สัมภาษณ์พิเศษโดย วรวิทย์ ไชยทอง
ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องของการทดลองเรื่องจีเอ็มโอกับสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทยมีมากว่าทศวรรษระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมและนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารล่าสุดคือการที่ครม.ผ่านร่างกฎหมายพ.ร.บ.จีเอ็มโอกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของสนช.แต่อยู่ดีๆนายกรัฐมนตรีก็กลับสั่งยกเลิกการพิจารณากระทันหันและให้นำกลับไปพิจารณาใหม่เรื่องนี้น่าสนใจเพราะเป็นการถกเถียงในประเด็นการเมืองเรื่องอาหารการเกษตรครั้งสำคัญของไทยท่ามกลางสงครามความรู้ของทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายต้านจีเอ็มโอและฝ่ายหนุนจีเอ็มโอซึ่งสำรวจดูแล้วก็มีเหตุผลหนักแน่นทั้งคู่
"มติชนออนไลน์" เข้าพุดคุยเรื่องนี้กับ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ที่ทำวิจัยและศึกษาทั้งเชิงนโยบายและเศรษฐกิจการเมือง ในด้านการเกษตร ที่ดิน อธิปไตยทางอาหารและอีกหลายเรื่อง เพื่อทำความเข้าใจการเมืองของการผลักดันกฎหมายดังกล่าว ว่าที่จริงแล้วอะไรคือเบื้องหลังเหตุการณ์และไทม์ไลน์ต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงในฐานะคนธรรมดา เราควรจะว่างจุดยืนทางความคิดของตนเองไว้ตรงไหน และจะเข้าใจการถกเถียงของทั้งสองขั้วความคิดที่เถียงกันเรื่องจีเอ็มโอว่าอย่างไร แม้กฎหมายดังกล่าวจะอยู่ในช่วงพัก นำกลับไปศึกษาแล้ว
ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
- ความเป็นมาของ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ?
กฎหมายนี้มีการเถียงกันมานานแล้ว โดยสาระสำคัญคือการทำให้จีเอ็มโอเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่ก็จะมีขั้นตอนในการควบคุมอย่างดี เมื่อผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาปฎิรูปแห่งชาติในครั้งเเรก ปรากฎว่าได้มีเอ็นจีโอบางส่วนที่อยู่ ใน สปช. รวมถึงสปช.ส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ฟัง สปช.ส่วนที่คัดค้านมากนัก ก่อนจะรับลูกไป จนมีมติ ครม.ออกมาและเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ สนช.อีกทีหนึ่ง คือขั้นตอนยังอีกยาวไกล แต่ประเด็นคือจะเห็นว่ามันมีการต่อสู้เรื่องนี้มาเรื่อยๆ ระหว่างหว่างฝ่ายสนับสนุน จีเอ็มโอ กับฝ่ายต่อต้านจีเอ็มโอ
-ใน สนช.เอง หากกฎหมายผ่านไป จะมีพลังในการต้านแบบ สปช.หรือ?
คือกระบวนการต้านมันมีอยู่แล้ว มันมีการสร้างเครือข่ายต่อสู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เช่นการเคลื่อนไหวที่ปรากฎในหน้าสื่อมวลชนช่วงต้นเดือนธันวา คมที่ ผ่านมา ก็จะเห็นเครือข่ายการปฎิรูป เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมีปฎิริยา ตอบรับไปในทางที่ดี ค่อนข้างประนีประนอม มากกว่า โดยเหตุผลที่รัฐบาลประนีประนอมเพราะเป็นการเคลื่อนในประเด็นเฉพาะ ไม่ใช่ประเด็นการเมือง มีโฆษกรัฐบาลลงมารับข้อร้องเรียนด้วยตนเอง รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็แสดงจุดยืนไม่อยากให้มีจีเอ็มโอมาโดยตลอด แต่ถ้าจะให้ประเมินคิดว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านเข้าไปในสนช.ก็ต้องยอมรับตามความจริงว่าสัดส่วนของทหารและข้าราชการในสนช.มีเยอะกว่าเอ็นจีโอมากถ้าโหวตจริงๆคงสู้เสียงไม่ได้หากจะสู้คงเป็นเรื่องของกระเเสสังคมการชุมนุมประท้วงเท่านั้น
ทั้งนี้ตัวของรัฐไทยก็มีลักษณะขัดแย้งกันเองกล่าวคือในระดับรัฐบาลก็มีการให้ผ่านซึ่งนำมาซึ่งคำถามของกลุ่มต้านว่าทำไมรัฐบาลจึงเห็นด้วยสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็มียุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกันโดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ก่อนเปิดอาเซียนซึ่งสองอันนี้ก็จะขัดแย้งกันเองทำให้เห็นว่ารัฐจะเอายังไงกันแน่เพราะมันมีสองทางที่ขัดแย้งกันเพราะหากเน้นการทำออร์แกนิกก็จะไม่เอาการตัดต่อพันธุกรรม
