ในการสนทนากับผู้คนในทุกวงการ ต่างก็เป็นห่วงเป็นใยเกษตรกรของเรา รวมทั้งชาวประมงกันเป็นอันมาก เพราะปี 2558 นี้ สถานการณ์ของภาคเกษตรของเราประสบกับปัญหามากมายทั้งสภาพภูมิอากาศที่เคลื่อนเลื่อน ทั้งสภาพความผันผวนของราคาน้ำมันและราคาพลังงาน เป็นเหตุให้ราคาสินค้าเกษตรเกือบทั้งหมดพากันดิ่งหัวลงพร้อม ๆ กันหมดเกือบทุกตัว
ราคายางพาราตกต่ำน่าจะถึงที่สุดแล้ว เหตุเพราะราคาน้ำมันดิบมีราคาลดลงมาเรื่อย ๆ จากราคากว่า 120 เหรียญสหรัฐ ลดลงมาจนถึงระดับเพียง 30 เหรียญสหรัฐ และยังมีการคาดการณ์กันว่าราคาอาจจะตกต่ำกว่านี้อีก ก็เลยเป็นเหตุให้ราคายางพาราของเราลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ไม่คุ้มกับค่าแรงที่จะกรีดยาง สถานการณ์คาดกันว่าคงจะยืดเยื้อต่อไปอีกทั้งราคาน้ำมันและราคายางพารา
ต่อเนื่องจากการตกต่ำของราคาพลังงานราคาสินค้าเกษตรประเภทที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานได้ เช่น อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งมันสำปะหลัง ก็พลอยตกต่ำลงไปด้วย ราคาอ้อยลดลงอยู่ในระดับที่น่าจะต่ำสุดแล้ว ส่วนในปีต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็อาจจะต้องคอยดูต่อไป คงกระทบเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นจำนวนมากหลายจังหวัด ทั้งในภาคกลาง ภาคะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เป็นจำนวนไม่น้อย และราคาอ้อยในขณะนี้คงจะเป็นราคาที่คงจะไม่สามารถอยู่ได้
ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือชาวนาที่ถูกกระทบอย่างหนักทั้งใน เรื่องราคาและภาวะภัยแล้ง ทางด้านราคา ราคาข้าวลดลงอย่างมาก ข้าวหอมมะลิซึ่งเคยมีราคาสูงถึง 13,000 บาทต่อเกวียน ก็ลดลงต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเกวียน เป็นเหตุให้ราคาข้าวชนิดต่าง ๆ ก็พลอยมีราคาลดลงตามกันไปหมด ที่สำคัญตลาดทั่วโลกก็ยังรับรู้อยู่ว่า ยังมีข้าวของรัฐบาลที่ค้างสต๊อกอันสืบเนื่องมาจากโครงการจำนำข้าวยังเหลืออยู่กว่า 10 ล้านตัน ที่รอจะนำออกมาขายในตลาดทั้งในและนอกประเทศ ข้าวจำนวน 10 ล้านตันนี้เป็นสัดส่วนที่สูงสำหรับปริมาณข้าวที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ราคาข้าวจึงถูกกดเอาไว้ไม่ให้สูงขึ้น แม้ว่าจะมีข่าวเรื่องฝนแล้ง
ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะกระทบเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าว ก็คือภาวะฝนแล้งที่ติดต่อกันมา 2-3 ปี เป็นเหตุให้น้ำต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนศรีนครินทร์ มีต่ำมาก กล่าวคือ มีเพียงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการกักเก็บน้ำปกติ
กรมชลประทานมีภารกิจที่จะต้องจัดการบริหารน้ำเพื่อให้มีเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากภัยน้ำทะเลหนุน มีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำลงมาไล่น้ำเค็มไม่ให้สร้างความเสียหายกับสวนผักผลไม้ รวมทั้งน้ำที่จะนำมาใช้ผลิตน้ำประปา เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงน้ำที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนาจะต้องใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่จะจัดสรรปันส่วนให้กับเกษตรกร
ภารกิจในการจัดสรรปันส่วนน้ำระหว่างคนในเมืองที่จะใช้อุปโภคบริโภคซึ่งนับวันมีแต่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่แหล่งน้ำมีจำกัด การสูบน้ำบาดาลจากใต้ดินก็มีปัญหา ทำให้เกิดภาวะแผ่นดินทรุด การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพิ่มเติมก็มีปัญหากับกลุ่มเอ็นจีโอที่คอยต่อต้านอยู่ ขณะเดียวกันการมีพื้นที่ป่าลดลงก็เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำฝนลดลงตามลำดับ เมื่อปริมาณฝนลดลง พื้นที่ป่าที่เคยอุ้มน้ำไว้ในหน้าฝนแล้วค่อยปล่อยออกมาในแม่น้ำลำธารในหน้าแล้งก็พลอยหมดไป ธรรมชาติขาดสมดุล
ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมาก เพิ่มขึ้นตามปริมาณประชากร ตามการขยายตัวของเมือง การขยายพื้นที่เพาะปลูก การขยายผลผลิต ตามภาวะรายได้ของประชากร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะหยุดยั้งได้ แต่ในด้านการจัดหาแหล่งน้ำมาสนองความต้องการให้เพียงพอนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่มาก ปัญหาการแย่งน้ำกันระหว่างเมืองกับชนบทและระหว่างชนบทด้วยกันน่าจะเป็นอย่างไร ปัญหาจะสะสมขึ้นเรื่อย ๆ ใน 10 ปีข้างหน้า
