พสิษฐ์ ไชยวัฒน์
หากมองย้อนกลับไปในวัยเด็กที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนชนบทผ่านนิทานยามเย็นที่คนรุ่นปู่ย่าตายายได้เล่าสืบต่อกันมา เป็นนิทานที่สะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างของฐานะทางสังคมและโอกาสระหว่างคนเมืองหลวงและคนชนบท จนกระทั่งเกิดความฉงนสงสัยขึ้นมาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสังคมเกษตรกรรมล้าหลัง หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอุปถัมภ์กันแน่ ซึ่งนิทานเรื่องเดิมนี้ได้ถูกผลิตซ้ำ ดัดแปลง เพิ่มเติม และถ่ายทอดออกมาเป็นชุดความคิดจากชนชั้นศักดินา กลุ่มผู้ปกครองของรัฐ บรรดาเทคโนแครต เอ็นจีโอ สื่อมวลชน รวมทั้งนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้างในรั้วมหาวิทยาลัย การมองสังคมชนบทแบบหยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์บนสมมติฐานคงที่และไม่ต่อเนื่องนั้น ได้ก่อให้เกิดวาทกรรมระดับคลาสสิกที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นคือ ทฤษฎี โง่_จน_เจ็บ
ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาเริ่มต้นที่ใดกันแน่ เพราะเป็นปัญหารากเหง้าของสังคมไทยที่สะสมเพิ่มพูนและยังแก้ไม่ได้มาหลายสิบปี นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 หรืออาจจะย้อนกลับไปถึงยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็เป็นได้ อีกทั้งในระบบคิดและการรับรู้ของคนเมืองหลวงมักจะมองว่า โง่_จน_เจ็บ เป็นสาเหตุหลักของความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันด้วย ตั้งแต่ยุคศักดินาเป็นต้นมา สังคมไทยมีรากฐานมาจากความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าสยามประเทศได้พัฒนาความเจริญรุ่งเรืองมาได้ระดับหนึ่ง แต่อุดมการณ์เรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะ ระหว่างนายกับบ่าว เจ้ากับไพร่ ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งอยู่ในวิถีปฏิบัติแบบพิธีการและการดำรงชีวิตในยุค 4G อีกด้วย
สภาพการณ์ปัจจุบัน คนเมืองหลวงส่วนหนึ่งเชื่ออย่างปักใจว่า คนชนบทยังคงอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ถูกชักจูงให้หลงทางโดยอามิสสินจ้างจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และถูกชี้นำไปในทิศทางที่ชนชั้นนำและผู้ปกครองไม่ต้องการ ทำให้เดินออกนอกเส้นทางของค่านิยม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามตามแบบแผนที่ปัญญาชนรุ่นก่อนได้ขีดเส้นเอาไว้
วาท กรรมเรื่อง โง่_จน_เจ็บ นั้นหากจะย้อนถึงที่มาว่า สาเหตุเกิดจากอะไร มีการพัฒนาเป็นมาอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าเหตุใดและทำไม ปัญหาเหล่านี้จึงคงอยู่คู่กับสังคมไทยเรื่อยมา ดังนี้
คนเมืองหลวงมักให้นิยาม คนชนบทหรือชาวบ้านว่า โง่ เนื่องจากด้อยการศึกษา เรียนมาน้อย ไม่ฉลาด ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนเมือง ไม่มีความรอบรู้ในแบบที่คนเมืองต้องการ เช่น เรียนจบเพียงแค่ระดับประถม , ไม่มีปริญญาติดข้างฝาบ้าน เป็นต้น หรือสิ่งที่คนชนบทรู้นั้นสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในยุคสังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ทำนาปลูกข้าวปีละครั้ง แต่ขายข้าวได้ราคาไม่กี่พันบาทต่อ 1 เกวียน หรือ ต้องใช้ข้าวสักกี่เกวียนเพื่อแลกกับโทรศัพท์ไอโฟนเพียง 1 เครื่อง เป็นต้น สังคมทั่วไปมักจะตราหน้าคนชนบทว่า โง่ เพราะไม่ยอมเรียนหนังสือให้สูง ไม่ขยันไขว้คว้าหาความรู้ จนกระทั่งคิดว่า คนชนบทเป็นคนเกียจคร้าน ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งไม่เสาะแสวงหาความรู้ใหม่มาใส่ตัว เมื่อไม่มีความรู้ที่เพียงพอจึงต้องพึ่งพิงและพึ่งพาผู้มีอำนาจหรือตกอยู่ใต้อาณัติของผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองท้องถิ่น จนต้องเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ในฐานะผู้รับใช้โดยปริยาย