-วิเคราะห์จุดเเข็งและจุดอ่อนของกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมา
โดยหลักการพ.ร.บ.ฉบับนี้จะบอกให้เราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเสนอแนะหรือวางหลักการเพื่อบอกว่าพืชหรือจีเอ็มโอแบบไหนทำได้และทำไม่ได้ก่อนส่งหลักการนี้ให้ครม.ซึ่งในความเป็นจริงครม.ก็เเค่เซ็นตามเท่านั้น คนกำหนดทุกอย่างก็คือคณะกรรมการชุดนี้ โดยในมาตรา 6 คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมเป็นประธาน มีอธิบดีกรมต่างๆเป็นกรรมการ โดยมี ผอ. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเป็นกรรมการด้วยหรือ ไบโอเทค โดยในข้อนี้คือเหตุผลข้อแรกของกลุ่มต้านที่ตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไมตัวคณะกรรมการจึงไม่มีส่วน ร่วมจากภาคประชาชน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและ ผอ.ศูนย์ไบโอเทค ซึ่งสนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว ทำให้หลายคนไม่พอใจ ว่าไม่ตัวแทนจากภาคประชาสังคม
ส่วนนักวิชาการ ก็มีแค่ด้านสิ่งเเวดล้อมและด้านกฎหมาย ที่ระบุให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีนักวิชาการที่มาจากภาคประชาชนเลย ซึ่งอย่าลืมว่า พ.ร.บ.มีนี้สาระสำคัญคือการขึ้นทะเบียน พืชจีเอ็มโอ ที่จะกำหนดให้มีการทดลอง หากประสบความสำเร็จก็ให้นำไปค้าขายได้ โดยร่างนี้ยังกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นมาประกอบการตัดสินใจ แต่คำถามก็คือการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมันไม่มีข้อกำหนดซึ่งผูกพันทางกฎหมายว่ามติดังกล่าวจะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงอะไร
นอกจากนี้ยังมีข้อน่ากังวลคือเรื่องบทชดใช้ทางเเพ่งกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นมีความเสี่ยงหรือมีการปนเปื้อนเกิดขึ้นก็จะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนถึงจะเข้าข้อกำหนดเรื่องการชดเชยซึ่งปัญหาจริงๆของจีเอ็มโอมันเชื่อมโยงกับเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นเรื่องลิขสิทธิ์เป็นต้นรวมถึงกรณีการรับผิดทางเเพ่งกรณีมีการปนเปื้อนหรือมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นความผิดที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากผู้เสียหายเอง ผู้ประกอบการกลับไม่ต้องรับผิดชอบทางเเพ่ง หมายความว่า สมมุติเรามีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และให้เกษตรกรปลูก แต่ดันเกิดการปนเปื้อน บริษัทก็อาจจะอ้างว่า เกษตรกรไม่ยอมทำตามขั้นตอน ไม่มีรั้วกั้น ไม่มีระยะห่างที่ชัดเจนจากพืชปกติ จนทำให้เกิดการปนเปื้อน สุดท้ายกลายเป็นว่าข้อยกเว้นตรงนี้ เหมือนกับการผลักภาระหลายอย่างให้กับเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรเป็นเพียงคนเอาวัตถุดิบมาปลูก เหล่านี้คือจุดอ่อนที่ฝ่ายต้านเองยกขึ้นมาเพื่อแสดงความกังวล
อีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ขอเรียกว่าข้อดีแต่ขอเรียกว่าข้อที่ควรจะมีคือการวางหลักการเกี่ยวกับการขึ้นบัญชีจีเอ็มโอว่าจีเอ็มโอแบบไหนที่จะสามารถปลดปล่อยเข้าสู่กระบวนการทดลองได้ ซึ่งการวางหลักการข้อนี้หากมีการวางหลักการที่ชัดเจนและแก้ข้อเสียที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่สามารถควบคุมจีเอ็มโอได้เหมือนกัน
-และปัญหามันคืออะไร?
ปัญหามันคือกฎหมายที่มันออกมาตอนนี้มันมีความหละหลวมเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมการการรับผิดและการมีส่วนร่วมหากแก้ไขตรงนี้ได้อาจทำให้ตัวกฎหมายดีขึ้นแต่อย่างไรกฎหมายตัวนี้ก็สร้างผลกระทบสำคัญเป็นการ Legalization คือทำให้การปลูกจีเอ็มโอกลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ฝ่ายต่อต้านและเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มที่ไม่เอาจีเอ็มโอ เขาก็ไม่เอาอยู่แล้ว เพราะเขาต้องการให้ล้มเลย เพราะประเด็นสำคัญของมันก็เปรียบเสมือนกับการเปิดเสรีให้กับพืชจีเอ็มโอ
- มีคนบอกว่าในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ท้ายสุดก็หนีไม่พ้นพืชจีเอ็มโอ?
