เมื่อเร็วๆนี้ หอการค้าจังหวัดภาคอีสาน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันอ อกเฉียงเหนือที่ จ.มุกดาหาร มุ่งไปที่ 3 ประเด็น คือ กลุ่มการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน กลุ่มการเกษตรและอาหาร และกลุ่มการท่องเที่ยวและบริการ ชูวิสัยทัศน์ "เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การเกษตร และบริการ เชื่อมโยงภูมิภาค และอนุภูมิภาค สังคมเข้มแข็ง อยู่ดี มีสุข และเป็นธรรมอย่างยั่งยืน" มีเป้าหมายให้อีสานเปลี่ยนประเทศไทย
ค้าชายแดนอีสาน 2.5 แสนล้าน
ดร.สถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน คือ หัวใจของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์อีสาน 2020 เพราะเป็นเซ็กเตอร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมุกดาหาร และนครพนม ที่มีการค้าชายแดนคึกคัก ที่สำคัญจังหวัดภาคอีสานมีศักยภาพ การค้าชายแดนสูงมาก จากทั้งหมด 20 จังหวัด มีถึง 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ติดชายแดน โดยตัวเลขที่ค้าขายชายแดนกับ สปป.ลาวมีมูลค่าถึง 2 แสนกว่าล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตสูง
นอกจากนี้ยังมีการค้าข้ามแดนกับประเทศเวียดนามและจีน ขณะที่การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นตัวเร่งให้กลุ่มทุนจากส่วนกลางขยายการลงทุนมาที่ภาคอีสานจำนวนมาก เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง
จาก ข้อมูลของสภาพัฒน์ สำนักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ปี 2557 มูลค่าการค้าผ่านด่าน ไทย-สปป.ลาว จำนวน 243,325 ล้านบาท อัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 35.6 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านด่าน ไทย-กัมพูชา จำนวน 3,263 ล้านบาท จากปัจจัยสนับสนุนดังนี้ 1.สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ทั้ง 4 แห่ง ด่านพรมแดนถาวร 3 จุด และด่านชายแดน 36 จุดรวมทั้งข้อตกลง GMS (ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง) แนวระเบียง EWEC (East West Economic Corridor) และ AEC ทำให้การขนส่งเดินทางสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอีกด้วย
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ผลประโยชน์ แม้ว่ามูลค่าค้าชายแดนจะสูงขึ้น แต่ผลกระทบ คือ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มาจากส่วนกลาง ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่ได้ประโยชน์เพียงส่วนน้อย ระบบการจราจรที่หนาแน่น และเกิดอุบัติภัยทางถนน
ปลุกท้องถิ่นทำการค้า
เรื่องนี้ "ชาญยุทธ อุปพงษ์" ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวสำทับว่า ปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดนครพนมมีมูลค่าสูงอันดับ 1 คือ 106,000 ล้านบาท เป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าชายแดนภาคอีสานทั้งหมด แต่มองว่าคนท้องถิ่นไม่ได้อะไร เพราะสินค้าที่ผ่านเราไปมา ไม่เกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่นเลย เพราะสินค้าส่วนใหญ่ถ้าเรียง 3 อันดับ คือ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ แผ่นวงจร ฮาร์ดดิสก์ และเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง และผลไม้ทั่วสารทิศจากเหนือ ตะวันออก ผ่านสะพานนี้ไป ฉะนั้นมูลค่าที่ได้จะมาจากโรงงานส่วนกลาง
"มองว่าจะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วม มีรายได้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งที่สำคัญเราต้องปรับแนวความคิด ให้ความรู้ประชาชน เอสเอ็มอีบ้านเราให้ตื่นตัวมากกว่านี้ โดยพัฒนาคน และเทคโนโลยีควบคู่กัน เบื้องต้นเรามีโครงการพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการท้องถิ่นให้แข็งแกร่ง"
อย่างไรก็ตาม ชาญยุทธมองว่า โอกาสของภาคอีสานมีมากในเรื่องการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอีสาน มีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร) มีจุดแข็งเรื่องการขนส่ง การคมนาคม ทุกมิติเรามีตองสอง (222) คือ สองสะพานข้ามแม่น้ำโขง สองเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสองสนามบิน และแม้ว่านคร พนมจะไม่ได้อยู่ในแนว EWEC แต่ก็อยู่ในบริเวณใกล้กัน มีเส้น GMS มาตัดที่มุกดาหารกับนครพนม จะเกิดสี่แยกใหญ่ขึ้นอีก ทำให้เรามีโอกาสค้าขายทั้งประชากร GMS และ EWEC
