา ที่เคยอิ่มเอมและเปรมปรีดิ์กับการนำทรัพยากรรอบตัวมาใช้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
ทว่าเมื่อการใช้ไม่ได้มาควบคู่การอนุรักษ์ วันนี้หลายพื้นที่เลยต้องเจอกับโจทย์หนักและท้าทาย เมื่อทรัพยากรที่เคยมีมากมาย เริ่มสูญหายไปหมด
ในการลงพื้นที่ของ BEDO เพื่อทดสอบเส้นทางเศรษฐกิจชีวภาพสายตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนเอสเอ็มอี เกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรชีวภาพมาพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เราได้เห็นหลายตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
กวางเป็นสัตว์ป่าสงวน เพราะในอดีตถูกล่าและใช้ประโยชน์อย่างไม่ยั่งยืน ทว่าในวันนี้ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงกวางในเชิงเศรษฐกิจแล้ว โดยนำเข้าสายพันธุ์มาจากต่างประเทศ จากของที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เลยกลายมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถ ใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ทั้งเนื้อ หนัง เขา ไม่ว่าจะรับประทานเป็นอาหาร เป็นยา ตลอดจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คูลๆ ก็สามารถทำได้ จนสร้างรายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันให้กับผู้เลี้ยง
“เราเริ่มต้นเลี้ยงกวางในปี 2547 โดยนำเข้ากวางพันธุ์ลูซ่ามา จากประเทศออสเตรเลีย เริ่มต้นเลี้ยงแค่ 15 ตัว ปรากฏเลี้ยงไป 4-5 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 200 ตัว จากที่เคยคิดแค่เลี้ยงไว้ดูเล่น เลยต้องมาเริ่มคิดขาย”
“วันทนา โหตรภวานนท์” เจ้าของฟาร์มกวาง “ปโชติการ” ใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บอกที่มาของการขยับจากสัตว์เลี้ยงดูเล่น มาเป็นการเลี้ยงกวางในเชิงพาณิชย์ และเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกวางมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อดีของกวางคือเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ทุกส่วนของร่างกาย สามารถขายทำเงินได้หมด เขาของกวางขายได้ทุกปี เพราะกวางสลัดเขาทิ้งทุกๆ หนึ่งปี อายุ 2 ปี ขึ้นไป ก็ขายเนื้อ ขายแม่พันธุ์ได้ ถ้าไม่ขายซากก็หารายได้จากกวางได้ถึง 15 ปี ขณะที่กวางยังเป็นที่ต้องการในตลาดอีกมาก เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ได้เพราะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน อย่าง สหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย ขณะที่เกษตรกรก็มีการพัฒนาการเลี้ยง และพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จากสัตว์ที่เคยจะสูญหาย เลยกลายเป็นห่วงโซ่ที่ยั่งยืน “วิน” ทั้งกับผู้เลี้ยงเพราะมีรายได้ที่มั่นคง และ “วิน” กับธรรมชาติเมื่อยังรักษาเผ่าพันธุ์ของกวางเอาไว้ได้
ป่าชายเลนที่ ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ถูกทำลายไปมาก ทั้งจากการทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ โรงงานอุตสาหกรรม ทำฟาร์มกุ้ง รวมไปถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้านที่ตัดไม้ในป่าไปเผาถ่าน เลยทำให้ในช่วงแค่ไม่กี่ปีป่าชายเลนของที่นี่สูญหายไปมาก กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
ป่าเสื่อมโทรมกระทบกับวิถีชีวิตชุมชน เพราะส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน เมื่อป่าจาง สัตว์น้ำหดหาย ก็กระทบกับรายได้ของชุมชนตามไปด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านแสมภู่ และ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส หันมาผนึกกำลังกันร่วม “ปลูกป่า” เพื่อฟื้นธรรมชาติคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง
“ชาว ชุมชนบ้านแสมภู่ ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน จับกุ้ง จับปลา แล้วก็เลี้ยงหอยนางรม แต่พอป่าเสื่อมโทรม และมีน้ำเสียจากโรงงานเข้ามา ก็กระทบกับวิถีดั้งเดิมของเขา ชาวบ้านเลยรวมกลุ่มกันมาปลูกป่า ปลูกเพื่อที่จะอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรเอาไว้ กลุ่มเลยเติบโตและเข้มแข็งขึ้น ขณะที่ป่าชายเลนก็ผืนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ”
