ในช่วงที่ประเทศไทยยังคงไร้ความหวังต่อสถาณการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนวันไหน เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาเมื่อไหร่ ชีวิตในสังคมจะอยู่อย่างไรในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่อีสานที่มีประชากรอาศัยอยู่เยอะที่สุด
SIU ได้พูดคุยกับคุณชัชรินทร์ ชัยดี ผู้ศึกษาการพัฒนาท้องถิ่น วิถีการผลิต การต่อรองของเกษตรกร และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในภูมิภาคอีสาน ถึงความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอีสานทั้ง การเมือง ชีวิต และความใฝ่ฝัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแล้วบ้างโดยเฉพาะการเมืองไทยหลังปี 2540 เป็นต้นมา
รูปแบบการผลิต-การบริโภคในอีสาน ความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน
ถ้าจะดูความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของอีสาน อย่างแรกต้องไปดูว่าการผลิตของชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนอย่างไร บริโภคอะไร และอาจจะต้องไปดูเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อว่าเปลี่ยนไปไหม สุดท้ายอาจจะต้องไปดูว่าความใฝ่ฝันของเขาเป็นอย่างไร แล้วเรื่องเหล่านี้เกี่ยวพันกันไหม
ส่วนของการผลิต แต่ก่อน คนอีสานเน้นเพาะปลูกข้าวเพื่อยังชีพมากกว่า แต่ปัจจุบันเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย โดยเฉพาะหลังปี 2540 เป็นต้นมา เราเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าสินค้าเกษตรผลิตขึ้นจำหน่ายมากกว่าเพื่อยังชีพ และตลาดก็ไม่ได้มีแค่ในชุมชนหรือตลาดนัดประจำตำบลอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับภายนอกพื้นที่ด้วย
การบริโภคของชาวบ้านก็เปลี่ยนแปลงแปลงไปจากแต่ก่อนที่มีแค่น้ำปลายี่ห้อเดียว แต่ตอนนี้มีหลายยี่ห้อ รูปแบบการกินหลากหลายมากขึ้น การบริโภคก็คล้ายกับคนในเมืองมากขึ้น เช่น การบริโภคหมูกะทะ แฮมเบอร์เกอร์ เนื้อย่างเกาหลี ชาบูชิ หรืออาหารญี่ปุ่นในห้าง วัฒนธรรมการแต่งกายก็ทันสมัยเหมือนคนในเมือง
วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างเริ่มปรับตัวตามวิถีการผลิตในระบบทุนนิยม
ยกตัวอย่างเรื่องแรกคือการแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่ก่อน ถ้าใครมีสามีเป็นคนต่างชาติ คนในชุมชนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะยังรู้สึกละอายที่มีเขยต่างชาติกันอยู่ แต่พอหลังๆ มากลายเป็นว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นเรื่องที่ชาวบ้านชอบ ไปร่วมงานแต่งกันเยอะมาก ญาติผู้ใหญ่ก็รับได้ที่มีลูกเขยเป็นชาวต่างชาติ
เราสามารถแยกแยะวิวัฒนาการของวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ
อย่างแรก หากเป็นวัฒนธรรมที่ขัดขวางวิถีการผลิตในระบบทุนนิยม มันจะค่อยๆ หายไป เช่น การลงแขก ในมุมเชิงวัฒนธรรมอาจดูสวยงาม สามัคคี แต่ในแง่เศรษฐกิจ มันกลับทำให้การผลิตช้าเพราะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดทุน วัฒนธรรมแบบนี้แทบไม่ค่อยเห็นแล้ว ชาวนาส่วนมากหันมาใช้เทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยว เพราะรวดเร็วและทันต่อความต้องการของตลาดมากกว่า ส่วนเรื่องความเชื่อเชิงนับถือผี ปู่ย่า ตายาย ยังคงอยู่ เพราะเรื่องเหล่านี้ยังไม่ขวางวิถีการผลิตมากเท่าไหร่ แต่จะลดขั้นตอนและตัดพิธีกรรมที่ใช้ระยะเวลานานออก เพราะเวลากลายเป็นของมีค่าไปแล้ว
