ชาวนา “กระดูกสันหลังของชาติ” ที่นับวันเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ที่ดินทำกินที่เคยได้รับเป็นมรดกตกทอดและส่งต่อให้ลูกหลานก็ถูกขายให้แก่นายหน้ารายใหญ่เพียงเพราะ การทำนาประสบปัญหาขาดทุน เกษตรกรต้องเป็นหนี้สิน อาชีพทำนากลายเป็นอาชีพที่ยากจน ทั้งที่ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและผลผลิตส่งออกหนึ่งที่สำคัญของประเทศ นโยบายสนับสนุนชาวนาที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลังๆ ก็เป็นนโยบายที่ยังขาดความยั่งยืน แก้ไขได้เพียงปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
ด้วยปัญหาของชาวนาที่เกิดขึ้นตลอดมาและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเริ่มดำเนินโครงการ “โมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ด้วยแนวคิดที่ว่า การพัฒนาการทำนาข้าวให้เกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุดนั้น สมควรพิจารณาในเชิงระบบให้มากที่สุด เพื่อที่ทุกบริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องจะถูกนำมาพิจารณาร่วมกันและเชื่อมโยงส่งผลกระทบต่อกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาของชาวนาไทยในปัจจุบันให้หลุดพ้นจากภาพมายาของนโยบายที่บิดเบือน จะต้องยึดหลักการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่ยั่งยืน คือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้องมีการเรียนรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในระยะยาว
แนวคิดดังกล่าวจึงได้รับการนำมาประยุกต์เพื่อดำเนินการในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เมื่อปี 2518 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยนำร่องบนที่ดินของเกษตรกรอาสาสมัคร ประมาณ 20-30 ครัวเรือน ในจังหวัดนครปฐม และพระนครศรีอยุธยา
การจัดการระบบนาข้าวในโครงการนำร่องประกอบด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และมีนโยบายสนับสนุนโดยโครงการฯในระยะแรก ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557มาจนถึงปัจจุบัน
“เรา รู้แล้วว่า การช่วยเหลือชาวนานั้น จะใช้การบิดเบือนกลไกตลาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะไม่มั่นคงถาวร สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือ การทำผลผลิตให้ดีมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุนการผลิตที่เป็นอยู่ให้ต่ำลง ซึ่งความรู้ทางวิชาการสามารถนำมาสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องนี้ได้ ชาวนาไทยมีพื้นฐานทักษะและประสบการณ์ที่ดีมากอยู่แล้ว หากมีโอกาสร่วมกันเรียนรู้มากขึ้น ก็จะเกิดพลังแก้ไขปัญหาได้” ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวนที่ปรึกษาโครงการฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวถึงเป้าหมายแรกของการดำเนินโครงการทั้งนี้ ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุน ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)และปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต
อาจจะเป็นเรื่องที่สวนทางกับความรู้สึก ว่าการลดต้นทุนจะเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลผลิตในไร่นาได้อย่างไรผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน ขยายความประเด็นดังกล่าวด้วยคำหลักๆภายใต้กรอบแนวทางพัฒนาในโครงการฯ ได้แก่
“ท้องทุ่งอุดม” คือการวางรากฐานการผลิตในไร่นาให้อุดมสมบูรณ์เกื้อกูลกับธรรมชาติมากที่สุด ประกอบด้วยการจัดการน้ำและบำรุงดิน พื้นที่นำร่องโชคดีที่เป็นพื้นที่ชลประทาน ทั้งยังมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ จึงเหลือสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการบำรุงดิน เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี แต่หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ทำเองได้ เสริมด้วยสารชีวภาพและจุลินทรีย์ต่างๆ ก็จะช่วยลดต้นทุนลงได้อย่างมาก
