ยังเหลือเวลาอีก 10 วันเท่านั้นที่กลุ่มประเทศในอาเซียนจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในวันที่ 31 ธันวาคม โดยมีจุดมุ่งหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน คนงานที่มีฝีมือ และเงินทุนภายในอาเซียนได้ อย่างเสรี
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเกษตรกรรม แม้จะเป็นโอกาสที่จะสามารถขยายตลาดสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่ประเทศไทยผลิตและส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการผลิตและบริโภค อาจมีผลกระทบและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อผลผลิตและการตลาดของข้าวในอนาคตได้เช่นกัน
ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากา รกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง นโยบายข้าวและชาวนาแห่งชาติ บนเวทีการประชุม “เวทีข้าวไทยปี 2558” ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ว่าเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนและความท้าทายที่สำคัญของนโยบายข้าวและชาวนาของประเทศให้ก้าวสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน และต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจการค้าเสรีทั้งในและนอกเออีซี รวมทั้งรสนิยมการบริโภคที่แตกต่าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ต้องมีการเพิ่มพูนความเข้มแข็งเพื่อสร้างโอกาสของข้าวและชาวนาไทยในอนาคต
ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ ต้องกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ให้อยู่บนยุทธศาสตร์ที่ใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง โดยพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของข้าวไทย โดยจุดแข็งของข้าวไทยนั้นเกิดจากมีความหลากหลายทางชีวภาพจากภูมิศาสตร์ของประเทศ ทำให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย และปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้อย่างยืดหยุ่นกับสถานการณ์การเพาะปลูก รวมทั้งสนองความต้องการของตลาดได้อย่างครบวงจร
ส่วนจุดอ่อนของข้าวไทยที่ยังต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ยังขาดความสม่ำเสมออันเกิดจากการลดความสำคัญของนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิต แต่มุ่งเน้นนโยบายด้านราคา ทำให้คุณภาพข้าวไทยมีแนวโน้มต่ำลง เพราะเกษตรกรเน้นในด้านปริมาณ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดที่แท้จริง นอกจากนี้ยังขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดีอีกด้วย
สำหรับความเสี่ยงของข้าวไทยมี 4 ด้านหลักด้วยกัน อาทิ 1.ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกมีการเร่งรัดให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 2.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3.ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวไทยลดลง แม้จะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคือการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศมีราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารเคมีเป็นต้น
“การเข้าสู่ระบบการค้าเสรีเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของข้าวและชาวนาไทย โอกาสคือเรามีตลาดขนาดใหญ่ขึ้น มีช่องทางการกระจายสินค้าข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงคือ เราไม่สามารถรักษาและพัฒนาคุณภาพของสินค้า ต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ หรือ สปป.ลาว ตรงนี้อาจทำให้โอกาสจะกลายเป็นวิกฤตได้ ฉะนั้นการพัฒนาข้าวไทยต้องคำนึงถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง ที่จะต้องนำไปสู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ไปจนถึงการจำหน่ายและแปรรูป รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ในมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกมาตลอดอย่าง รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ ที่วิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของข้าวไทยในตลาดการค้าข้าวโลก ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญและเป็นแหล่งที่ผลิตข้าวได้มากเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศและส่งออกต่างประเทศยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
จุดแข็งของข้าวไทยที่ส่งออกมายายนาน ประการที่หนึ่งน่าจะมาจากนโยบายข้าวของไทยในอดีตได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าข้าวมาโดยตลอด มีการปรับปรุงให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพแ ทำให้ข้าวของไทยมีระดับราคาพรีเมียมที่สูงกว่าคู่แข่งขันจากภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ปรับปรุงที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ประการที่สอง โรงสีซึ่งเป็นหน่วยผลิตกลางน้ำในการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารมีการพัฒนาในประสิทธิภาพและกำลังการผลิตอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการได้รับสินเชื่อในระบบของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ทำให้เกิดการปรับตัวในศักยภาพการสีข้าวที่สามารถผลิตได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และประการที่สามเป็นผลจากการกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวสารของไทยเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตข้าวในห่วงโซ่อุปทานมีการผลิตสินค้าข้าวตามมาตรฐานที่กำหนดที่เชื่อถือในตลาดส่งออก
แต่กระนั้นในช่วงกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ข้าวไทยจากที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจกลายเป็นพืชการเมืองอย่างเต็มตัว ทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดโดยยกระดับราคาในระดับที่สูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก อันนำไปสู่การสร้างอำนาจผูกขาดในตลาดข้าวเปลือกและตลาดข้าวสารส่งออกและการสะสมข้าวในสต็อกจำนวนมาก ทำให้คุณภาพข้าวไทยขาดความเชื่อถือในตลาดผู้นำเข้าและทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยถูกทอนราคาให้ต่ำลง ขณะที่การยกระดับราคาข้าวให้อยู่ในระดับสูงกลับไม่มีกลไกในการสร้างหรือสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในคุณภาพและลดต้นทุนของผู้ผลิตต้นน้ำได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะบั่นทอนต่อการส่งข้าวไทยในอนาคต
จะเห็นได้ว่าการเปิดการค้าเสรีในกรอบของเออีซี แม้ตลาดสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะข้าวจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่หากไม่มีการพัฒนาด้านคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และการแปรรูปเป็นไปตามที่ตลาดต้องการ โอกาสที่จะส่งสินค้าได้มากขึ้นอาจกลายเป็นวิกฤติได้เช่นกัน
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 21 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.