คงไม่ว่ากันที่จะด่วนสรุปแนวทางการแก้ปัญหาของชาวนา ที่ว่าจะต้องมีวิธีการอย่างไรแล้วจะไม่เป็นหนี้ล้นพ้นตัวเหมือนอดีตที่ผ่านมา หลังจากได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรคนใหม่จากหนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อฉบับก่อน โดยเฉพาะกับวิสัยทัศน์ที่นำไปเป็นสโลแกนหาเสียง “ค้าข้าวที่เป็นธรรม การตลาดนำการผลิต “ได้รับการตอบรับจากมวลสมาชิกจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
อย่างที่ทราบปัญหาข้าว รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ มักจะอยู่ที่ 2 เรื่องหลัก นั่นคือ คุณภาพและราคา โดยต้นเหตุของปัญหาล้วนมาจากตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก แต่บังเอิญที่ผ่านๆ มาภาครัฐ (ฝ่ายการเมือง) ในฐานะตัวช่วยกลับคิดค้นเครื่องมือเข้าไปช่วยได้ไม่ตรงจุดนัก ยกตัวอย่างโครงการแทรกแซงราคา (ทั้งรับจำนำและรับประกัน) ก็เลยทำให้ผู้ประกอบการไม่พยายามคิดเครื่องมือ หรือหาวิธีการที่จะช่วยเหลือตัวเอง
จริงๆ แล้วภาครัฐที่มีพันธกิจโดยตรงอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน่วยงาน มีคนและอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนอยู่ทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ไปทำอะไรกันอยู่ ปัญหาเหล่านี้ถึงได้เกิดซ้ำซากทุกปี เท่าที่ได้ฟัง (คำแก้ตัว) ต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาล หรือฝ่ายการเมือง ซึ่งมีส่วนชี้นำการดำเนินงานของฝ่ายปฏิบัตินั่นเอง
ยกตัวอย่างนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร อย่างโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลเพื่อไทย ผลลัพธ์ที่สามารถคาดการณ์ได้เลย คือ ปริมาณผลผลิตข้าวในรอบปีนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ แบบว่าไม่สามารถควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพได้ ซึ่งของจริงก็ได้เห็นกันแล้ว นาร้างและที่ดินรกร้างว่างเปล่าหลายจังหวัดถูกปรับสภาพเป็นนาข้าวทันที แบบว่า “ดีกว่าปล่อยทิ้งร้างให้สูญเปล่า”
ในเมื่อบทบาทภาครัฐถูกชี้นำ ไปในทางอุปถัมภ์กันด้วยการใช้ “เงิน” เป็นเครื่องมือ ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อย่างในด้านการบริหารจัดการ ด้านการวิจัยพัฒนา ตลอดจนการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตก็เลยถูกลดบทบาทลงไป..สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาอย่างที่เห็น!!
อีกหนึ่งคำถามคาใจของนายกฯ คนใหม่ที่ว่า “ทำไมข้าวสารแพง แต่ข้าวเปลือก…ราคาไม่ขึ้น” ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์การแก้ปัญหา รวมกับผลงานครั้งอดีตที่เขาได้ริเริ่มดำเนินการด้วยการให้เกษตรกรปลูกข้าวในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ารวมกันเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียว โดยเป้าประสงค์มิใช่แค่การสอนให้ชาวนาคิดเป็น รู้จักการตลาดเท่านั้น แต่ยังได้อำนาจในการต่อรองกับโรงสี ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้ลงมือทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
เมื่อรวมกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ซึ่ง ณ วันนี้ปลอดฝ่ายการเมืองชี้นำโดยเฉพาะการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่า เป็นนโยบายที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริงๆ จึงได้เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่กว่า 1.8 หมื่นไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 473 ราย โดยผลผลิตข้าวที่ได้จะทำเป็นข้าวถุง ในชื่อแบรนด์ของตัวเอง (ข้าวรวมพลัง) จำหน่ายในช่องทางทั่วๆ ไป ร้านค้าสหกรณ์ รวมถึงขายตรงให้กับสมาชิก ลองคิดดูหากแนวทางแบบนี้มีการขยายออกไปตามพื้นที่นาในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ผลผลิตรวมทั้งตลาดข้าวของไทยน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ด้วยวิสัยทัศน์แบบนี้ผมมองว่า น่าจะเป็นความหวังให้มวลสมาชิกชาวนาไทยได้โอกาสก้าวพ้นกับดักความยากจนซ้ำซากลงได้บ้าง!!
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 24 ก.พ. 2559