อย่างที่สอง หากเป็นวัฒนธรรมที่สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ มักจะอยู่รอด เช่น บุญบั้งไฟ ผีตาโขน งานพวกนี้จัดแล้วเกิดการค้าขายการท่องเที่ยวตามมา มีตลาดนักท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือบั้งไฟพญานาคที่หนองคาย ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์ออกมาบอกว่าไม่มีพญานาคอยู่จริง แต่ชาวบ้านเขาไม่สนว่าจริงหรือไม่ เพราะตัวงานมีประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ เขาสามารถขายของได้จากเรื่องเหล่านี้ และถึงแม้ NGO ออกมาบ่นว่าวัฒนธรรมถูกแปลงให้เป็นสินค้าหมดแล้ว ไม่มีวัฒนธรรมแบบบดั้งเดิมเหลือแล้ว ในมุมนี้ก็ถือว่าพูดถูก แต่สุดท้ายผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ก็ตกอยู่กับชาวบ้าน
การเมือง ชีวิต ความใฝ่ฝันที่เปลี่ยนไปภายหลังปี 2540
ถึงแม้ว่าคนชนบทในภาคอีสานยังหาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรอยู่ แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็ยืนยันว่ารายได้หลักมาจากนอกภาคเกษตร ตรงนี้วิเคราะห์ได้ว่า เกิดการใช้แรงงานอยู่ที่อื่นด้วย เช่น พ่อกับแม่อยู่กับบ้าน ลูก 3-4 คนออกไปทำงานที่อื่นแล้วส่งเงินกลับมา
ความหมายของการผลิตภาคเกษตรไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีหลายอย่าง ดังนั้นเมื่อแรงงานท้องถิ่นเริ่มไหลออกไปตามหัวเมือง ไป กทม. หรือไปต่างประเทศ คนเหล่านี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต เริ่มเห็นว่าถ้าหากว่ารายได้ดี วิถีชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นตามมา พอได้ไปเรียนรู้ว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ตนเองต้องเผชิญกับความเสี่ยงความไม่มั่นคงด้านการผลิต ผ่านการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ ก็จะมองเห็นช่องทางการทำมาหากินหลายทางยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่สบายกว่าเดิม
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ชาวนา คนชนบท ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และยังต้องการเงินทุน มีความอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากเป็นเถ้าแก่กับเขาบ้าง ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นกับคนโดยทั่วไป
ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2540 ขึ้นมา ไปกระทบต่อวิถีชาวบ้านในชนบทอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, OTOP โครงการพวกนี้ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านพอดี จากแต่ก่อนต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิตมาตลอด พอมีโครงการพวกนี้เข้ามาช่วยสนับสนุน ชีวิตก็มั่นคงมากขึ้น
ถึงแม้จะมีคนแซวว่าชาวบ้านเอาเงินกองทุนหมู่บ้านไปซื้อมอเตอร์ไซต์ให้ลูกก็ตาม แต่นั่นเป็นความต้องการที่เขารู้สึกว่ามันเกี่ยวพันกับตัวเอง จากที่เขาไม่เคยประโยชน์แบบนี้มาก่อน แต่อยู่ๆ มาวันหนึ่งเขาได้เงินก้อนนี้มา ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเอาไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ที่ตนเห็นว่าสมควร บางคนนำมาลงทุน บางคนนำมาใช้จ่ายในครอบครัว บ้างก็ลงทุนทำร้านอินเทอร์เน็ต ร้านตัดผม ร้านซ่อมรถ
