ดร.สเตฟานี ซีเนฟ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากสถาบัน MIT ผู้ค้นคว้าเรื่องโรคออทิสติกมาเกือบสิบปี นำเสนองานวิจัยครั้งล่าสุดของเธอ แสดงให้เห็นอัตราโรคออทิสติกที่เพิ่ม สูงขึ้นในสหรัฐอเมริกา (ชาวอเมริกันอายุ 6-21 ปีเป็นโรคออทิสติกกว่า 350,000 คนในปี 2010 ขณะที่ปี 1995 มีผู้ป่วยออทิสติกราว 25,000 คนเท่านั้น) เมื่อพิจารณาร่วมกับปริมาณข้าวโพดและถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่เพิ่มปริมาณในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันตลอด 15 ปี รวมถึงแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างน่ากลัวของจำนวนเด็กที่เป็นออทิสติก ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง
ดร.สเตฟานี เชื่อว่า ถ้าอัตราในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภายในปี 2025 เด็กทุกๆ 2 คน ที่เกิดในสหรัฐอเมริกา จะมีโอกาสเป็นโรคออทิสติก 1 คน และเธอยังเชื่อมโยงปริมาณไกลโฟเสต (glyphosate) : สารเคมีในกลุ่มสารปราบวัชพืช มีขายในชื่อทางการค้าต่างๆ เช่น ราวด์อัพ (Roundup) ของมอนซานโต ที่ดร.สเตฟานี เผยถึงอันตรายว่า สารเคมีชนิดนี้จะไปรบกวนขบวนการทำงานของร่างกาย และก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยจะส่งผลต่อร่างกายทีละเล็กทีละน้อย ผ่านการทำลายเซลล์ทั่วร่างกาย
ทั้งนี้ ไกลโฟเสตจะไปยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ชนิด “cytochrome P450” ซึ่งเป็นเอ็นไซม์กลุ่มใหญ่ที่มีหน้าที่ทำลายสารพิษบางกลุ่ม จึงเท่ากับไปเพิ่มผลของสารแปลกปลอมและสารพิษ ที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกายโดยตรง นำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหารผิดปกติ อ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ เครียด สมาธิสั้น มะเร็ง และอัลไซเมอร์
สำหรับโรคออทิสติก แม้ว่าจะมีปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม ที่เชื่อว่ามีส่วนก่อให้เกิดโรคออทิสติกในเด็ก แต่ดร.สเตฟานีก็เชื่อว่าการใช้ยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวน์อัพ มีส่วนเกี่ยวโยงสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษา การตรวจวัดสารเคมีในร่างกายของเด็กออทิสติกและพบว่ามีปริมาณไกลโฟเสตในร่างกายมากผิดปกติ
นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกา ยังพบว่ามีไกลโฟเสตปริมาณมากในน้ำนมแม่ (สูงกว่าปริมาณที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีในน้ำดื่มถึง 1,000 เท่า) ประชาชนใน 18 ประเทศพบไกลโฟเสตในกระแสเลือด และ จากการทดสอบปัสสาวะ พบว่าระดับไกลโฟเสตของชาวอเมริกันมีสูงกว่าประชากรในยุโรปถึง 10เท่า
ด้านมอนซานโตก็โต้กลับว่าร่างกายมนุษย์ไม่มีกระบวนการชิคิเมต (กระบวนการสังเคราะห์กรดอะมิโน phenylalanine, tyrosine, tryptophan) ที่จะให้ไกลโฟเสตเข้าไปรบกวนและขัดขวางการทำงาน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลผลกระทบจากการใช้ยาปราบวัชพืชราวน์อัพ แต่ดร.สเตฟานีก็โต้กลับด้วยการอธิบายว่ากระบวนการชิคิเมต เกิดขึ้นระหว่างการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดี ที่ช่วยทำลายสารพิษสิ่งแปลกปลอม ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลของการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ ซึ่งถ้าไกลโฟเสตเข้าไปทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้มนุษย์ก็เท่ากับทำลายสุขภาพรวมไปด้วย
ดร.สเตฟานียังเชื่ออีกว่าไกลโฟเสตที่ส่วนก่อให้เกิดภาวะลำไส้รั่ว ที่เป็นหนึ่งในหลายๆ อาการที่เด็กออทิสติกมี ทั้งนี้มีรายงานวิจัยทาง การแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆว่า ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยออทิสติก มักจะมีอาการลำไส้แปรปรวน (inflammatory bowel disease ) และลำไส้รั่ว (leaky gut)
ในประเทศไทย ไกลโฟเสตเป็นสารเคมีที่ประเทศไทยนำเข้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาสารซึ่งนำมาใช้กำจัดวัชพืช ในหลายประเทศควบคุมการนำเข้าสารชนิดนี้แล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมใดๆ
ที่มา : วารสารเกษตรพระจอมเกล้า, www.lifeoutdoor.us
ที่มา : Way Magazine วันที่ 9 ธ.ค. 2558