ศ. ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของ ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคัดเลือกบุคคลผู้สืบสานปณิธานอาจารย์ป๋วยในแวดวงต่างๆ เพื่อแสดงปาฐกถาต่อสาธารณะในหัวข้อ ที่สะท้อนถึงความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ป๋วย โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เมษายน 2558 ถึงมกราคม 2558 ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: การเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย” โดย ศ. ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้บรรยาย
การคิดเรื่อง “สังคมผู้ประกอบการ” จะทำให้เห็นทิศทางการผลักดันสังคม/สังคมชนชทไทย (ที่สำคัญจะเป็นการเปลี่ยน “จินตนาการประเทศไทย” ที่มีต่อชนบท)
ศ. ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า เราคงต้องคิดหรือดำเนินตามสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้วางไว้ในหลายๆ ด้าน ในงานที่จะพูดถึงนั้นส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับสิ่งที่อาจารย์ป๋วยเคยคาดหวังไว้ โดยจะบรรยายเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือสิ่งที่ตนคิดถึงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ว่าเราจะมองท่านอย่างไรได้บ้าง และส่วนที่สอง คือความเปลี่ยนแปลงชนบทในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว
เรื่องแรกที่อยากจะเสนอ คืออยากจะให้เราคิดถึงอาจารย์ป๋วยว่าอาจารย์ป๋วยเป็นใคร บางแง่มุมที่ผมคิดว่าน่าสนใจในเวลาที่เราพูดถึงอาจารย์ป๋วยว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพนั้นมีความหมายว่าอย่างไร
ช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วยนั้นอยู่ในช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกๆ การขยายตัวของรัฐ กลไกรัฐขยายออกอย่างกว้างขวาง กลไกรัฐที่สำคัญคือข้าราชการและระบบราชการ ผมคิดว่าจารย์ป๋วยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมสร้างอัตลักษณ์และความหมายของการทำงานของข้าราชการขึ้นมา อาจารย์ป๋วยเห็นถึงความสำคัญของระบบราชการและข้าราชการ
ปาฐกถาของอาจารย์ป๋วยมากมายที่ท่านได้รับเชิญไปบรรยายในช่วงที่ท่านทำงานแบงก์ชาติและอื่นๆ ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความหมายหรือการเชื่อมต่อความหมายของข้าราชการที่เชื่อมต่อกับการพัฒนาและความก้าวหน้าของสังคม
ในปี 2503 ท่านคุยกับนักบัญชีของประเทศ ท่านพยายามอธิบายว่าทำบัญชีเพื่ออะไร ไม่ใช่บัญชีเพื่อสำเร็จการบัญชี หรือจบในการคิดบัญชีของประเทศชาติ แต่ท่านพยายามบอกว่า การทำบัญชีจะเพิ่มโอกาสในการคิดตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น การทำบัญชีจึงเป็นการทำบัญชีเพื่อชาติและสังคม การเชื่อมต่อความหมายของการทำงานผูกพันอยู่กับชีวิต ไม่ใช่ผ่านกาลเวลาเฉยๆ
“ผมคิดว่าอาจารย์ป๋วยพยายามเชื่อมต่อความหมายของการทำงานของปัจเจกชนว่าไม่ได้ทำเพื่อปัจเจกหนึ่งคนเท่านั้น แต่หากงานของข้าราชการที่จะมีความหมายนั้นต้องเชื่อมอยู่กับสิ่ง ที่สูงมากกว่า ผมใช้คำว่าบรมธรรมของสามัญชน เช่น ความซื่อสัตย์ ความตั้งใจทำงาน หรือการเชื่อมโยงกับชาติ ไม่ได้ทำงานแค่ส่วนของตนเท่านั้น ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ของข้าราชการ”
น่าสนใจตรงที่อัตลักษณ์ของข้าราชการแบบที่อาจารย์ป๋วยพยายามสร้างในวันนี้มันไม่มีแล้ว เราไม่ได้คิดถึงอัตลักษณ์ของข้าราชกา รที่มีความหมายอีกแล้ว ลองคิดดูให้ดี ระบบราชการไทยที่เทอะทะ ทั้งหมดมีอุดมการณ์อะไรไหม มีการเชื่อมโยงอะไรไหม ผมคิดว่าน้อยลงมาก เราคงต้องคิดในเรื่องนี้ แต่จะดึงแนวคิดอาจารย์ป๋วยมาทั้งหมดเลยคงไม่ได้ เพียงแต่ต้องคิดกันใหม่ว่าเราจะสร้างอักลักษณ์ของระบบราชการและข้าราชการในสมัยนี้อย่างไร อย่างพูดถึงครู ครั้งหนึ่งครูคือผู้นำทางปัญญาของชุมชน แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจในยุคสมัยของอาจารย์ป๋วยคือ อาจารย์ป๋วยมองเห็นชนบทและให้ความสำคัญกับชนบท เพราะในช่วงการทำงานของอาจารย์ป๋วยจนถึงปี 2509 เป็นอย่างน้อย ความยากจนได้ปรากฏตัวมากขึ้น การอพยพเข้ามาทำงานในเมืองเกิดขึ้น สลัมขยายตัว คุณ รงค์ วงษ์สวรรค์ ถ่ายรูปเด็กในสลัม ปี 2513 นั้นช็อกคนทั้งกรุงเทพฯ การสูญเสียที่ดินเริ่มขยายตัวมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงในชนบทนี้เกิดขึ้นพร้อมกับกลไกของระบบราชการเข้าไปขยายตัว เข้าไปครอบคลุมทุกอย่างมากขึ้น จนกระทั่งทำให้ชาวบ้านถูกทำให้เป็นชาวบ้าน กล่าวคือเป็นผู้ที่ไร้อำนาจ ระบบการเงินการธนาคารขยายตัวดูดทรัพย์ส่วนส่วนเกินจากชนบท จากหัวเมืองมาเป็นการผลิตสมัยใหม่สูงขึ้น ปี 2519 อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็พูดถึง ปลิงดูดเลือดจากชนบท