หลักๆถ้าพูดถึงจีเอ็มโอมีสามเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันแต่เราอาจต้องแยกคือ
1.ตัวของจีเอ็มโอเองที่เป็นเรื่องค่อนข้างมีความวิทยาศาสตร์คือตัวจีเอ็มโอนั้นทำได้อย่างไรยังไงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพไหมหากกินเเล้วจะเป็นอย่างไรกรณีนี้เป็นความเสี่ยงทางสุขภาพ
2.คือปัญหาต่อสิ่งเเวดล้อมกล่าวคือจีเอ็มโอเมื่อปล่อยสู่สาธารณะจะทำให้เกิดวัชพืชพันธุ์ใหม่ที่เติบโตมาจากจีเอ็มโอหรือเปล่า หรือมันจะเกิดการปรับตัวจนกลายเป็นพืชชนิดใหม่หรือเปล่า ทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศหรือไม่ กรณีนี้เป็นปัญหาต่อสิ่งเเวดล้อม
3. ปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคืออย่างที่รู้กันว่าจีเอ็มโอไม่ใช่สิ่งที่มีขึ้นมาเอง แต่มันเป็นนวัตกรรมที่มีลิขสิทธิ์ ต้องมีเจ้าของเเน่ๆ นั่นก็คือผู้ที่เป็นคนให้ทุนมาทดลองเเละวิจัยนั่นเอง
อย่างในต่างประเทศมักจะเป็นบริษัทขายเมล็ดพันธุ์เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหา เพราะบริษัทก็ต้องการที่จะขายเมล็ดพันธุ์ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีเพียงชนิดเดียว ข้ออ้างที่ว่าจีเอ็มโอทำให้มีราคาถูก อาจจะไม่ถูกเพราะอาจติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ได้ ทั้งยังเชื่อมโยงปัญหาอื่นๆในทางการเกษตร เช่นเกษตรพันธะสัญญาที่ผูกกับเรื่องการเกษตร ปุ๋ย พันธะสัญญาต่างๆกับเกษตรกร เพื่อจะบังคับเกษตรให้ดำเนินการตามบริษัทแนะนำ ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาปกติที่ผลิตข้าวออกมาพร้อมกันช่วงปลายปี ก็จะทำให้ข้าวราคาถูกลง ทำให้ชาวนาเดือดร้อนเพราะผลผลิตออกมาเยอะ
แต่บริษัทต่างๆก็จะใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่จะบอกว่าเกษตรพันธะสัญญาจะสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้ชาวนามีรายได้แน่นอนหากคุณทำสัญญากับเราทำให้ราคาข้าวไม่เหวี่ยงไปตามราคาตลาดโดยคุณจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของเราเพื่อสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เป็นต้นจะเห็นที่สุดเเล้วทุกเรื่องก็เชื่อมโยงกันจนเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม
สรุปก็คือปัญหาของจีเอ็มโอมีด้วยกันเบื้องต้นสามระดับทั้งเรื่องตัวปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับตัวจีเอ็มโอเองปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาจีเอ็มโอต่อเศรษฐกิจสังคมซึ่งท่าทีของฝ่ายต้านที่ผ่านมาหากไม่นับกลุ่มหมอชนบทส่วนใหญ่ก็จะต่อต้านในประเด็นทางสังคมมากกว่า นิเวศวิทยา และเรื่องสิ่งแวดล้อม ข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอที่บอกว่ากรณีมีปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ คุณก็ไปแก้ด้านนั้นสิ จีเอ็มโอไม่ใช่ปัญหา ที่จริงแล้วไม่ใช่ ทุกอย่างล้วนเชื่อมกันหมด เพราะการที่คุณจะทดลองจีเอ็มโอได้ ก็ต้องรับเงินวิจัยเพื่อมาทดลอง ถ้าเงินวิจัยไม่ได้มาจากภาครัฐ แต่ต้องมาจาก
เอกชนแน่ๆอาทิ กลุ่มบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ ดังเช่นที่เกิดในสหรัฐฯเป็นต้น
โดยในอดีตเคยมีปัญหากันเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมวิชาการเกษตร ของกระทรวงเกษตรฯ มีการทดลองจีเอ็มโอโดยการปลูกถั่วเหลือง น่าจะเป็นการทดลองครั้งแรกในไทยที่เป็นการทดลองเชิงพาณิชย์ มีการกระจายเมล็ดพันธุ์มะละกอ ซึ่งกรณีนี้เป็นความขัดแย้งมากกว่าสิบปี ระหว่างกลุ่มกรีนพีชกับกรมวิชาการเกษตร ที่สู้กันเรื่องจีเอ็มโอที่มีการ ทดลองขายเชิงพาณิชย์ นำมาสู่ข้อขัดแย้งต่างๆ กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีในปี 2544 ที่บอกว่าให้ห้ามทำ สุดท้ายฝ่ายต้านแพ้ เพราะแพ้คดีของศาลปกครองที่ยกฟ้องคำร้องของกรีนพีช ยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว เอ็นจีโอก็ยังไม่ยอมสู้ต่อจนถึงปี 2557 ที่ศาลปกครองสูงสุดก็ยังยืนยันที่จะยกฟ้องเช่นเดิม นี่คือความขัดแย้งหลักของกรมวิชาการเกษตรกับเอ็นจีโอ
-จริงหรือไม่ตอนนี้พืชจีเอ็มโอเต็มประเทศไทยไปหมดแล้ว?
