เสรี พงศ์พิศ
รายงาน ของบีบีซีบอกว่า ยีสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนอังกฤษซื้อขนมปังขาวลดลงถึง 75% และซื้อขนมปังโฮลวีทเพิ่มขึ้น 85% บริโภคนมไม่มีมันมากกว่านมธรรมดา บริโภคตับลดลงถึง 92%
แม้ว่าอีกด้านหนึ่ง คนอังกฤษกินมันฝรั่งทอดมากขึ้น กินพิซซ่า บะหมี่แห้ง พาสต้าแห้งมากขึ้น กินอาหารแช่แข็งมากขึ้น เพราะวิถีที่เร่งรีบ แต่โดยรวมตัวเลขต่างๆสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนอังกฤษวันนี้ว่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ข้อมูลผู้บริโภคทั่วโลกของบริษัทยักษ์ ใหญ่นีลเสนเมื่อต้นปี 2014 บอกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลกน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกายระหว่าง 25-30) และเป็นโรคอ้วน (30 ขึ้นไป) เพิ่มขึ้น 30% ในจำนวนนี้เป็นผู้ใหญ่ 28% เด็ก 47% ในปี 2013 ประชากรโลก 30% หรือ 2,100 ล้านคน น้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ที่น่าตกใจ คือ 62% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ดี งานสำรวจวิจัยของนีลเสนบอกด้วยว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่เขาสำรวจ 30,000 คนในทุกทวีปพบว่า ครึ่งหนึ่งรู้ตัวว่าน้ำหนักเกินและอยากลดน้ำหนัก วิธีการคือ 75% ปรับเปลี่ยนอาหาร 72%ออกกำลังกาย 11% ใช้ชากาแฟสมุนไพรอาหารเสริม 7% ใช้ยาหาหมอ 6% ใช้วีธีอื่นๆ
นีลเสนสำรวจพบว่า ผู้บริโภคต้องการอาหารธรรมชาติไม่ตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) มากที่สุด สนใจคุณภาพอาหาร อ่านสลากและดูสรรพคุณอาหาร และพร้อมที่จะซื้ออาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพไม่ใส่สี ไม่มีกลิ่นรส ทำจากผักผลไม้ มีรสธรรมชาติ
สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการให้มีใน ปริมาณต่ำหรือไม่มีเลย คือ คอเลสเตอรอล เกลือ โซเดียม น้ำตาล ไขมัน แคลอรี่ น้ำหวานจากข้าวโพด คาร์โบไฮเดรต กาแฟอีน และที่อยากให้มีมาก คือ ไยอาหาร โปรตีน ธัญพืชไม่ขัดสี แคลเซียม วิตามิน แร่ธาตุ ไขมันไม่อิ่มตัว และสารอาหารต่างๆ
ผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เรียกร้องให้มีสลากที่บอกองค์ประกอบของอาหาร ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม ให้เป็นการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) เป็นอาหารอินทรีย์ มีสมุนไพรท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบ
การ สำรวจพบว่า ระหว่างปี 2012-2014 อาหารสุขภาพเติบโตเร็วมาก แอฟริกาและตะวันออกกลางโตขึ้น 20% ละตินอเมริกา 16% เอเชียแปซิฟิก 15% อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพลดลง 8% อย่างไรก็ดี มันฝรั่งทอดกลับเพิ่มขึ้น 3% และช็อคโกเล็ต 5%
ประเทศไทยกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ มีดิน มีน้ำ มีแดด มีแรงงาน ถ้ามีวิสัยทัศน์ มีปัญญา ก็น่าจะรู้ว่า ควรทำอย่างไรชาวนาชาวไร่จึงจะอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนเป็น “โลกอินทรีย์ สุขภาพดีสร้างได้” ใบนี้
อย่างแรก ระดับนโยบายคงต้องทบทวนให้ดีว่า ที่ประกาศว่าใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นทำกันจริงจังหรือเขียนและพูดให้ฟังดูดีเท่านั้น ในทางปฏิบัติยังปล่อยให้พ่อค้านายทุนทำการค้าที่ผูกขาด ครอบงำ และเอาเปรียบชาวบ้าน ประชาชนคนบริโภค ผลักดัน GMOs สุดลิ่ม เพราะเป็นวิธีง่ายที่จะผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ประเทศละตินอเมริกาเพิ่มภาษีน้ำอัดลม และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะตระหนักดีว่า อาหารพวกนี้ทำให้อ้วนและเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCD non-communicable diseases) อย่างเบาหวาน หัวใจ เส้นเลือดตีบตันเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต โรคตับ โรคไต
รัฐบาลอย่างบราซิล แม็กซิโก ทำการรณรงค์เรื่องนี้ เพราะเห็นว่า เสียค่ารักษาพยาบาลประชาชนไปไม่คุ้มกับภาษีและรายได้จากอาหารเครื่องดื่มเลวๆ เหล่านั้น ควบคุมการโฆษณา การตลาดที่ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆ กำกับดูแลอาหารการกินของเด็ก โดยเฉพาะในโรงเรียน
บ้านเราก็ทำเรื่องดีๆ เกี่ยวกับบุหรี่ เหล้า แต่ก็ดูยังเบาบางในเรื่องการบริโภคอื่นๆ ประเทศพัฒนาแล้วเขาห้ามหรือควบคุมไขมันกลายรูป หรือไขมันทรานส์ในอุตสา หกรรมอาหาร ขนมกรุบกรอบ ที่ขายเต็มร้านสะดวกซื้อ เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี ไขมันนี้ทำให้อาหารอายุยืนยาว แต่คนกินอายุสั้น บ้านเราไม่ได้ว่าอะไร
การรณรงค์อาหารในโรงเรียนยังเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับ “ครูใหญ่” ถ้าใส่ใจก็ห้ามขายน้ำอัดลม ขนมหวานทั้งในและนอกรั้วหน้าโรงเรียน ยังไม่เป็นนโยบายที่ทำกันอย่างถ้วนหน้าและจริงจัง แบบว่าถ้าไม่มีงบประมาณจาก สสส. ไม่อยู่ในโครงการก็ไม่ทำกัน
ผักพื้นบ้าน ผลไม้ท้องถิ่น สมุนไพรเครื่องเทศ มีอยู่ทุกหมู่บ้าน ถ้าส่งเสริมให้ปลูก ให้เลี้ยง ให้ผลิต เพื่อบริโภค เพื่อขายกันในท้องถิ่นแบบสดๆ ก็จะได้ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจที่หมุนเวียน ให้ทำเครื่องแกงโดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเอง ไม่มีสารกันบูด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเติมแต่ง
ยังไม่พูดถึงตลาดโลกที่กว้างใหญ่ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่นักวิจัยตลาดนีลเสนบอกแนวโน้มตัวเลขไว้ละเอียด โลกที่ต้องการอาหารอินทรีย์ อาหารธรรมชาติ อาหารปลอดภัย ที่คนไทยจะผลิตได้มากกว่าที่ทำกันวันนี้ และทำได้ดีกว่าถ้าหากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเหมาะสมและจริงจัง
ยกเว้นว่า เรายังไม่หายสำลักควันพิษจากสารเคมีของพ่อค้านายทุนที่ยังต้องการรักษาผลประโยชน์ และปิดหูปิดตาต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 23 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.