โดย...สิทธิพจน์ เกบุ้ย
กลุ่มเกษตรกรบ้านวังแดงเหนือ ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านตัวอย่างที่พลิกวิกฤตแล้ง หลังจากที่ทางกรมชลประทานได้ออกประกาศให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ เหลือน้อยและมีเพียงพอสำหรับการใช้เพื่ออุปโภคบริโภคเท่านั้น ส่งผลให้ชาวนาต้องงดทำนาปรังหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแต่กลับสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อครอบครัว
สุรพล ทองเที่ยง ชาวนาบ้านวังแดงเหนือ ต.เขาทราย บอกว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายขอให้ชาวนางดทำนาปรังเนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ เหลือน้อยทำให้ชาวนา ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จำนวน 20 คน ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านหนองระกำ โดยใช้พื้นที่ 50 ไร่ มาปลูกผักคะน้า กวางตุ้ง ถั่วพู มะเขือกรอบ บวบ ถั่วฝักยาว มะนาว สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเดือนละเป็นแสนบาท
ทวี มีแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.เขาทราย บอกว่า เมื่อทางรัฐบาลขอร้องให้ชาวนางดทำนา ทางชาวนาเองก็ต้องหันมาปลูกผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็สร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวนาอย่างงดงาม เพราะสมาชิกในกลุ่มปลูกผักมีรายได้วันละ 300-500 บาท จากการเก็บผลผลิตขาย ซึ่งดีกว่าการทำนาหลายเท่าตัว
“สถานการณ์ภัยแล้งของปีนี้ว่ารุนแรงจึงเลิกทำนาปรังแล้วหันมา ปลูกปอเทือง ซึ่งใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 3 เดือน ก็สามารถเก็บเมล็ดปอเทืองไปขาย เป็น การเสริมรายได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ส่วนต้นปอเทืองก็จะไถกลบให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน” ทวี กล่าว
อร ณี แก้วปักศรี ชาว ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ บอกว่า ได้หันมาปลูกผักในเนื้อที่ 3 ไร่ ซึ่งปลูกผักหลายชนิด แต่ว่าช่วงนี้ปัญหาภัยแล้งทำให้ขาดแคลนน้ำ จึงได้หันมาใช้วิธีการให้น้ำแบบน้ำหยด โดยใช้ผ้ายางคลุมร่องผักแล้วเดินท่อน้ำใต้ผ้ายางอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้ประหยัดน้ำและได้ผลดี ส่วนเรื่องรายได้นั้นยืนยันว่าปลูกผักแค่ 3 ไร่ มีรายได้มากกว่าทำนา 10 ไร่ ถึง 3-4 เท่าตัว ซึ่งในอนาคตจะเลิกทำนา
บัวหล่ำ บุญแร่ แม่ค้าขายผักตามตลาดนัด อ.ทับคล้อ บอกว่า พืชผักของหมู่บ้านนี้มีข้อดีตรงที่ว่าเกษตรกรใช้สารเคมีน้อยมาก อีกทั้งการเก็บผลผลิตก็ทำตามมาตรฐานที่เกษตรอำเภอได้แนะนำ ดังนั้นเมื่อนำไปขายก็ถูกใจผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ส่วนราคาพืชผักที่ซื้อไปขายต่อขึ้นอยู่กับฤดู หากฤดูแล้งราคาพืชผักแพง ส่วนฤดูฝนก็จะถูกลง