คือมีการทดลองเกิดขึ้นแน่นอนมีแน่นอนคือมะละกอที่เป็นพืชจีเอ็มโอในส่วนผลกระทบซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างเอ็นจีโอกลุ่มกรีนพีชกับกรมวิชาการเกษตรก็จะมีเอ็นจีโออีกกลุ่มคือกลุ่มที่นำโดยสารีอ๋องสมหวังที่เน้นการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็พยายามต่อสู้เรื่องการขอให้มีฉลากจีเอ็มโอซึ่งอันนี้เป็นการเลือนแบบการต่อสู้ของประเทศในยุโรปที่ต้องการให้มีการติดฉลากจีเอ็มโอลงในพืชที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมให้เห็นเด่นชัดให้คนเห็นว่านี่คือพืชจีเอ็มโอโดยขณะนี้มีสินค้าเข้าในไทยแล้วจึงเรียกร้องให้อย.ทำการติดฉลากซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้กันอยู่
นี่คือภาพรวมความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
-มองว่าการถกเถียงเรื่องจีเอ็มโอในไทยมีปัญหาตรงไหนยกตัวอย่างเชิงรูปธรรมคือสงครามความรู้ระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบทกับอ.เจษฎาเด่นดวงบริพันธุ์?
อย่างที่รู้ว่ากลุ่มแพทย์ชนบทก็จะมีเครือข่ายและมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับฝั่งของเอ็นจีโอตั้งแต่เรื่องจีเอ็มโอและอื่นๆด้วยส่วนกลุ่มของอ.เจษฎานั้นต้องยอมรับว่าอ.เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมอยู่แล้วเพราะเป็นสิ่งที่แกศึกษามาตลอดชีวิตเขาไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องจีที200หรืออะไรนะครับเรื่องจริงคือแกถนัดด้านนี้โดยตรง ที่สังคมไปชื่นชมเรื่องวิทยาศาสตร์ การพิสูจน์ลอยพยานาค บั้งไฟ อันนั้นแค่เรื่องประกอบ ซึ่งอ.เจษฎาก็ประกาศจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุน โดยเสนอว่า ทำไมเราจึงไม่ให้ทางเลือกกับคน อื่น หากจะทดลองพืชจีเอ็มโอ ก็ควรจะสามารถทดลองได้ หรือจะปลูกพืชแบบปกติก็ปลูกไป อ.เจษฎากำลังเสนอว่า นี่แหละคือประชาธิปไตย รัฐต้องให้ทางเลือกที่หลากหลายกับประชาชน
-ทำไม อ.เจษฎา สนับสนุน ทำไมหมอชนบทค้านกฎหมายฉบับนี้แบบนั้น
อ.มีจุดยืนสนับสนุนการทดลองพืชจีเอ็มโอ หากมีกฎหมายใดที่เขาเห็นว่ามันไม่เป็นปัญหา ในเชิงของตัวมันเองจากสิ่งที่ผมได้แบ่งไว้สามเรื่องคือเรื่อง ตัวจีเอ็มโอในการพูดแบบวิทยาศาสตร์ การพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพูดถึงในมุมปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม เกือบทั้งหมด อ.เจษฎา จะพูดถึงแต่เรื่องแรก ที่มองว่าจีเอ็มโอโดยตัวมันเองไม่ได้มีปัญหาหรือผลกระทบต่อสุขภาพ มีผลผลิตที่ออกมาดี ป้องกันยาฆ่าแมลง ซึ่งคนปกติมักจะหวาดกลัวกัน แต่พืชจีเอ็มโอ สามารถตัดต่อพันธุกรรมให้พืชมีความสามารถในการต้านยาฆ่าแมลง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงเลย นอกจากนี้ยังมีความสมบูรณ์ มนุษย์ทั่วไปสามารถกินได้ตามปกติ รวมถึงยังมีการท้าท้ายกันกับกลุ่มแพทย์ชนบท มีการท้าให้กินพืชจีเอ็มโอกันด้วย ซึ่งอ.เจษฎาก็รับคำท้ากล้ากิน เพราะเชื่อว่าจีเอ็มโอคือทางออกของสังคม ที่จะนำไปสู่การผลิตอาหารที่มีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนมันตอบโจทย์ของระบบการผลิตแบบทุนนิยม
