“ถ้าทำแล้วมีความสุขมันจะมีมูลค่ากว่าเงินทอง” แนวความคิดที่จุดประกายให้สองพี่น้องตระกูล "เหล่าสุนทร” ขวัญชนกและเชษฐกานต์ เหล่าสุนทร เจ้าของแมค & นีน่าฟาร์ม จำต้องอำลาชีวิตความวุ่นวายในเมืองหลวงหันมาสวมหมวกชาวนาอย่างเต็มตัว ด้วยการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ยอมทิ้งหน้าที่การงานและรายได้เดือนละหลายหมื่น โดยมองว่าทำแล้วมีความสุข ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
สำหรับสองสาวสวยดีกรีว่าที่ดอกเตอร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรชนบท จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559) แม้จะไม่มีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน แต่ทั้งสองก็ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ สู่วิถีเกษตรกรเต็มขั้น หลังผู้เป็นลุงยกที่นากว่า 50 ไร่ใน ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 12 กิโลเมตรตามเส้นทางเชียงราย-แม่สาย ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร โดยยึดต้นแบบจากไร่เชิญตะวัน ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี
ไร่เชิญตะวันถือเป็นสถานที่จุดประกายให้สองสาวสู่วิถีเกษตรกรอินทรีย์อย่างเต็มตัว หลังเข้าร่วมโครงการอบบรมเกษตรอินทรีย์ให้เยาวชนใน จ.เชียงราย จัดโดยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืช สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องใน จ.เชียงราย จัดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจอาชีพการเกษตรเพิ่มขึ้น
“เป็นคนกรุงเทพฯ ค่ะ ไม่ใช่คนพื้นที่ มาเริ่มเรียนรู้การทำนาเมื่อปี 2554 หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พอดีช่วงนั้นลุงโทรมาบอกว่าอยากทำนาไหมจะยกที่ให้ เพราะร่างกายลุงเริ่มจะไม่ไหวแล้ว แก่แล้ว แต่อยากให้มีคนสานต่ออาชีพนี้” เสียงใสๆ ของขวัญชนกย้อนอดีตให้ฟัง
จากนั้นไม่รีรอจึงตัดสินใจชวนน้องสาว "เชษฐกานต์” ลาออกจากงานมุ่งหน้าสู่จ.เชียงรายทันที โดยไม่ไยดีกับงานประจำที่มีรายได้เดือนละหลายหมื่น เพื่อหาเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยวิถีเกษตรกรรม เริ่มจากการฝึกงานเรียนรู้ขั้นตอนการทำนาจากผู้เป็นลุง พร้อมการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ตั้งแต่การเตรียมแปลงที่นา การเพาะกล้า การดำนาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ขณะเดียวกันก็ได้ไปขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดเชียงราย ปราชญ์ชาวบ้าน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมการเกษตรที่หน่วยงานราชการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำนาอินทรีย์
“มาช่วยลุงทำนาอยู่ปีหนึ่ง ได้เรียนรู้อะไรมากมาย จากนั้นก็ลงมือทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่การเตรียมแปลงนา เพาะกล้า ปักดำ การเก็บเกี่ยว ตอนแรกๆ มีคนสบประมาทว่าเป็นเด็กกรุงเทพฯ บ้าง คุณหนูบ้าง อะไรบ้าง ทำจริงๆ จะไหวเหรอ ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเข้าใจ ให้การยอมรับเราทั้งสองคนแล้วยังมาดูแลช่วยเหลืออีกด้วย”
ขวัญชนกเผยต่อว่าเราโชคดีที่แปลงนาอยู่ในละแวกพื้นที่ชาวบ้านที่ยังคงมีวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม มีการใช้สารเคมีไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง แต่จะใช้ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่มุ่งใช้สารเคมีเพื่อเร่งการทำนาปีละหลายๆ รอบ
