คอลัมน์: ประชาชนเกี่ยวอะไร
เรื่อง: ประภาส ปิ่นตบแต่ง
การปลูกข้าวและผลผลิตข้าวจำนวน มากในปัจจุบันคือราว 38.24 ล้านตัน (ตัวเลขมักไม่ค่อยตรงกัน ช่วงจำนำข้าวระบุว่า มีข้าวเปลือกราว 33 ล้านตันต่อปี) คิดเป็นข้าวสารจำนวน 24.86 ล้านตัน เราจึงพึ่งทตลาดส่งออก เนื่องจากปริมาณการบริโภคข้าวภายในประเทศมีเพียง 10.66 ล้านตันข้าวสาร[1] ในขณะที่เราส่งออกได้เพียงปีละ ราว 7-10 ล้านตันข้าวสารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่า ต้องเหลือปริมาณข้าวค้างในประเทศเป็นจำนวนมาก ใครๆ ที่ชอบบอกว่าให้เราอยู่อย่างพอเพียง ปลูกเอาไว้กินก่อน เหลือค่อยขาย ก็ต้องทำให้ผู้คนและตนเองกินข้าววันละเก้ามื้อ แต่ปัญหาก็คือ เราเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวสำหรับการส่งออก ข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวอายุสั้น ข้าวแข็ง หุงแล้วหมายังไม่กิน เราปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารามานานแล้ว โดยเฉพาะการผลิตในภาคกลางและเขตชลประทาน
วิกฤติด้านราคาข้าวและรายได้
ปัจจุบันการทำนาชาวนาสามารถจ้างได้ทั้งหมดเกือบทุกขั้นตอน กล่าวคือ มีระบบการรับจ้างรองรับ ตั้งแต่ขั้นทำเทือกหรือเตรียมดิน การหว่านเมล็ดพันธุ์ การพ่นยา/สารเคมีและหว่านปุ๋ย การจ้างรถเกี่ยว ฯลฯต้นทุนการทำนาในกรณีที่ใช้วิธีการจ้างทั้งหมด (โดยไม่รวมค่าแรงเจ้าของนา) ประมาณการได้ว่าราวๆ ไร่ละ 5,500-6,000บาท[2] สำหรับนาที่ต้องจ่ายค่าเช่าก็อยู่ในอัตราขั้นต่ำคือ ไร่ละ 1,000 บาท (ส่วนกรณีที่ลงมือทำเองทั้งหมดต้องลงทุนเครื่องมือการทำนาราวๆ 200,000-250,000 บาท[3])
อย่างไรก็ดี ชาวนามักจะใช้วิธีผสมระหว่างการจ้างและการทำเองบางส่วน เช่น จ้างตีดินแต่ทำเทือกเอง พ่นยาและหว่านปุ๋ยเอง โดยปัจจุบันยังมีกลุ่มลงแขกช่วยกันพ่นยาและหว่านปุ๋ยเป็นกลุ่มๆ จำนวนมาก แต่สำหรับการเกี่ยวข้าวไม่มีใครเกี่ยวเองแล้ว จะจ้างรถเกี่ยวทั้งหมด กรณีการทำเองผสมผสานกันด้วย จะทำให้ต้นทุนการทำนาลดลงไป
ซึ่งพบว่า หลังวิกฤติการรับจำนำข้าว ชาวนาหันมาทำนากันเองมากขึ้นเพื่อลด ต้นทุน เช่น ไม่จ้างรถตีดิน แต่ไถและคราดทำเทือกเอง เก็บข้าวปลูกไว้ใช้เอง ซึ่งช่วงเร่งรีบผลิตทำไม่ได้ เพราะว่าการเก็บข้าวปลูกต้องตากให้แห้ง และให้ข้าวพักตัวไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน
เมื่อพิจารณาในเชิงรายได้-รายจ่ายจาก การทำนาก็จะพบว่า ในช่วงที่มีโครงการประกันรายได้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกันราคาข้าวเปลือกความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ตันละ 12,000 บาท (ราคาข้าวในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาข้าวในตลาดตันละราว 9,000-11,000 บาท) ในภาคกลาง ผลผลิตจากการทำนาเฉลี่ยราวไร่ละ 80-100 ถัง หรือราวไร่ละ 1 ตัน
แต่ข้าวที่เกี่ยวสดจากนาจะมีความ ชื้นราว 25-28 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย นั่นหมายความว่า ชาวนาจะขายข้าวได้ราวตันละ 10,500-11,000 บาท (ความชื้นจะถูกหัก 1 เปอร์เซ็นต์ = 100-120 บาท อาจจะถูกหักสิ่งเจือปนอีก และค่าขนข้าวไปโรงสีอีกตันละ 200 บาท) อย่างไรก็ดี อาจจะพอประมาณการได้ว่า ชาวนาน่าจะยังพอได้กำไรไร่ละราวๆ 3,000 บาท
ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งประกาศโครงการจำนำข้าว โดยรัฐบาลรับซื้อตันละ 15,000 บาท จึงสามารถประมาณได้ว่า ชาวนาจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นราวไร่ละ 5,000 บาท ซึ่งถือเป็นยุคทองของชาวนาอย่างแท้จริง
นับตั้งแต่การยกเลิกโครงการจำนำข้าว จะพบได้ว่า ราคาข้าวเปลือกได้ตกต่ำลงไปอย่างมาก ข้อมูลรายงานสถานการณ์ข้าว ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์[4] พบว่า ราคาข้าวเปลือกได้ตกลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่างตันละ 7,000-8,500 บาทเท่านั้น และในช่วงตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ราคาข้าวเปลือกจะอยู่ระหว่าง 7,200-7,600 บาท เท่านั้น ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปี 2557/2558 ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่าง 11,500–12,700 บาทต่อตัน[5]
ตารางแสดงราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์) หลังการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว
ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | (พ.ศ) |
7,900 | 7,900 | 7,900 | 7,900 | 7,600 | 7,600 | 7,600 | 7,600 | 7,600 | 7,900 | 7,900 | 2558 | |
7,750 | 8,000 | 7,500 | 7,200 | 7,200 | 7,100 | 8,350 | 8,550 | 8,000 | 7,800 | 7,800 | 8,000 | 2557 |
หมายเหตุ: ใช้ฐานข้อมูลจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ณ วันสิ้นเดือนของทุกเดือน)
ในแง่รายได้ของชาวนาในภาคกลาง ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า ชาวนาเกี่ยวข้าวสดจากในนาซึ่งมีความชื้นโดยปกติราว 25-28 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวต่อตันที่ชาวนาขายได้จึงอ ยู่ที่ราวๆ 6,000 บาทเท่านั้น (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา 2-3 ราย ในตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ก็ได้รับการยืนยันว่า ขายข้าวได้ตันละ 6,000 บาท ในสองฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา และในปี 2558 ฤดูกาลการผลิตแรกยังประสบปัญหาแล้งจัดความร้อนทำให้ข้าวไม่ผสมเกสร ผลผลิตจึงลดลงเหลือราว 70 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตรวมที่เคยได้ในการทำนาปกติ
เราจึงพอสรุปได้ว่า หลังการยกเลิกนโยบายสนับสนุนราคา นับแต่การประกันราคาข้าวและโครงการรับจำนำเป็นต้นมาตั้งแต่ปี 2557 รายได้ของชาวนาอยู่ในสภาวะเท่าทุนหรือขาดทุน ชาวนาอยู่ในสภาพทำนาไม่มีกำไร ไม่มีรายได้จากการทำนามาราวสองปีแล้ว
นับแต่การยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชาวนาจึงอยู่ในสภาพวิกฤติด้านรายได้จากการทำนา มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือชาวนาน้อยมากและเป็นระยะสั้นๆ ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดวิกฤติเรื่องภัยแล้ง รัฐบาลยังมีนโยบายห้ามชาวนาทำนาปรังถึงสองฤดูกาล ส่วนนโยบายการปลูกพืชทดแทนและการสร้างรายได้ทดแทนก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้ามาทดแทนรายได้ที่มาจากการทำนาได้อย่างไร
