โดย...ณรงค์ ใจหาญ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และพืช การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อให้เกิดมลพิษไม่ได้มีผลเฉพาะคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงแต่มีผลกระทบในภาพรวมของประเทศและในระดับภูมิภาค ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและเกิดผลยาวนานต่อเนื่อง
เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือก่อให้เกิดมลพิษ ผู้ที่ได้รับความเสียหาย จะฟ้องร้องเพื่อขอรับค่าเสียหายที่ตนเองสูญเสียไปจากผลของการละเมิดดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน บางประเทศ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ โดยจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม หรือศาลชำนัญพิเศษในคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณา พิพากษาคดีให้เกิดความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายรวมถึง สภาพแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปให้ได้รับการฟื้นฟูกลับมา
การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในศาลไทย ซึ่งดำเนินคดีทั้งคดีอาญา คดีแพ่งและการเรียกร้องให้หน่วยงานรับผิดในทางแพ่งในศาลปกครอง เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการก่อให้เกิดมลพิษได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม เป็นธรรม และมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือก่อให้เกิดมลพิษซ้ำอีก แต่ปัญหาในการดำเนินคดีก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไม่อาจได้รับความเป็นธรรมได้
ปัญหาในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การนำสืยพยานหลักฐานเพื่อจะทำให้เห็นว่า ผู้ได้รับความเสียหาย ได้รับอันตรายจากสารพิษหรือมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นจริง เป็นการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ทำได้ยาก และเมื่อนำสืบแล้ว เป็นปัญหาในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานด้วยว่า เป็นจริงดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ เพราะข้อพิสูจน์เหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แพทย์ทางอาชีวะเวช หรือความรู้ทางเทคนิกต่างๆ ประกอบการชี้ขาดตัดสิน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของตุลาการ พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ปัญหานี้เอง บางประเทศจึงใช้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้นำสืบข้อมูลต่อศาล เพื่อให้ศาลทราบถึงผลกระทบ และสามารถกำหนดมาตรการในการเยียวยาและป้องกันได้อย่างถูกต้อง ชอบธรรม
ปัญหาอีกประการหนึ่งในการบริการงานกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม คือ องค์ความรู้และความชำนาญในการดำเนินคดี แม้ว่าพยานผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเหลือพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลได้ในด้านข้อมูล แต่หากบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีความรู้ ความเข้าใจหรือความตระหนักในลักษณะพิเศษของคดีสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของมลพิษที่เกิดขึ้น และกลไกที่จะต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ก็ อาจไม่ใช้กลไกของกฎหมายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ที่จะบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลัก ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือไม่ลงโทษอย่างจริงจังจนทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะทำผิดอีก หากเป็นเช่นนี้ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อให้เกิดมลพิษก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของไทย มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปเช่นมาตรฐานสากล ได้แก่ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการฟ้องคดี มีการฟ้องคดีเป็นกลุ่ม ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้การฟ้องคดีของคนยากไร้ สามารถทำได้มากขึ้น รวมถึง เพิ่มบทบาทของศาลให้มีบทบาทในการแสวงหาหลักฐานโดยใช้พนักงานคดี มากกว่ารอให้คู่ความนำสืบพิสูจน์ รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการเดินเผชิญสืบ นอกจากนี้ การป้องกัน มิให้มีการก่อมลพิษหรือการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิจารณาคดีก็เป็นกลไกสำคัญที่ศาลสามารถนำมาใช้เพื่อยับยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระงับการก่อมลพิษอย่างทันท่วงที ซึ่งในปัจจุบัน หากเป็นคดีแพ่งโดยปกติ การวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวทำได้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งกลไกที่จะใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ศาลควรนำมาใช้ เช่นการระงับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติไว้ก่อน ในระหว่างที่มีการฟ้องคดี มิฉะนั้นแล้วหากรอให้มีการสั่งหลังสืบพยาน เหตุการณ์อาจสายเกินแก้
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งการละเมิดสิ่งแวดล้อม และการร่วมตรวจสอบโดยส่งเสริมให้มีองค์กรเอกชนทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำการฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย เป็นวิธีการที่ในต่างประเทศนำมาใช้ และได้ผลในการฟ้องคดีแก่ผู้มีอิทธิพล ซึ่งควรนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างยิ่ง ในปัจจุบันแม้มีในกฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่ชัดว่าจะมีการฟ้องคดีได้แทนอย่างกว้างขวาง
ในท้ายที่สุด การเยียวยาความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อม ต้องมีการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม และเป็นจริงแต่ข้อจำกัดในการกำหนดความเสียหาย คือ ผลเสียหายอาจเกิดหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วอีกหลายปี แต่การแก้ไขคำพิพากษาทำได้สั้นไม่เกินสองปี ดังนั้น จึงควรแก้ไขให้มีการแก้ไขคำพิพากษาได้ยาวกว่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนด
อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศ มีกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ในกฎหมายไทยแม้ว่าจะมีกองทุนสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเยียวยาความเสียหายหรือการเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเมื่อกองทุนได้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว ซึ่งกองทุนในลักษณะนี้ ทำให้ผู้เสียหายได้รับค่าเสียหาย เร็วขึ้น และจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในค่าเสียหาย มิใช่รัฐเป็นผู้จ่าย การพัฒนากองทุนสิ่งแวดล้อมให้มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายค่าทดแทนจากการก่อมลพิษจึงเป็นแนวทางที่น่าจะนำมาใช้ในกฎหมายไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม และผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายความเสียหายนั้น
เป็นที่น่าดีใจว่า ประเทศไทย กำลังจะมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานและอาจรวมถึงการมีศาลสิ่งแวดล้อมเป็นศาลเฉพาะ หรือเป็นศาลที่รวมคดีอาญา คดีแพ่งและคดีปกครองอยู่ในศาลเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการชี้ขาดตัดสิน และทำให้คดีสามารถบังคับได้ในศาลเดียวกัน แต่รูปแบบของศาลยังคงอยู่ในกระบวนการตัดสินว่ารูปแบบไหนจะดีกว่ากัน นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาเพื่อระงับข้อพิพาทในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนฟ้อง มีการไกล่เกลี่ย การพิจารณาคดีที่เป็นสากล และการบังคับคดีที่รวดเร็ว รวมตลอดถึงมีการใช้มาตรการแทนการลงโทษจำคุก เช่น ให้ฟื้นฟูสภาพป่า น้ำที่เสียไป จะทำให้เกิดการเยียวยาความเสียหายให้แก่สภาพแวดล้อมและมีมาตรการป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษซ้ำนั้น ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการสร้างความเป็นธรรมในคดีสิ่งแวดล้อมของไทยในอนาคต และหากได้มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้าใจและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจัง ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นจริง สังคมไทยคงจะมีสภาพแวดล้อมที่ดี และผู้ได้รับความเสียหายจะได้รับการชดเชย เยียวยาอย่างเหมาะสม รวดเร็ว เทียบกับมาตรฐานสากลต่อไป
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 26 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.