นารวม อุดมคติที่กินได้
“สามสิบกว่าถัง” ชาวบ้านสิบห้ารายเอาถังสีขนาดใหญ่มาตวงแบ่งผลผลิตข้าวได้ไปทั้งสิ้นคนละสามสิบกว่าถัง เป็นผลผลิตจากนาเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ หลังจากแบ่งผลผลิตข้าวหนึ่งในสามของทั้งหมดให้แก่เจ้าของที่ดินไปแล้ว ตามอัตราค่าเช่าโดยทั่วไปของชาวบ้านที่นี่
คุ้มไหมไม่รู้ แต่ทุกคนหน้าเปื้อนยิ้มกันถ้วนทั่ว ไม่ได้ยินเสียงบ่นเหนื่อยสักคำ
“ก็ขยันกันแต่วันนี้แหละ ก่อนนี้ไม่เห็นขยันเลย” เสียงใครบางคนสัพยอก
นี่เป็นเพียงแค่ผลตอบแทนส่วนแรกเท่านั้น ยังเหลือที่นาอีกสี่ผืนที่จะต้องไปเก็บเกี่ยวและแบ่งผลผลิตกันต่อ
ปฏิรูปที่ดิน ด้วยการปฏิรูปการเกษตร
“คนบ้านเราออกไปตัดอ้อยกันเยอะ เราก็เลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนทำมาหากินได้ดีขึ้น”
การรับจ้างตัดอ้อยเป็นอาชีพเสริมที่กลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในเขตภาคอีสานจำนวนมาก สำหรับบ้านเขวาโคก ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด แห่งนี้ประเมินว่าชาวบ้านร้อยละห้าสิบมีอาชีพรับจ้าง เกือบทุกครอบครัวจะต้องมีผู้ทำอาชีพรับจ้างอย่างน้อยครอบครัวละหนึ่งคน
งานรับจ้างมีหลายลักษณะ เช่น เป็นแรงงานขายก๋วยเตี๋ยวเฟรนไชน์ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แต่งานรับจ้างที่นิยมกันมากคือการทำงานในไร่อ้อย ไปไกลถึงจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดชลบุรี เริ่มจากการเตรียมพื้นที่ดายหญ้าและปลูกอ้อย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ชาวบ้านในหมู่บ้านทำนาและตัดอ้อยในเดือนธันวาคม-เมษายน แรงงานมักจะเบิกเงินล่วงหน้าจากเถ้าแก่มาก่อนแล้วไปทำงานใช้คืนทีหลัง เรียกกันว่า “ตกเขียวแรงงาน” บางทีเบิกล่วงหน้าข้ามปีกว่าจะไปทำงานใช้คืนก็ปีถัดไป
การรวมกลุ่มทำการเกษตร ริเริ่มและผลักดันโดยแกนนำชาวบ้านในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จากการปลูกผักหลังฤดูทำนาในปี 2550-2551 และทำนารวมในปี 2551 มี วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทดลองสร้างรูปธรรมทางเลือกในการทำการผลิตที่จะทำให้ ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น จะลดการอพยพแรงงานออกจากชุมชน
เพื่อให้เกษตรกรยังคงเก็บรักษาที่ดินของตนเองเอาไว้ให้ได้ และเลี้ยงชีพได้บนที่ดินของตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีที่ดินขนาดเล็กมีแรงงานจำกัด หรือแม้จะไม่มีที่ดินเป็นของตนเองก็ตามก็น่าจะสามารถร่วม “เป็นเจ้าของการผลิต” ได้
การทำนารวมต่างจากการแลกเปลี่ยนแรงงานแบบต่างตอบแทนที่พบได้ทั่วไป เพราะไม่ได้ระดมเฉพาะกำลังแรงงานและไม่ได้เน้นการตอบแทนที่เน้นการลงแรงและตอบแรงในอัตราที่เท่ากัน แต่การทำนารวมหมายถึงการรวมทุกอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต เงินทุน อุปกรณ์การเกษตร ความรู้ในการจัดการการผลิต และที่สำคัญคือแรงงาน และเมื่อได้ผลผลิตมาแล้วจะปันส่วนในอัตราเท่าๆ กัน โดยมิได้คำนึงว่าผู้ใดอาจจะลงทุนหรือลงแรงมากกว่าผู้อื่น การผลิตร่วมแบบนี้จึงมีลักษณะของลักษณะของการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและ กันมากกว่า
