การ์ตูนล้อเลียนปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะการที่ผู้คน “แตกแยกทางความคิด” อย่างรุนแรง ที่ไม่ใช่เพียงแค่แบ่งฝ่ายทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมแทบทุกเรื่องด้วย ต้นเหตุมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” ที่สะสมยาวนานนับสิบปี
ซึ่งนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว..นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก!!!
ย้อนไปเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2558 ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซอยรามคำแหง 39 กรุงเทพฯ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เปิดเผยถึงผลการศึกษาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งพบข้อมูลที่ “น่าเป็นห่วง” หลายประการ
1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยเรื้อรัง มานาน อ้างอิงข้อมูล World Development Indicators และ Gini Coefficient จากฐานข้อมูล The Standardized World Income Inequality Database ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University, USA) รวมกับข้อมูลของไทยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระหว่าง ค.ศ.1960-2012(พ.ศ.2503-2555) เปรียบเทียบระหว่างไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน พบว่าในห้วงเวลาเดียวกัน ในระดับการพัฒนาเท่าๆ กัน ไทยกลับมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าอีก 2 ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
“ที่ระดับรายได้เท่าๆ กัน อย่างเกาหลีใต้สัก 20 ปีที่แล้ว ความเหลื่อมล้ำเขาต่ำกว่าเราเยอะ ไต้หวันก็เช่นกัน ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยน่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดังนั้น ที่ระดับการพัฒนาเท่ากัน เราจึงเหลื่อมล้ำกว่าเขามาก ถ้าปัญหาเป็นเชิงโครงสร้างแล้วมันไม่ได้หายไปไหน ความเหลื่อมล้ำก็น่าจะเป็นปัญหาที่ซีเรียสมากในสังคมไทย ทีนี้ทำไมช่วงนั้นเกาหลีใต้และไต้หวันเขาทำได้ดีและดีต่อๆ มา เพราะการศึกษาเขาทำได้ดีมาก เขาให้โอกาสทางการศึกษาประชาชนของเขาดีมาก ขณะที่ประเทศไทยยังห่างจากเขาอีกเยอะ” ดร.สมชัย กล่าว
2.งบประมาณใช้จ่ายด้านสังคมของไทยต่ำมาก อ้างอิงจากข้อมูลของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO)พบว่า ไทยใช้จ่ายด้านการคุ้มครองทางสังคมของรัฐบาลเพียงร้อยละ 1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น น้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนากลุ่มลาตินอเมริกา เช่น โบลิเวีย อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ของ GDP , บราซิล อยู่ที่ร้อยละ 12.7 ของ GDP และ เม็กซิโก อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของ GDP
“รายจ่ายด้าน Social Protection (การคุ้มครองทางสังคม) ของเราต่ำกว่าประเทศลาตินอเมริกา บราซิลนี่สูงนะครับ ของเราจะน้อยกว่าลาตินอเมริกา น้อยกว่าเกาหลีใต้ ดีกว่าอินโดนีเซียนิดหน่อย แต่เราแย่กว่าจีน ทั้งที่ระดับการพัฒนา รายได้ต่อหัวของจีนก็ไม่ได้ดีกว่าเราเท่าไหร่”
ดร.สมชัย ระบุ
3.ทัศนคติของผู้คนโน้มเอียงไปในทางที่เป็นอันตราย นักวิชาการจาก TDRI รายนี้ ชี้ให้เห็นข้อกังวล 2 เรื่อง เรื่องแรก “ชนชั้นกลางหันหลังให้กลไกของรัฐ” ไม่เชื่อมั่นในระบบราชการว่าจะช่วยคุ้มครองดูแลตนได้ จึงหันไป “ดิ้นรนตัวใครตัวมัน” เช่น หาเงินให้มากๆ เพื่อส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะมองว่ารัฐบาลไม่อาจทำให้โรงเรียนของรัฐมีคุณภาพดีเท่าเทียมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ผลกระทบย่อมตกอยู่กับ “ชนชั้นล่าง” หรือคนยากจน ที่ไม่มี“ทางเลือกอื่น” เนื่องจากภาคประชาชนโดยชนชั้นกลางไม่คิดจะทำให้กลไกภาครัฐมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว..ก็ยิ่งรุนแรงทวีคูณมากไปอีก!!!
