โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
ภัยแล้ง 2559 ส่อแววจะส่งผลกระทบรุนแรงจากมาตรการขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง โดยกรมชลประทานจะไม่ส่งน้ำเข้าระบบคลองชลประทาน เนื่องจากปริมาณน้ำกักเก็บที่สามารถใช้การได้ในเขื่อนต่างๆ เหลือเพียงแค่ 20% เท่านั้น ในขณะที่ต้องสงวนน้ำที่เหลือนี้ไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในช่วงเดือน ก.ค.
สำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา การที่ต้องหยุดทำนาปรังในช่วงหน้าแล้ง จึงเท่ากับตัดโอกาสรายได้ ดังนั้นต่างคนจึงดิ้นรนหันมาหาวิธีการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวในช่วงหน้าแล้งนี้
ขวัญชัย มหาชื่นใจ รองประธานชมรมเกษตรกรชาวนาภาคกลาง 22 จังหวัด ตัดพ้อว่า เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและทหาร รวมถึงฝ่ายปกครอง เดินหน้าเข้าชี้แจงชาวนาในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ทราบว่าจะไม่มีการดึงน้ำเข้าคลองส่งไปในแปลงนาข้าวแล้ว ประตูน้ำปากคลองส่วนใหญ่มีการล็อกแม่กุญแจป้องกันการลักลอบเปิดน้ำเข้าคลอง ชาวนาส่วนใหญ่ก็งดการทำนาปรัง แต่มีบางส่วนขอเสี่ยงทำนาต่อไป เพราะไม่รู้จะไปทำอาชีพอื่นใดทดแทน โดยลงทุนขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งต้องลงทุนสูง บ่อละประมาณ 1.3 หมื่นบาท โดยที่นา 50 ไร่ ต้องเจาะมากถึง 3 บ่อ
เมื่อไม่มีทางเลือกมากนักก็จำเป็นต้องเสี่ยง แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายพื้นที่ซึ่งปรับตัวหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็นรายได้ทดแทน
โสภา สุขทวี เกษตรกรบ้านหนองหว้า หมู่ 10 ต.หนองขมาร อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 70 ครัวเรือนได้ลงทุนขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อดึงน้ำใต้ดินมาปลูกข้าวโพดในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เพื่อนำผลผลิตมาต้มและขายสดตามเพิงริมถนนบุรีรัมย์-พุทไธสง ทั้งขายปลีกและส่งให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา มีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 บาท จากปกติทุกปีหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ส่วนใหญ่จะพากันอพยพเคลื่อนย้ายออกไปหาทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัด
การรับซื้อแตงโมในพื้นที่ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร
ขณะที่ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร เกษตรกรลดพื้นที่การทำนาปรัง แล้วหันมาปลูกแตงโมแทน ไพโรจน์ จิอู๋ เกษตรอำเภอวังทรายพูน บอกว่า แตงโมเป็นพืชใช้น้ำน้อยลงทุนแค่
นอกจากปลูกพืชพื้นถิ่นแล้ว สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ พวกเขามองถึงโอกาสในการสร้างราย ได้ที่มากไปกว่านั้น “ธนนน ธีระวงศ์ไพศาลกุล” เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 37 ปี เกษตรกรบ้านหนองจิกสี อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งมีดีกรีปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้ความรู้มาพัฒนาการเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ ความตระหนักถึงผลกระทบภัยแล้งและราคาข้าวที่ตกต่ำ ทำให้เขาหันมาปลูกเมลอนในโรงเรือนโดยให้น้ำแบบน้ำหยด และเป็นเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อดันเข้าสู่ตลาดสุขภาพ ทำให้มีออร์เดอร์เข้ามาแบบไม่ขาดสาย
ธนนน บอกว่า โรงเรือนของเขาปลูกเมลอน 316 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 300 ลูก แต่ละลูกน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1.8-2.5 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 90 บาท ดังนั้นใน 1 รอบการปลูกใช้เวลาประมาณ 75 วัน ทำให้เขามีรายได้กว่า 6 หมื่นบาท ซึ่งดีกว่าการเพาะปลูกพืชพื้นถิ่นทั่วๆ ไป ซึ่งมีผลผลิตออกมามาก ทำให้ราคาไม่ดีเท่า
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ แม้ปัญหาภัยแล้งจะไม่หนักหนาเท่ากับภาคอื่นๆ แต่ผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ ก็ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว
ทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มแห่งประเทศไทย (คยปท.) บอกว่า วิกฤตราคายางพาราจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวสวนยางพาราต้องพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราให้เป็นป่ายาง และเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่สามารถทำได้ทั้งภาคการเกษตร ปลูกพืชผัก ทำบ่อดินเลี้ยงกบ ปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ เป็นต้น อีกทั้งให้ป่ายางพาราเกิดความสมบูรณ์ ลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีกด้วย
“ผมมีสวนปาล์มอยู่ 3 ไร่ ได้เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงกบอยู่ในสวนปาล์ม เพราะในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไก่พร้อมออกสู่ตลาด”
ทศพล บอกว่า ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง พื้นที่มีน้ำพอเพียงควรปลูกพืชผักสวน ครัว เช่น พริกขี้หนู พริกไทย ขมิ้น ตะไคร้ ขิง ข่า พืชผักเหล่านี้บางชนิดมีอายุ 30 วัน และ 70 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้พอมีน้ำอยู่ สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เชื่อว่าจะมีราคาที่ดี โดยเฉพาะพริกขี้หนูหรือดีปลี ราคาเคยทะยานถึงกิโลกรัมละ 200 บาท และขายปลีกถึง 300 บาท เชื่อว่าจะมีพ่อค้าแม่ค้ากักเก็บและเตรียมความพร้อมกันไว้แล้ว เพื่อจะเอาสินค้าเหล่านี้นำมาจำหน่ายในช่วงฤดูแล้ง
เหล่านี้คือหลากวิธีปรับตัวสู้ภัยแล้งของเกษตรกรไทย ซึ่งจะต้องเผชิญหน้ากับความแห้งแล้งไปอีกหลายเดือน
ชาวนาบุรีรัมย์หันมาปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.