ถึงแม้ที่นาของชาวบ้านรายรอบบางส่วนจะเต็มไปด้วยการใช้สารเคมี แต่เธอก็ยังยืนยันชัดเจนปฏิเสธการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง โดยมองว่าการใช้สารเคมีเป็นสิ่งอันตรายทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค ที่สำคัญยังมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและที่ดินด้วย
“เราสองคนไปอบรมการทำนาอินทรีย์ที่ไร่เชิญตะวันบ่อยมาก ช่วงแรกไปในฐานะผู้เข้าร่วมอบรม แต่ระยะหลังนี่จะไปในฐานะวิทยากร ที่นาของเราก็นำรูปแบบไร่เชิญตะวันของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี นี่แหละมาใช้” เกษตรกรผู้พี่เผยคอนเซ็ปแมค & นีน่าฟาร์ม
เกือบ 4 ปีที่ทั้งสองใช้เวลาทุ่มเทในการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมทั้งพยายามแสวงหากรรมวิธีการผลิตใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงนา ขณะเดียวกันก็หาวิธีลดต้นทุนการผลิต โดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
“ที่นาเราจะปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นอินทรีย์ทั้งหมด มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 พันต่อไร่ ส่วนกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่หมื่นห้า ต้นทุนส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับค่าหัวเชื้อน้ำหมัก ค่าจ้างแรงงาน จ้างไถ ปักดำมากกว่า เพราะทุกอย่างเราทำเองเกือบทั้งหมด เมล็ดพันธุ์ก็ของเรา ปุ๋ยอินทรีย์ก็ทำเอง การป้องกันโรคและแมลงเราก็ปลูกสมุนไพรไว้รอบๆ แปลงนา ผลผลิตของสมุนไพรบางตัวก็นำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ด้วย”
จึงไม่แปลกที่วันนี้นอกจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ผลผลิตจากแมค & นีน่าฟาร์มแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวและสมุนไพรที่สามารถสร้างรายได้ควบคู่กันไปกับการทำนาอินทรีย์ ซึ่งได้แก่ ยาดม ยาหม่อง น้ำมันเขียว สบู่สมุนไพร เป็นต้น
ยอมรับว่าแม้นาอินทรีย์จะทำแค่ปีละครั้ง แต่แปลงนาก็ไม่เคยว่างเว้นจากกิจกรรม โดยหลังจากเสร็จจากทำนาก็จะปลูกปอเทืองและพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน ก่อนจะเริ่มทำนาใหม่อีกครั้งในฤดูใหม่ ขณะที่ชาวบ้านทำนาปีละหลายๆ ครั้ง เพื่อหวังจะได้ผลผลิตที่มากพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำและการปลดหนี้
“เราพยายามทำให้ชาวบ้านเห็นว่าการ ทำเกษตรอินทรีย์มันดียังไง จำเป็นต้องใช้ตลาดนำ ขายได้ราคาดี เป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่เราก็เข้าใจชาวบ้านนะ อยากรักสุขภาพตัวเอง แต่ปากท้องยังไม่อิ่มจะไปรักสุขภาพได้ยังไง เกษตรกรเขาคิดว่ายังไงเกิดมาก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นในความคิดของเขานั้นจะต้องปลูกข้าวหลายๆ รอบ ใส่ยาฆ่าแมลง ใส่ปุ๋ยเคมีเยอะๆ เพื่อจะได้ข้าวเยอะๆ"
ในมุมของเกษตรกรที่มองผลผลิตเป็นตัวตั้ง ขณะที่มุมมองของเราจะมองการตลาดเป็นตัวนำการผลิต โดยเฉพาะผลผลิตประเภทอินทรีย์จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากกระแสผู้คนที่หันมาสนใจในเรื่องสุขภาพ จึงไม่เป็นปัญหาในเรื่องของตลาดรองรับและยังสามารถกำหนดราคาเองได้ด้วย