บริบทแบบนี้เอง อาจารย์ป๋วยบอกว่าจะต้องคิดถึงเรื่องชนบท อาจารย์ป๋วยได้ตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อค้นหาพลังชุมชน ซึ่งในส่วนนี้สิ่งที่อาจารย์ป๋วยทำก็ได้ตกทอดมาสู่นักพัฒนาเอกชน อย่าง NGO ทั้งหลายค่อนข้างมาก พลังของชุมชนนี้คือสิ่งที่เราค้นหา เราจำเป็นต้องคิดถึงชนบทกันใหม่
อาจารย์ป๋วยเคยพูดไว้ว่า ถ้าหากชาวชนบทช่วยเหลือตัวเองได้ จะมีความเชื่อมั่น ก็ย่อมเข้าใจว่าตนเองมีสิทธิ์เสรีเหมือนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย สามารถเรียกร้องความร่วมมือในสังคมและการปกครองได้ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้ ผมคิดว่าเรากำลังเห็นสิ่งที่อาจารย์ป๋วยอยากจะแสวงหาตรงนี้
“ความสนใจชนบทของอาจารย์ป๋วยเองเป็นจุดกำเนิดหรือประกายไฟให้กับคนในสังคมไทยมากมาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า NGO ส่วนหนึ่งมีผลจากการกลับเข้าไปอ่านงานของอาจารย์ป๋วย นี่คือส่วนแรกที่ผมอยากจะบอกว่าถ้าหากเราจะคิดถึงอาจารย์ป๋วย เรายังคิดถึงแง่มุมอื่นๆ ได้อีกเยอะแยะ ส่วนของผมก็แค่ส่วนเดียว”
ศ. ดร.อรรถจักร์ เริ่มบรรยายในส่วนหัวข้อวันนี้ ว่า “ความเปลี่ยนแปลงของชนบทในสังคม ไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว หรือ Democracy on the move คือมันมีความเปลี่ยนแปลง แต่มันไม่ใช่ Democratization (การทำให้เป็นประชาธิปไตย) ถ้าเป็น Democrtization แปลว่าเรามีเป้าหมายเป็นสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดในสังคมไทยขณะนี้คือมันกำลังเคลื่อน แล้วประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน ท้ายสุดผมเสนอว่าประชาธิปไตยคือ unfinished project คือโปรเจกต์ที่ไม่จบ
ถ้าหากเราคิดถึงโมเดลที่ตั้งไว้ แล้วให้เราเคลื่อนไปเป็นโมเดลนั้น เราอาจจะไม่พบประชาธิปไตยแบบนี้ที่ไหนเลยในโลก นอกจากในหนังสือที่นักคิดเขียน ถ้าหากเรามอง on the move เราอาจจะหาเส้นทางที่เหมาะสมได้ดีกว่า เพื่อคิดกันว่าเราจะเข้าใจชนบทอย่างไร โครงการนี้เราเริ่มคิดกันตั้งแต่กลางๆ ทศวรรษ 2540 แล้ว
มีการเสนอในตอนนั้นว่าสังคมชาวนาไม่มีอยู่แล้ว แต่ในช่วงนั้นยังคิดไม่ชัด โดยใช้คำว่า สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ที่ยังคงเป็นเกษตรกรรมอยู่ และเคยเสนอโปรเจกต์นี้ไปเพื่อทำวิจัยก่อนที่จะมีการฆ่ากันกลางเมือง แต่ในตอนนั้นไม่มีใครสนใจเลย จนกระทั่งเกิดกระแสเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จึงทำให้โปรเจกต์นี้ได้รับความสนใจขึ้นมา ประกอบกับทำให้เกิดการขยายตัวการศึกษาเรื่องเสื้อแดงอย่างมากมาย งานที่ยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งคือของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย
แต่สิ่งที่ทีมของเราคิดกันต่อเรื่อยมา คือ เราคงไม่อยากเข้าใจเหลืองและแดงเพียงมิติของอุดมการณ์ หรือความคิดทางการเมือง แต่เราอยากจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อที่จะวางผู้ปฏิบัติการ หรือผู้ที่กระทำการต่างๆ ให้เกิด Democracy on The Move อย่างชัดเจนในโครงสร้าง เพราะหากเรามองเฉพาะเหลืองและแดงอย่างแยกออกจากโครงสร้างภาพมันอาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามมองเห็นคือมันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอะไรบ้างในชนบท และท้ายที่สุดแล้วเราก็กลับไปเห็นคล้ายๆ ที่อาจารย์ป๋วยได้ทิ้งไว้ คือเราเห็นพลังของพี่น้องชนบทว่าเป็นอย่างไร
ในงานของเราได้ศึกษา 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1. ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทอย่างเป็นประวัติศาสตร์ 2. ความเปลี่ยนแปลงในการจัดตั้งทางสังคมในชนบท 3. การเมืองในสถาบันและนอกสถาบันในพื้นที่ชนบท 4. ความเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างทางความรู้สึก
โดยทั้ง 4 ส่วนคือส่วนที่สัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ออก เป็นโครงสร้างที่ซ้อนทับกันอยู่ และการศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ของชุดนี้จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดขึ้น และในความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ชัดขึ้นนั้นเราจะเห็นผู้ปฏิบัติการทางสังคมชัดเจนมากขึ้น
สิ่งที่เราตั้งคำถามขึ้นมาง่ายๆ คือ วิกฤติในสังคมไทยทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าพูดแบบญี่ปุ่นคือเราอยู่ใน loss of decade เป็น 10 ปีที่สูญหายไป เราอยู่ในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ลึกซึ้ง และไพศาล ปัญหาพื้นฐานของปัญหาอื่นๆ คือ ความไม่รู้ และความไม่รู้ที่สำคัญคือความไม่รู้เรื่องชนบท เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้