ขณะที่ภาคเกษตรก็สำคัญไม่น้อย ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2556อันดับ 1 ภาคเกษตร มีผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับภูมิภาค (GRP) มากที่สุด 28% แบ่งเป็นข้าว 43% อ้อย 10% มันสำปะหลัง 7% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3% อันดับ 2 ภาคอุตสาหกรรม GRP 17% แบ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 73% เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ 6% อุปกรณ์ เครื่องมือวิทยุโทรทัศน์ และการสื่อสาร 5% ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 5%
อันดับ 3 การศึกษา 14% อันดับ 4 การค้าปลีกค้าส่ง 11% อันดับ 5 ตัวกลางทางการเงิน 6% อันดับ 6 บริหารราชการ 5% อันดับ 7 บริการอสังหาฯ 5% และอันดับ 8 อื่น ๆ 14% จากข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำว่า "ภาคเกษตร" ยังเป็นพระเอกของภูมิภาคนี้
นำมาซึ่งความคืบหน้าของ "ปฏิญญาอุดรธานี" ที่ภาคเอกชนจะจับมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา
หนุนเกษตรใส่อาวุธการตลาด
ดร.สถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ ระบุว่า ข้อสรุปการขับเคลื่อนปฏิญญาอุดรธานีที่เป็นรูปธรรมแล้ว คือ "โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร" ล่าสุดมีหอการค้าภาคอีสานเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของหอการค้าภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด และตั้งเป้าว่าในปี 2559 นี้ ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทร่วมกับโครงการครบทุก 20 จังหวัด ส่วนการคัดเลือกสหกรณ์ก็ขึ้นอยู่กับความโดดเด่นของแต่ละจังหวัด เช่น บึงกาฬทำเรื่องการแปรรูปยางพารา ส่วนจังหวัดชายแดนอาจจะมุ่งเน้นเรื่องการท่องเที่ยว เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดร้อยเอ็ด โดดเด่นเรื่องข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ล่าสุดหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ดก็ จะเข้าไปร่วมกับภาคเกษตร ปัจจุบันมี 3 องค์กรเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน โดยจะสร้างข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ เป็นสินค้าหลักของจังหวัดในกรณีที่จะเพิ่มมูลค่า และสามารถที่จะส่งเสริมให้เกษตรส่งออกได้โดยตรงกับคู่ค้า อย่างประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง โดยได้เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 โดยขายข้าวลอตแรกให้สิงคโปร์ ประมาณ 300 ตัน จากสหกรณ์เกษตรวิสัย และโรงสีเอกชน สีแสงดาว อ.สุวรรณภูมิ
"ที่ผ่านมาอำนาจต่อรองเกษตรกรแทบไม่มี เพราะเป็นผู้ผลิต ดังนั้นสิ่งแรกที่เราทำ คือ เราเข้ามาร่วมให้ข้อคิด เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเดิมเป็นเกษตรเคมีให้เป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ซึ่งตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากทุ่งกุลาฯ"
นอกจากข้าวอินทรีย์แล้ว เอกชนยังส่งเสริมให้ทำ Product Differentiate เช่น ข้าวฮาง ข้าวกล้องงอก ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าจากเดิมมาก สมมุติว่าถ้าเป็นข้าวหอมปกติราคากิโลกรัมละ 30 บาท ตันละ 3 หมื่นบาท ถ้าเป็นข้าวอินทรีย์ตันละ 6 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นข้าวฮาง ข้าวกล้องงอก จำหน่ายได้ราคาตันละ 1.2 แสนบาท นอกจากนี้ยังทำเรื่อง บาย โปรดักต์ เช่น นำข้าวหักไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวหอมมะลิใช้ทำเบเกอรี่ เป็นต้น
ดร.สถาพร กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยติดกับดักพึ่งพาภาครัฐทำให้อ่อนแอลง สิ่งที่ปฏิญญาอุดรธานีเกิดขึ้นเป็น รูปธรรมตอนนี้คือ โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร โดยนำความรู้เรื่องการค้า การจัดการ การตลาดทำร่วมกัน ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มพึ่งพาตนเองทั้งวันนี้ และวันข้างหน้า นั่นคือความยั่งยืน เมื่อสหกรณ์การเกษตรมั่นคง เกษตรกรชนบทมั่งคั่ง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน
ถือเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวของเอกชนภาคอีสาน ในการร่วมมือกับเกษตรกร เพื่อให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนไปได้แบบที่ไม่ต้องรอแต่ภาครัฐฝ่ายเดียว
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.