“ถ้าเขาสามารถปลูกข้าวให้ตรงกับกระแสหรือความต้องการของผู้บริโภคก็จะขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง เพราะต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าปุ๋ยค่ายา เรื่องพันธุ์ข้าวก็สำคัญ อย่างข้าวหอมมะลิ 105 เป็นข้าวไม่กินปุ๋ย เติบโตได้ดีในดินเลว ถึงแม้ปลูกปีละครั้งแต่ก็คุ้มค่ากว่าข้าวพันธุ์อื่น” ขวัญชนกให้มุมมอง
ปัจจุบันบนเนื้อที่ 50 ไร่ของแมค & นีน่าฟาร์ม สามารถผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ได้ประมาณ 20-25 ตันข้าวเปลือก โดยจัดจำหน่ายในรูปของข้าวสารบรรจุถุงถุงละ 1 กิโลกรัม สนนในราคาถุง 100 บาท จัดหน่ายผ่านทางออนไลน์และออกงานโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย
นอกจากนี้สองพี่น้องยังมีแนวคิดในการทำงานว่าไม่ยึดเงินเป็นตัวตั้งแต่ทำกิจกรรมทุกอย่างให้มีความสุข โดยอนาคตวางแผนแปลงนาผืนนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร มีทุกอย่างครบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ส่วนผู้บริโภคก็จะได้สิ่งที่เขาต้องการกลับไป
“อนาคตเราจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำเป็นโชว์รูมขายของ ไม่ใช่ของเราอย่างเดียวนะ แต่เป็นของชาวบ้านในเครือข่ายด้วย เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้เขา จะไม่ต้องกังวลว่าทำนาอินทรีย์ไม่มีที่ขาย สนุกเพลิดเพลินได้ความรู้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับไปด้วย เหมือนที่ญี่ปุ่นเขาทำนะ” ขวัญชนก กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ
นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของสองสาวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรไทย โดยมีเป้าหมายที่เกษตรอินทรีย์ทำแล้วมีความสุข เริ่มจากผืนที่นาของตัวเอง ก่อนขยายเครือข่ายไปสู่ชุมชนรายรอบในวันนี้
เส้นทางชีวิตสองสาวเกษตรกร
ชวัญชนกและเชษฐกานต์ พี่น้องตระกูลเหล่าสุนทร เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดเกิดในครอบครัวนักกฎหมายที่บ้านเปิดสำนักงานทนายความ ทั้งสองจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยขวัญชนกจบด้านสถาปัตย์ ขณะที่เชษฐกานต์จบวิศวะโยธา ก่อนออกมาทำงานกับบริษัทออกแบบก่อสร้างอยู่พักใหญ่ ระหว่างนี้ทั้งสองก็ได้เรียนต่อเอ็มบีเอ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับเรียนนิติศาสตร์ไปด้วย
กระทั่งจบเอ็มบีเอและปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากนั้นจึงลาออกจากงานประจำมาทำนาอินทรีย์ที่ จ.เชียงราย ระหว่างนี้ก็ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการพัฒนาทรัพยากรชนบท ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปด้วย จนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาสมความตั้งใจ โดยดุษฎีนิพนธ์ของทั้งสองก็เป็นงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ จ.เชียงราย โดยขวัญชนกศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิตชาวนาใน จ.เชีงราย ขณะที่เชษฐกานต์ทำเรื่องศักยภาพข้าวอินทรีย์ใน จ.เชียงราย
ปัจจุบันทั้งสองนอกจากสวมหมวกเกษตรกรในฟาร์มของตัวเอง ภายใต้ชื่อ “แมค & นีน่าฟาร์ม” แล้วยังทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมโดยเป็นวิทยากรประจำฝึกอบรมเกษตรอินทรีย์ที่ไร่เชิญตะวัน เป็นที่ปรึกษาสมัชชาสุขภาวะ จ.เชียงราย และล่าสุดรั้งตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายศาลคดีเด็กและเยาวชน จ.เชียงใหม่