“การเปลี่ยนจาก ‘สังคมชาวนา’ มาเป็น ‘สังคมผู้ประกอบการ’”
ศ. ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทที่ศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ เป็นการมองประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนด้วยมุมมองใหม่
“เราพยายามจะข้ามให้พ้นสิ่งที่กั้นตาเราไว้ ผมเองเป็นคนที่สมาทานวัฒนธรรมชุมชนในช่วงก่อนปี 2540 การเคลื่อนไหวกับชาวบ้านทั้งหลายนั้นเคลื่อนไหวอยู่บนวัฒนธรรมชุมชน ผมก็ร่วมกับสำนักเชียงใหม่ ครีเอทการพูดถึงสิทธิชุมชนและอื่นๆ แน่นอน อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นคนบุกเบิกคนหนึ่ง ผมคิดว่าเราต้องข้ามพ้นวัฒนธรรมชุมชนแบบตายตัว เราต้องมองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชนบทที่ชัดเจนขึ้น คือมองหาตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง
ผมกลับไปอ่านงานของ Joseph Schumpeter ในการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ผมพบว่าสิ่งที่เขาคิดอันหนึ่งคือ บทบาทของผู้ประกอบการ และถ้าหากเรามองผู้ปฏิบัติการของความเปลี่ยนแปลง (agent of changes) จากมุมมองของ Schumpeter เราอาจจะพบว่าเรามีหลายด้านในสังคมไทยที่หยิบมามองได้
ส่วนแรกที่สำคัญในการมองเศรษฐกิจ เราจะมองเห็นอะไรบ้าง ถ้าหากเรามองอย่างเป็นประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชนบทไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การรับรู้ชนบทอย่างที่เรา รับรู้มานั้นจบไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว สังคมชาวนาอย่างที่เราเข้าใจ อย่างที่ปรากฏในละครทีวี ไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต กระบวนจัดจำหน่ายผลผลิต ความสัมพันธ์กับตลาด ความสัมพันธ์ภายใน-ภายนอกชุมชน นั้นเปลี่ยนหมด
ผมเรียกว่าการเปลี่ยนจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมผู้ประกอบการ และเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสู่ตลาดโดยตรง ชาวนาวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
วันนี้มีรถเกี่ยวขนาดเล็กเกิดขึ้น ราคาแค่ 300,000 บาท ส่วนรถเกี่ยวขนาดใหญ่ราคาประมาณ 1,000,000 บาท มานานแล้ว ทันทีที่มีรถเกี่ยวขนาดเล็ก แปลว่าชาวนาสามารถครอบครองรถเกี่ยวที่ใช้ในพื้นที่ตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเปลี่ยนหมดแล้ว ไม่มีชาวนาแบบเดิมอีกต่อไป
เราไม่สามารถมองชนบทด้วยการมองชาวนาแบบที่ถูกสร้างโดยพระยาอนุมานราชธนในปลายทศวรรษ 2490 อีกต่อไป ซึ่งก็มีคำถามว่าทำไมวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมชาวนาที่ถูกสร้างในช่วงนั้นถึงคงทนมาจนถึงปัจจุบัน มีงานเยอะแยะเลยที่มองสังคมชาวนาแบบเดิม เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าสังคมผู้ประกอบการคืออะไร ผู้ประกอบการในชนบทคือผู้ที่แบกรับความเสี่ยงด้วยการเป็นผู้ประกอบการ อันนี้เป็นคำจำกัดความทั่วไป
ส่วนที่สองที่ต้องเข้าใจ คือ ผู้ประกอบการในชนบท คือเป็นผู้ประกอบสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากแหล่งทรัพยากรหลายแหล่ง และฐานทรัพยากรการผลิตสัมพันธ์กับภาคการเกษตรในชนบท ผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องมุ่งสู่ตลาด ถ้าเรากลับไปดูความเปลี่ยนแปลงในชนบทในทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ทั้งหมดไม่มีใครผลิตแบบเดิม ไม่มีใครไม่ผลิตสู่ตลาด หากไม่ผลิตสู่ตลาดมีก็น้อยมาก
ทั้งหมดเกิด combination of resource เยอะมากในทุกระดับ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเป็นผู้ประกอบการในชนบทมี 2 ด้านที่สำคัญ ด้านแรก คือ กำไรและความภูมิใจในการสร้างสรรค์ และด้านที่สอง คือ การถูกบีบบังคับให้อยู่สภาพลืมตาอ้าปากไม่ได้มานาน เขาจึงกลับไปเอาสิ่งที่ภูมิปัญญามีเข้ามาปรับสู่ตลาด ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป จากงานวิจัยของผมใน 27 พื้นที่ในชนบททั่วประเทศไทย
ผมขอเชิญให้ทุกคนอ่านหนังสือเรื่องเทคโนโลยีชาวบ้าน ของ สนพ.มติชน เทคโนโลยีชาวบ้านนั้นมียอดจำหน่ายปักษ์ละ 50,000 เล่ม ผู้ซื้อคือ อบต. ครู และคนทำวิทยุชุมชน นอกจากนั้นยังมีหนังสือชุดไม่ลองไม่รู้จากสำนักพิมพ์นาคา ที่มีรายการทีวีด้วย ถ้าไปดูที่แผงหนังสือจะพบหนังสือที่เริ่มโชว์ กลายเป็นหนังสือที่เป็น combination ของสินค้าเกษตรเหล่านี้วางอยู่ข้างหน้า โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังไม่มี
