“ด่วน!!…ผู้บ่าวประกาศตามหาผู้สาวทั่วเมือง อยากไปช่วยแบกไถ”
“สุจิตต์ วงษ์เทศ” บรรยายการตามหาเจ้าสาวผู้ไทแห่งทุ่งอุษาคเนย์ไว้ในคราวเดียวกันเรื่อง “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ” เมื่อ 25 เมษายน 2556 เพิ่มเติมว่า
““เอาแฮงโต๋ ต่างควายนา” เป็นภาษาลื้อ (สิบสองพันนา) ถอดเป็นคำไทยว่า เอาแรงตัว ต่างควาย
เป็นคำพังเพยเพื่อจะอธิบายว่าประเพณีลื้อ เมื่อหญิงชายจะแต่งงานเป็นผัวเมียกัน ชายต้องไปทำงานรับใช้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิง ต้องใช้แรงตัวเองของชาย ทำงานเหมือนควายให้ฝ่ายหญิง
ชาวขมุถือว่าบ้านไหนมีลูกสาว บ้านนั้นมั่งคั่งร่ำรวย เพราะต่อไปจะมีบ่าว คือ ชายมารับใช้ทำงานทำไร่ไถนาเพื่อเป็นเขย (อย่างนี้ทางปักษ์ใต้เรียก เขยอาสา ทางอีสานเรียก เขยสู่)
เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า ต้องยอมเป็นบ่าวไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้ เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี
ระหว่างนี้สังคมยุคนั้นยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” ได้ แล้วมีลูกก็ได้”
ภาพถ่ายเก่าพิธีแต่งงานของลาว
จากการสืบค้นถึงความหมายและความเป็นมา ของคำว่า บ่าว ในภาษาออสโตรนีเซียนและไท-กะได ตั้งแต่เกาะไต้หวันพวกฟอร์โมซ่า ผ่านดินแดนผู้ไท ลงไปยันหมู่เกาะทะเลใต้อินโดนีเซีย พบว่า การที่หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว กับการเอาผัวเอาเมียแบบบ้าน ๆ แห่งอุษาคเนย์ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในแง่มุมมองหนึ่งคงไม่ใช่อะไรอื่นไกล นอกจากการแบกรับภาระความรับผิดชอบของฝ่ายชาย ทั้งในเรื่องการออกแรงใช้งานแลกเหงื่อต่างน้ำยามเที่ยงวัน และการออกแรงใช้งานแลกคราบไคลยามค่ำคืน
เมื่อถอดความได้ว่า บ่าว เป็นผู้แบกแล้ว สาว ผู้กำลังถูกตามหาเพื่อการแบกขึ้นบ่าของฝ่ายชาย ควรมีคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการเป็นนายหญิงคอยชี้นิ้วและผู้เป็นเจ้าของนามากผืน ตามการบรรยายของปู่สุจิตต์ ผู้ทำให้เห็นภาพประเพณีเอาผัวเมียของพวกผู้ไทแต่ครั้งดั้งเดิม?
Long house หรือ ‘บ้านยาว’ ของชาวอิบาน บนเกาะบอร์เนียว มีสมาชิกหลายครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยผู้ชายเป็นผู้ใช้แรงงานในกานสร้างบ้าน
หากเปิดพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้รายละเอียดคุณลักษณะของผู้ สาว ซึ่งคาดว่าเหมาะสมตามความคิดดังนี้
“สาว 1. น. หญิงที่มีอายุพ้นวัยเด็ก นับตามความนิยมตั้งแต่ 15-30 ปีขึ้นไป เช่น ย่างเข้าสู่วัยสาว โตเป็นสาวแล้วยังซุกซนเหมือนเด็กๆ, ถ้ายังไม่ได้แต่งงานใช้คำว่า นางสาว นำหน้าชื่อ, ว. เรียกคนและสัตว์ที่มีท้องครั้งแรกว่า ท้องสาว, เรียกต้นที่เริ่มผลิดกออกผลครั้งแรก เช่น หมากสาว มะพร้าวสาว, เรียกหญิงที่ยังไม่แก่ตามวัย เช่น แม้จะอายุมากแล้วแต่ก็ยังดูสาวอยู่, เรียกหญิงที่ยังไม่แต่งงาน เช่น จะพูดอะไรให้เกรงใจเขาบ้าง ถึงเขาจะอายุมากแล้วแต่ก็ยังเป็นสาวอยู่
