คอลัมน์ ทำกินถิ่นอาเซียน โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ปัจจุบันภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นและคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน นับวันจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความแห้งแล้ง อุทกภัย และรวมถึงการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น อันเป็นสาเหตุนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตข้าว ซึ่งเป็นอาหารจานหลักของคนในเอเชีย ภัยธรรมชาติดังกล่าวจัดเป็นความเสี่ยงร่วมกันในภูมิภาคเอเชียและควบคุมไม่ได้
การตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ได้นำไปสู่การดำเนินการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินหากบังเกิดขึ้น ทั้งนี้ความร่วมมือที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในรูปของโครงการระบบสำรองข้าวฉุกเฉินภายใต้กรอบของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อสำรองข้าวในยามที่ภูมิภาคประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร และต่อมาโครงการดังกล่าวได้ขยายตัวครอบคุมถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า อาเซียนบวกสาม ตามมา
ในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีประชากรราวครึ่งหนึ่งของประชากรในเอเชีย ประเทศที่มีการผลิตข้าวเพียงพอและส่งเป็นสินค้าออกในอาเซียนได้แก่ ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา ส่วน สปป.ลาวอาจจะมีการนำเข้าเล็กน้อยในบางครั้ง สำหรับประเทศที่ต้องนำเข้าข้าวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ และบรูไน ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการและต้องนำเข้าข้าวเพื่อมาเสริมกับผลผลิตในประเทศ ทั้งนี้ปริมาณการนำเข้าจะมีความแปรปรวนไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของผลผลิตภายในของแต่ละประเทศดังกล่าว
สำหรับจีนนั้น มีการผลิตข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่การมีประชากรจำนวนมากของจีนทำให้การผลิตมีไม่เพียงพอกับการบริโภค จึงต้องเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกด้วยเช่นกัน ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว เพราะมีการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ แม้จะมีนโยบายเพื่อการพึ่งตนเองก็ตาม
การผลิตข้าวในกลุ่มภูมิภาคเอเซียนบวกสาม แม้ภายในภูมิภาคจะยังมีอุปทานข้าวส่วนเกินอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่สูงนักประมาณ 7.9 ล้านตันข้าวสาร แต่การที่ตลาดข้าวเป็นตลาดที่บางหรือมีการซื้อขายกันน้อยหากเทียบกับปริมาณการผลิตและการบริโภคของโลก อีกทั้งยังมีความแปรปรวนของราคา เนื่องจากความไม่แน่นอนในด้านอุปทานผลผลิต การเกิดวิกฤติข้าวแพงในปี 2552 จึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความร่วมมือเพื่อการสำรองข้าวฉุกเฉินมากขึ้น
การจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม จึงเป็นความร่วมมือด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งในระยะสั้นและระยะยาวภายในภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านต่างๆ อันจะสั่นคลอนต่อความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นต้นแบบให้แก่กลุ่มประเทศต่างๆที่ประชากรบริโภคข้าวเป็นอาหารจานหลักอึกด้วย
ที่ผ่านมาในกลุ่มอาเซียนบวกสามมีการสำรองข้าวฉุกเฉินไว้ประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งยังมีจำนวนน้อย โดยการสำรองข้าวนั้นไม่ได้สำรองในรูปของข้าวอย่างเดียว แต่จะเป็นการสำรองในรูปของเงินเพื่อนำไปซื้อข้าวบริจาคอีกทางหนึ่งด้วย
โจทย์ที่ท้าทายความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้มีปริมาณข้าวสำรองในภาวะฉุกเฉินในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 11 มี.ค. 2559