คำบอกเล่าจาก “นาวิน เจริญพร” รองนายกเทศมนตรี ตำบลปากน้ำประแส ที่อยู่ร่วมในความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่นี่มาตั้งแต่ต้น มองเห็นป่าชายเลนที่เคยหายไป กลับกลายเป็นผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ระยอง โดยมีพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ขยับจากแหล่งทำมาหากินของชุมชน มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีจุดขายคือสะพานยาวกว่า 2 กิโลเมตร ให้เดินชมความสวยงามของ “ทุ่งโปรงทอง” แหล่งต้นโปรงทองสีเขียวอร่ามที่เรียงรายกันอยู่สุดลูกหูลูกตา
“ชุมชนเริ่มจากปลูกป่า เทศบาลรับซื้อต้นกล้าต้นละ 5 บาท ปลูกป่าเขาก็ได้เงินแล้ว พอธรรมชาติกลับมาคุณภาพชีวิตเขาก็ดีขึ้นด้วย โดยจากเดิมที่หาสัตว์น้ำอย่างเดียว วันนี้เขามีการท่องเที่ยวชุมชน มีรายได้เพิ่มจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเอา กุ้ง หอย ปู ปลา ที่หาได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาขายให้นักท่องเที่ยว ว่างจากหาสัตว์ ก็มาขี่สามล้อ รับ-ส่ง นักท่องเที่ยว เป็นรายได้อีกทางด้วย”
เอาแค่การกลับมาของสัตว์น้ำ เขาคาดว่า น่าจะเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้ถึง 4 เท่า! เมื่อเทียบกับสมัยก่อน
การปลูกป่าเป็นเรื่องดี เพราะนำธรรมชาติ คืนสู่ธรรมชาติ หากทว่าก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตของคนบางกลุ่ม นาวิน บอกว่า ในอดีตมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ทำอาชีพหาหอย ซึ่งการปลูกป่าทำให้พื้นที่ในการหาหอยลดน้อยลง ผลผลิตจากหอยก็ลดตามไปด้วย แต่ใครจะคิดว่าการกลับมาของผืนป่า จะเปลี่ยนชีวิตของคนกลุ่มนี้
“เดิม เขาขายหอยอาจได้ กิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่พอป่าอุดมสมบูรณ์ พบว่า 2-3 ปีหลัง กุ้งทะเลและปูหาได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นได้สัตว์น้ำที่มีมูลค่ากลับมา อย่างตอนนี้กุ้ง กิโลกรัมละ 200-300 บาท กับหอยที่เขาเคยขายแค่ 20-30 บาท มันต่างกันมาก ชาวบ้านก็เริ่มเห็นดีเห็นงามมากขึ้น”
การอนุรักษ์ไม่ได้สร้างแค่เศรษฐกิจ แต่ยังสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน และระหว่างชุมชนด้วย โดยนาวิน เล่าว่า สะพานชมทุ่งนาโปรง สามารถเดินจากบ้านแสมภู่หมู่ 7 ไปจนถึงหมู่ 1 ซึ่งเดิมสองชุมชนพื้นที่ท่องเที่ยวยังไม่เชื่อมถึงกัน ทว่าเมื่อการท่องเที่ยวถูกเชื่อมต่อ ชาวบ้านก็มาประสานความร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ทำเป็นกลุ่มรถสามล้อที่จะรับนักท่องเที่ยวซึ่งเดินมาจากฝั่งหนึ่งไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง มีการจัดระเบียบนักท่องเที่ยว และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เกิดเป็นความเข้มแข็งขึ้นในชุมชน
“ชาวชุมชนที่นี่เฉพาะหมู่ 7 มีประชากรประมาณ 200 คน รวมหมู่ 1 ด้วยก็น่าจะประมาณ 700-800 คน ซึ่งนั่นก็หมายถึงคนประมาณ 30% ของตำบลปากน้ำประแส ที่ได้อานิสงห์จากป่าผืนนี้ ที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้น” เขาบอก
หลังการโปรโมทของ ททท. ทุ่งโปรงทองมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า! โดยปัจจุบัน เฉพาะวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่ไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ปัญหาที่ตามมาของชุมชนซึ่งไม่เคยเป็นเมืองท่องเที่ยว คือ ชาวบ้านตั้งหลักไม่ทัน และอยากทำทุกอย่างไปเสียหมดเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว แต่ในมุมมองของคนทำงานที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ มากกว่าการท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย เขาฝากข้อคิดว่า
“ทำท่องเที่ยวเราต้องไม่ไปรบกวนธรรมชาติ นักท่องเที่ยวไม่ใช่เราจะให้เขาได้ทุกอย่าง แต่ต้องให้เขาได้สัมผัสธรรมชาติที่ ไม่ถูกปรุงแต่งมากนัก เพราะเขามาหาเรา เขามาดูธรรมชาติ เราไม่สามารถเจริญเป็นพัทยา หรือเป็นกรุงเทพได้ เราก็ต้องเป็นประแสของเราอย่างนี้ ต้องเป็นป่าแบบนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเพื่อนักท่องเที่ยว” เขาบอก
นี่คือตัวอย่างของชุมชนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากทว่าพวกเขาไม่ใช่แค่ใช้ แต่ยังเลือกดูแลและอนุรักษ์ เพื่อให้ธุรกิจกับธรรมชาติเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนด้วย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.