กฤตภัค งามวาสีนนท์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากสังคมชาวนาสู่สังคมผู้ประกอบการ
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในสังคมชนบทไทยที่สำคัญมากตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านในสังคมชนบท จากสังคมชาวนาที่เน้นการผลิตเพื่อยังชีพ ไปสู่สังคมของผู้ประกอบการในชนบท (อรรถจักร์, 2558) ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวบ้านได้ขยายจากการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อยังชีพ ไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆที่นอกเหนือไปจากการผลิตสินค้าเกษตรบนที่ดินของตนเอง (Side Venture) เช่น การผลิตเพื่อขายด้วยการใช้แรงงานรับจ้าง การจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขนาดเล็ก การกลายเป็นพ่อค้าคนกลาง และการให้เช่าอุปกรณ์การผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรรายอื่นทั้งในและนอกหมู่บ้าน (Ferguson and Olofsson, 2011)
ในอีกความหมายหนึ่ง การเกิดขึ้นของสังคมผู้ประกอบการก็คือ การที่ชาวบ้านเรียนรู้ที่ประกอบสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอาศัยแหล่งทรัพยากรที่หลากหลาย ผ่านกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อนมากไปกว่าการปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างตรงไปตรงมา เพื่อตอบสนองต่อตลาดและช่องทางการค้าขายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การรวมกลุ่มและเครือข่ายที่กว้างขวางไปกว่าสังคมแบบเครือญาติของสังคมชนบทในอดีต (Alsos, et.al., 2011)
อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของสังคมผู้ประกอบการในชนบท เป็นโอกาสที่จะสร้างให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากและขยับฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่ชาวบ้านในชนบท แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของคนทั้งประเทศ ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศระดับกลางที่ ณ จุดหนึ่งการผลิตเพื่อส่งออกจะค่อยๆลดทอนความสำคัญลงไปพร้อมกับข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะความได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนากลุ่มใหม่ ทำในอีกด้านหนึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องหันไปพึ่งพาการเจริญเติบโตของตลาดภายใน เพื่อทดแทนการเสื่อมถอยของการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเคยเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างการเจริญเติบทางเศรษฐกิจของประเทศ และ ณ จุดนี้เอง ที่ การเกิดขึ้นของสังคมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย (อรรถจักร์, 2558)
อย่างไรก็ตามโอกาสสำคัญในการสร้างสังคมผู้ประกอบการในชนบทของสังคมไทย ยังมีข้อจำกัดในแง่รัฐ ซึ่งเป็นผู้มีพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ยังติดกับอยู่กับมุมมองที่คับแคบที่มีต่อชนบท หรือในอีกความหมายหนึ่งก็ คือ รัฐไทยยังคงมองชนบทว่าเป็นสังคม ชาวนา ที่ยังคงต้องรับการพึ่งพาจากรัฐ (subsidise) ผ่านนโยบายที่มองชนบทในเชิงรับ (passive) เช่น นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร ที่รัฐจะเข้าไปพยุงราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรในชนบทสามารถผลิตและขายสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด อย่างไรก็ตามมุมมองที่คับแคบเช่นนี้ จะไม่สามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับสังคมชนบท โดยเฉพาะสังคมชนบทที่ได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมชาวนาไปสู่สังคมของผู้ประกอบการ เนื่องจากการเป็นผู้ประกอบการในชนบท เรียกร้องการสนับสนุนจากรัฐมากไปกว่าการสนับสนุนด้านราคา กล่าวคือ ผู้ประกอบการในชนบท คือ ผู้ที่ต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆทางการผลิต ช่องทางใหม่ๆในการจัดจำหน่ายสินค้า และโอกาสใหม่ๆในการขยายเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อการสร้างสินค้าและบริการ ที่ต้องอาศัยการประกอบสร้างผลิตภัณฑ์ ที่มาจากแหล่งทรัพยากรที่หลากหลาย