เรื่องนี้น่าสนใจเพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องกองทุนหมู่บ้านในมิติที่มันอยู่รอดได้อย่างไร มีแต่งานวิจัยที่โจมตีกองทุนหมู่บ้าน สมมติฐานของผมคือ พอเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านเองก็มีไอเดียทำธุรกิจ แต่ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
การจัดการกับทรัพยากรของตนเองมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไข
ที่นาในบางพื้นที่ เมื่อเจอความแห้งแล้งมากๆ ชาวบ้านก็ไม่คาดหวังว่าจะผลิตข้าวได้มาก อาจจะปลูกๆ ไปสักหน่อยตามประเพณีวัฒนธรรม เพราะถ้าไม่ผลิต เดี๋ยวจะโดนชาวบ้านคนอื่นหาว่าทิ้งนาทิ้งไร่ ในด้านหนึ่ง เขาก็เก็บข้าวไว้บริโภคเองยังชีพ เพราะบางจังหวะอาจขายแล้วไม่คุ้ม บางพื้นที่อาจโชคดีหน่อย มีมหาวิทยาลัยมาตั้ง มีสถานประกอบการอื่นมาลงทุน ทางออกก็คือการขายที่ดินในราคาสูงเพื่อนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น
ชาวนาบางพื้นที่อาจเลือกรักษาที่ดินไว้ แม้จะไม่เอาไปใช้ทำอะไรก็ตาม แต่ตัวเองก็ไปทำงานอย่างอื่นเพื่อหารายได้มายังชีพ บางส่วนยังมีความเชื่อว่าทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษไม่ควรขาย แต่ส่วนมากที่เห็นก็ประเมินปัจจัยหลายอย่างประกอบการ เท่าที่สังเกตเห็น เหตุผลหลักของคนที่ขายที่ดินเป็นเพราะมีหนี้สินเยอะ ส่วนคนที่ไม่มีหนี้สินก็เลือกจะไม่ขาย และถ้าหากขายก็จะไม่ขายทั้งหมด เหลือบางส่วนเก็บไว้
ลักษณะการเมืองท้องถิ่นที่เริ่มมีความเป็นปัจเจกและอิสระต่อการตัดสินใจ
ในอดีตผู้ใหญ่บ้านพูดแค่คำเดียว ชาวบ้านก็จะฟัง แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านเริ่มมีความคิดว่า ตนก็หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำท้องถิ่นเสมอไป แม้ว่าวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์อาจมีอยู่จริง แต่ก็เริ่มจางลงเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านเริ่มสัมผัสความเป็นปัจเจกมากขึ้น การตัดสินใจเลือกนักการเมือง ถ้าเป็นการเมืองท้องถิ่นจะเลือกคนจากผลงานการช่วยเหลือและทำประโยชน์ต่อชาวล้าน ส่วนการเมืองระดับชาติ จะเลือกที่นโยบายพรรคเป็นสำคัญ
การพัฒนาอีสานด้วยรถไฟความเร็วสูง จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งเรื่องพื้นที่และเวลา
ในแง่เศรษฐกิจ จะเกิดการจ้างงานมหาศาล ราคาที่ดินก็จะสูงขึ้น แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าสุดท้ายนายทุนก็มากว้านซื้อหมด แต่อย่างไร ชาวบ้านก็ยังได้ประโยชน์จากการขายที่ดินในราคาที่สูงอยู่ดี
ส่วนความรวดเร็วของรถไฟความเร็วสูง จะตอบสนองความต้องการเดินทางที่มากขึ้น จะเกิดธุรกิจแปลกใหม่ขึ้นตามแนวรถไฟ การลำเลียงสินค้าตามท้องที่ต่างๆ จะรวดเร็ว การบริโภคภายในภูมิภาคจะสูงขึ้นตามลำดับ และผมก็มีความเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ก็อยากทำเรื่องรถไฟความเร็วสูง เพราะมันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาในระบบทุนนิยม ที่ต้องแก้ปัญหาเรื่อง”พื้นที่”และ”เวลา” เพื่อไม่ให้พ่ายแพ้ต่อวิถีการผลิตในระบบทุนนิยมในระดับโลก
ที่มา : Siam Intelligence วันที่ 19 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.