สาว 2. ก. ชักหรือดึงสิ่งที่เป็นเส้นยาวๆ ออกจากที่เข้าหาตัว เช่น สาวไหม สาวเชือก; โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สาวความ”
เป็นสองแนวทางการตีความในเรื่องผู้เป็นสาว ซึ่งคงพอประคับประคองกันไปได้
ถ้าคิดว่า บ่าว และ สาว ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นของคู่กันแบบช้างเคยค้าม้าเคยขี่ การสืบเสาะหาเจ้าสาวผู้ชอบถูกแบก คงใช้แนวทางเดียวกันกับคำว่า บ่าว ได้ เปิดคำศัพท์พื้นฐานภาษาออสโตรนีเซียน ปี2008 และกรอกคุณสมบัติของเจ้าสาวผู้ร่ำรวยในผืนนาแบบที่ต้องการ หากพบแต่คำว่า “wife” เห็นใกล้เคียง เลยลองกดเอ็นเท่อร์ได้รายชื่อออกมาพร้อมตรวจสอบว่า
ใน พวกออสโตรนีเซียนสายฟอร์โมซ่า และสายมาเลย์-อินโดนีเซีย กลับไม่ปรากฏคำ เจ้าสาวที่ไม่สาวของปู่สุจิตต์ ให้พอเทียบเคียง เช่น พวก Kavalan เรียก kuay- ออกเสียงคล้ายกับเจ้าบ่าวตัวน้อย พวก Siraya เรียก ke-ka-lo พวก Pazih เรียก mamais คล้ายกับเมียของพวกไท-กะได พวกมาเลย์ เรียก bini กันเป็นส่วนใหญ่ และอินโดนีเซีย เรียก isteri อ่านว่า อิสตรี คำเดียวกับคำไทยยืมจากพระเวทในรุ่นหลัง แต่ความหมายล้ำหน้าแปลว่าเมีย เป็นต้น
ยกเว้นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กลับเป็นผู้สาวนอกสายตา พวกออสโตรนีเซียนสายหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ต่างใช้คำว่า asawa หรือ qasawa หรือ sawa กันเป็นทิวแถว ซึ่งสืบสร้างคำเก่าแก่ได้ว่า *ʔasáwaʔ หรือ *asawa
และที่น่าแปลกใจไม่แพ้กัน เพราะผู้บ่าวนักประวัติ-ภาษาศาสตร์ ต่างสืบค้นบรรพสตรีของผู้สาวแห่งออสโตรนีเซียนออกมาได้หน้าตาว่า *qasáwa เหมือนกับผู้สาวเก่าแก่แห่งฟิลิปปินส์
ด้วยการค้นหาในวิธีการนี้ ก็อาจถือได้ว่าเจ้าสาวของผู้ไท-ไต และ *asawa หรือ *qasáwa เมียของออสโตรนีเซียน โดยเฉพาะสายฟิลิปปินส์นั้นเกี่ยวดองทางสายเลือดกันมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ นั่นหมายถึง ผู้สาว ของพวกไท-ไตถึงแม้จะอยู่กินหลับนอนกับ ผู้บ่าว ผู้ชอบต่างเหงื่อไถนา หยอกล้อหยอกเอินจนมีลูกด้วยกันแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเป็นผัวเป็นเมียเต็มตัว ตราบใดที่ผู้ใหญ่ของเจ้าสาวยังไม่ยอมรับ ก็จงเป็นขี้ข้าแบกภาระใส่หลังไปอย่างนั้น ในขณะที่ ผู้สาว ของทางฟิลิปปินส์และสืบสาวขึ้นไปถึงชั้นบรรพกาลของออสโตรนีเซียน ต่างถือกันว่าเป็นเมียเต็มฐานะไปหมดทั้งตัวแล้ว
พิธีแต่งงานของชาวไทดำ หรือโซ่ง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าบ่าวต้องไหว้ผีและเคารพญาติของฝ่ายเจ้าสาว
ในภาษาอินโดนีเซียนั้นเรียกผู้สาวว่า gadis อ่านว่า กาดีส หมายถึงสาววัยรุ่น หรือ wanita อ่านว่า วะนิตา หมายถึงหญิงสาวที่รู้เดียงสาแล้ว และ perempuan อ่านว่า เปอเริมปุอัน หมายถึงผู้หญิงทั่วๆ ไป
