ปัญหาด้านหนึ่งที่รัฐบาลและ คสช.คงจะไม่มีความรับรู้หรือตามกลเกมของอภิทุนโลกาภิวัตน์ไม่ทัน นั่นคือการกีดกันราษฎรไทยออกจากความเป็น “เจ้าของทรัพยากร” รูปธรรมคือเรื่องสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนด้วย อภิทุนที่เข้ามากับกระแสโลกาภิวัตน์จำเป็นต้องเลิกล้ม “ความเป็นเจ้าของทรัพยากร” ของพลเมืองในประเทศที่อภิทุนกำลังเข้าไปแสวงหาประโยชน์
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นอภิทุนจากโลกตะวันตก หรือจากประเทศจีน ต่างก็ล้วนต้องทำเช่นนั้น และปัญหานี้เอง ที่กำลังผลักดันให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมวลชนในพื้นที่ทรัพยากรกับรัฐบาล นักวิชาการไทยแม้จะพยายามอธิบายปัญหานี้ แต่ภาครัฐก็ไม่ใส่ใจ ยังคงหลงเดินตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นพวกเดียวกับอภิทุน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอปัญหาที่ทุนโลกาภิวัตนืกำลังเข้ามาถอดถอนความเป็นเจ้าของทรัพยากรของพลเมืองไทยไว้ว่า
“...เราจะพูดเพียงว่าโลกาภิวัตน์เป็นโลกไร้พรมแดนหรือเป็นการเคลื่อนย้ายผู้คน หรือเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามแดนอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าพูดอย่างนั้น คือการพูดอย่างไม่เข้าใจ การรุกเข้ามาของโลกาภิวัตน์ มันเข้ามาโดยการสะสมทุนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การถอดทอนความเป็นเจ้าของทรัพยากร หรือการลบล้างความเป็นเจ้าของทรัพยากร หมายความว่าเวลาพัฒนาการของทุนนิยมที่เข้ามามันจะต้องพยายามสะสมทุนให้มากที่สุด ทำอย่างไรถึงจะสะสมทุนให้มากขึ้นคือการเอาคนออกจากพื้นที่ ตัวอย่าง กรณีเหมืองแร่โพแตส นายทุนจะสะสมทุนได้คือการขอสัมปทานและไล่คนออกจากพื้นที่ หรือการสะสมทุนโดยการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็คือให้ปลูกยางพารา โดยการเอาคนที่เคยทำมาหากินออกไป หรือการขุดเหมืองทองที่จังหวัดเลย การสร้างเขื่อน เหล่านี้คือกระบวนการสะสมทุนของระบบทุนนิยม คือการเอาคนที่เคยอยู่หลุดออกจากแหล่งทรัพยากรของตนเอง ทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ แหล่งที่เป็นที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเขา
ทีอุบลราชธานีก็มีพี่น้องที่ไร้ที่ทำกินประมาณ ๓,๐๐๐ กว่ารายและบริเวณชายแดนที่ติดเขมรที่เป็นกรณีกันอยู่ ก็จะมีพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากที่จะสูญเสียที่ดินไป เนื่องจากการรุกเข้ามาของทุนนิยม ซึ่งกรณีนี้การรุกเข้ามาของทุนนิยมอาจจะเรียกว่า ทุนนิยมสามานย์ด้วยซ้ำไป เข้ามาเพื่อที่จะไล่ผู้คนออกจากพื้นที่และนายทุนเข้ามายึดพื้นที่ ทุนนิยมไม่ได้หมายถึง แม็คโดนอลเสมอไปแต่มันคือทุนนิยมสามานย์ วิธีการที่เข้ามาเขาจะมาบอกว่าที่ตรงนี้น่าจะให้นิยามความหมายใหม่ เช่นบอกว่าที่ตรงนี้เป็น ๖ เหลี่ยมมรกตน่าจะทำเป็นสนามกอล์ฟ ที่พักผ่อนหย่อนใจ มีโรงแรมชั้นดี แต่หมายความว่าผู้คนต้องออกไปแล้วเขาจะเข้ามาแทน เพราะฉะนั้นขอนแก่นก็จะเป็นเมืองที่ถูกนิยามว่า เปิดประตูไปสู่อินโดจีน หลายคนจะถูกรุกไล่จากวิธีการเหล่านี้
ทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีวิธีการอันหนึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Reterritorial คือ การครอบครองอาณาบริเวณพื้นที่ อันนี้คือการลดความสำคัญของการครอบครองอาณาบริเวณ คนแต่เดิมข้ามแดนมาไม่ได้ ทุนต้องใช้แรงงานข้ามชาติ ผลักดันให้รัฐครอบครองอาณาบริเวณพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาได้ เช่น แรงงานลาว เข้ามาที่มุกดาหาร แรงงานพม่ามาทำงานแหอวนที่ขอนแก่น 3-4 พันคน หรือมีเขยฝรั่งเข้ามาหรือมีการให้นิยามความหมายใหม่ หรือกระบวนการผลิตแบ่งซอยการผลิตให้ย่อยลงมาเพื่อที่จะไม่ให้โรงงานผลิตอยู่ที่เดียว เอาการผลิตไปอยู่ในแรงงาน เช่นอยู่ใต้ถุนบ้าน หรือว่าประเด็นอย่างเทสโก้โลตัส เข้ามาไม่ต้องเกรงใจ ก็สามารถลอดเข้ามาขายของและเอาเงินสดส่งออกไปได้เลย ความเป็นรัฐชาติจึงมีความหมายน้อยลง” (จากบทอภิปราย “อัตลักษณ์อีสานกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” 24 กุมภาพันธ์ 2554)
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 4 เม.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.