ชุมชนช้างใหญ่ในที่ดินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร่วมโครงการโมเดลนาข้าวฯประสบผล ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ เตรียมเปิดโรงสีข้าว ตั้งสหกรณ์ หวังจัดการเป็นระบบ สร้างชุมชนเข้มแข็งเกิดความสุข พึ่งตนเองได้
โครงการ “โมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือโครงการที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 มุ่งพัฒนาการทำนาข้าวในพื้นที่นำร่องอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แนวทางสำคัญได้แก่การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ทั้งด้านวิธีการ การบริหารจัดการ รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ภายหลังการดำเนินโครงการโมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 2 ปี เกษตรกรอาสาสมัครราว 20 ครอบครัวในพื้นที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถลดต้นทุนการทำนาได้อย่างเห็นผล พวกเขามีรายได้พอสมควรทั้งที่ราคาข้าวปัจจุบันต่ำกว่าราคาจำนำในอดีตกว่าครึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 ด้วยเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ ชาวนาอาสาสมัครเห็นพ้องกันว่า ปัจจัยสำคัญคือโรงสีข้าว ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถขายข้าวคุณภาพดีให้กับผู้บริโภคโดยตรง แทนที่จะต้องนำไปขายให้โรงสีเหมือนที่ผ่านมา และพวกเขาก็เลือกที่จะนำระบบสหกรณ์มาใช้เพื่อเป็นกลไกบริหารจัดการภายในกลุ่ม
เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ผู้จัดการโครงการโมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินฯ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งสหกรณ์ เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาถูกใช้โดยไม่ถูกต้อง กรรมการขาดความรู้ สมาชิกขาดความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง หากสหกรณ์เกิดจากความเข้าใจและร่วมมือกัน จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและชุมชนได้อย่างแท้จริง
สหกรณ์ข้าว ชาวช้างใหญ่
ประมาณ สว่างญาติถือเป็นชาวนาต้นแบบ เขาเริ่มทดลองทำนาแนวทางใหม่มาเกือบสิบปี วันนี้กล่าวได้ว่าครอบครัวของเขาประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร ลูกชายที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัดสินใจทิ้งชีวิตลูกจ้าง กลับมาสานต่องานของครอบครัว รวมทั้งมองไกลถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนช้างใหญ่ให้มีความเข้มแข็ง
นพดล สว่างญาติเล่าว่า เขาทำนาด้วยวิธีการของวิศวกร โดยการศึกษาค้นคว้าและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เมื่อประกอบกับการสนับสนุนจากโครงการโมเดลนาข้าว ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ทำให้มีเกษตรกรหันมาทำนาแบบลดต้นทุน และเกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
“โครงการโมเดลนาข้าวไม่ได้ให้แบบสำเร็จรูป แต่ให้เรารวมกลุ่มกันแล้วคิดวิเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและเป็นความต้องการที่แท้จริงเพื่อเสนอขอไป เช่น เรายังขาดความรู้ในเรื่องต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะเอื้อต่อการพัฒนาผลผลิต ทางโครงการก็จัดหาวิทยากรให้ความรู้ด้านเกษตร การเงิน การจัดการ และล่าสุดได้มอบโรงสีขาวไว้สำหรับเป็นของส่วนกลางในการใช้ร่วมกัน”
นพดลอธิบายว่า ส่วนใหญ่ชาวนามักนำผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ไปส่งขายที่โรงสีพ่อค้าคนกลางทำให้ได้ค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำ อีกทั้งข้าวที่พวกเราปลูกซึ่งเป็น “ข้าวปลอดภัย” หมายถึง ข้าวที่ปลูกอย่างถูกวิธีและใช้สารเคมีต่ำ ก็ถูกปนไปกับผลผลิตของชาวนาคนอื่นๆ เมื่อขายข้าวเปลือกไปหมดก็ทำให้ต้องซื้อข้าวสารกินกัน โดยข้าวที่ซื้อกันนั้นก็มาจากพ่อค้าคนกลางที่ตนเองได้สีข้าวไปขาย แน่นอนว่าราคาย่อมสูงกว่าและความปลอดภัยก็ลดลงกลายเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด
ข้าวปลอดภัยของกลุ่มชาวนานำร่อง ที่อาศัยโรงสีของครอบครัวสว่างญาติ ประมาณเดือนละ 20 ตัน จึงกลายเป็นทางเลือกอีกทางที่คนในชุมชนพอใจจะซื้อหา เพราะราคาเท่ากันกับท้องตลาด แต่เป็นข้าวพันธุ์ดีหอมอร่อยหุงขึ้นหม้อ ทั้งยังมั่นใจได้ว่าผลิตจากไร่นาที่ลดใช้สารเคมีไม่ปะปนของที่อื่น การขายข้าวเปลือกให้กับกลุ่มสหกรณ์ก็ได้ราคาที่ดีกว่าอีกด้วย ยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนเครื่องสีข้าวตัวใหม่จากทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งเป็นหลักประกันให้กับชาวบ้านได้เนื่องจากจะสามารถส่งผลผลิตข้าวเปลือกได้มากขึ้นตลอดทั้งปี เครื่องสีข้าวตัวใหม่มีกำลังผลิตถึง 3 ตันต่อวัน ซึ่งมากกว่าการผลิตเดิมถึง 3 เท่า
“สหกรณ์”กลายเป็นกลไกที่กลุ่มเกษตรกรอาสาสมัครหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้าวร่วมกันขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นมีสมาชิก 40 ราย ทั้งเกษตรกรที่ร่วมและไม่ได้ร่วมในโครงการฯ
“เราจะเอาปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ข้าวมาลงที่สหกรณ์ แล้วให้สหกรณ์รับซื้อข้าวมาเข้าโรงสี เน้นป้อนตลาดในชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายไปภายนอก ค่อยๆ ทำ เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งโดยการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน” นพดลกล่าวถึงความตั้งใจของพวกเขา
ข้าวดี ชีวิตดี
โปรย สุขสุสาสน์ หนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกของสหกรณ์ฯเขาเชื่อมั่นการรวมกลุ่มกันของชาวนา
“เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวเราช่วยกันทำจากอุปกรณ์มอเตอร์ไซค์ กำลังจะทำเพิ่มอีกตัวไว้ผลัดกันใช้ โรงเรือนตรงโรงสี พวกเราก็ช่วยกันทำเอง ไม่ได้จ้างช่าง” โปรยบอกว่า พวกเขาปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนากิจการข้าวกันอย่างต่อเนื่อง และสหกรณ์เป็นสิ่งที่พวกเขาหวังจะช่วยกันสร้างให้มีความเข้มแข็ง
ในวัย 55 ปี โปรยทำนามาตลอดชีวิต สองปีก่อน เขาค้านอย่างสุดตัวเมื่อมีคนเสนอให้ลดต้นทุนโดยการลดใช้สารเคมี แต่เขาท้าทายและถกเถียงเสียงดังทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมของโครงการฯ แต่ในที่สุดเขาก็ต้องพ่ายให้กับความคิดเห็น เมื่อเห็นว่าคนอื่นสามารถทำได้จริง จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาลงมือทำดูบ้าง
การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้รู้ว่า ข้าวจำนำราคาดี แต่ต้นทุนสูงก็ไร้ประโยชน์ โปรยหาความรู้และลงมือทำ ลดใช้เมล็ดพันธุ์ด้วยเครื่องหยอดแทนการหว่านใช้ปุ๋ยธรรมชาติและสารชีวภาพเพิ่มขึ้นแทนยาและปุ๋ยเคมีมีการจัดการน้ำและบำรุงดิน ตอนนี้เขารู้แล้วว่า เป็นชาวนาก็ต้องหาความรู้อยู่ตลอดเวลา
“เมื่อก่อนใส่ปุ๋ยมั่วๆ แต่พอวัดค่ากรดด่างก่อนก็เติมปุ๋ยเท่าที่จำเป็นยาเคมีถ้าเรามีความรู้ฉีดทีเดียวจบ ก่อนนี้ไล่ฉีดกันเช้าเย็น” สุขภาพของเขาดีขึ้นด้วยไม่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายเหมือนที่ผ่านมา
จินดา ชัยวิชู วัย 55 ปี ลดต้นทุนการทำนาจากค่าจ้างแรงงาน จากเดิมต้องจ้างคนใส่ปุ๋ยฉีดยาเกือบ 10 ครั้งต่อการผลิตข้าวแต่ละรอบเมื่อเปลี่ยนวิธีการใหม่ ทำให้รายจ่ายส่วนนี้ลดลง เช่นเดียวกับการลดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงครึ่งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการหว่านมาเป็นหยอดหลุมทำให้หนูที่เคยมาสร้างรังนอนในนาหายไปเพราะต้นข้าวไม่แน่นขนัดเหมือนเมื่อก่อน แต่ผลผลิตยังเท่าเดิม นั่นย่อมหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น
จินดาสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์รุ่นแรกด้วยเช่นกัน“ดีที่มีกลุ่มช่วยเหลือกันสหกรณ์จะทำให้เรามีปุ๋ยและยาราคาถูก ไม่ต้องไปซื้อร้านที่ผ่านยี่ปั๊วะ มีข้าวดีๆ ไว้กินเอง ไม่ต้องไปซื้อเขากินเหมือนแต่ก่อน”
เครื่องสีข้าวตัวใหม่และสหกรณ์ที่เตรียมจัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเป็นอีกความหวังของชาวนาในโครงการนำร่อง ว่าเมื่อประกอบเข้ากับวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่พวกเขามี จะสามารถพัฒนาชุมชนบ้านเกิดให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการสร้างสุขในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์รวมทั้งคนในชุมชนให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 มี.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.