หรือในอีกความหมายหนึ่งก็ คือ ผู้ประกอบการในชนบทต้องการนโยบายที่จะมองพวกเขาในเชิงรุก (active) เช่น การส่งเสริมด้านนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้ประกอบการในชนบท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการของพวกเขา รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายการขนส่ง (Logistic) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในชนบทสามารถที่จะขยายตลาดของสินค้าและบริการแบบใหม่ของพวกเขาให้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นนโยบายที่จะสามารถตอบสนองต่อการขยายตัวของผู้ประกอบการในชนบทได้ ต้องเน้นที่การสร้างให้ชนบทเป็นที่มาของความมั่งคั่ง (Creation of Wealth) มากกว่าที่จะสร้างการกระจายความมั่งคั่งให้แก่ชนบท (Distribution of Wealth) ที่ติดอยู่กับการพึ่งพาการแทรกแซงตลาดของรัฐดังที่ผ่านมา (Robinson, et.al., 2011)
ด้วยเหตุนี้เองบทความชิ้นนี้จึงอยากขอทดลองนำเสนอตัวอย่างของการศึกษานโยบายเพื่อผู้ประกอบการชนบทในประเทศอื่นๆ โดยเน้นไปที่การใช้การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-commerce ในการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของสังคมผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งนโยบายที่เน้นการสร้างผู้ประกอบการในชนบทโดยใช้ E-commerce จะวางอยู่บนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเป็นช่องทางให้พวกเขาสามารถขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายและขยายเครือข่ายทางธุรกิจผ่านการใข้เทคโนโลยีสารสนเทศ
1nita Project เป็นโครงการภายใต้กระทรวงวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Ministry Of Science Technology & Innovation) ของประเทศมาเลเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ทางตรง คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ในการลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางเพศในการสร้างธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง (MYNIC, 2016) และมีเป้าหมายทางอ้อมคือ การสร้างผู้ประกอบการผู้หญิงในชนบท (Hashim, et.al., 2011) โดย 1nita Project คือโครงการที่ต้องการจะสร้างพื้นที่ (platform) ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง ให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีในการเพิ่มช่องทางการค้าและขยายเครือข่ายทางธุรกิจของพวกเธอ
ทั้งนี้พื้นฐานของ 1nita Project ก็คือการสร้างเว็บท่า หรือ web portal ที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลากหลายแหล่งมารวมไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของ web portal ที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าในสังคม ออนไลน์ ก็เช่น Amazon, Ebay, และ Taobao ดังนั้นในอีกความหมายหนึ่ง เป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซีย ก็คือ การสร้าง Amazon ของมาเลเซีย เพื่อสร้างตลาดและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า (Channels of Distribution) ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงในชนบทและในเมือง ผ่าน web portal ของ 1nita Project ที่ชื่อ www.1nita.my
ในด้านหนึ่งความพยายามในการสร้าง web portal ของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นความพยายามที่น่าสนใจ เนื่องจากการลงทุนในการสร้าง e-commerce เพื่อผู้ประกอบการ โดยทั่วไปมักจะเป็นการลงทุนผ่านภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น Alibaba Group บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ที่ลงในธุรกิจ E-commerce ทั้งในแบบ Business to Business คือ alibaba.com Business to Consumer คือ tmall.com และ Consumer to Consumer ผ่าน taobao.com ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายทางธุรกิจอันกว้างใหญ่ของบริษัท Alibaba Group ที่สร้างช่องทางในการซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์ สร้างช่องทางการขนส่ง (Logistic) และสร้างช่องทางในการชำระเงินผ่านบริการ Alipay (AlibabaGroup, 2016)