เพราะอย่าลืมว่าโจทย์พื้นฐานของสังคมทุนนิยมคือเรื่องEconomiesofscaleยิ่งผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆมากของก็จะยิ่งมีราคาถูกนวัตกรรมก็จะนำไปสู่การผลิตจำนวนมากอันนี้คือหลักการเดียวกันที่จะช่วยเกษตรกรในทุกการผลิตตั้งแต่การปลูกข่าวยันปลูกกล้วยไม้ เพราะเกษตรกรไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผลิตจากวัชพืชหรือไวรัสต่างๆ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ขณะที่ฝ่ายต่อต้าน ก็จะบอกว่า การตัดต่อพันธุกรรมจะนำไปสู่พืชลักษณะใหม่ ซึ่งก็จะต้องใช้ลักษณะการปลูกและดูแลแบบใหม่ ใช้ยาฆ่าแมลงชนิดใหม่ ใช้สารเคมีชนิดใหม่ ในการควบคุมดูแล ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีการปลูกถั่วเหลือง พบว่าจริงๆแล้ว เมล็ดพืชจีเอ็มโอ มีราคาแพงกว่าเมล็ดถัวเหลืองปกติเสียอีก นอกจากนี้ยังมีค่าการปลูก ดูแลรักษาอีก
-สรุปแล้วมันช่วยลดต้นทุนจริงไหม
ตัวเลขที่ออกมาอันนี้ต้องอ้างจากกรีนพีชที่สรุปว่ามันแพงขึ้น
-แต่ถ้าผลิตเยอะๆมันจะถูกลงไหม?
อเมริกาทำมา20ปีแล้วนะก็ยังไม่ลดลงเขาเริ่มทำตั้งแต่ปี1980จากสถิติถึงปี 2001 ผลคือราคาเม็ดถั่วเหลืองแพงขึ้น เหตุผลคือมันเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเศรษฐกิจสังคม กล่าวคือพอมันมีเรื่องลิขสิทธิ์เขามาเกี่ยวข้อง มันก็กลายเป็นเรื่องของการผูกขาด กระทั่งกลับไปกระทบกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อมันเกิดการผูกขาดการผลิตพืชหรือเมล็ดพันธุ์ได้แล้ว ก็เป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของการผลิตทางการเกษตรในประเทศไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเขาสามารถทำพันธุ์ข้าวขึ้นมาได้ และมีความแข็งแรงมาก มันก็เหมือนกับการทำลายพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นลงไป
แต่เดิมภาคอีสานเคยมีข้าวแบบนี้ ภาคกลางมีข้าวแบบนี้ มันก็เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายไปในตัว เพราะทุกที่ก็จะถูกผูกขาดเหมือนกันหมด ความหลากหลายก็ไม่มี เกษตรกรก็ต้องถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศแถบอเมริกาใต้ ที่มีการเข้าไปดำเนินการของบริษัทมอนซานโต้ กระทั่งเกิดขบวนการต่อต้านที่เรียกว่าเวีย คัมเปซินา ที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน เสรีภาพทางด้านการผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
-เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่รู้เรื่องจีเอ็มโอ เวลาเห็นเขาเถียงกันเราต้องทำยังไง ใช้อะไรเป็นดุลยพินิจในการพิจารณา?