คนเมืองหลวงให้นิยามความยากจนว่า เพราะเรียนมาน้อยจึงต้องทำงานใช้แรงงานเพื่อแลกกับค่าจ้างขั้นต่ำในระดับพอเลี้ยงชีพเท่านั้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า คนจนเป็นเพียงแรงงานราคาถูกโดยกำเนิด เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตความมั่งคั่งให้กับคนเมืองหลวงเท่านั้น คนจนไม่มีทักษะความชำนาญที่จะทำงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงใช้แต่แรงงานในการประกอบอาชีพ ไม่มีสติปัญญาในการหารายได้เพื่อยกระดับฐานะทางสังคม ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับก็ควรเป็นแค่เพียงเศษเงินที่ได้รับเป็นรายวันเท่านั้น ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันยังถือว่าสูงไปเสียด้วยซ้ำ
คนเมืองหลวงให้นิยามความเจ็บว่า เพราะความโง่และความจนจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาความเจ็บ เชื่อว่าคนจนเจ็บป่วยเพราะไม่ดูแล รักษาสุขภาพร่างกาย ไม่เรียนรู้เรื่องสุขอนามัย กินแต่ของมึนเมา เช่น สุรา , ยาดอง , บุหรี่ เป็นต้น หรือ กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ , กินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นต้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคตั้งแต่ต้น กลับปล่อยปละละเลยจนกระทั่งโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวลุกลามใหญ่โตจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือต้องจำยอมเสียชีวิตลงเพื่อไม่ให้ลูกหลานต้องมาเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย
กลุ่มปัญญาชนอนุรักษ์นิยมในอดีตได้วางพื้นฐานแนวคิดที่ทรงอานุภาพ มีการโฆษณาชวนเชื่อและผลิตซ้ำวาทกรรม โง่_จน_เจ็บ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนแพร่กระจายอย่างกว้างขวางไปสู่ปัญญาชนในยุคต่อมา เช่น นักศึกษาในยุค 14 ตุลา ซึ่งในยุคสมัยนั้นได้มีแนวคิดในการแบ่งงานกันทำเพื่อขจัดปัญหา โง่_จน_เจ็บ ให้หมดไป โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แก้ไขปัญหาความโง่เขลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจน และมหาวิทยาลัยมหิดลแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วย
กลุ่มคนเหล่านี้มีวิสัยทัศน์อันคับแคบว่า สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากตัวชาวบ้านเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน คนเมืองหลวงผู้เป็นปัญญาชนในฐานะผู้สูงศักดิ์โดยชาติกำเนิดและเพียบพร้อมไปด้วยสติปัญญา ศีลธรรมอันสูงส่ง พร้อมทั้งมีความเจริญสมัยใหม่ จึงมีอาญาสิทธิ์ในการปกปักรักษาบ้านเมือง มีความชอบธรรมและมีหน้าที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการปกครองแบบอำนาจนิยม ผ่านการชี้นำและสั่งการให้ทำตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการผดุงและรักษาไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของคนในชาติ รวมไปถึงการปราบปรามและกำจัดคนส่วนน้อยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของคนส่วนใหญ่ด้วย
ชนชั้นนำต้องการจัดระเบียบสังคม สร้างอัตลักษณ์และค่านิยมทางวัฒนธรรมความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดัดแปลงความคิดและจิตใจเพื่อรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเอาไว้ รวมทั้งเป็นการสร้างความปรองดองและปลูกฝังสามัคคีของคนในชาติภายใต้การปกครองแบบพระผู้มีแต่ให้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการในนามของคนดี ซึ่งเป็นการปกครองแบบโปรยทาน เน้นการอุปถัมภ์พึ่งพาด้วยเมตตาธรรมจากชนชั้นนำผู้เจริญ หรือจากผู้ปกครองที่มีความลึกซึ้งในคุณธรรมขั้นสูง
สิ่งที่ย้อนแย้งและตรงข้ามกับ โง่_จน_เจ็บ อย่างสิ้นเชิง ก็คือ ฉลาด_ร่ำรวย_แข็งแรง เหตุใดและทำไมจึงทำให้คนส่วนน้อยเกิดความได้เปรียบคนส่วนใหญ่ และอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น
