รออีกสองสามวัน ให้ได้อ่านรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างฯ พิจารณาเสร็จกันให้ละเอียด แล้วจึงถึงเวลาตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับตอนลงประชามติ สำหรับเรา เรามองข้ามรัฐธรรมนูญไปแล้ว ระบอบปกครองหรือลัทธิการปกครองในทัศนะของเรา มิใช่รากฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมือง รวมทั้งมิใช่รากฐานสำคัญที่สุดของการสร้างสิทธิเสรีภาพอันแท้จริงด้วย เราเห็นว่าระบอบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมต่างหาก จะประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง นั่นคือสามารถเป็นไททางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจทุนนิยมที่ครอบงำโลกอยู่ทุกวันนี้ มันมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่เลว ทุนนิยมที่เน้นทำแต่ด้านลบ ด้านไม่ดี นั้น อาจจะเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ พลเมืองในประเทศทุนนิยมนั้น ส่วนมากเป็นลูกจ้าง พนักงาน ผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกร ที่ต้องพึ่งอภิทุนและทุนผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม,อุตสาหกรรมเกษตร และธุรกิจบริการ ทุกวันนี้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่แม้จะดูเหมือนเป็นผู้ประกอบการอิสระ แต่แท้จริงแล้วก็ถูกกดดันให้ค่อย ๆ กลายเป็น “ลูกจ้างนอกระบบ” ของอุตสาหกรรมการเกษตรนั่นเอง
สำหรับผู้ประกอบการอิสระนั้นแบ่งได้กว้าง ๆ สองกลุ่มคือ หนึ่ง“คนจนเมือง” พ่อค้าแม่ขายรถเข็นที่หาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอยซึ่งกำลังจะถูกกวาดล้างให้หมดไป สองผู้ประกอบการชนชั้นกลาง ทั้งสองกลุ่มนี้ยากที่จะขยายเติบโต ถ้าหากทุนสามานย์ได้กุมอำนาจรัฐ ซึ่งก็น่าเสียดายว่า ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ก็ล้วนโน้มเอยงไปทางสนับสนุนทุนสามานย์ทั้งนั้น อาจจะด้วยความ “ไม่รู้เท่าทัน” เกมของทุนสามานย์ และ/หรือ ตนก็มีความคิดแบบทุนสามานย์ด้วย แนวทางการแก้ปัญหาเราจึงมิได้ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง
ความหวังของพลเมืองคนเล็กคนน้อยอยู่ที่ “สติปัญญา” รู้เท่าทันวิธีคิดของทุนสามานย์ หลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของทุนสามานย์ หาความรู้ในการทำมาหากิน สร้างเครือข่ายเป็นพลังในการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนและของกลุ่มอาชีพ ฯลฯ
พูดเป็นรูปธรรม ก็เช่น เกษตรกรรายย่อยเลิกทำการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำไร่นาสวนผสม ขุดสระขุดบึงเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ดิน ทำการเกษตรอินทรีย์ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันและกัน ช่วยกันแก้ปัญหาด้านการตลาด อดทนปรับตัวอย่าใจร้อน ฯลฯ มีตัวอย่างการปรับตัวแนวนี้แล้วได้รับผลดีให้เห็นกันชัด ๆ
การสร้างเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านการตลาด ช่วยกระจายแลกเปลี่ยนสินค้าสร้างรายได้แล้ว ยังมีความสำคัญในด้านเป็นกำลังป้องกันชุมชนตนเองจากการรุกรานของของทุนสามานย์ที่ปลอมตัวคลุมกายมาในรูปอภิโครงการของรัฐอีกด้วย
คนจนเมือง เกษตรกรรายย่อย จึงไม่ควรกลายเป็น “เบี้ย” ในสงครามรัฐธรรมนูญสงครามการเลือกตั้งของพวกทุนสามานย์ทุกกลุ่ม แต่จะต้องร่วมหัวร่วมคิดสร้างพลังเครือข่ายของตนเองขึ้นให้แข็งแรง ในช่วงที่พวกทุนสามานย์กำลังรบกันเองอยู่นี้
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 27 มี.ค. 2559