ก่อนจะพูดเรื่องจุดยืนใคร ต้องกลับไปดูทั้งสองฝ่ายเวลาเถียงกัน ทั้งฝั่งแพทย์ชนบท และฝั่ง อ.เจษฎา ว่าทั้งสองฝ่ายเวลาเถียงกัน ก็พูดเรื่องความมั่นคงทางอาหารเหมือนกัน กลุ่มหนุนบอกว่า ผลิตเยอะก็จะมีความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า การกินอาหารที่มีความเสี่ยง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเหมือนกัน ในฐานะคนทั่วไปเราจะมองเรื่องนี้ยังไง
อันดับแรก เราต้องมองว่าเราจะทำอย่างไรให้ความต้องการพื้นฐาน หรือสิ่งที่จะต้องกิน อยู่ในราคาที่เหมาะสมและไม่มีความเสี่ยงต่อเรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อไปคือเรื่องของกฎหมาย รวมถึงสินค้าจีเอ็มโอ ที่หากผลิตออกมาแล้วจะมีราคาถูกลงตามข้ออ้างแต่ละฝ่ายหรือไม่ หน้าที่ของเราคือต้องติดตาม เพื่อพิจารณาว่ามันถูกลงจริงๆหรือ มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้เรื่องสำคัญคือเรื่องสิทธิ ที่จะต้องมองว่า เรามีสิทธิในการเลือก มีเสรีภาพในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้วีถีการผลิตทางการเกษตรทางใด คือเรามักจะพูดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่มีอีกกลุ่มหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มเวีย คัมเปซินา ที่มีจุดมุ่งหมายของการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องอธิปไตยทางอาหาร ที่มีสาระสำคัญคือต้อง democratization กระบวนการทางอาหาร คือลดการผูกขาดเกี่ยวกับผลิตทางอาหารทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่เรื่องเมล็ดพันธุ์ แต่รวมไปถึงผลผลิตทั้งหมดที่เขาเรียกว่าห่วงโซ่อุปทานของการผลิตอาหาร ที่มันจะต้องถูกทำให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
-หมายความว่ายังไงอธิปไตยทางอาหาร?
หมายความว่าเวลาคุณไปซื้ออาหารคุณต้องมีทางเลือกมากขึ้นไม่ใช่มีอยู่เจ้าเดียวประชาชนต้องมีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอยากจะกินอะไรก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นสมมุติว่าถ้ามีจีเอ็มโอจริงๆประชาชนก็ต้องสามารถรู้ได้ว่าอันไหนคือพืชจีเอ็มโอต้องมีตราสัญลักษณ์หรือฉลากที่ชัดเจนหรือหากประชาชนต้องการจะกินพืชแบบออร์แกนิกก็สามารถเลือกที่จะหากินได้นี่คือการเพิ่มทางเลือกให้กับคนไม่ใช่ทั้งหมดของสินค้าเป็นแบบเดียวกันและไม่มีฉลากให้คนรับรู้ อันนี้คือไม่มีอธิปไตยทางอาหาร กรณีนี้คือเราเป็นประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น เพราะหากเราไม่มีสิทธิที่จะเลือกกินอาหารแบบไหน นั่นหมายความว่าเราไม่มีอธิปไตยทางอาหาร
- จากที่เฝ้ามองสถานการณ์การถกเถียงต่อสู่เรื่องนี้มา มองว่าขณะนี้เรามีอธิปไตยทางอาหารหรือไม่?
คือ ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มี (สวนกลับทันที) คือ ต้องแยกเป็นสองระดับ ระดับประเทศกับระดับการตัดสินใจ ในระดับประเทศไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามต้องยอมรับความจริงว่าล้วนมีความใกล้ชิดกับทุน แต่พอเกิดปัญหาในช่วงนี้ ต้องยอมรับมันเป็นปัญหามากกว่ารัฐบาลปกติ เพราะการออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นต่างๆก็ยากขึ้น เนื่องจากมีข้อกำหนดการชุมนุมอย่างมาก หรือในทางกลับกันทำให้การขับเคลื่อนกฎหมายจีเอ็มโอมีความสะดวกมากขึ้น แต่ในระดับปัจเจกต้องยอมรับว่าเราไม่มีทางเลือกมากขนาดนั้นเพราะเวลาเราเดินเข้าไปในห้างเราเจอสินค้าไม่กี่ประเภทหรอกและที่สำคัญเราไม่รู้ด้วยว่าอันไหนคือพืชจีเอ็มโอหรือไม่จีเอ็มโอนอกจากนี้เรายังจะเจอสินค้าจากเจ้าเดียวกันหมดแปลว่าเราไม่มีอำนาจในการต่อรองเช่นหากเขาขึ้นราคาสินค้าประเภทข้าวหรือใส้กรอกและประชาชนจะมีอำนาจไปต่อรองหรือเพราะเขาก็จะบอกว่าเขาไม่ได้บังคับให้ซื้อก็ไปกินอย่างอื่นสิอย่างนี้เป็นต้น หากประชาชนอยากจะกินพืชออร์แกนิกที่หลากหลาย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากต้องเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาเก็ตแบบเดิม
-ในฐานะนักรัฐศาสตร์แนะนำเรื่องนี้หน่อย ทางออกควรจะเป็นอย่างไร?
