โดย พชร สมุทวณิช
วันหนึ่งในฤดูร้อนปี 1995 ที่ห้องเรียนวิชาบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองเล็กแถบตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียน ...วันนั้นเป็นคิวของเขาที่จะมาทำหน้าที่พรีเซนต์การบ้านที่อาจารย์มอบหมาย
ฝรั่งคนดังกล่าวเดินไปที่หน้าห้อง ก่อนที่จะหยิบคุกกี้ชอกโกแลตชิปออกมาหนึ่งกล่อง พร้อมกับบอกกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนว่า "เมียไอทำเอง" ว่าแล้ว ฝรั่งคนดังกล่าวก็เดินแจกคุกกี้ช็อกโกแลตชิปเพื่อนร่วมห้องเรียนที่มีอยู่ไม่เยอะนัก คนละชิ้น พร้อมกับกำชับว่า "ยูอย่าเพิ่งกิน"
ห้องเรียนนั้นเป็นห้องเรียนเล็กๆ ที่มีนักศึกษามาลงเรียนในวิชานี้ไม่ถึง 20 คน วันนั้นผมนั่งอยู่แถวหน้าๆ ห้องเรียน รับคุกกี้ช็อกโกแลตชิปมาหนึ่งชิ้น ถือไว้ในมือ ชิ้นของมันใหญ่เกือบครึ่งฝ่ามือ "ดูน่ากินดี" ผมนึกในใจ เนื้อคุกกี้อบจนเหลืองอร่ามเร้าใจ ส่วนช็อกโกแลตก้อนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝังอยู่ตามเนื้อแป้งคุกกี้ยิ่งทำให้ดูน่ากินเข้าไปอีก
ฝรั่งคนนั้นก็เป็นเหมือนฝรั่งทั่วไปที่มาเข้าคลาสเรียนปริญญาโท นั่นก็คือค่อนข้างมีอายุ มีประสบการณ์การทำงานมาแล้วแต่อยากมาเพิ่มพูนความรู้ กลางวันก็ไปทำงาน ตกบ่ายหรือเย็นๆ ก็มาเข้าห้องเรียนหนังสือในวิชาที่ตัวเองสนใจ ต่างจากคนไทยที่นิยมเรียนรวดเดียวจบแล้วค่อยไปทำงาน ผมก็จัดอยู่ในข่ายดังที่ว่า ส่วนใหญ่นักศึกษาฝรั่งออสเตรเลียกับคนไทยที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองต่างวัฒนธรรมมักจะเข้ากันได้ดี และมันมักจะขอให้เราสอนทำต้มยำกุ้งอยู่ตลอดเวลา
พอเพื่อนนักศึกษาฝรั่งของผมแจกคุกกี้เสร็จ มันก็ไปยืนหน้าห้อง พร้อมกับบอกว่า "วันนี้ไอจะมานำเสนอรายงานเรื่องความสำคัญของการทำอีไอเอ" ทั้งนี้เป็นหัวข้อแรกๆ ที่อาจารย์มอบหมายให้นักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาเรียนวิชานี้ทำเพื่อจะได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
ผมเองเลือกหัวข้อเรื่อง “การลงทุนทางเศรษฐกิจท่าเรือน้ำลึกที่เกาะแมกเนติกส์กับความเสี่ยงในการทำลายแนวปะการัง” (มาคิดตอนหลังว่าข้าพเจ้าเลือกเรื่องยากไปมั้ย 555) ซึ่งเรื่องนี้เหนื่อยมาก เพราะต้องหาข้อมูลเยอะแยะมากมาย เวลาเตรียมพรีเซนต์รายงานก็ต้องทำตารางต่างๆ วุ่นวายไปหมด
ส่วนไอ้ฝรั่งเพื่อนผมคนที่ว่ามันเลือกหัวข้อความเรื่องสำคัญของการทำอีไอเอ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าหัวข้อมันกว้างเกินไป ทำรายงานน่าจะยาก
แต่มันมีวิธีของมัน นั่นก็คือเรื่องที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง ถึงเรื่องที่มันเอาคุกกี้มาเป็นสื่อการนำเสนอดังที่บรรยายให้มาข้างต้น พอมันพูดหัวข้อจบ มันก็พูดว่า จุดหมายของการนำเสนอรายงานนี้คือการทำให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆ โดยรวดเร็ว และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการจัดทำอีไอเอ จากนั้นมันบอกว่า “เอาหล่ะ ทุกคนหยิบคุกกี้ขึ้นมา แล้วลองหยิบช็อกโกแลตออกมากินโดยไม่ทำคุกกี้หัก"
เป็นไงหล่ะ อึ้งหล่ะสิ เท่านี้แหละทุกคนนึกออกเลยว่ามันจะสื่ออะไร
ทุกคนก็พยายามจะหยิบช็อกโกแลตชิปออกมาจากคุกกี้ ส่วนใหญ่จะทำคุกกี้หัก แต่มีบางคนที่ได้ชิ้นที่มีช็อกโกแลตโผล่ออกมาจากเนื้อคุกกี้หน่อยก็อาจจะแซะๆ ออกมาแบบเหลือความสวยงามของชิ้นคุกกี้ได้บ้าง ส่วนผมนั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเรารู้แล้วว่ามันอยากสื่ออะไร ผมก็บิๆ คุกกี้เอาช็อกโกแลตออกมากิน คุกกี้ก็หักก็บิ่นตามที่มันควรจะเป็น ไม่พยายามไปฝืนแคะ
เว้นให้แคะคุกกี้กันพอประมาณ มันก็บอกว่า (โดยผมจะสรุปให้) "ช็อกโกแลตที่ฝังอยู่ในเนื้อคุกกี้คือผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเรา การหยิบเอามาใช้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะหยิบมาอย่างไรให้ธรรมชาติโดนทำลายน้อยที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการ
บางครั้งเราก็ต้องยอมเสียเวลา
ยอมวุ่นวาย
ยอมที่จะเพิ่มเติมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาร่วมวง
ยอมเสียเงินเสียทองที่มากขึ้น
ยอมเพิ่มกระบวนการต่างๆ ในการจัดการ
...รวมถึงรู้จักที่ยอมเอาช็อกโกแลตออกมาแต่พอดีโดยอาจจะไม่ต้องหยิบออกมาจนหมด ยอมเอาแต่น้อยเพื่อให้ธรรมชาติไม่เสียหายจนเกินไป
ความร่ำรวยจากธุรกิจอย่างมากก็เฟื่องฟูไปได้สักสองสามชั่วคนในแวดวงไม่กี่ครอบครัว แต่ทรัพยากรธรรมชาตินั้นคือมรดกส่วนรวมสำหรับลูกหลานทั้งประเทศที่เราจะต้องยืดอายุเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และคือเหตุผลที่ทำไมกระบวนการทำอีไอเอจึงมีความสำคัญ
เพื่อนฝรั่งมันสรุปให้ฟังในวันนั้นยี่สิบกว่าปีมาแล้ว และยังเป็นเรื่องที่ผมจำได้มาจนทุกวันนี้
#มันได้A
ที่มา : ผู้จัดการ วันที่ 11 มี.ค. 2559