“คนชั้นกลางเริ่มหมดหวังในภาครัฐ มองภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพเสียแล้ว คนชั้นกลางจากที่จะเรียกร้องก็ไม่เรียกร้องแล้ว ยกตัวอย่างการศึกษา ถ้าภาครัฐไม่อาจให้การศึกษาที่ดี ที่ตรงกับความต้องการของคนชั้นกลางส่วนใหญ่แล้ว เขาก็จะหันไปใช้บริการภาคเอกชน โรงเรียนนานาชาติผุดขึ้นเป็นว่าเล่น พอเป็นแบบนี้ก็จะไม่มีใครไปตรวจสอบให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลก็ตกอยู่กับคนจน เพราะคนจนไม่มีทางเลือก คนจนยังไงก็ต้องรับบริการจากภาครัฐ เมื่อภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพแล้วคนชั้นกลางไม่ไปตรวจสอบ คนจนถูกกระทบไปด้วย”
นักวิชาการจาก TDRI รายนี้ แสดงความเป็นห่วง ซึ่งจะสืบเนื่องไปถึงเรื่องที่สอง คือ “ยอมจำนนกับความฉ้อฉล” หรือการคอร์ รัปชั่น เนื่องจากการตรวจสอบการทุจริต เป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ค่อนข้างมาก เช่นเงินทุน องค์ความรู้ เวลา ฯลฯ แน่นอนว่าชนชั้นล่างไม่มีทางมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน เพราะ “แค่ทำมาหากินไปวันๆ” ก็เหนื่อยมากแล้ว ท้ายที่สุดจึงมองว่า “ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้” ทำได้เพียงแต่จะอยู่กับมันอย่างไร จะหา“เศษผลประโยชน์” จากการทุจริตที่เกิดขึ้นอย่างไรแก่ตนและพวกพ้องบ้างเท่านั้น
ความคิดที่ว่า “โกงได้ไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ต้นตอก็มาจากตรงนี้!!!
“ถ้ามีช่องว่างคนรวยคนจนมาก คนรวยก็จะมีทรัพยากรอยู่ในมือมาก มีอำนาจหลายๆ อย่างอยู่ในมือมาก มันทำให้เขาสามารถคอร์รัปชั่นได้มาก ฝั่งคนจนเนื่องจากมีทรัพยากรในมือน้อย มีเงินอยู่ในมือน้อย ก็ไม่สามารถทำให้คนจนไปตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้ เพราะการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นไม่ใช่ว่าฟรี ต้องใช้แรงต้องใช้ทรัพยากร
เพราะสังคมที่คนจนไม่มีทรัพยากรอยู่ในมือ หรือคนชั้นกลางมีสัดส่วนที่น้อย คอร์รัปชั่นก็ง่าย ก็จะมีผลต่อทัศนคติในการยอมรับคอร์รัปชั่นด้วย เช่น คำว่าโกงได้แต่ให้มีผลงาน เพราะสังคมคิดว่าไม่สามารถสู้กับคอร์รัปชั่นได้แล้ว เมื่อยอมแพ้เสียแล้วก็ยอมรับการคอร์รัปชั่นก็แล้วกัน ถ้ามีผลงานก็ใช้ได้ เพราะเหลื่อมล้ำมากมันจึงไม่สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้”
ดร.สมชัยกล่าวทิ้งท้าย และเสริมว่าลำพังประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะแม้ในทางทฤษฎี การเมืองแบบประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน มีการขยายโอกาสทางการศึกษา การเก็บภาษีที่หลากหลาย แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัจจัยแทรกซ้อนมากมายที่ทำให้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ในบางประเทศ คนรวยกับคนชั้นกลางร่วมมือกันเพื่อกีดกันคนจนออกไปจากส่วนแบ่งทางอำนาจ หรือในบางประเทศ การเก็บภาษีต่างๆ ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็น
แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยยังเป็นสิ่งที่ดี แต่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ ต้องใส่ปัจจัยอื่นๆ ลงไปด้วย!!!
(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.