การเจรจายืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีเกือบล่มในรอบสุดท้าย เพราะมีคนไปแก้คำว่า should เป็น shall
จาก “ควรทำ” เป็น “ต้องทำ”
แต่ด้วยฝีมือการประสานสิบทิศของเจ้าภาพฝรั่งเศส ก็รอดวิกฤตแห่งภาษาไปได้อย่างหวุดหวิด
มีคนถามว่าจะเชื่อได้หรือว่าทุกประเทศจะทำตามข้อตกลงนี้ ถ้าไม่ทำตามมีบทลงโทษอะไร และใครจะเป็นคนออกเงินมหาศาลที่จะทำให้ทั้งโลกยอมเดินไปในเส้นทางเดียวกัน
ผมเห็นว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่สุด ในเรื่องการรักษาโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือทำบ้างไม่ทำบ้างอย่างที่เป็นอยู่ โลกจะร้อนขึ้น 4-5 องศาในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งแปลว่าหลายส่วนของโลกจะจมอยู่ใต้น้ำ และวันหนึ่งมนุษย์ก็อาจจะไม่มีที่อยู่อาศัยบนโลกนี้เลย
ข้อตกลงนี้เป็นการตอกย้ำว่าโลกตระหนักแล้ว ว่าการใช้พลังงานฟอสซิลมากว่า 100 ปีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปได้ จะต้องแสวงหาพลังงานทางเลือกที่สะอาด และไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ยิ่งวันก็จะยิ่งทำให้โลกนี้อยู่ลำบาก
เป้าหมายร่วมที่ตั้งไว้คือจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาภายในปี ค.ศ. 2100 หรือจากนี้ไป 85 ปี
และถ้าทำได้ก็ควรจะปรับเป้าให้ได้แค่ 1.5 องศา
เอาเงินมาจากไหน?
ข้อตกลงนี้ระบุว่าประเทศร่ำรวยทั้งหลายจะช่วยกันลงขันรวมกันปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาสร้างศักยภาพ ในการสร้างพลังงานทางเลือกที่สะอาดและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์หรือลม รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่นกำแพงทะเลและกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะแก้ปัญหาคุณภาพดินที่เสื่อมโทรม
จะเริ่มนำเงินนี้มาใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้าโดยหวังกันว่าตัวเลขนี้จะเป็นจำนวนที่ “ต่ำสุด” ซึ่งแปลว่าจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นจริง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้
ประเทศต่าง ๆ จะลดก๊าซเรือนกระจกของตนเองอย่างไร? ใครจะเป็นคนตรวจสอบว่าทำจริงหรือไม่?
ข้อตกลงนี้เปิดทางให้แต่ละประเทศเสนอข้อผูกพันของตนในเรื่องนี้ โดยเสนอเป้าและแผนงานมา
ทุกประเทศที่ตกลงร่วมกันยอมรับกติกาว่าจะต้องทำทุกอย่างอย่างโปร่งใส และทุกห้าปีทุกประเทศจะต้องประเมินความคืบหน้าในการทำตามเป้าหมาย และจะต้องเสนอแผนใหม่เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะบรรลุเป้านั้นได้
ข้อตกลงนี้ผูกมัดประเทศที่ลงนามร่วมอย่างไร มีผลทางกฎหมายหรือเปล่า?
นี่เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาช้านาน ท้ายที่สุดก็ตกลงกันว่าบางส่วนจะเป็นการบังคับใช้ เช่นการต้องทำรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตามกรอบเวลาที่กำหนด แต่การกำหนดเป้าหมายของการลดปริมาณคาร์บอนที่ส่งขึ้นในชั้นบรรยากาศเป็นเรื่องของแต่ละประเทศจะเสนอมา และเมื่อนำเสนอเป้าแล้วจะต้องรายงานเป็นระยะ ๆ ว่าดำเนินได้มากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ได้เพราะอะไร และถ้าทำได้ จะปรับเป้าเพิ่มขึ้นอย่างไร
ถ้าประเทศไหนเบี้ยว จะทำอย่างไร?
ข้อตกลงนี้เป็นการเปิดทางให้แต่ละประเทศตั้งเป้าของตนเองเพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ... หากใครไม่ทำตามนั้น ก็จะกลายเป็น “ตัวประหลาด” ที่ถูกตัดเงินช่วยเหลือและกลายเป็น “แกะดำ” ที่ถูกลงโทษโดยสังคมโลกได้
ที่ตกลงกันได้ครั้งนี้เพราะสหรัฐ จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนออกมากที่สุดยอมเข้าร่วมนี้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ทำให้มีแรงหนุนส่งให้เกิดการตกลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าภาพก็ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเป็นคนยกร่างข้อตกลง และฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกประเด็นที่เคยเป็นเรื่องขัดแย้งมาก่อนหน้านี้มีทางออกร่วมกัน
แต่แน่นอนว่าเสียงวิพากษ์มาจากกลุ่ม NGOs ระดับโลกที่บอกว่าเงินลงขันจากประเทศร่ำรวยยังน้อยไป และมาตรการควบคุมให้ทุกประเทศทำตามข้อตกลงยังอ่อนไป
แต่การจะให้ 195 ประเทศสามารถเห็นพ้องในร่างข้อตกลงอย่างนี้ต้องถือว่าเป็น “งานหิน” สุด ๆ
“ข้อตกลงปารีส” ครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำสำหรับการรักษาโลกใบนี้ให้ลูกหลานยังอาศัยอยู่ได้
แผนงานของประเทศไทยที่เสนอไปคือการลดก๊าซเรือนกระจก 20% ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า และสามารถลดได้ถึง 25% หากได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกพอเพียง
เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะบอกกล่าวทุกรายละเอียดเรื่องนี้กับคนไทย เพราะการจะบรรลุ
เป้านี้ได้เป็นภารกิจร่วมของคนไทยทุกคน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.