นาทีที่ทุนใหญ่ย่องยึดอสังหาฯสังเวียนใหม่ทำเงินงอกเงย ขุดกรุที่ดินต้นทุนเดิมพัฒนาที่อยู่อาศัย กระเทือนหน้าเก่าปรับตัวรับศึกช้าง ชน ช้าง
หมดเวลา “ทุนหนา” หน้าเดิมๆ กินบุญเก่าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โกยยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด
เมื่อ“แลนด์สเคป”ตลาดที่อยู่อาศัย มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก กำลังจะถูก “เขย่าแรงๆ” จากผู้เล่นอสังหาฯหน้าใหม่ ทว่าทุนหนาระดับแสนล้าน แถมเก๋าเกมธุรกิจ กระโจนเข้าใส่ตลาดนี้อย่างเต็มตัว
เกมเปลี่ยน ..!
สำทับด้วยความเห็นของ “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า
“ไม่มีกลุ่มทุนใหญ่รายใดในโลกนี้ ไม่ลงมาเล่นอสังหาฯ” ก่อนขยายความว่า
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากชิ้นเค้กที่หอมหวาน ของขนาดตลาดอสังหาฯที่ใหญ่ “มหึมา” ใครบ้างจะไม่อยากโดดลงมาเล่นในสังเวียนนี้้ โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่สะสมที่ดิน“ต้นทุนเดิม” ไว้ในมือจำนวนมาก เรียกว่า หากนำที่ดินมาพัฒนาอสังหาฯ ย่อมเกิดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับผู้นักพัฒนาอสังหาฯ ที่เพิ่งมากว้านซื้อที่ดิน
กลายเป็นการสร้าง “แต้มต่อ” ทางธุรกิจ เหนือ คู่แข่ง
ที่ผ่านมา นักพัฒนาอสังหาฯหลายราย มักบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกปี" กลายเป็นหนึ่งใน "อุปสรรคใหญ่" ในการพัฒนาอสังหาฯไม่เท่านั้น “ที่ดินแปลงงาม” นับวันจะหาได้ยากยิ่ง
ล่าสุด กรมธนารักษ์ ยังประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินรอบ ใหม่ สำหรับรอบปีบัญชี 2559-2562 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 โดยระบุว่า ราคาที่ดินทั่วประเทศ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.72% ที่ดินย่าน “สีลม ราชดำริ ราชประสงค์ เพลินจิต” ยังคงเป็นทำเลที่มีราคาสูงสุดที่ตารางวาละ 7.5 แสนถึง 1 ล้าน ส่วนพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าปรับขึ้น 25-30%
ราคาที่ดินและค่าก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังกลายเป็นการ “จำกัดวง”ผู้เล่นในตลาดนี้ เขี่ยผู้เล่นรายเล็กทุนน้อยให้พ้นทาง ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่รายเดิมที่เคยมีสรรพกำลังก็ต้อง “ออกแรงมากขึ้น” เพื่อรับมือกับ “คู่แข่ง” สเกลใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
"แลนด์สเคปการแข่งขันธุรกิจอสังหาฯใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการเดิมอาจทำธุรกิจไม่สะดวก ขึ้น 10 ปีก่อน เรากินแชร์รายกลางรายเล็ก เหมือนเหยียบหญ้าแพรก เดินสะดวกมาก อย่างมากหญ้าแพรกก็ติดเล็บ เป็นช้างเหยียบหญ้า แต่ตอนนี้เป็นศึกของช้าง ชน ช้าง” นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปรียบเปรย
ขณะ ที่การลงทุนอสังหาฯ ก็มีความ“ซับซ้อน” มากขึ้น เมื่อภูมิทัศน์เหล่านี้เปลี่ยน ผู้ประกอบการต้อง “มองเกม”ให้ออก ก้าวข้ามให้ได้ ธุรกิจจึงจะไปต่อได้ “ไม่ย่ำอยู่กับที่”