เป็นตัวอย่างว่าสังคมชาวนาเปลี่ยนเป็นสังคมผู้ประกอบการแล้ว ตัวอย่างที่ผมไปสัมภาษณ์ มีคนหนึ่งเป็นแรงงานระดับล่างตัดหญ้ามา 15 ปี เขาลองคิดถึงการตัดหญ้าตามทักษะที่เขามี แล้วตอนนี้เขาได้ขายใบพัดตัดหญ้า ในราคา 400 บาท และตั้งโรงงานใต้ถุนบ้าน ประกอบด้วยเพื่อนเขาที่เป็นผู้ประกอบการระดับเล็กทำโรงกลึง ที่นครนายก รายได้ก็เพิ่มขึ้น
ทำไมเราต้องคิดถึงสังคมผู้ประกอบการ กระบวนการนี้ค่อยๆ เกิดขึ้นยาวนานร่วม 20 ปี สิ่งที่สำคัญคือมันกลายเป็นลักษณะหลักของสังคมชนบทไทยไปแล้ว ถ้าหากเรายังคิดถึงสังคมชาวนาแบบเดิม นโยบายเศรษฐกิจช่วยชาวนาก็จะเป็นแบบเดิม ช่วยแบบเดิม NGO ทำงานแบบเดิม และเราก็จะเข้าใจพี่น้องในชนบทแบบเดิม ยังคิดว่าคนในชนบทน่ารัก หรือซื่อสัตย์ ไปเจอชาวชนบทที่ขายของแพงก็โกรธ
ลองคิดกันใหม่ว่าสังคมมันเปลี่ยนไป แล้ว นโยบายของรัฐก็จะเปลี่ยน ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะเสนอ แต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อผมก็ได้ ผมยินดีที่จะผิด แต่เราต้องมองให้พ้นจากสังคมชาวนาแบบเดิม เพราะมันไม่ใช่ มันจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ผมเสนอว่ามันเป็นสังคมผู้ประกอบการ
ความสำคัญคือ ผู้ประกอบการคือพลังที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจซึ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ตอนนี้ในอินเดีย ผู้ประกอบการในชนบทขยายตัวอย่างมหาศาล หรือญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ผมมีตัวอย่างการศึกษาจำนวนมากที่จะบอกกับเราว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ชนบท เป็นแรงผลักในชนบท ที่ทำให้พ้นจากความยากจน การอพยพ และอื่นๆ อีกส่วนที่สำคัญคือเราจะสามารถสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบทได้ ย้ำว่าไม่ใช่แค่รัฐ แต่หมายถึง NGO ด้วย
“คุณ สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ) นั้นเหมือนจะแตะๆ แนวคิดนี้ ในกรณีนโยบายเศรษฐกิจฐานราก แต่ผมคิดว่าครึ่งหนึ่งของทีมงานของท่านยังมองชนบทแบบสังคม ชาวนา ผมยืนยันว่าไม่ได้เรื่อง ถ้าคิดอย่างนี้ ปีหน้าพังหนัก และถ้ารัฐบาลพัง ผมไม่ว่าอะไรหรอก ผมกลัวจะกระเทือนข้างล่าง ย้ำว่าผมไม่ได้ยุยงส่งเสริมอะไรนะ”
ส่วนที่ 3 ที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ ท้ายสุด ถ้าเราไปศึกษาผู้ประกอบการในชนบท เราจะเห็นพลังสร้างสรรค์ของชุมชน อย่างใน จ.สุโขทัย มีกลุ่มหนึ่งเพาะไส้เดือนขาย และพบว่ามีรายได้ขยับขึ้นมาเดือนละหลายหมื่นบาท และยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่เราจะเห็นพลังการสร้างสรรค์ของคนในชนบท (informal sector) ที่สร้างสรรค์ด้วยตัวเองโดยปราศจากการช่วยเหลือจากรัฐ นี่คือการมองเศรษฐกิจชุมชนด้วยมุมมองใหม่
“ผมคิดว่าการที่เราพูดถึงผู้ประกอบการ มันคือจุดที่เข้ามาตอบอาจารย์ป๋วย อาจารย์ป๋วยเคยใฝ่ฝันว่าชาวบ้านจะมีพลังขึ้นมา ผมคิดว่ามันกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ในช่วงนี้”
ศ. ดร.อรรถจักร์ ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
“สิ่งที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะเข้ามาสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดจากการเป็นผู้ประกอบการในชนบทนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ผู้ประกอบการกลายเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสให้ผู้ได้มีโอกาสเลื่อนชนชั้น ตัวเลขของคนยากจนในสังคมไทยลดลง ไม่ได้ลดลงเพราะเขาประสบผลสำเร็จจากผลผลิตทางเกษตรอย่างเดียวแบบเดิม แต่จากการเป็นผู้ประกอบการในชนบท
งานวิจัยของอาจารย์ชญานี ชวะโนทย์ หรือของอาจารย์ธร ปีติดล ชี้ให้เห็นคุณภาพของพี่น้องชนบทที่ขยับขึ้นทุนเปลี่ยน ทุนทางวัฒนธรรมเปลี่ยน ทุนทางสังคมเปลี่ยน ทั้งหมดเปลี่ยนอยู่บนฐานของการเป็นผู้ประกอบการและในการผลิตแบบใหม่นี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ชุดใหม่เข้ามาทดแทน คือความสัมพันธ์แนวระนาบ และที่สำคัญคือเป็นแนวระนาบเชิงเครือข่าย บนฐานการผลิต
ครั้งหนึ่งสังคมไทยเป็นสี่เหลี่ยม มีความสัมพันธ์บนลงล่าง ความสัมพันธ์แนวระนาบนี้สำคัญมาก ผมไปในทุกพื้นที่ พบว่าชาวบ้านอธิบายความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นแนวระนาบ ท้ายสุดสังคมชนบทมีความเสมอภาคมากกว่าเดิม สังคมชนบททั้งหมด 70% เป็นหมู่บ้าน หรือชุมชนที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี 2500 โดยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผลิตเพื่อขาย แต่การผลิตเพื่อขายในช่วงแรกยังมีลักษณะเป็นแนวดิ่ง แต่หลังจากเขาเริ่มเป็นผู้ประกอบการ แนวระนาบก็มีมากขึ้น