แม้รัฐบาลจะประกาศห้ามหรือขอความร่วมมือในการทำนาปรังก็ตาม แต่โดยสถานการณ์ในสองปีที่ผ่านมา และในปี 2559 ปริมาณน้ำในเขื่อนและระบบชลประทานมีน้อยไม่พอที่จะใช้ และรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งชาวนาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะในเขตภาคกลางที่มีการปลูกข้าว 2-3 ครั้งในวิถีการปลูก
นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าการลงทุนการค้าเสรี และการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน ทำให้อุปสงค์และอุปทานของผลผลิตทางการเกษตรมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ผูกโยงให้ชาวนาที่ทำการผลิตในหมู่บ้านเข้าสู่การแข่งขันในตลาดการค้าที่ไร้พรมแดน เกิดการขยายตัวของบรรษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตอาหารที่สำคัญในภูมิภาค
ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความพยายามผลักดันนโยบายอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการผลิต เช่น นโยบาย GMO รวมถึงการผูกขาดทางการค้าอาหาร ทำให้ความพยายามสร้างทางเลือกของชาวนามีช่องทางไม่กว้างมากนัก และเป็นสิ่งท้าทายต่อความอยู่รอดของชาวนา
การปรับตัวและแสวงหาทางรอดของชาวนา
ในสถานการณ์เฉพาะหน้า เราอาจจะพอเห็นการดิ้นรนของชาวนาในหลายแนวทาง
ประการแรก การลดต้นทุนการทำนา จะเห็นว่าชาวนาพยายามลดต้นทุนในหลายรูปแบบ เช่น การเก็บพันธุ์ข้าวปลูกเอง แต่วิธีการดังกล่าวนี้ก็ยังมีความจำกัด เพราะข้าวในนามักมีข้าวปน ข้าวดีด ฯลฯ ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ยังซื้อพันธุ์ข้าวปลูก
อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นช่องทางสำคัญที่หน่วยงานราชการสามารถใช้การรวมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ดังที่มีการส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนให้ทำงานได้จริง นอกจากเรื่องเมล็ดพันธุ์ก็จะพบว่า ชาวนาเริ่มใช้แรงงานของตัวเองทำนามากยิ่งขึ้น บางรายใช้รถไถเดินตามไถนาเองแทนการจ้างรถตีดิน การพ่นยาและใส่ปุ๋ยเอง ฯลฯ
การลดต้นทุนที่นิยมกันมากก็คือ การทำนาแบบล้มตอซัง กล่าวคือ เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาจะย่ำตอซังหรือล้มตอซังโดยใช้วิธีจ้างทีมรถย่ำตอซัง ซึ่งมักจะเป็นทีมเดียวกับทีมรับจ้างพ่นยาและหว่านปุ๋ย โดยราคาค่าจ้างคือ ไร่ละ 100 บาท บางรายก็จ้างรถเกี่ยวข้าวย่ำเลย บางรายใช้วิธีเพิ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยหว่านลงไปในนาก่อนเกี่ยวข้าว เพื่อให้ข้าวขึ้นหนามากพอที่จะให้ผลผลิตมากพอๆ กับการหว่านใหม่