สำหรับธุรกิจอสังหาฯ รายได้ปีละหมายหมื่นล้านอย่างพฤกษาฯ (ปี 2557 รายได้ 4.3 หมื่นล้านบาท) “ประเสริฐ” บอกว่า ยังจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจยัง “เติบโต” ต่อไปได้
หากมองดูความเชี่ยวชาญบริษัทเก่งในการสร้างที่อยู่อาศัย แต่ทุนใหญ่มาพร้อมจุดแข็งหลายด้าน อย่างในอดีตพฤกษาฯ เน้นสร้างบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ ปัจจุบันขยับมาสู่คอนโดมิเนียม
"เหมือนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ขยับสู่ทะเล แต่วันนี้อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร จะใช้สะพาน เรือ ข้ามไม่ได้ ต้องใช้เครื่องบินแทน" ประเสริฐ เผยถึงการปรับตัวของพฤกษาฯ
ขณะที่ “ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอเปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาฯรายได้หลักพันล้าน (ปี 2557 รายได้ 2,774 ล้านบาท) ให้มุมมองถึงเหตุผลที่ใครๆก็หันมาลงทุนในธุรกิจนี้
“ถ้านักการเงินพูดถึงอสังหาฯก็จะบอกว่าเป็นธุรกิจที่เป็น Capital protected Asset ลงทุนแล้วให้ผลตอบแทนดี ทำเงินได้ในระยะยาว"
นอกจากนี้ เมื่อต้องการออกจากแวดวงนี้ก็ง่าย เปลี่ยนมือสะดวกเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หากเร่ขายเครื่องจักรสักตัวก็ต้องขายให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน แต่อสังหาฯไม่ต้อง
“ถ้าผู้ประกอบการ นักธุรกิจมีเงินเย็น 1,000 ล้านบาท ถามว่าอยากทำธุรกิจอะไร” เธอ ถามกลับ พร้อมยกตัวอย่างกรณีเสนาฯ ว่า การขับเคลื่อนธุรกิจตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เคยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว วิกฤติอ่อนๆ ขายที่อยู่อาศัยได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางโครงการขายไม่ออกหลายปี
“แต่สุดท้ายยังไงก็ขายได้ นั่นคือข้อดีของธุรกิจนี้ ” เธอเปรียบกับสินค้าบางประเภทที่เก็บนานก็มีแต่เสื่อม ราคาตก แต่อสังหาฯ ตรงข้าม ราคามีแต่จะขยับขึ้น
ดร.เกษรา ยังบอกว่า การเข้ามาทำธุรกิจของนักพัฒนาอสังหาฯหน้าใหม่ นั้นไม่ยาก อาจไม่ต้องมีอะไรมาก เพราะจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ก็ว่าจ้างได้ การออกแบบโครงการ ก็ใช้สถาปนิกข้างนอก ก่อสร้างก็มีบริษัทรับเหมา ทำการตลาดมีบริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯบริหาร มีคนทำให้หมด
"เรียกว่าใครมีเงินถึง ก็เข้ามาได้” จึงเห็นทั้งผู้ประกอบการร้านเพชร ขายเครื่องประดับมุก ทำธุรกิจสปา ล้วนมาลงทุนทำธุรกิจอสังหาฯกันเป็นทิวแถว เพราะบรรดาเศรษฐีเก่าชอบซื้อที่ดินเก็บเข้ากรุ
เมื่อไม่อยากขายที่ดิน ก็นำมาทำกำไรดีกว่า
ไม่เฉพาะกับทุนใหญ่ ดร.เกษรา บอกว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เต็มรูปแบบในปีนี้ สิ่งที่จะเห็นมากขึ้น คือ ทุนข้ามชาติรายใหญ่ จะเข้ามาร่วมสังเวียนในตลาดอสังหาฯไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นในฐานะหน้าเก่า จึงยอมรับว่า การทำธุรกิจอสังหาฯยากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งแข่งกับทุนใหม่ทุนหนา และทุนอสังหาฯข้ามชาติ ..!!!