คนเฒ่าคนแก่ที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้กุมทางปัญญาก็หมดความหมาย ระบบอุปถัมป์แบบเดิมหมดความหมาย หากคนเฒ่าคนแก่อยากจะรักษาอำนาจต้องกลับเข้าไปอยู่ในเครือข่าย การยอมรับคนว่าใครยอดเยี่ยม ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการอยู่ในเครือข่ายของการผลิตสมัยใหม่ ไม่ใช่ landlord เดิมอีกแล้ว
สังคมของผู้ประกอบการเริ่มข้ามพรมแดนชุมชนแบบเดิม เครือข่ายการผลิตกว้างขวางข้ามชุมชน อำเภอ จังหวัด และกลายเป็นความสัมพันธ์หลักที่กำกับการผลิตให้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การแตกตัวทางชนชั้นชัดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน การเลื่อนทางชนชั้นก็เกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม (กรณีคนตัดหญ้าผลิตใบพัดตัดหญ้า) แต่ทั้งหมดอยู่ในชุมชนเดียวกัน เพราะเขายังต้องเป็นผู้ประกอบการที่ใช้ทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน
การเปลี่ยนระหว่างชนชั้นเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น คนชนบทเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดเป็นชนชั้นกลางใหม่ในพื้นที่ นิยามชนชั้นกลางใหม่ของผมคือ คนที่ใช้ทักษะส่วนตัวในการประกอบอาชีพ และชนชั้นกลางในที่นี้ต้องสัมพันธ์ กับภาคเกษตร เดิมคนจนในชนบทคือคนไม่มีที่ดิน แต่วันนี้ไม่ใช่ คนไม่มีที่ดินอาจไม่ใช่คนจน หรือไม่จำเป็นต้องเป็นคนจน เขาสามารถเป็นเครือข่ายผู้ขายแรงงานในภาคการเกษตร เขาสามารถขายแรงงานได้ 30 วันต่อเดือน ถ้าหากขยัน
“ผมสัมภาษณ์ชาวบ้านในทุกพื้นที่ในโครงการของผม ผมถามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่าคนจนคือใคร เขาตอบว่า เมื่อก่อนคือคนไม่มีที่ดิน แต่ตอนนี้ คนที่ยากจนคือคนที่ไม่ขยัน ซึ่งมีสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ”
การเกิดผู้ประกอบการระดับต่างๆ นอกภาคเกษตร แต่อยู่ในชุมชน ท้ายสุดเขาก็จะค้าขายกับคนในชุมชน กลุ่มเหล่านี้ก็ขยายตัวมากขึ้น แต่ก่อนไม่มีร้านก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้ก็มีร้านก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น ทั้งหมดสัมพันธ์อยู่ที่เครือข่ายนี้ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นความใฝ่ฝันของทุกคนในชนบท
NGO ในภาคเหนือและภาคอีสานที่ประสบผลสำเร็จหลายเรื่องนั้นพากลุ่ม คนไปดูงาน และกลับไปครีเอทสิ่งใหม่ อย่างการปลูกผักปลอดสารพิษ ตอนแรกมีไม่กี่แห่ง หลังจากนั้นก็ขยายตัว นี่คือการเกิด niche market ของผู้ประกอบการในชนบท
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สังคมชนบทมีความตึงเครียดสูงขึ้น สถาบันภูมิปัญญาแบบเดิมไม่สามารถลดหรือสลายความตึงเครียดได้ จึงเกิดกลไกแบบใหม่ ที่ผมพูดว่าสังคมชนบทเปลี่ยนมาเป็นความสัมพันธ์เครือข่าย ไม่ได้แปลว่ามันราบรื่น
ยังมีปัญหาอีกมากที่ซ้อนทับ เช่น ปัญหาเด็กแว้น เด็กแซ้บ ตอนนี้เด็กแว้น เด็กแซ้บ ซึ่งเกิดจากปัญหาของสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนของสังคมผู้ประกอบการ และถูกละทิ้งเพราะเชื่อมต่อไม่ได้
“ผู้ใหญ่ในเมืองไทยมักตอบปัญหา เรื่องเด็กแว้น เด็กแซ้บ แบบไม่ได้เรื่องว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน ครูเลว เพื่อนเลว หรือรับวัฒนธรรมตะวันตกมา แต่หากมองเข้าไปจะพบว่าเด็กแว้น เด็กแซ้บ คือเด็กที่อยู่ชายขอบของเมือง พ่อแม่เป็นผู้ประกอบการทิ้งนาแล้ว ขณะเดียวกันไม่มีกลไกอะไรที่ไปช่วยให้เด็กพวกนี้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการได้ ถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ การศึกษานั้นจะช่วยให้เด็กแว้น เด็กแซ้บ เหล่านี้เห็นอนาคตได้”
ความสัมพันธ์ใหม่ของผู้ประกอบการกับการเมือง
ศ. ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า “ผู้ประกอบการทั้งหมดเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองแน่ๆ และในทุกพื้นที่ในโลก ทันทีที่เกิดผู้ประกอบการในชนบท ทั้งหมดก็เข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่าผู้ประกอบการและเครือข่ายตระหนักดีว่ารัฐคือหลังพิง
ฉะนั้น ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่คิดถึงรัฐเลย เพราะรัฐเอาใจคนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว นึกถึงโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งหลายก็อยู่ในกรุงเทพฯ โดยที่ไม่ต้องร้องขอก็ได้มา ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าเรา (ในฐานะคนกรุงเทพฯ) แยกจากอำนาจรัฐได้ จริงๆ ไม่ใช่
