เสรี พงศ์พิศ
เมื่อชอบใช้คำโตๆ อย่าง “บูรณาการ” ก็น่าจะลงมือทำให้เห็นผลได้แล้ว ไม่ใช่ “บู” แต่ตอนประชุมเพราะนายกฯ หรือรองนายกฯ สั่ง แต่พอกลับไปก็ “บู่” เหมือนเดิม
กระทรวงที่ลงถึงชุมชนทั่วประเทศ มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธาณสุข เคยหาทางทำ “ยุทธศาสตร์ร่วม” (common strategy) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไหม โดยมีกระทรวงอื่น หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะมาร่วมมือถ้ามีแผนร่วมที่ชัดเจน
ไม่ใช่ทำงานแบบวัวหายล้อมคอกทุกปี ภัยแล้งที ภัยหนาวที น้ำท่วมที จนไม่มีเวลามานั่งประชุม อ้างว่าต้องลงไปแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน สวนกันเข้าออกหมู่บ้านจนชาวบ้านตาลาย แม่บ้านบางคนเปลี่ยนเสื้อผ้าให้สีสอดคล้องกับกระทรวงแทบไม่ทัน
ปัญหาเกษตรไทย คือ ความไม่มั่นคงของชีวิต ไม่มีหลักประกันอะไรเลยก็ว่าได้ เพราะเอาเข้าใจริง แม้ว่าเจ็บป่วยรักษาฟรี แต่ค่ารถไม่มีก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายก็ได้ยาคุณภาพต่ำ ปัญหาหนี้สินที่ไม่มีทางออก เป็นดินพอกหางหมู ขายผลผลิตได้ก็เอาไปใช้หนี้ เอาไปซื้อยาหาหมอ แล้วไปกู้ใหม่เพื่อเอามาลงทุน วิถีเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้จริงๆ
แล้วเราก็ปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงวันนี้แบบนี้ ทั้งๆ ที่มีข้าราชการอย่างน้อย 4 กระทรวงใหญ่ลงไปทำงานถึงในหมู่บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ
อยากถามเหมือนกันว่า ที่เราไปเซ็นร่วมกับ 192 ประเทศที่สหประชาชาติเมื่อไม่นาน มานี้ ในปฏิญญาว่าด้วยการพัฒนายั่งยืน เป้าหมายร่วมระหว่างปี 2016-2030 เราเขียนยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร และเอามา “บูรณาการ” กันหรือไม่ หรือกลายเป็นแผนนิ่ง (planning) เก็บไว้ในลิ้นชัก
ถ้ามียุทธศาสตร์จริง ก็ต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วม มีภาพฝันร่วม เราฝันอย่างมีเป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสมไปสู่กับเป้ามาย เพื่อว่าภายในปี 2030 จะเกิดการพัฒนายั่งยืนในประเทศไทยด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่มีความไม่ยั่งยืนมากที่สุด ขาดสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตมากที่สุด
1. หนี้สินเกษตรกรจะลดลงเหลือเท่าไร และเพื่อให้ลดลงจะทำอย่างไร มีเครื่องมือะไรให้เกิดการเรียนรู้และการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ทำอย่างไรให้รอด (survive) ให้ได้
2. ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพดีไปด้วยกัน ทำอย่างไรให้เกษตรกรผลิตอาหารเพียงพอเพื่อตนเอง เพื่อชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาหาแต่เงินไปซื้ออาหารจากตลาด จากรถพุ่มพวง ซึ่งมาจากแปลงใหญ่ใส่สารเคมีและยาฆ่าแมลง แล้วตนเองก็เจ็บป่วย