การบริหารจัดการน้ำปีหน้าน่าจะรุนแรง เพราะเหตุว่าทางกรมชลประทานได้ประกาศว่าไม่สามารถจัดสรรน้ำในการทำนาในฤดูแล้งที่ได้เริ่มต้นได้ เพราะจากเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคมต่อไปถึงเดือนกรกฎาคมปี 2559 ขอให้ชาวนางดการทำนาปรังในฤดูแล้ง หันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน แต่ชาวนาจำนวนมากในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างก็ไม่ฟัง ได้ลงมือทำการเพาะปลูกไปแล้วเป็นจำนวนประมาณ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งต้องถือว่าเป็นพื้นที่จำนวนมากครอบคลุมไปหลายจังหวัดในภาคกลาง คงต้องคอยดูว่ากรมชลประทานจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร จึงจะเกิดความเสียหายกับส่วนรวมน้อยที่สุด
ปัญหาการแบ่งสรรปันน้ำ โดยปกติก็จะเป็นเรื่องทางเทคนิคและเรื่องทางเศรษฐกิจโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แต่ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีก็จะกลายเป็นความขัดแย้งในทางการเมืองได้ และเป็นเรื่องที่อาจจะกลายเป็นความรุนแรงได้ง่ายหากมีเชื้อของการแตกแยกทางความคิดในทางการเมืองระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทอยู่แล้ว
ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งจากภาพที่เห็นน้ำในแม่น้ำลำคลองที่แยกออกจากแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง รวมทั้งระดับแม่น้ำโขง ชี มูล ล้วนแต่ประสบกับภาวะระดับน้ำน้อยกว่าปกติถึงขาดแคลนน้ำใหม่แล้ว ควรจะต้องรีบเตรียมการรับมือได้แล้ว
สมัยก่อนปีใดฝนฟ้าวิปริตผิดปกติ ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ราคาข้าวก็จะถีบตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด เพราะมีประเทศที่สามารถผลิตข้าวเหลือจากการบริโภคและสามารถส่งอ อกได้ดี ที่สำคัญก็มีประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียเท่านั้น โดยที่ประเทศต่าง ๆ ที่บริโภคข้าวเป็นหลัก เช่น จีนและอินเดียที่ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนประเทศที่สามารถผลิตข้าวได้มาก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัฐบาลมีโครงการประกันราคา รัฐบาลจึงห้ามนำเข้าและขณะเดียวกันก็จำกัดพื้นที่เพาะปลูก เมื่อไหร่ประเทศไทยผลิตข้าวได้น้อย ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ปีใดประเทศไทยผลิตข้าวได้มาก ราคาข้าวก็ต่ำลง
แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว เวียดนามหลังจากสงครามสงบก็กลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อินเดียเมื่อรัฐบาลเลิกนโยบายควบคุมราคาและเป็นผู้ทำข้าวเอง ผลผลิตข้าวและข้าวสาลีในอินเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ยากจนอดอยาก ผลิตอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศผลิตอาหารเกินความต้องการ จากที่เคยเป็นประเทศนำเข้าข้าวเพื่อบริโภค บัดนี้อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวแข่งขันกับไทย และเวียดนามในตลาดข้าวระหว่างประเทศ
ปริมาณการผลิตข้าวของไทยไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย ไม่มีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ แต่นักการเมืองมักจะนึกว่าประเทศไทยสามารถทำราคาตลาดทั้งในประเทศและนอกประเทศให้ขึ้นลงได้ ความล้มเหลวและความเสียหายจากโครงการซื้อข้าวทุกเมล็ดหรือโครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นไปอย่างที่เห็น ถ้าจะช่วยชาวไร่ชาวนา เอาเงินแจกตรงไปที่ครัวเรือนเลยจะดีกว่า เพราะความสูญเสียมีขนาดสูงกว่าที่ชาวไร่ชาวนาจะได้รับมากมาย
ในกาลข้างหน้า เมื่อประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ลาว หรือแม้แต่บังกลาเทศ เมื่อเขาเปิดประเทศพัฒนา ถนนหนทางการขนส่ง สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ยางพารา จะสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ อาจจะมีต้นทุนถูกกว่าประเทศไทย ค่าแรงงานอาจจะถูกกว่าประเทศไทยหรือมีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชบางชนิดดีกว่าไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน
การจะใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าเกษตรของเราให้สูงกว่าตลาดโลก โดยการห้ามนำเข้าแล้วรัฐบาลเข้าไปรับซื้อ รับประกันราคา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นการใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะประเทศเรามีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ หลายพันกิโลเมตร เป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันมิให้มีการลักลอบเข้าออกของสินค้าเกษตร หากราคาสินค้านั้นสูงต่ำผิดกัน สินค้าสิ่งของย่อมไหลจากที่ที่ราคาถูกไปหาตลาดที่มีราคาสูงกว่าเสมอ ป้องกันได้ยาก
ควรจะเริ่มคิดได้แล้วว่าจะทำอย่างไรกับประชาชนในชนบทที่มีอาชีพเกษตรกรรม จะหางานอื่นในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ได้เพียงพอหรือไม่
ความจำเป็นของการปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมได้มาถึงแล้ว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.