แต่คนชนบทเขารู้ดีว่าต้องดึงตัวเองเข้าไปเชื่อมกับอำนาจรัฐทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เพราะรัฐจะทำให้เขาอยู่รอดได้ ในระดับท้องถิ่นพบว่าผู้ประกอบการเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร้อยละ 80-90 เพราะการใช้ อปท. เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เขารักษาเครือข่ายได้ ไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองในเมือง คือคนในเมืองมักมองชนบทในภาพลบ มองว่า อปท. ใช้เงินผิดประเภท ซึ่งก็ผิดจริงๆ แล้วถามต่อว่ารัฐบาลใช้เงินผิดประเภทไหม มันก็เหมือนกัน
ในระดับชาติ เขาก็เชื่อมโยงเครือข่ายการเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือมีอิทธิพลเครือข่าย เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ขึ้นอยู่กับเครือข่ายนั้นคืออะไร บางเครือข่ายไม่ใช่สีแดง (การเมืองระดับชาติ) บางเครือข่ายเชื่อมโยงกับตัวบุคคล เช่น ภาคเหนือตอนล่าง เชื่อมกับเครือข่ายคนที่ทำอ้อย และเขาก็สามารถบีบให้โรงงานน้ำตาลย้ายไปอยู่ที่สุโขทัยได้
ทั้งหมดนี้ ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเรามอง Democracy on the move (ประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไหว) เราคงต้องมองการเมืองที่มีประชาธิปไตยจากข้างล่าง แน่นอนเรายังต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญอยู่ แต่ขณะเดียวกันเราต้องมองจากข้างล่าง ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ถ้าหากเราคิดให้ดี มันคือการเติบโตของกลุ่มคนที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและกว้างขวางขึ้น เพราะ อปท. ทั้งหลาย เวลาเลือกตั้ง สิ่งที่พวกเขาจะคิดกันคือพวกเขาต้องสร้างกลุ่มในชุมชนที่ข้ามชนชั้น เพราะเขาต้องระวังเสียง เขาอยากจะเก็บเสียงทั้งหมด มิฉะนั้นจะแพ้เลือกตั้งเลย
ดังนั้น การเมืองจากข้างล่างนั้น อปท. จะสลายความตึงเครียดจากความแตกต่างทางชนชั้นในชุมชน ด้วยการสร้างกลุ่มทางสังคมข้ามชน ชั้นขึ้นมา ที่เห็นได้ชัดคือ สถานที่เลี้ยงเด็ก คือชนชั้นกลางต่างๆ เข้ามาอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็ก หรือกลุ่มแม่บ้าน ดังนั้น อปท. เองจึงเริ่มเปลี่ยน หรือถูกบังคับให้เปลี่ยน เพราะพื้นที่ชาวบ้านเปลี่ยน ทำให้เกิดการสลายตัวทางชนชั้น เพราะต้องดูแลทุกกลุ่มอย่างไม่ให้เสียดุล
และที่สำคัญกระบวนการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกตัวเองมีอำนาจควบคุมหรือกำกับนักการเมืองในท้องถิ่นในระดับหนึ่ง ผู้นำ อปท. นั้นเปลี่ยนง่ายมากด้วยข้อหาที่สะท้อนความพอใจ ซึ่งกรณีหากคนเดิมขึ้นมาเป็น อปท. อีกสมัย เขาก็จะปฏิบัติตัวแบบใหม่ อันนี้คือการควบคุม
ที่สำคัญ การขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองเหลือง-แดงจะถูกต่อรองและสยบอยู่ในขอบเขตที่ไม่ขัดแย้งในชุมชน และ อบต. บาง อบต. จะมีกิจกรรมกลุ่มให้เหลือง-แดงมารวมกัน แตกต่างจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ
ผมจึงคิดว่าการเกิดสังคมผู้ประกอบการเป็นแนวทางปรับตัวที่สำคัญไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือประชาธิปไตยจากข้างล่าง อาจารย์อภิชาตเคยคุยว่า ในสังคมไทยกระบวนการแสวงหาค่าเช่ามันสูงมาก กระบวนการขูดรีดมันอยู่ข้างบน แต่หากเราคิดถึงเรื่องนี้มันทำให้กระบวนการขูดรีดหรือคอร์รัปชันน้อยลง คือเราคงต้องคิดในหลายระดับ ชนบทเปลี่ยนเราต้องคิดถึงการเมืองจากข้างล่าง”
ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด (structure of feeling)
ศ. ดร.อรรถจักร์ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกเพื่อยืนยันว่าการศึกษาทั้ง 4 ด้านที่กล่าวข้างต้นนั้นสัมพันธ์กันว่า “ไม่มีการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกใน ประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ยกเว้นทางด้านจิตวิทยา แต่จิตวิทยาก็จะศึกษาเชิงปัจเจก (individual emotion) ซึ่งไม่พอ ในเมืองนอกมีการพูดถึง regime of emotion และอื่นๆ เพื่อจะบอกว่าอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้นถูกสังคมสร้าง คืออารมณ์ความรู้สึกนั้นมี class ของอารมณ์ความรู้สึก มีสังคมกำกับอยู่”
ในความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นสังคมผู้ประกอบการ ที่เปลี่ยนมา และการเป็นเครือข่าย มันเปลี่ยนวิธีคิด วิธีรู้สึกของคนในชุมชน กำไร-ขาดทุนเป็นกรอบความรู้สึกปกติ เราจะทนไม่ได้หากเรายึดภาพชนบทแบบเดิม เช่น ถ้าชาวบ้านคิดกำไรกับเราอย่างไม่มีน้ำใจ เราจะโกรธ แต่จริงๆ เขาก็เหมือนพวกเรา