“การทำธุรกิจยากขึ้น โกยส่วนแบ่งตลาดยากมาก เลยต้องปรับตัว รุกสู่ธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นขยับสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มจุดแข็งให้บริษัทมากขึ้น"
นอกจากนี้ยังต้องหาพันธมิตรมา เป็น “แบ๊คอัพ” ทั้ง บมจ.ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) และบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ตั้งบริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และร่วมทุนกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ บิ๊กเนมเหล่านี้ ล้วนต้องการ “โอกาส” เข้าสู่ธุรกิจอสังหาฯ เช่นกัน
เสนาฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับกองทุนการเงิน(ฟันด์)จากต่างประเทศ 2-3 ราย ที่สนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาคอนโด ซึ่งกลุ่มทุนข้ามชาตินี้ จะมาพร้อมทั้ง “เงินทุน” และ “ความชำนาญ”
อย่างไรก็ตาม การทำอสังหาริมทรัพย์มีหลากหลายเซ็กเตอร์ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด และยังมีโครงการที่ทำรายได้จากทรัพย์สินต่อเนื่อง หรือ Recurring income ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ห้างค้าปลีก อาคารสำนักงาน เป็นต้น
ดังนั้น การที่ทุนใหญ่จะเข้ามาก็ต้องสร้างหาคำตอบให้ได้ จะทำอสังหาฯประเภทไหนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด
หากเป็นอสังหาฯประเภทโรงแรม ผู้ประกอบการรายเล็กแข่งลำบาก เพราะเข้าไปเมื่อไหร่ก็เจอเครือ(เชน)โรงแรมใหญ่ระดับโลกปราบเรียบ
ที่น่าสนใจเวลานี้ ต้องยกให้การลงทุน “อาคารสำนักงาน” เพราะหลายปีมานี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างหันไปพัฒนาคอนโดมิเนียม ทำให้สำนักงานใหม่เกิดขึ้นน้อย ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่สูงถึงระดับ 97% เรียกว่า...สร้างมาเสร็จ ก็ปล่อยเช่าได้เกือบหมด
จริงอยู่ว่า ทุนใหญ่ทุนหนาสร้างความฮือฮา แต่การจะโค่นแชมป์ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยหน้าเดิมๆ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
“สุรเชษฐ กองชีพ” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ตลาดอสังหาฯหน้าใหม่ อาจทำให้การแข่งขันของผู้เล่นรายเดิม “ยากขึ้น” ทว่าการ “เจาะยาง” รายเก่าที่แข็งแกร่งนั้นไม่ง่าย
หากไล่ย้อนดูเจ้าตลาดที่อยู่อาศัย 10-15 ลำดับแรก เรียกว่า มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
เบอร์ 1 ด้านกำไร ก็ยังคงเป็น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ,เบอร์ 1 ด้านรายได้ ต้องยกให้ พฤกษา เรียลเอสเตท หรือในแง่ยอดขายก็ต้อง แสนสิริ เป็นต้น
หากพูดถึงที่อยู่อาศัยก็ไม่พ้นแบรนด์เหล่านี้ ตามมาด้วย แอลพีเอ็น เอพี ไทยแลนด์ อนันดา ดีเวลลอปเมนต์ และศุภาลัย
“หากต้องการซื้อบ้านคุณภาพ ผู้บริโภคก็ยังพูดถึงและต้องซื้อแลนด์แอนด์ เฮ้าส์ แบรนด์เป็นที่หนึ่งในใจ (top of mind) ส่วนพฤกษาฯก็ยังเป็นด้านรายได้ ไม่มีใครโค่นแชมป์ได้” เขาย้ำ และยกตัวอย่างธุรกิจค้าปลีก หากมีทุนใหม่เข้ามาแข่ง ใช่ว่าจะต่อกรกับ 2 เจ้าตลาดอย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ที่คร่ำหวอดในตลาดมานานได้"
ทำอย่างไร ก็ยากที่จะสู้เจ้าตลาดเดิม
ทว่า ความน่าสนใจของทุนใหญ่เมื่อเข้ามา ไม่ได้ลงเสาเข็มเจาะเซ็กเมนต์ที่อยู่ อาศัยเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาอสังหาฯครบวงจร (ผสมผสาน) ทั้งอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น ดังนั้นหน้าเก่าเมื่อสวมบทแข่งกับหน้าใหม่ จำเป็นต้องรักษา “ฐาน” ตลาดเดิมเอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะ “ทำเล” ที่ตั้งของโครงการ
“หากต้องแข่งกับรายใหญ่หน้าใหม่ ก็แค่ไม่ไปพัฒนาโครงการในทำเลเดียวกัน เพื่อเลี่ยงการประมือโดยตรง”