ระดับปัจเจกเราควรต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ ไม่ใช่เเค่เรื่องจีเอ็มโออย่างเดียว แต่ต้องรวมเรื่องอื่นๆด้วยว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถลดการผูกขาดสินค้าเกษตรลงให้ได้มากที่สุด และเราจะทำอย่างไรให้มีการสนับสนุนเกษตรทางเลือกอย่างอื่นซึ่งเป็นเกษตรทางเลือกเช่นพืชแบบออร์แกนิก หรือการเกษตรแบบยั่งยืน ประชาสัมพันธ์เวลามีตลาดสีเขียว ที่จะวนไปตามมหาวิทยาลัย ก็น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นทางเลือกอีกอันที่ผู้บริโภคสามารถเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจได้
ส่วนในระดับสังคม กรณีมีการผ่านกฎหมายเเบบนี้อีก ก็ต้องมีการช่วยกันส่งเสียงไปยังรัฐบาล ต้องช่วยกันแชร์และโพสต์เรื่องนี้ เชื่อว่าเสียงมันจะดังไปถึงรัฐบาลอย่างแน่นอน ในระดับหนึ่งผมเห็นว่ารัฐบาลน่าจะรับฟังเรื่องเช่นนี้ เพราะมันเป็นประเด็นที่เคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าประเด็นทางการเมือง ซึ่งด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าคนที่เคลื่อนไหวก็รู้จักกับรัฐบาล และมันไม่ใช่ประเด็นสีเสื้อทางการเมือง แต่มันเป็นประเด็นทางสังคม ซึ่งการชุมนุมก็ไม่ได้หมายความว่าต้องค้านหัวชนฝา แต่เป็นการพูดเพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อดี-ข้อเสีย ทำให้กลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา จนกระทั่งรัฐบาลต้องทบทวน
ทั้งนี้ ในส่วนกฎหมายจีเอ็มโอนั้น คนที่ได้ประโยชน์และอยู่ข้างหลังคือกลุ่มทุนและราชการ ขณะที่ฝ่ายต้านก็ไม่ธรรมดา เพราะมีเครือข่ายใหญ่ และสามารถเชื่อมโยงกับรัฐบาลได้ บางกลุ่มก็เคยเป็น สปช.
โดยในส่วนกฎหมาย ก็ต้องกำหนดความชัดเจนของตัวคณะกรรมการ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หากจะมีกฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมายที่เข้ามาจำกัดเเละสร้างความปลอดภัยในกระบวนการทั้งหมด เพราะจริงๆเราก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงพืชจีเอ็มโอได้ แต่จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด และตัวคณะกรรมการเองที่จะต้องมีส่วนร่วมของทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายไม่เห็นด้วย เพื่อให้ได้มติสุดท้ายที่มีเหตุมีผลทุกฝ่ายยอมรับได้
แต่ถ้ามองในมุมเกษตรกร ก็อย่างลืมว่ามันมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่หันมาทำเกษตรทางเลือก เกษตรออร์แกนิก เป็นต้น คือในเชิงทุนก็ต้องเข้าใจมันก็มีเกษตรกรที่ต้องการทำทั้งพืชออร์แกนิก และกลุ่มที่ต้องการทำพืชจีเอ็มโอที่ต้องผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ถามว่าตลาดต้องการอะไร ตลาดก็ต้องการสินค้าสะอาด สดใหม่ ไม่มีตำหนิ ซึ่งก็ต้องเข้าใจเขา ว่าพืชจีเอ็มโอมันตอบโจทย์ในส่วนนี้
แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า เขาต้องตัดสินใจอย่างนี้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น ในฐานะประชาชน หากเราเห็นทางเลือกอื่นเช่นในตลาดของยุโรป เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้านพืชจีเอ็มโอแบบสุดๆเลย และเขาส่งเสริมให้ปลูกและนำเข้าสิน ค้าที่เป็นออร์แกนิก ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ก็น่าจะเป็นทางเลือกอันหนึ่ง รวมถึงกระเเสสังคมของคนไทยเอง ที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพและพืชออร์แกนิกมากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ให้สินค้าออแกนิกมีราคาแพงขึ้น หากเกษตรกรผลิตพืชขึ้นมาและติดตราออร์แกนิก ก็จะทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นต้น ผลผลิตดังกล่าวก็จะเป็นทางเลือกที่ดี
-ดูเหมือนพืชออร์แกนิกเป็นทางออกความขัดแย้งของเรื่องนี้?