คำว่า *qasáwa ซึ่งสืบสร้างว่าเป็นคำต้นแบบใช้เรียกผู้สาวของพวกออสโตรนีเซียนมาแต่ครั้งกระโน้น และเกี่ยวพันกับ ผู้สาว ของพวกไท-กะได จะมีที่มาพื้นฐานความเป็นมาอย่างไรคงต้องช่วยกันค้นหา เพราะรู้สึกว่าค่อนข้างลึกลับปกปิดมากกว่า ผู้บ่าว เป็นอย่างมาก
ผู้บ่าว ที่แปลว่าผู้แบกรับภาระ และอยู่ในคำกลุ่มเดียวกับ “*baba” “bawa” “bawah” “bahu” “*qabaʀa” “abaha” “*m-ba C” “*C̥.ba: B” และ “บ่า” มีคำที่ดึงดูดสายตาอยู่สองคำคือ bawa และ bawah เป็นคำของอินโดนีเซียทั้งสองคำ ลองพิจารณาแยกแยะกันดู
คำว่า bawa หรือ membawa หมายถึง การพกพาติดตัวไปขณะเดินทาง หรือการจับใส่ห่อยกขึ้นรถแล้วส่งอ อกไป หรือหนีบขึ้นหลังพาไปด้วยกัน เช่น พาไปเที่ยว หรือแปลว่าการเข้าควบคุมรับภาระ เช่น การควบคุมพวงมาลัยรถ ส่วนคำว่า bawah แปลสั้นๆ ว่าสิ่งที่อยู่ข้างล่าง หรืออยู่ข้างใต้
พิธีแต่งงานของชาวอินโดนีเซียในปัจจุบัน
คำว่า bawa หรือ bawah มาจากสองคำประกอบกัน คือ ba + wa(h) โดยคำว่า ba แปลชัดเจนว่า บ่า หรืออวัยวะหรือของแข็งที่ใช้แบกรับน้ำหนักสิ่งของที่กดทับอยู่ข้างบน และคำว่า wa(h) คำนี้ถ้าสังเกตให้กว้างขึ้น โดยการอ่านความหมายร่วมของคำที่ถูก ผสมในคำอื่นๆ เช่น walu แปลว่า แปด หรือสิ่งที่ถูกแผ่ออกไป หรือ lawa แปลว่าคานหรือแผ่นไม้วางขวาง หรือ rawa แปลว่าหนองน้ำ จะแปลออกได้ว่าบางอย่างมีลักษณะแผ่ แบนราบ น่าจะพอใช้ได้
ดังนั้นเมื่อนำคำว่า wa(h) ไปร่วมตีความในคำว่า *qasáwa จะเห็นว่ามีคำโดดออกมาคือ –sáwa ซึ่งแยกเป็น –sá + wa คำแรกหมายถึงตัวตน เป็นหนึ่ง และคำสองการแผ่แบนราบ รวมความหมายนามธรรมแบบซื่อๆ ว่า ตัวข้าแผ่แบนราบออกไป ซึ่งต้องตีความก่อรูปสร้างเป็นตัวตนขึ้นมาในอีกชั้น
ถ้าแปลว่า ผู้บ่าว คือผู้แบกรับภาระอยู่ด้านล่าง ผู้สาว ก็คือน้ำหนักที่แผ่กดทับบนบ่าทั้งสองข้างของผู้บ่าว เป็นน้ำหนักที่มีอิทธิพลแผ่ปกคลุมอยู่ด้านบนไหล่หลังของผู้บ่าว
ถ้าแปลว่า ผู้บ่าว คือผู้ถูกพกพาหนีบติดตัวไปทุกที่ ผู้สาว ก็คือผู้นำพาอำนวยสถานที่ ให้ผู้บ่าวได้พึ่งพาอาศัยใบบุญไปจนตาย
ถ้าแปลว่า ผู้บ่าว คือพนักงานขับรถยนต์ ผู้สาว ก็คือผู้ควบคุมสั่งการอยู่เบาะหนังนุ่มทางข้างหลัง
ถ้าแปลว่า ผู้บ่าว คือม้าหนุ่มรูปร่างบึกบึนกำยำ ผู้สาว ก็คือจ๊อกกี้ผู้ควบม้าเหินหาวห้อตะบึงอยู่ด้านบนไล่ความเครียดในทุกค่ำคืน
และให้บังเอิญว่าชาวอินโดนีเซียนั้นมีคำอยู่อีกหนึ่งคำว่า sawah แปลว่า นาข้าว ซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับตำนานเรื่องราวของคู่ทุกข์คู่ยาก การเอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ ของ ผู้สาว ผู้เป็นเจ้าของแปลงนาผืนใหญ่แห่งหมู่บ้านไท-กะได และ ผู้บ่าวต่างถิ่น ผู้ชื่นชอบเอาแรงกายแลกเหงื่อต่างน้ำจากหมู่เกาะออสโตรนีเซียน ตามความปรารถนาสุดบรรยายของสุจิตต์ วงษ์เทศทุกประการ
Sawah หรือ นาข้าวในอินโดนีเซีย
สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิด ที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’
ที่มา : มติชน วันที่ 25 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.