3. มีแผนการผลิตและรายได้ที่พอเพียงให้ครอบครัว แม้ไม่เลิกพืชเศรษฐกิจ แต่เอาชีวิตไปฝากไว้กับข้าว ยาง มัน ข้าวโพด พืชเดี่ยวอย่างเดียวต่อไปไม่ได้ ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีแผนมีรายได้รายวัน ราย รายเดือน รายปีจากดิน จากต้นไม้ในที่ดินของตนเองอย่างพอเพียง (sufficient) พึ่งพาตนเองได้
4. การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน มีเป้าหมายให้พึ่งพาตนเองได้เพียง ใด ไม่ไปครอบงำจนชาวบ้านไม่โต ชอบอ้างแต่ว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม กระเตงมาเกือบร้อยปี สหกรณ์ก็ไม่โต เพราะไม่เคยเดินด้วยตนเอง ชาวบ้านไม่มีกลุ่ม ไม่มีเครือข่าย ไม่มีความมั่นคง ถูกเขาครอบงำ โลกยุคใหม่ สู้คนเดียวไม่ได้ ต้องมีเครือข่ายเท่านั้นจึงจะยั่งยืนได้ (sustainable)
เอาแค่ 4 เรื่องนี้ก็พอจะตรวจสอบได้ว่า เราจริงจังแค่ไหนกับการไปลงชื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการส่งเสริมการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals)
ถ้ามีวิสัยทัศน์ที่ดี ก็จะมีกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัดที่ชัดเจน จะสะท้อนเจตจำนงดังกล่าว เช่น ภายในปี 2030 เกษตรกรไทยจะอยู่ดีกินดี จะมีหนี้สินอยู่เท่าไรต่อครัวเรือน ใช้วิธีการอะไร หรือว่าเกษตรกรเลิกทำเกษตร หายไปเกือบหมด หนี้เลยลดลง
ภายในปี 2030 เราจะมีเกษตรกรที่ผลิตอาหารบริโภคเองโดยการทำเกษตรผสมผสานจำนวนร้อย ละเท่าใดในแต่ละหมู่บ้าน ร้อยละเท่าใดของประมาณที่ดิน ที่ไร่ที่นา ที่สวน ไม่ใช่มีแต่นา สวนยาง ไร่มัน ไร่ข้าวโพด แล้วโอดครวญว่าเป็นหนี้
ความรู้เรื่องการทำมาหากิน การพึ่งตนเอง การทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์มีอยู่ทุกจังหวัด พร้อมที่จะเป็นที่เรียนรู้ มีตัวอย่างของการทำวนเกษตร ไม่ใช่ปล่อยที่นาหญ้ารก เพราะบอกว่าราคาข้าวไม่ดี ทำไปก็ขาดทุน โดยไม่เคยคิดว่า มีคนจำนวนมากทำ 1 ไร่ได้ 1 แสน 5 ไร่ได้ 1 ล้านกันได้อย่างไร
หรือปล่อยที่ดินให้ต้นไม้ขึ้นเป็นป่า แต่ไม่รู้จะทำอะไร แค่ดูตัวอย่างของ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ในยูทูบก็คงพอนึกออกจะทำอะไรจึงจะมีรายได้มั่นคงโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไร ลงแรงและเรียนรู้เท่านั้น
การบูรณาการจะคูณพลังให้งานเดินหน้าและสำเร็จได้ อย่างปัญหาหนี้สิน ไปโทษ ธ.ก.ส.ก็ไม่ถูก 4 กระทรวงจะบอกว่าไม่ใช่ธุระไม่ได้ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการโดย กศน. กระทรวงสาธารณสุขโดย รพสต. กับ อสม. กระทรวงมหาดไทย มีอบต. เทศบาล ร่วมกันส่งเสริมการทำแผน 4 แผน แก้หนี้แก้จน แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ ทางออกของปัญหาเกษตรกรไทยมีแน่นอน
ทำ 4 แผน บันใด 3 ขั้น หรือ 3S ได้ก็จะสำเร็จ คือ ทำอย่างไรให้รอด (survived) พอเพียง (sufficient) มั่นคงยั่งยืน (sustainable) นอกจากไม่ต้องอายยูเอ็นแล้ว ยังจะเป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 26 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.