“เทคโนโลยีเหมาะสม”เพราะความจริงก็คือ ไม่มีใครที่จะรู้จักที่นาของเกษตรกรได้ดีเท่ากับตัวเกษตรกรแต่ละคนเอง การวางแผนใช้เทคโนโลยีต่างๆที่เหมาะสมจึงจะต้องมาจากพื้นฐานการเอาใจใส่และใช้แรงงานของชาวนาเองเป็นหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าชาวนามักจ้างแรงงานมากกว่าการลงแรงด้วยตัวเอง ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นมาก แต่กลับมีประสิทธิภาพต่ำในการดูแลผลผลิต ไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร การส่งเสริมวิธีคิดเรื่องใช้แรงงานของตนเองให้มากขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญรวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรหันกลับมาใช้หลักการรวมกันทำเพื่อลดต้นทุนเฉลี่ยจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น เช่น การร่วมกันผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์บำรุงดิน สารฮอร์โมนบำรุงต้นข้าว หรือประสานงานร่วมกันในขั้นตอนการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการจำหน่ายไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างลดต้นทุนและอำนาจต่อรองมากขึ้น
“สังคมอุ้มชู”โครงการฯ ยังสนับสนุนการจัดตั้งโรงสีขนาดย่อม เพื่อให้เกษตรกรในโครงการฯ ได้มีศูนย์กลางของกลุ่มที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวิถีการทำนา การแปรรูป การควบคุมคุณภาพหลังเก็บเกี่ยว รวมถึงยังได้ส่งเสริมให้กลุ่มชาวนาได้วางแผนการตลาด พัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีความหลากหลายเพื่อเชื่อมโยงการจำหน่ายให้กับตลาดชุมชน โรงเรียน และสู่สังคมภายนอก ในฐานะผลผลิตข้าวจากผืนดินพระราชทานเพื่อการเกษตร
“รู้คุณแผ่นดิน” สำหรับเกษตรกรบนที่ดินพระราชทานเช่นนี้ ที่จะขาดไม่ได้คือ การส่งเสริมหลักคิดในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในการดำรงชีพอย่างพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมให้ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน รวมทั้งการเชื่อมประสานทุกมิติของชุมชน ประกอบด้วย บ้าน-วัด-โรงเรียน-เด็ก-ผู้สูงอายุ-สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างให้ชาวนาเกิดความสามัคคี เชื่อมั่นและศรัทธาในอาชีพเกษตรกรรมบนผืนดินที่ได้รับพระราชทานตกทอดมา
ต้นทุนลด รายได้เพิ่ม
นายประสารแจ่มทับทิม ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการฯ จากตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกว่า การทำนาภายใต้นโยบายการช่วยเหลือของรัฐเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรไม่คำนึงถึงต้นทุนเพราะคิดถึงแต่รายรับจึงทุ่มทุนในการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงกันอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ได้ผลผลิตปริมาณมาก ท้ายที่สุดแล้ว ส่วนต่างที่เป็นรายได้สุทธิแทบจะไม่เพียงพอในการใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว
หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ประสารกลับพบว่า เขาสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนลงมากกว่าเท่าตัว รายรับที่ลดลงกลายเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับเขา
“ทำนาไม่ใช้สารเคมีช่วยลดรายจ่าย แล้วยังได้กำไรให้ร่างกายด้วย เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมีเหมือนเมื่อก่อน” ประสารกล่าวถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการฯ ในรอบปีที่ผ่านมา
เมื่อโครงการฯ ให้ผลตอบลัพธ์ที่ดี ทำให้มีเกษตรกรหันมาสนใจเพิ่มขึ้นประมาณ สว่างญาติ ประธานกลุ่มเกษตรกรตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า“ในช่วงแรก แม้จะมีเกษตรกรร่วมรับฟังโครงการฯ หลายราย แต่ที่ร่วมเป็นอาสาสมัครนำร่องมีเพียง 7 ราย ที่เหลือจะคอยสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเห็นผลตอบแทนในรอบการผลิตที่ผ่านมา ก็ทำให้มีคนเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20 รายแล้ว”
ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน ที่ปรึกษาโครงการโมเดลนาข้าวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวโดยสรุปว่า การดำเนินโครงการฯดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
เงื่อนไขสำคัญ ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน ชี้ว่า คือการที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องใฝ่เรียนรู้ เปิดใจ และลงมือทำเองด้วยความมานะพยายามโดยหลังจากนี้จะมีการประเมินผลการลดต้นทุนการผลิต ก่อนจะเริ่มดำเนินการในระยะที่สอง โดยเน้นการเพิ่มรายได้ ทำการตลาด และเชื่อมโยงกับนโยบายสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อสร้างให้เกิดภาพที่ชัดเจนของต้นแบบการสนับสนุนเกษตรกรที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 ก.พ. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.