แม่ใหญ่สีกา อายุ 66 ปี เป็นเจ้าของนาขนาด 10 ไร่ที่เอาให้กลุ่มทำนารวม พ่อใหญ่สำอางค์ อายุ 67-68 ปี มีนาของตนเอง 5 ไร่ แต่ทำไม่ไหวต้องจ้างเขาไถดำ พี่หมุนอายุยังไม่มากแต่มีภาระต้องเลี้ยงหลาน มีนาของตนเองขนาด 7 ไร่ แต่เอาให้เจ้าหนี้ใช้เพื่อขัดดอกเบี้ยที่กู้ยืมมา แม่คำ ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง มีอาชีพรับจ้างและขายเข้าเม่า ชาวบ้านเหล่านี้ไม่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตของตนเอง แต่พวกเขาก็สามารถ “ร่วมเป็นเจ้าของการผลิต” ได้เมื่อมาเข้าร่วมทำนารวม แม่คำเก็บหอมรอมริบเงินจากการขายข้าวเม่าเพื่อนำมาร่วมลงทุนทำนารวมกับเพื่อนบ้าน
การทำนาได้รวมเอาคนต่างเพศ ต่างวัย ต่างความสามารถและศักยภาพเพื่อทำการผลิตร่วมกัน ผู้ชายวัยกลางคนกลายเป็นกำลังหลักในการทำงานหนักเช่นการไถนา “ไม่เป็นไร ช่วยๆ กัน” พ่อ บ้านคนหนึ่งบอก เมื่อถูกถามว่ารู้สึกเสียบเปรียบหรือไม่ที่ต้องทำงานหนักกว่าใคร สำหรับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่แม้จะไถนาไม่ไหว แต่ก็ช่วยกันส่งข้าวส่งน้ำ ดำนา ผลัดกันไปช่วยดูแลนา ดูน้ำ ดูแมลงวัชพืชที่จะลงมากัดกินข้าว เป็นลักษณะการแบ่งงานกันทำมากกว่าจะคำนึงว่าใครลงแรงมากน้อย
เรื่องเก่ามาเล่าใหม่
สำหรับหมู่บ้านเขวาโคก การรวมกลุ่มทำการผลิตร่วมกันไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยรวมกลุ่มทำการผลิตในลักษณะอื่ ๆ มาแล้วหลายครั้ง เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การปลูกผัก การเลี้ยงโค การปลูกพืชหลังนา และการทำนารวม
ในในปี 2528-2529 หมู่ บ้านเคยประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ช่วงเวลาการดำนาล่าช้าออกไปมาก กว่าจะได้ดำนาก็ล่วงเข้าเดือนกันยายน กล้าข้าวที่เพาะไว้แห้งตายหมด ชาวบ้านเกรงกันว่าจะดำนาเสร็จไม่ทันก่อนที่ฝนจะทิ้งช่วง จึงคิดที่ร่วมแรงกันเพื่อจะดำนาได้เสร็จเร็วๆ มีชาวบ้านมารวมกลุ่มกันทำนาประมาณ 28-29 ครอบครัว ส่งตัวแทนไปหาซื้อกล้าจากหมู่บ้านอื่น
ปีถัดมาหมู่บ้านเกิดความแห้งแล้งซ้ำคราวนี้ทำนาไม่ได้เลย ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันปลูกผักแล้วนำผลผลิตไปแลกข้าวกับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น
การทำนารวมถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปีการผลิต 2550 นำโดยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ปีถัดมามีการเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันเอง และทำการผลิตร่วมกันครั้งแรกในฤดูแล้ง ปี 2550-2551 เป็นการปลูกผักร่วมกัน เอาผลผลิตไปขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน ได้รายได้รวมประมาณ 50,000 บาท และแบ่งผลผลิตพริกแดงกันไปอีกเป็นจำนวนมาก
ในการทำนารวมปี 2551 ที่ผ่านมา ใช้ที่นาทั้งหมด 5 ผืน มีผืนหนึ่งที่เช่าใช้โดยจ่ายค่าเช่าเป็นเงิน ที่เหลือเป็นการเช่าใช้โดยแบ่งผลผลิตให้เจ้าของนาหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งหมด ขนาดที่นาแต่ละผืนแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ไร่ ไปจนถึง 28 ไร่ จำนวนสมาชิกหลักๆ คือ 15 คน แต่สมาชิกบางคนก็ไม่ร่วมทำในนาบางผืนเพราะต้องปลีกเวลาไปดูแลการผลิตของตนเองด้วยส่วนหนึ่ง