จริงมีเรื่องที่จะต้องเถียงกันต่ออีกว่าหากจะเดินหน้าหนุนพืชออร์แกนิกจริงๆสุดท้ายอำนาจการกำหนดนิยามก็อยู่ที่กรมวิชาการเกษตรอีกว่าจะเป็นพืชออแกนิกแบบใดและจะรับรองมาตรฐานได้ยังไงซึ่งเรื่องนี้มันก็มีเรื่องทางการเมืองต้องจับตาอยู่ เพราะองค์กรนี้ก็เคยเป็นคู่อริกับกรีนพีช สินค้าออร์แกนิกบางอย่างก็อาจได้รับการรับรอง แต่สินค้าออร์แกนิกที่เกิดจากชุมชนเอง ก็อาจไม่ได้รับการรับรอง เช่น บางที่ประชาชนเขาคิดปุ๋ยจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือปุ๋ยอีเอ็มอะไรขึ้นมา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรอาจจะบอกว่ามันไม่ได้มาตรฐาน เป็นวัตถุอันตราย ทำให้ไม่ได้รับการรับรองได้ กล่าวคือมันเป็นการเมืองว่าแม้จะเป็นสินค้าเกษตรทางเลือก ก็จะต้องอยู่ภายใต้การครอบงำจากรัฐ ที่จะบอกว่าอะไรคือเกษตรทางเลือกหรือไม่เลือก อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่ากรมนี้ก็เคยจับมือกับเอกชนในการทดลองพืชจีเอ็มโอมาเเล้วด้วย จนมีเรื่องกันมาเป็นสิบปี และซับซ้อนกันอยู่
-ทำไมกฎหมายจีเอ็มโอไม่ผ่าน รัฐบาลยอมถอย?
คิดว่าไม่ใช่เรื่องเกินคาด เคยพูดมาเเล้ว และเป็นปัญหาตอนมติครม.ออกมา มันเเสดงให้เห็นว่าเอ็นจีโอมีอำนาจในการต่อรองสูง กว่าขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ตั้วแต่การเคลื่อนไหวจนมีโฆษกรัฐบาล ออกมารับหนังสือด้วยตนเอง แม้กฎหมายจะถูกยกเลิก แต่ไม่ใช่การยุติไปเสียทีเดียว เพราะเป็นการนำกลับไปศึกษาใหม่ ส่วนจะกลับเข้ามาอีกหรือไม่นั้น เชื่อว่าอาจไม่ทันในรัฐบาลนี้ เพราะหากรัฐบาลนี้นำกลับมา ก็จะเเสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งกันเองของจุดยืนนายกรัฐมนตรี
-สุดท้ายอยากฝากอะไรสำหรับการถกเถียงเรื่องนี้?
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสีเสื้อแต่มันคือการเมืองในชีวิตจริงของเกษตรกร สังคมจึงต้องเข้าหากันและคุยกันโดยแยกประเด็นว่า ว่าอะไรคือพืชจีเอ็มโอ อะไรที่มันจะกระทบกับสิ่งเเวดล้อม และอะไรที่กระทบกับเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่บอกว่าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงไม่สนใจสองประเด็นหลัง หรือถ้าเป็นเอ็นจีโอจะบอกว่าเราไม่สนใจสองประเด็นแรก ซึ่งมันก็ไม่ใช่ สุดท้ายประชาชนเองก็ต้องการทางเลือกในการบริโภค เกษตรกรก็อยากมีทางเลือก เราจะทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่านี้
ยอมรับว่าการพูดแบบนี้ดูเหมือนจะโลกสวย เพราะอย่างที่รู้ว่าระบบการผลิตในไทยหลายอย่างถูกผูกขาดอยู่โดยทุนไม่มาก แต่เรื่องนี้ก็จำเป็นต้องคำนึงถึง ส่วนตัวมองว่า หัวใจของอธิปไตยทางอาหารคือ การมีประชาธิปไตย หากไม่มีประชาธิปไตยการถกเถียงเรื่องอธิปไตยทางอาหารคงเป็นไปได้ยาก
เรื่องนี้เห็นชัดในการต่อสู้ของกลุ่ม เวีย คัมเปซินา เพราะที่สุดแล้วกลุ่มทุนมักจะเข้าถึงรัฐได้มากกว่าประชาชน เขาจึงต่อสู้ไปพร้อมกันทั้งเรื่อง การผลิตทางการเกษตร อาหาร ภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ของเวีย คัมเปซินา บอกเราว่าเราไม่สามารถมีอธิปไตยทางอาหารได้ภายใต้อำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ เพราะการตัดสินใจมันไม่มีเสรี
-แล้วทำไมคนสหรัฐอเมริกาประเทศเสรีจึงไม่ต้านจีเอ็มโอมากเหมือนในยุโรป?
อย่างที่บอกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ทุนมีอำนาจสูงมากถูกผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยไม่กี่บริษัทที่จะต้องเน้นการผลิตให้มีปริมาณมากต่อให้มีประชาธิปไตยก็ทำให้การสร้างอธิปไตยทางอาหารเป็นเรื่องยากพอสมควร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.