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า ทุนใหญ่ที่เข้ามา หากจะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจำนวน มาก เหมือนพฤกษาฯ เปิดโครงการใหม่ปีละ 40 โครงการ ก็ยังเป็นเรื่องยาก การออกสตาร์ทก็คงเน้น 2-3 โครงการ เพื่อสร้างรายได้ระยะสั้น
“ทำรายได้ในบางทำเลเท่านั้น ไม่ทั้งหมดของตลาด”
ทว่าที่น่าเป็นห่วงและน่ากลัว การรุกคืบของทุนเหล่านั้นจะยิ่งกลืน “รายกลาง-เล็ก” ให้เหลือน้อยลง และอาจหายไปจากตลาดในที่สุด จะเห็นได้ว่าในปี 2558 ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก เปิดโครงการใหม่น้อยมาก
ที่น่าจับตามองอีกแนวโน้มคือ การรุกคืบของ“ทุนใหญ่ข้ามชาติ” โดยเฉพาะจากแดนซามูไรอย่าง“มิตซูบิชิ” ที่ทำธุรกิจครอบจักรวาล รวมทั้ง“โตคิว คอร์ปอเรชั่น” และ “อิออน กรุ๊ป” บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำธุรกิจด้านเดียว จึงเป็นเรื่องที่เดาทิศทางยากว่าบริษัทจะไปทางไหน
ก่อนหน้านี้มีอิออน เข้ามาลงพัฒนาธุรกิจค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต “แม็กซ์แวลู” โดยที่รู้ว่าไม่สามารถต่อกรกับเบอร์นำ (เซเว่นอีเลฟเว่น) ในตลาดได้ แต่ภายหลังก็ประกาศสร้าง “อิออน มอลล์” ซึ่งในอนาคตกลุ่มทุนเหล่านี้จะเข้ามาแลกหมัดกับ “เจ้าถิ่น” ในเมืองไทยหนักหน่วงมากขึ้น
อสังหาฯ เป็นธุรกิจที่เข้ามาแย่งขุมทรัพย์ได้ง่าย เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยสี่ (ที่อยู่อาศัย) ที่จำเป็นต่อมนุษย์ เมื่อพัฒนาโครงการแล้วก็จบไม่ยืดเยื้อ โดยให้นิติบุคคลเป็นฝ่ายบริหารโครงการต่อไป
“อย่างแนวราบเปิดโครงการมาขาย แค่เดือนเดียวก็หมด รายได้ก็เป็นของบริษัททันที ไม่ต้องดูแล นี่ยังไม่นับเงินที่จะได้ในวันโอนอีกนะ ถ้าทำธุรกิจอื่นกว่าจะสร้างรายได้มากมาย ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี อย่างศูนย์การค้าต้องดูแลกัน 20-30 ปี”
ขณะที่ความเสี่ยงธุรกิจนี้เขามองว่า “สายป่าน” และ“ภาวะเศรษฐกิจ” จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อผู้บริโภค
“การเปลี่ยนแปลงของทุนใหญ่ที่เข้ามา ถือเป็นวัฏจักรของธุรกิจเจ้าถิ่นที่ ต้องปรับตัว ยกระดับตัวเองขึ้นมา นี่ถือเป็นอีกแรงกดดันหนึ่ง นอกจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ที่หน้าเก่าต้องรับมือ” สุรเชษฐ ทิ้งท้าย
--------------------------------
“บิ๊กเนม”รุกอสังหาฯ
จะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กทุนไทย” เข้ามาสร้างสีสันให้กับธุรกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในการรุกสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
“บุญรอด บริวเวอรี่” หรือ“สิงห์” เบอร์ 1 ส่วนแบ่งการตลาดน้ำเมาไทย ที่มียอดขายกว่า“1 แสนล้านบาท” การปรับตัวใหญ่ในรอบ 80 ปี ยังให้น้ำหนักไปกับการขยายธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์มากขึ้น
ขาหนึ่งที่สำคัญหนีไม่พ้น “อสังหา” ที่โดดเข้ามาทำเต็มตัว ฟอร์มทีม “บริหาร” โดยมี“ชญานิน เทพาคำ” หลานรักของ “สันติ ภิรมย์ภักดี” ขับเคลื่อนพร้อมดึงมือดีจากวงการอสังหามาร่วมงานคึกคัก โดยเฉพาะ“นริศ เชยกลิ่น” อดีตขุนพลการเงินบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาค้าปลีกของเครือเซ็นทรัล เข้ามานั่งกุมบังเหียน “สิงห์ เอสเตท”
นอกจากความเก๋าในวงการธุรกิจกว่า 8 ทศวรรษ ที่ดินสะสมของ“ตระกูลภิรมย์ภักดี” เรียก ว่าไม่น้อยหน้าใคร เกมรุกของสิงห์ฯ สตาร์ทด้วยการเทคโอเวอร์ รสา พร็อพเพอร์ตี้, ซื้อและควบรวมกิจการ เนอวานา ดีเวลลอปเมนท์, ซื้อและควบรวมกิจการโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ, สร้างอาคารสำนักงานย่านอโศก ฯลฯ