ประการที่สอง การปรับเปลี่ยนการผลิต ข้อมูลจากการสำรวจชาวนาในตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน ชาวนาได้ปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นทำนากุ้งจำนวน 200 ไร่ หรือราว 20 ราย แต่การเลี้ยงกุ้งสามารถปรับเปลี่ยนได้เฉพาะชาวนาที่มีทุนมากพอเท่านั้น ชาวนาอีกส่วนหนึ่งปรับการผลิตมาเป็นการปลูกพืชที่มีตลาดรองรับ เช่น ทำนาบัว (ซึ่งต้องเป็นชาวนาที่มีรถยนต์และมีช่องทางตลาด) การทำนาผักบุ้ง ซึ่งทั้งนาบัวและผักบุ้งไม่จำเป็นต้องปรับพื้นที่ เพราะสามารถใช้พื้นนาปลูกได้เลย
อีกส่วนหนึ่งพบว่า ได้ยกผืนนาเป็นร่องสวนและปลูกพืชผัก สวนครัว เช่น ผักชีฝรั่ง ดอกขจร ผักหวานบ้าน ฯลฯ การปรับการผลิตยังมีอีกหลายแบบ ชาวนาจึงอยู่ในสภาพของการ ‘ด้น’ ชีวิตไปตามลีลา ความถนัด และช่องทางเงื่อนไขและโอกาสของตนอย่างหลากหลาย ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ชาวนาจะไม่ปรับเปลี่ยนโดยทั้งหมดของชีวิต แต่จะแบ่งพื้นที่บางส่วนออกไปทำอย่างอื่น อาจจะเป็นเพราะต้นทุนในเชิงเครื่องมือเกี่ยวกับการทำนามีจำนวนมาก (ผู้ที่มีเครื่องมือทำนาที่จำเป็นครบต้องลงทุนซื้ออย่างน้อย 250,000 บาท)
ประการที่สาม การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวอินทรีย์ในเชิงภาพรวมจะเห็นได้ว่า มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่นาข้าวอินทรีย์และกลุ่มการผลิตข้าวอินทรีย์ ปัจจุบันมีผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์จำนวนมากขึ้น ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร ชา กาแฟ และพืชไร่ แต่สัดส่วนของผลผลิตอินทรีย์โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าวอินทรีย์ และยังมีพื้นที่และผลลิตน้อยมากเมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวโดยส่วนใหญ่ กล่าวคือ มีการปลูกข้าวอินทรีย์เพียง 125,000 ไร่เท่านั้น (ตัวเลขโดย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน)
หายนะของชาวนา
เศรษฐกิจฐานรากของผู้คนที่เป็นเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ พังทลาย แม้รัฐบาลจะอ้างถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากดังเงินตำบลละ 5 ล้านบาท แต่ผลของการกระตุ้นดังกล่าว รวมทั้งนโยบายช่วยเหลือต่างๆ เมื่อมองจากสายตาชาวนาดูวังเวงยิ่งนัก
สิ่งที่ชาวนาจดจำและเห็นผลที่เกิดขึ้นชัดเจนมากที่สุดก็คือ การห้ามทำนา การปิดน้ำชลประทานไม่ให้เข้ามายังคลองส่งน้ำและพื้นที่ของพวกเขา
ชาวนาจะเผชิญกับมิติการค้าเสรี การเปิด AEC ที่แม้รัฐบาลจะบอกว่า ข้าวที่เข้ามาจะเป็นข้าวหักและปลายข้าว แต่พ่อค้าข้าวและโรงสีได้เคลื่อนย้ายไปปักหลักการลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่ากันแล้ว ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในในประเทศกระทบอย่างแน่นอน
ปีหน้าฟ้าใหม่จึงน่าจะเป็นปีแห่งความตายของชาวนาอย่างแท้จริง
[1](ตัวเลขปี 2555 ข้อมูลจาก นิพนธ์ พัวพงศกร, thairice.org/doc_dl/032013/ppt-b.pdf และการบริโภคในปัจจุบันก็คือตัวเลขประมาณการดังกล่าว)
[2]ข้อมูลจากกลุ่มเสวนา ชาวนาหมู่ 2 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
[3]ข้อมูลจากกลุ่มเสวนา ชาวนาหมู่ 2 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ที่มา : Way Magazine วันที่ 29 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.