ความกลัวในการที่จะตกลง (fear of falling) สูงขึ้น สำนึกที่จะประสบความสำเร็จเป็นผู้ประกอบการมีสูงขึ้น ส่งลูกเรียนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายการเรียสูงขึ้น ค่าประกันชีวิตสูงขึ้น ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงของการคิดเรื่องตัวตน การคิดเรื่องความสำเร็จเรื่องชีวิต และอื่นๆ กล่าวคือ family fortune หรืออนาคตของครอบครัว กลายเป็นหัวใจ และเป็นครอบครัวเดี่ยว
เกิดพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ ใครจะลงนายก อบต. คุณต้องแสดงตัวว่าคุณได้ทำอะไรให้ “ส่วนรวม” ถ้าคุณไม่มีผลงานตรงนี้ ยังไงก็ไม่ได้ และมีการซื้อเสียงทุกคน คือคนในชุมชนจะจับจ้องและให้คะแนนตามนั้น
ในด้านหนึ่งมันคือสำนึกพลเมืองที่บีบบังคับให้คนที่สมัคร อบต. ต้องแแสดงตัวอีกแบบ ในการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้มันขยายตัวรอบประเทศไทย เมื่อก่อนคำว่าชาวบ้านคือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ คำว่าชาวบ้านถูกใช้ในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เข้มข้นหลังปี 2500 ที่มีการขยายอำนาจรัฐ เกษตรตำบลเพิ่งเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ความหมายของชาวบ้านในตอนนี้ถูก “ชาวบ้าน” ใช้อย่างเลื่อนไหล ใช้คำว่าชาวบ้านเมื่อมีสถานการณ์อำนาจต่อรอง เช่น โครงการหลายโครงการ หากไม่ผ่านความเห็นของชาวบ้านจะไม่เกิดขึ้น และอาจจะยังใช้แบบเดิมคือเมื่อมีคนมาแจกของก็รับ หลายพื้นที่ อบต. เองก็ยอมรับว่าชาวบ้านเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม
คำไม่ใช่แค่คำ แต่มันหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบหนึ่ง ที่เขาเริ่มจินตนาการตัวเขากับสรรพสิ่งอีกแบบหนึ่ง เช่น เวลาเราไปซื้อของ จะได้ยินคำว่า “คุณลูกค้า” ซึ่งเพิ่งเกิด มันแสดงการจัดความสัมพันธ์เชิงค้าขายที่เท่าเทียมกันและมีระยะ ห่าง ในชนบทก็เช่นเดียวกัน การใช้คำเรียกพี่ หรือน้อง มีนัยยะที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การใช้คำว่า “คุณ” มีมากขึ้น แปลว่าทั้งหมดเริ่มมีความเสมอภาค
อีกตัวอย่างที่ชัดของการเปลี่ยนโครง สร้างความรู้สึก คือ ในงานบวช งานศพ งานแต่งงานต่างๆ ตอนนี้ต้องเชิญ อบต. หรือนายกเทศมนตรี ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือนายอำเภอเป็นอันดับแรกแล้ว และ อบต. หรือนายกเทศมนตรีนั้นก็เป็นกันเองมากขึ้น และต้องจ่ายเงินช่วยมากขึ้นด้วย
ในพื้นที่ราบภาคกลาง ภาคเหนือตอนบน เวลามีงานแต่งหรืองานบวช ทั้งหมดจะมีเครือข่ายของคนเข้ามาเยอะแยะอย่างเสมอภาค ใช้เงินหลายแสนบาท บางทีเป็นล้านบาท แต่เขาก็ได้คืน โดยมากได้คืนกับที่เสียไป นั่นคือความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่เท่า เทียมกัน และเราไม่ไปไม่ได้ ดังนั้น กรณี สสส. ที่พยายามรณรงค์ให้ไม่มีเหล้า จึงไม่มีทางเป็นไปได้ สสส. ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ อีกทั้งการกินเหล้าไม่ใช่สิ่งที่ผิด
ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย วัฒนธรรมเดิมไม่อาจกำกับปัจเจกบุคคลได้อีกแล้ว เราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคมากขึ้น โดยปรับฐานวัฒนธรรมเดิม ผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีความหมายแต่ต้องอยู่ในระบบเครือข่าย ผมคิดว่าเราต้องคิดถึงเครือข่ายผู้ประกอบการแนวระนาบและใช้เป็นพื้นฐานในการผลักดันความเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
สิ่งที่ผมคิดนั้นเพื่อจะตอบสิ่งที่อาจารย์ป๋วยตั้งความฝันไว้ว่า วันหนึ่งชาวบ้านจะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นพลเมือง ผมคิดว่าหากเราคิดเรื่องนี้ เราจะเห็นทิศทางในการผลักดันสังคมไทยและชนบทไทย และที่สำคัญคือเปลี่ยนจินตนาการของประเทศไทยที่มีต่อชนบท
ใน ต่างประเทศ เราพูดถึงชนบทในอีกความหมาย อย่างประเทศอังกฤษในงานของ Raymond Williams พูดถึง the city and the countryside ก็มีจินตนาการชนบทแบบเดิม แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว รวมทั้งนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นก็เช่นกัน
ถ้าเราคิดถึงสังคมผู้ประกอบการจินตนาการที่เรามีต่อชนบทมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่มีความหมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้ และอีกมากมาย และจะทำให้พี่น้องในชนบทเติบโตเป็นผู้ประกอบการ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราจะเดินไม่ได้
ทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าถ้าเราคิดตรงนี้ เราสามารถสร้างสังคมเศรษฐกิจลักษณะใหม่ที่มีฐานเป็นผู้ประกอบการในชนบทที่หลากหลายขึ้น ในหลายประเทศที่ฐานของการผลิตเป็นผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งนั่นจะเป็นฐานที่สำคัญ บ้านเรายังคิดถึงผู้ประกอบการที่อยู่ข้างบน และพูดถึงแบบผิดๆ เยอะ