ก. ฉลาด เพราะพ่อแม่มีกำลังทรัพย์ในการส่งเสียเล่าเรียน มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่ดี มีคุณภาพอย่างทั่วถึง สังคมเมืองมีความหลากหลายทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด ความฉลาดและความรอบรู้นั้นสามารถใช้หาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหาประโยชน์ใส่ตนหรือใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ข. ร่ำรวย เพราะใช้ความรู้ที่เรียนมาสร้างมูลค่าเพิ่มในงานที่ทำ เก็งกำไรและแสวงหากำไรสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพียงเพื่อดำรงสถานภาพทางสังคมในยุคบริโภคนิยมต่อไป นอกจากสร้างความร่ำรวยให้ตนเองแล้ว ก็ยังสร้างอุปสรรคกีดกัน กดทับ และสกัดกั้นไม่ให้คนชั้นล่างได้เลื่อนสถานะมาทัดเทียมกับพวกตนอีกด้วย
ค. แข็งแรง เพราะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้การดูแลสุขภาพ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการแสวงหารายได้และรักษาอำนาจต่อไป
ปัจจัยที่ทำให้เกิด ฉลาด_ร่ำรวย_แข็งแรง จะเกิดขึ้นเฉพาะสังคมเมืองหลวงเท่านั้น ไม่สามารถเผื่อแผ่ไปยังสังคมชนบทได้ นิยามที่คนทั่วไปรู้จัก ก็คือ รวยกระจุก จนกระจาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเป็นปัญหาที่มนุษย์กลุ่มหนึ่ง ชนชั้นกลุ่มหนึ่ง จงใจทำให้เกิดขึ้นกันแน่ โดยเป็นการจงใจให้เกิดการจัดชั้นและแบ่งแยกเพื่อง่ายต่อการปกครอง ใช่หรือไม่ จึงเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจมาจนทุกวันนี้
จริงหรือไม่ที่ว่า รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงที่ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงมาก่อนก็คือ การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อคงอำนาจการตัดสินใจให้อยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเดียว รวมทั้งไม่ต้องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง นี่อาจเป็นการควบคุมชนบทให้อยู่ในระเบียบอย่างแยบคายก็เป็นไป เพราะคนชนบทส่วนใหญ่ยังอยู่นอก สังคมประชาธิปไตย ยังคงโง่เขลาเบาปัญญา ตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ตื้นเขินทางความคิด ถูกชักจูงได้ง่ายเพียงแค่เศษเงิน ขาดความเจริญทางวัตถุ ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี จึงต้องใช้ระยะเวลาในการขัดเกลาจิตใจอย่างน้อย 2 เจนเนอเรชั่นหรืออย่างน้อย 50 ปี เพื่อพัฒนายกระดับสติปัญญาให้สูงขึ้นและมีความพร้อมในการเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจึงยังไม่ไว้วางใจและไม่อาจมอบสิทธิ์ทางการเมืองให้ปกครองและจัดการตนเองได้
จริงหรือไม่ที่ว่า ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดกระจายความเจริญออกไปสู่ชนบท และต้องการสร้างมหานครกรุงเทพให้เป็นเมืองหลวงที่โตเพียงลำพังเท่านั้น รวมทั้งไม่มีความจริงใจในการยกระดับชนบทให้อยู่ดีกินดีและมีความเจริญทัดเทียมกัน โดยจำกัด บั่นทอน และตีกรอบให้ต้องพึ่งพาเมืองหลวงตลอดไป
จริงหรือไม่ที่ว่าเป็นกุศโลบายทางการเมืองที่แยบยลในการควบคุมและสร้างเมืองชายขอบ โดยจัดชั้นให้เป็นเพียงหัวเมืองประเทศราช เพื่อทำการดูดซับทรัพยากรธรรมชาติ เงินทุน แรงงาน มาสร้างความเจริญให้กับเมืองหลวงเท่านั้น เสมือนหนึ่งเป็นการนำส่งเครื่องบรรณาการสมัยใหม่เข้าสู่ส่วนกลางในรูปภาษี เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคให้กับคนเมืองหลวงได้บริโภคกันอย่างสุขสำราญ เช่น รถไฟลอยฟ้า , รถไฟฟ้าใต้ดิน , ทางด่วน เป็นต้น