ด้วย เหตุนี้การสร้าง e-commerce เพื่อผู้ประกอบการโดยรัฐ ของโครงการ 1nita Project จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าหากรัฐเป็นผู้ลงทุนในการสร้าง e-commerce ให้แก่ผู้ประกอบการ รัฐจะมีโอกาสในการกำหนดพื้นที่ของการพัฒนาผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของรัฐบาลมาเลเซียที่เลือกจะพัฒนาผู้ประกอบการผู้หญิงในชนบท นอกจากนั้นหากรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง รัฐยังสามารถที่จะเลือกลักษณะของ e-commerce ว่าจะเป็นแบบ C2C หรือ B2C ซึ่งจะเหมาะสมกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในส่วนของ 1nita Project นั้น รัฐบาลมาเลเซียต้องการที่จะสร้างผู้ประกอบการในชนบทผ่าน E-commerce ในแบบ C2C (Consumer to Consumer)
โครงการ 1nita Project เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 และขยายตัวเรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรศึกษาจาก 1nita Project ของประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่ความสำเร็จของรัฐบาลมาเลเซียในการใช้ E-commerce แต่เป็นวิธีการที่รัฐบาลมาเลเซียใช้ในการทำให้ผู้หญิงในชนบทที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถใช้ E-commerce เพื่อเสริมแรงให้กับการขยายตัวของผู้ประกอบการในชนบท
จากงานศึกษาเรื่อง Empowering rural women entrepreneurs with ict skills: an impact study of 1nita project in Malaysia (Hashim, et.al., 2011) พบว่ารัฐบาลมาเลเซียเริ่มต้นการวางรากฐานให้กับการสร้างผู้ประการ ในชนบทผ่าน e-commerce ด้วยการมอบหมายให้ ศูนย์ E-Community Research Centre ของมหาวิทยาลัย Universiti Kebangsaan Malaysia เป็นศูนย์กลางในการการสร้างแผนการอบรมเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาผู้ประกอบการผ่าน e-commerce ซึ่งแผนการอบรมนี้จะถูกกระจายออกไปตามรัฐต่างๆในมาเลเซีย โดยอาศัยสถานที่ราชการในการจัดการอบรม และในส่วนของการจัดอบรม (workshop) นั้น จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ ในส่วนแรกจะเป็นการอบรมเรื่อง การใข้อินเตอร์เน็ตในทางการตลาด (Internet Marketing) และ การใช้ภาษาในการโฆษณา และในส่วนที่สองก็จะเป็นการอบรมเรื่องเทคนิคในการถ่ายรูปสินค้าและการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ต (Payment Method Online) ซึ่งทั้งหมดเป็นการอบรมเพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการในชนบทสามารถเข้าไปใช้ portal ของรัฐ คือ www.1nita.my ในการสร้างธุรกิจผ่าน E-commerce
ความสำเร็จของ 1nita project ในการสร้างผู้หญิงในชนบทให้เป็นผู้ประกอบการผ่าน e-commerce ก็คือ กลุ่มตัวอย่างของผู้หญิงที่เข้าร่วมการอบรมในเขต Kuala Lumpur และรัฐ Melaka มีผู้หญิงที่รู้จักการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนและใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำเพียงแค่ 33% และ 28% ตามลำดับ (Hashim, et.al., 2011) ซึ่งเท่ากับว่า 1nita Project ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการสร้างให้ผู้หญิงในชนบทที่ไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศมากนัก ให้สามารถพัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบ การผ่าน E-commerce ได้ นอกจากนั้นตัวเลขที่น่าสนใจก็ คือ 50% ของผู้หญิงที่ผ่านการอบรมจาก 1nita project สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 30 - 60% หลังจากเริ่มใช้ e-commerce (Ibid) โดยผลสรุปจากโครงการ 1nita Project ก็คือ สามารถผลิตผู้ประกอบการผู้หญิงในชนบทผ่าน e-commerce จำนวน 999 ราย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ขายใน 1nita.my ถึง 4,000 ตัว รวมทั้งบริการถึง 1,900 บริการ ตัวอย่างของสินค้าที่วางขายอยู่บน 1nita.my ก็เช่น เค้ก คุกกี้ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าลายพื้นบ้าน (1nita, 2016)