ท้ายสุดผมคิดว่า การหนีจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คือการสร้างฐานตรงนี้ และการสร้างฐานนี้ทำให้เกิดตลาดภายในที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างที่ Paul Krugman เจ้าพ่อเศรษฐศาสตร์ก็เคยกล่าวไว้เช่นนี้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขา
พร้อมกันนั้น การสร้างตลาดภายใน จะทำให้เราสร้างสังคมลักษณะใหม่ที่ ต้องแสวงหาความรู้ที่เป็น rural entrepreneur (ผู้ประกอบการในชนบท), informal entrepreneur (ผู้ประกอบการไม่เป็นทางการ) และ unskilled entrepreneur (ผู้ประกอบการที่ไร้ทักษะ)
ที่สำคัญ ในระยะยาวเราอาจเปลี่ยนผู้ประกอบการที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้มาเป็นผู้ประกอบการอย่างที่เป็นทางการ หมายความว่าเราจะขยายการขายสินค้าออกไปกว้างขวางขึ้น และขณะเดียวกัน มันจะมีผลดีต่อระบบภาษี คือ สามารถขยายฐานการเก็บภาษีได้มากขึ้น และได้เห็นแนวทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งขึ้นมา
การศึกษาต้องเปลี่ยน คือ หลักสูตรท้องถิ่นศึกษาต้องทำให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่แค่หาภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วเขียนรายงาน อาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาก็ต้องเปลี่ยน มันน่าตกใจที่อุดมศึกษาในประเทศไทยขวนขวายอยากได้ rank การศึกษาสูงๆ แบบอินเตอร์ เราก็ปรับให้เป็นอินเตอร์แบบตื้นๆ เช่น พอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ก็เปิดโครงการภาคภาษาอังกฤษมากขึ้น ท้ายสุดคุณกำลังคิดอะไรอยู่
อย่างที่ผมบอก การลงทุนทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในสังคมผู้ประกอบการชนบท เราจะพบว่าพี่น้องในชนบทตอนนี้มีลูกหลานเรียนปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้เด็กรวยจริงๆ ประมาณ 10% เรียนเมืองนอก เด็กต่ำลงมาเรียนจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เด็กกลางใหม่-เด็กชนบทเรียนมหาวิทยาลัยในภูมิภาค แต่หลักสูตรไม่ได้คิดถึงการตอบสนองต่อคนพวกนี้เลย เราจะปฏิรูปการศึกษาได้เราต้องมีเป้าหมาย แต่ตอนนี้การปฏิรูปการศึกษาแบบที่ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ทำอยู่นั้นไม่มีเป้าหมาย
การศึกษาไทยทั้งหมดเป็น schooling ไม่ใช่ learning และเด็กผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่ทนกับความน่าเบื่อของระบบการศึกษาไทยได้มากกว่าเด็กผู้ชาย เด็กผู้ชายจึงไปอยู่ที่ ปวช. ปวส. เด็กผู้หญิงจึงอยู่ในระบบการศึกษาระดับปริญญาโท/เอกมากกว่าผู้ชาย 80% ถ้าเราคิดแบบสังคมผู้ประกอบการ เราจะดึงผู้ชายเข้ามาในระบบการศึกษาได้ ไม่งั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้หญิงที่จบปริญญาตรีจะหาสามีที่เรียนจบปริญญาตรีได้น้อยลง ปัญหาการเจริญพันธุ์จะตามมา
ศ. ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยคือ unfinished project เราต้องคิดกันใหม่ทั้งระบบ จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับรัฐท้องถิ่น ปรับแก้โครงสร้างส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนกำกับมากขึ้น และถ่ายทรัพยากรไปสู่สังคมผู้ประกอบการในชนบท
ทั้งนี้ หากเรายังมองไม่ออกว่าสังคมชนบทคืออะไร เราจะเดินไปไม่ถูก เราทั้งหมดกลายเป็นหมาบนทางด่วน วิ่งลงก็ไม่ได้ วิ่งไปไหนก็ไม่ได้ แต่ผมก็เห็นว่ามีหน่วยราชการหลายหน่วยทำอยู่ แต่เพียงเขาไม่ได้คิดว่าจะทำให้เป็นสังคมผู้ประกอบการ เขาคิดว่าเป็นงานเสริม ไม่ใช่ มันเป็นอาชีพหลักไปแล้ว
สังคมชนบทเปลี่ยนแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้รัฐและสังคมโดยรวมเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท
โครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท” ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว ที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ทวีความซับซ้อนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่ออธิบายความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในสังคมจึงได้นนำมาสู่ความขัดแย้งและปัญหาทางสังคมหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบไปด้วยกลุ่มอาจารย์มหาวิทยา ลัยในหลายภูมิภาค ได้แก่ ศ. ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ. ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ. ดร.บุญเชิด หนูอิ่ม ภาคสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, อาจารย์มานะ นาคำ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.