จริงหรือไม่ที่ว่าชนชั้นนำได้อ้างความศักดิ์สิทธิ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครอง โดยการประยุกต์หลักการทางศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรมขึ้นมาใหม่ มีการแต่งเติมและบิดเบือนคำอธิบายเพื่อใช้ในการควบคุมคนและครอบงำสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์และค่านิยมที่ตนเองกำหนดขึ้น รวมถึงจัดระเบียบสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชี้นำและกล่อมเกลาให้ชาวบ้านยอมรับในโชคชะตา ยอมรับว่าเป็นกรรมเก่าในอดีตชาติ การเกิดในชาตินี้จึงเป็นเพียงการชดใช้กรรมเก่าและรอรับความเมตตาจากผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เท่านั้น มีการสร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังค่านิยมให้ใช้ชีวิตตามอัตภาพ พออยู่พอกิน อยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องขวนขวายพัฒนาตนเอง อย่ามักใหญ่ใฝ่สูงเกินฐานะและชาติกำเนิด อย่าทำอะไรจนเกินตัว จงทำหน้าที่ตามฐานะและการแบ่งงานของสังคม ที่สำคัญที่สุดคือ จงปล่อยวางอำนาจการตัดสินใจให้อยู่กับกลุ่มผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้มีวาสนาสูงส่งให้เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน ทั้งนี้เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว สังคมจะเกิดความสามัคคีปรองดอง มีความสงบสุขเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนการคิดที่แตกต่าง การสงสัย การตั้งคำถาม การเรียกร้องสิทธิความเสมอภาค และการท้าทายอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเพราะจะทำลายความสงบร่มเย็นของคนในชาติได้
สิ่งเหล่านี้เป็นทัศนคติทางการเมืองของคนเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยอคติ จนเกิดเป็นม่านบังตา บดบังจิตใจ ไม่ให้พบกับสัจจะแห่งธรรมและแสงสว่างทางปัญญา
ทั้งนี้มีนักวิชาการรุ่นใหม่ได้ทำการสำรวจวิจัยและทบทวนความเข้าใจในภูมิทัศน์การเมืองไทยสมัยใหม่ จนได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา สังคมชนบทได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีพลวัต อีกทั้งได้เดินมาไกลจากจุดเดิมมากแล้ว นั่นคือ
1. คนชนบทมีการศึกษาสูงขึ้น ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีสำนึกและเข้าใจระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องการเรียกร้องความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม โดยยืนยันในหลักการที่ว่า 1 คน 1 เสียง และไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบสั่งการที่กินไม่ได้อีกต่อไป
2. เกิดการกระจายอำนาจการปกครองออกไปสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยผู้คนออกจากพื้นที่เล็กๆ มาสู่สังคมประชาธิปไตยที่ใหญ่ขึ้น คนชนบทสามารถกำหนดชะตาชีวิตเองได้ จึงมีการทำลายกำแพงจนหลุดพ้นจากกรอบศีลธรรมแบบเพ้อฝันของผู้ปกครองจากส่วนกลาง
3. เศรษฐกิจดีขึ้น เงินทุนกระจายไหลเวียนไปลงทุนในชนบทมากขึ้น ทำให้ความยากจนลดลง เกิดชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีอิสระทางความคิดมากขึ้น ถึงแม้ว่าการซื้อเสียงจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่สามารถกำหนดผลการเลือกตั้งได้อีกต่อไป ก็เพราะว่า คนชนบทมีสำนึกรู้และเข้าใจอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น โดยจะเลือกพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยที่ได้สร้างภาพลวงตาให้กับชนชั้นนำและคนทั่วไป รวมทั้งถูกใช้เป็นข้ออ้างกับสังคมมาโดยตลอด
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว นักวิชาการกลุ่มนี้ได้เริ่มต้นเล่านิทานเรื่องใหม่ให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้รับฟัง เกิดตาสว่างเพื่อตื่นขึ้นจากสังคมชวนฝันว่า ทฤษฎี โง่_จน_เจ็บ ไม่อาจใช้อธิบายสภาพสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันได้อีกต่อไป คนชนบทได้หลุดพ้นจากการครองงำทางสังคมของชนชั้นปกครองแล้ว และลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่บริบทใหม่อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างถาวรในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของสยามประเทศต่อไป
ที่มา : ประชาไท วันที่ 29 มี.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.