“เครือสหพัฒน์”ของ“ตระกูลโชควัฒนา” ผู้นำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค องค์กรเก่าแก่กว่า 70 ปี มียอดขายกว่า “2.86 แสนล้านบาท” มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ล่าสุดร่วมทุนกับ“กลุ่มโตคิว” จากญี่ปุ่น ตอกเสาเข็มตลาดที่อยู่อาศัยอีกครึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยผนึกกลุ่มทุนแดนซามูไร แต่เกิดกรณีพิพาทจนต้องเงียบหาย ไปจากธุรกิจอสังหา มาคราวนี้ได้ “ทุนใหญ่” ญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท สหโตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาโครงการ “ฮาโมนิค เรสซิเดนท์ ศรีราชา" มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท และยังมีแผนระยะยาวในการสร้างรายได้
“เซ็นทรัล”ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก 68 ปี มียอดขายกว่า“2.49 แสนล้านบาท”สำหรับ“ตระกูลจิราธิวัฒน์” ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการอสังหาฯ โดยที่ผ่านมาเอาดีด้านค้าปลีก และโรงแรมเป็นหลัก มีอาคารสำนักงานบ้าง และยังขาดก็เพียง“ที่อยู่อาศัย”และเมื่อทำห้าง ดึงผู้คนในชุมชนมาใช้บริการมากมาย และเกิดเมืองย่อมๆ ครบเครื่องขนาดนี้ ก็ขอเข้ามาแย่งตลาดที่อยู่อาศัยบ้าง
เริ่ม ด้วยการดึงมือดีจากเอสซี แอสเสท คอร์ปอร์เรชั่น และอดีตผู้บริหารคิวเฮ้าส์ ควอลิตี้ อย่าง“เรืออากาศเอก กรี เดชชัย” มานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาโครงการพิเศษเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อพัฒนาอสังหาครบวงจร โดยเฉพาะการนำ “ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึก” จากห้างค้าปลีกมาต่อยอดสร้างที่อยู่อาศัย เรียกว่า มีกระสุนในมือพร้อมเจาะใจกลุ่มเป้าหมาย
“เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซี.พี. ที่หากนับยอดขายทุกๆบริษัททั้งกลุ่มเกษตร อาหาร ค้าปลีก สื่อสาร ยอดขายเรียกว่าทะลุ“ล้านล้านบาท” เรียบร้อย
แม้ที่ผ่านมาซี.พี.ของ“ตระกูลเจียรวนนท์” จะรุกอสังหาผ่านบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และมี“ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” บุตรสาวคนเล็กของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ กุมบังเหียน การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอา จะเงียบราบเรียบ ทว่าระยะหลังอลังการมากขึ้น เมื่อจับมือกับสยามพิวรรธน์ รุกอภิโปรเจคค้าปลีกหรู “ดิ ไอคอนสยาม” พร้อมปลุกปั้นคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา และยังซื้อที่ดินและโครงการปิยรมย์ สปอรต์คลับ ผุดคอมมูนิตี้มอลล์ บนทิ่ดินสุขุมวิท 101 เนื้อที่ 40 ไร่ สร้างความฮือฮารอบใหม่ในวงการอสังหาฯ
“ทีซีซี กรุ๊ป” หรือไทยเจริญ คอร์ปอร์เรชั่น ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่มียอดขายกว่า“4 แสนล้านบาท” ดูจะมุ่งมั่นมากในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ผ่าน“ทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป”โดยมีทั้ง“วัลลภา ไตรโสรัตน์” และ“ปณต สิริวัฒนภักดี”บุตรสาวและบุตรชายช่วยกันสานอาณาจักรค้าปลีก
สำหรับ ทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป ครบครันทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การประชุม ห้างค้าปลีก และที่อยู่อาศัย ผ่านบริษัทในเครือมากมาย เช่น ทีซีซี โฮสเทลส์ กรุ๊ป, ทีซีซี แลนด์ รีเทล, ยูนิเวนเจอร์, โกลเด้นแลนด์ เป็นต้น กลุ่มนี้นอกจากจะทุนหนาแล้ว กรุที่ดินเรียกได้ว่ามีมากมายมหาศาลอย่างแท้จริง แม้จะพัฒนามามากมายแต่อสังหาฯขาหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จนักคือ “ค้าปลีก” เกมนี้คงต้องหาทางแก้และจับตาดูต่อไป
ทุน ที่ดิน ทีมงานพร้อม..ครบเครื่องขนาดนี้ เป็นธรรมดาที่ “เจ้าตลาด” ในวงการอสังหาฯ ต้อง “ผวา”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ม.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.