ด้านหนึ่งแม้ว่า 1nita.my จะไม่ได้มียอด ขายและจำนวนการทำธุรกรรม (Transaction) จำนวนมหาศาลเหมือนกับ taobao ของ Alibaba แต่ 1nita Project คือตัวอย่าง ของการที่รัฐพยายามที่จะสร้างผู้ประกอบการชนบท บน E-commerce ผ่านการลงทุนสร้าง web-portal และจัดอบรมให้ผู้ประกอบการผู้หญิงในชนบทสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และที่สำคัญคือ รัฐบาลมาเลเซียได้ร่วมมือกับเอกชนในพื้นที่ที่รัฐยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการดำเนินงาน เรื่อง e-commerce เช่น การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตระหว่างผู้ประกอบการในชนบทกับลูกค้าผ่านการร่วมมือระหว่างรัฐกับบริษัท Paypal และ Webcash (บริษัทรับชำระเงินออนไลน์ของมาเลเซีย) และยังรวมไปถึงการเป็นพันธะมิตรกับ บริษัท Poslaju ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ที่มีเครือข่ายกับบริษัทขนส่งท้องถิ่นในพื้นที่ชนบท ทำให้การรับส่งสินค้าจากชนบทเข้าสู่เมืองเป็นไปได้ โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามาลงทุนในส่วนนี้เอง (Poslaju, 2016)
1nita Project เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ e-commerce เพื่อสร้างผู้ประกอบการในชนบท ในแง่ที่ว่ารัฐสามารถเข้าไปเป็นผู้ริเริ่มในการวางรากฐานให้กับการสร้างผู้ประกอบการในชนบทผ่านการสร้าง web portal และการจัดอบรมเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับชาวบ้าน ซึ่งในด้านหนึ่งเท่ากับว่ารัฐได้ช่วยสร้างตลาดที่ใหญ่ขึ้นให้กับชาวบ้านในชนบท ทำให้ความเป็นผู้ประกอบการในชนบทเข้มแข็งขึ้น ในแง่ที่ว่า การขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการในชนบทสามารถมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากไปกว่าการทำการเกษตรในที่ดินของตนเอง (side venture) เช่น การใช้ทักษะการเย็บผ้าที่มีอยู่ทำเสื้อผ้าเด็กส่งขายในเว็บ 1nita.my และนอกจากนั้นการเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการขยายช่องทางในการค้าขายที่กว้างขวางขึ้นยังช่วยให้ชาวบ้านในชนบทสามารถที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย (diversify) เพื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดหายไปใน 1nita project ก็คือ ภาพของเกษตรกรผู้ประกอบการ (Farmer Entrepreneur) ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ความสนใจของ 1nita project คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรจะสามารถใช้ e-commerce ในตรรกะเดียวกับผู้หญิงในชนบทของมาเลเซีย เพื่อการเสริมพลังให้กับการเป็นผู้ประกอบการของพวกเขาได้หรือไม่
ณ จุดนี้ เราอาจจะต้องมองหาตัวอย่างของ เกษตรกรผู้ประกอบการ ที่ใช้ e-commerce ในการขยายตลาดของพวกเขา เช่น กลุ่มเกษตรกรในเวลส์ตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการจะสร้าง ตลาดของเกษตรกรในโลกออนไลน์ (Visual Farmer Market) ผ่านการใช้ e-commerce โดยอาศัยการสร้างเว็บไซด์แนะ นำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ (ที่ไม่ใช่ web portal เหมือนกับกรณีของ 1nita.my ที่สามารถซื้อขายกันได้ทันทีแบบ C2C) ในลักษณะของการสร้างช่องทางเพื่อสร้างการตระหนักรู้ต่อกลุ่มเกษตรกรและขยายเครือข่ายของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถไปจับกับธุรกิจขนาดกลางอื่นๆ ในลักษณะของ B2B เช่น โรงแรมหรือร้านอาหารในพื้นที่เดียวกัน คือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวลส์ ที่ต้องการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อจะขยายห่วงโซ่ของอุปสงค์ทางอาหาร (food supply chian) ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าเกษตรจากเกษตรกรผู้ประกอบการไปสู่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ต้องผ่านนายหน้า แต่ใช้ e-commerce เป็นตัวเชื่อมต่อแทน (Pickernell, et.al., 2011)
นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างของกลุ่มสหกรณ์ในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Pal*System (อรรถจักร์, 2559) Pal*System เป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในญี่ปุ่นที่เน้นการปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ โดย Pal*System มีวิธีการจัดจำหน่ายสินค้าส่งถึงมือสมาชิกสองแบบ คือ การใช้แคตตาล็อคที่จะส่งถึงบ้านสมาชิกทุกอาทิตย์ และมีเว็บไซด์pal-system.co.jp ที่เป็นการใช้ E-commerce ในลักษณะของ B2C ที่ตัวสหกรณ์จะเป็นผู้รวบรวมสินค้าปลอดสารพิษของเกษตรในกลุ่มทั่วประเทศ มาแสดงไว้ในเว็บไซด์ pal-system.co.jp และลูกค้าสามารถเลือกซื้อและชำระเงินออนไลน์ จากนั้นสินค้าจะถูกจัดส่งจากคลังสินค้า (warehouse) ของสหกรณ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไปถึงมือลูกค้า (Palsystem, 2016)
จะเห็นได้ว่าการใช้ E-commerce กับเกษตรกรผู้ประกอบการนั้น มีตัวอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในระดับเอกชน คือ กลุ่มเกษตรในเวลส์ตะวันออกและกลุ่มสหกรณ์ Pal*System ในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐคิดที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการในชนบท เหมือนกับตัวอย่างของมาเลเซีย คือ 1nita Project รัฐอาจจะไม่สามารถประยุกต์ใช้ตัวอย่างดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะ 1nita project คือ การฝึกอบรมผู้หญิงในชนบทจำนวนไม่มาก (รัฐบาลมาเลเซียเริ่มโครงการด้วยการอบรมผู้หญิงเพียง 999 คน) แต่เกษตรกรผู้ประกอบการในชนบทนั้นมีจำนวนมหาศาล และยังรวมไปถึงว่าความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Literacy) ของเกษตรกรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็น่าจะต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น เวลส์ และ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวอาจสามารถจัดการได้ด้วยการศึกษาตัวอย่างของความพยายามในการขยายบริการ E-commerce ไปสู่พื้นที่ชนบทของ Alibaba Group และรัฐบาลจีน
การขยาย E-commerce ลงไปยังพื้นที่ชนบทดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้ความคิดของ Alibaba Group ที่จะทำให้เกษตรในชนบทสามารถที่จะซื้อสินค้าบน web portal แบบ C2C ของ Alibaba Group คือ taobao.com และสร้างโอกาสที่จะทำให้เกษตรกรในชนบทสามารถที่จะ ขายสินค้าเกษตรของพวกเขาได้ บน web portal ในอนาคตได้ (Wang, 2015) แต่ Alibaba Group ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย คือ ชนบทของจีนยังมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่มากพอต่อการขยายตัวของ e-commerce แม้ว่าพวกเขาจะมีโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ใช้แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ Alibaba Group จึงเริ่มพัฒนาแผนที่จะพัฒนา ศูนย์บริการในชนบทของ Taobao หรือ Taobao Rural Service Center (Alibaba Group มีแผนที่จะสร้างศูนย์บริการระดับอำเภอจำนวน 1,000 ศูนย์ และระดับหมู่บ้าน 100,000 ศูนย์ ภายในสามถึงห้าปี) โดยเริ่มต้นทดลองก่อนที่ หมู่บ้าน Gongjia ในอำเภอ Lin’ An จังหวัด Zhejiang ผ่านการร่วมมือกับหน่วยการ ปกครองท้องถิ่นของอำเภอ Lin’ An โดย Alibaba Group ได้อบรมผู้หญิงวัยกลางคนชื่อ Gong Jianfei ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน Gongjia ให้รู้จักการใช้ taobao.com และการชำระเงินออนไลน์ โดยที่ Alibaba Group เป็นผู้จัดการเรื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พื้นฐาน และ หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้จัดหาสถานที่และจ่ายเงินเดือนให้กับคุณ Gongโดยคุณ Gong ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้าน Gongjia ที่ต้องการจะซื้อสินค้า กับ taobao.com ผ่านตึกแถวเล็กๆที่ถูกดัดแปลงให้เป็นศูนย์บริการในท้องถิ่นของ Taobao โดยที่คำสั่งซื้อสินค้าจะถูกทำผ่านคุณ Gong และสินค้าจาก taobao.com ก็จะมาลงที่ศูนย์บริการแห่งนี้ (Alizila, 2016)
ด้วยตรรกะเดียวกันนี้รัฐสามารถที่จะใช้หน่วยการปกครองในท้องถิ่น เช่น หมู่บ้านและ อบต. เป็นจุดเชื่อมต่อ เพื่อสร้างบริการ e-commerce ระหว่างเกษตรกรผู้ประกอบการในชนบท กับ web portal ได้ โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องอบรมเกษตรกรผู้ประกอบการทุกคนให้สามารถใช้ e-commerce ได้ แต่อาศัยการอบรมเฉพาะตัวแทนของหมู่บ้านและ อบต. ให้กลายเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่าง เกษตรกรผู้ประกอบการ กับ web portal ซึ่งจะช่วยให้เกษตรผู้ประกอบการในชนบทสามารถที่จะขยายเครือข่ายและเพิ่มช่องทางในการขยายกิจการของพวกเขาออกไปสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางมากขึ้น