ดำรงค์ อินหันต์ ชาวนา ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร บอกว่า เดิมประกอบอาชีพการทำนาปลูกข้าวจำนวน 40 ไร่ โดยจะทำนาทั้งนาปีและนาปรัง หลังจากในปีนี้รัฐบาลขอความร่วมมือให้งดทำนาปรัง และต่อมาให้ชะลอการทำนาออกไปอีก เนื่องจากน้ำมีไม่เพียงพอต่อการทำนา ซึ่งตัวเองคิดว่าจะต้องหาอาชีพอื่นมาทดแทนในช่วงชะลอการทำนา จึงหันมาปรับเปลี่ยนแปลงนาข้าวของตัวเองจากเดิมเริ่มต้นเพียง 20 ไร่ และต่อมาปรับพื้นที่ทั้งหมด 40 ไร่ หันไปปลูก “มะละกอ” สายพันธุ์ “ฮอลแลนด์” ปลูกง่ายใช้น้ำน้อย เก็บขายได้กำไรดี อายุการปลูกเพียงครั้งเดียวมากถึง 3-4 ปี
ไม่เพียงแต่ชาวนา จ.พิจิตร เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับ ธวัช รังท้วม ต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ได้ทำการเปลี่ยนนาข้าว มาปลูกดอกมะลิ เก็บดอกขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ธวัช บอกว่า ได้เปลี่ยนนาข้าวจำนวนกว่า 20 ไร่ มาปลูกดอกมะลิ หลังจากได้รับคำแนะนำจากชมรมผู้ปลูกดอกมะลิ ว่าสามารถมีรายได้ดีกว่าการปลูกข้าว ลงทุนซื้อพันธุ์มะลิมาจาก จ.นครสวรรค์ ในราคาต้นละ 6 บาท ทยอยปลูกในแปลงนาข้าว ตั้งแต่กลางปี 2557 จนถึงขณะนี้เปลี่ยนนาข้าวที่มีอยู่ทั้งหมดมาปลูกดอกมะลิแทน
ทั้งนี้ ดอกมะลิเป็นพืชทนแล้ง ต้นทุนการเพาะปลูก ค่าปุ๋ย ค่ายา ใช้น้อยกว่าการทำนาปรังถึง 1 ใน 4 ลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวสา มารถเก็บดอกขายได้ถึง 15 ปี/ต้น การดูแลรักษาก็ไม่ยุ่งยาก ปลูกเพียง 2-3 เดือน ก็สามารถเก็บดอกขายได้ โดยในช่วงเวลาปกติราคาดอกมะลิจะขายได้ที่กิโลกรัมละ 200 บาท
อย่างไรก็ตาม หากเป็นช่วงวันแม่ ทุกปี ราคาดอกมะลิจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 1,600 บาท อีกทั้งดอกมะลิยังเก็บขายได้ทุกวัน วันละ 8-10 กิโลกรัม มีคนมารับซื้อถึงที่ไม่ต้องเร่ขาย และไม่ถูกกดราคา ทำให้ตัวเองมีรายได้เลี้ยงครอบครัววันละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ ที่ดีกว่าการทำนาปรัง
ขณะที่ชาวนา ต.ท่านางงาม ต.ชุมแสงสงคราม และอีกหลายตำบลในเขต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ยังคงมีเกษตรกรชาวนาลงมือทำนากันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะขอให้ชาวนางดทำนาปรัง แต่ ชาวนา อ.บางระกำ ยอมเสี่ยงทำนาปรังเนื่องจากหวั่นว่าฤดูฝนหน้าจะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเหมือนทุกปีที่ผ่านมา
ชาวนารายหนึ่งของ ต.ท่านนางงาม บอกว่า แม้ว่ากรมชลประทานงดปล่อยน้ำให้เกษตรกรแต่ชาวนาที่นี่ไม่ยอมแพ้ ภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยทุกคนต่างลงทุนขุดเจาะน้ำบ่อบาดาลสูบน้ำมาทำนา โดยแต่ละรายลงทุนสูบน้ำระดับความลึก 15-30 เมตร หรือบางรายลงทุนขุดเจาะบาดาลขนาดความลึก 60 เมตร ใช้งบประมาณ 1 แสนบาท
ชาวนาก็ต้องทำนาเพราะเป็นอาชีพหลัก มันหยุดไม่ได้ ทำนาแต่ละปีลงทุนทั้งนั้น ต้องกู้หนี้มาทำนา ชาวนาหยุด ทำนาได้ แต่ดอกเบี้ยมันไม่หยุดตาม จึงต้องเสี่ยงทำนาปรังในรอบนี้
ชาวนา จ.พิษณุโลก ขุดบ่อบาดาลทำนา
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.