สมาชิกที่มาทำนารวมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีนาขนาดเล็ก ส่วนคนที่มีที่นามากจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปทำการผลิตของตนเองไม่มีเวลามาทำรวมกับกลุ่ม ขณะที่คนที่ไม่มีนาก็มักรับจ้างเป็นหลักและไม่อยากเสียรายได้จากการรับจ้าง มาทำนาร่วมกับกลุ่มด้วยเช่นกัน
จากสมาชิก 15 คนที่ทำนารวมแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก สัดส่วนประมาณกลุ่มละครึ่งหนึ่ง ครึ่งแรกเป็นผู้ที่ไม่มีศักยภาพในการทำการผลิตได้เอง เพราะไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง 3 ราย และผู้เฒ่าผู้แก่ไม่มีแรงงานทำการผลิต 4 ราย อีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพทำการผลิตได้เอง ส่วนใหญ่มีนาของตนเองอยู่แล้วและทำนาพอกิน แต่มีเวลาเหลือที่จะมาร่วมทำการผลิตกับกลุ่ม เพราะอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ มีทางเลือก หรืออยากได้ผลผลิตเพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือกที่จะไม่ไปรับจ้างภายนอก กับอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ทำนาแต่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเพราะมีนี้สินมาก จึงมาเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
โจทย์ต่อไป
ใน ภาพรวมชาวบ้านในหมู่บ้านเขวาโคกจัดว่าเป็นผู้ที่มีที่ดินทำกินน้อย เฉลี่ยครัวเรือนละสิบถึงยี่สิบไร่ การทำการผลิตรวมหมู่จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะทำให้ชาวบ้านข้ามพ้นข้อ จำกัดในเรื่องการขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งการมีแรงงานและทุนทางการเงินจำกัด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มปฏิรูปที่ดินมีโจทย์ที่ต้องคิดกันต่อไป พ่อคูณ แกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดินยอมรับว่าการทำนารวมแบบนี้ยังไม่ได้เป็นทางเลือก สำหรับชาวนาไร้ที่ดินและยังไม่สามารถลดการอพยพแรงงานได้ตามความคาดหมาย ชาวนาไร้ที่ดินบางส่วนไม่มีเงินมาร่วมลงทุนทำการผลิตกับกลุ่ม หรือไม่สามารถร่วมลงแรงได้เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ ขณะนี้แรงงานรับจ้างอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าการรับจ้าง “คุ้ม” กว่าการปลูกข้าวกินเอง เพราะรับจ้างตัดอ้อยเพียงแค่เดือนเดียวก็มีเงินซื้อข้าวกินคุ้มไปทั้งปี
แต่สำหรับสมาชิกนารวมเห็นว่ารายได้เป็นตัวเงินเช่นนั้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับจะทำให้มีโอกาสเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นจากการซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยด้วยเงินสดที่หามาได้ ที่สำคัญเงินสดที่ได้มาจากการตัดอ้อยนั้นไม่ใช่เป็นเงินรายได้ แต่เป็นเงินกู้ที่แรงงานเบิกล่วงหน้ามาก่อน ทำให้เกษตรตกอยู่ในฐานะแรงงานที่ขึ้นอยู่กับเงินกู้ตกอยู่ในวงจรของการเป็นหนี้สินไม่รู้จบ
การสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือก และแนวทางการดำเนินชีวิตที่อิสระและยั่งยืนไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวเพียงแบบใดแบบหนึ่ง การสร้างทางเลือกเพื่อให้ชาวนาไร้ที่ดินตัดสินใจเลือกยังเป็นเรื่องท้าทาย ที่ต้องค้นคว้าและคิดค้นกันต่อไป
เรื่องโดย อัจฉรา รักยุติธรรม 24 มีนาคม 2010
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.