โดยสรุป e-commerce คือ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บนการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวนาไปสู่สังคมผู้ประกอบการ ในแง่ที่ว่า e-commerce สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในชนบทขยายเครือข่ายและช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งในอีกแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในชนบท สามารถพัฒนาสินค้าที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อตลาดที่กว้างขวางมากกว่าเดิม นอกจากนั้นการใช้ e-commerce ยังจะเป็นโอกาสในการทลายอุปสรรคของเกษตรกรในชนบท เช่น ปัญหาพ่อค้าคนกลาง หรือ การต้องทำการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้สัญญากับบรรษัทขนาดใหญ่ เนื่องจาก e-commerce จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเชื่อมต่อผู้ประกอบการในชนบทกับตลาด โดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลางโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการในชนบทสามารถลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและบรรษัทเกษตรขนาดใหญ่ที่ขูดรีดที่คอยขูดรีดพวกเขา
อย่างไรก็ตามการสร้าง e-commerce ในประเทศกำลังพัฒนาต้องอาศัยแรงสนับสนุนอย่างมากจากภาครัฐ ทั้งในแง่ของถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่ชนบท การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และการขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และผู้ประกอบการในชนบทไม่สามารถทำได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือจากรัฐ
ทั้งนี้หากรัฐมองเห็นโอกาสดังกล่าว และกล้าที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีแต่ชนบท จากสังคมชาวนาไปสู่สังคมของผู้ประกอบการ รัฐจะมีโอกาสครั้งสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้แก่สังคมชนบท ที่ในท้ายที่สุดแล้วจะขยายไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจของคนทั้งสังคมต่อไป
1NITA. 2016. 1nita store [Online]. Available: http://1nita.my/index.php [Accessed].
ALIZILA. 2015. Taobao Rural Service Center [Online]. Available: https://www.youtube.com/watch?v=_QAdgZqEOfc [Accessed].
FERGUSON, R. & OLOFSSON, C. 2011. The Development of New Ventures in Farm Businesses. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.
ALIBABA GROUP. 2016. OUR BUSINESSES [Online]. Available: http://www.alibabagroup.com/en/about/businesses [Accessed].
HASHIM, F., RAZAK, N. A. & AMIR, Z. 2011. Empowering rural women entrepreneurs with ict skills: An impact study of 1nita project in Malaysia. Procedia - Social and Behavioral Sciences, 15, 3779-3783.
Poslaju. 2016. About Pos Laju [Online]. Available: http://www.poslaju.com.my/about-us/ [Accessed].
MYNIC. 2016. About MYNIC [Online]. Available: https://www.mynic.my/en/about-us.php [Accessed].
PALSYSTEM. 2016. About Pal System [Online]. Available: http://www.pal-system.co.jp/about/ [Accessed].
PICKERNELL, D., MILLER, C., SENYARD, J., THOMAS, B. & TUNSTALL, R. 2011. Beware of Geeks Bearing Gifts? Online Latent and Untapped Outlets for Farmers’ Markets in South East Wales. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar
WANG, S. 2015. E-commerce Gaining Traction in Rural China [Online]. Available: http://www2.alizila.com/e-commerce-gaining-traction-rural-china [Accessed].
อร รถจักร์ สัตยานุรักษ์. "ชนบท": ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (29 พฤษภาคม 2552). มองชนบทญี่ปุ่น. กรุงเทพธุรกิจ
ที่มา : ประชาไท วันที่ 16 มี.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.