ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนเพียงน้อยนิด แต่เป็นกลุ่มผู้ที่กุมทรัพยากรและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสังคมและประเทศชาติ
ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาจากการทำธุรกิจ
ธุรกิจกับการเงิน จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในแง่ที่ว่า ธุรกิจจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่งต่อเจ้าของธุรกิจ ความมั่งคั่งของผู้บริหาร พนักงาน และผู้ร่วมงานกับธุรกิจ ตลอดไปจนถึงการเพิ่มความแข็งแกร่ง มั่นคง ทางเศรษฐกิจ ให้กับรัฐและประเทศ ผ่านการ จ้างงาน และการเสียภาษีอากร
และธุรกิจที่มีความแข็งแรงในปัจจุบัน ยังหันมาสนับสนุนให้ความมั่นคงกับสังคมและชุมชนรอบข้าง ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม และการทำธุรกิจเพื่อสังคมอีกด้วย
สาขาหนึ่งของธุรกิจ ที่มีความใกล้ชิดกับสังคมและชุมชน และเป็นภาคธุรกิจที่จะสะท้อนภาพของระดับเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ก็คือ ภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งกำลังอยู่ในความตื่นตัวที่จะเข้ามาร่วมช่วยในการลดช่องว่างของสังคม ผ่านการให้บริการทางการเงินแบบทั่วถึง หรือ Financial Inclusion
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการที่มีค่าใช้จ่ายในระดับที่ยอมรับได้จากกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินพื้นฐานของสถาบันการเงินโดยทั่วไปได้
มีผู้ประมาณว่า ในโลกนี้ มีกลุ่มคนอายุวัยทำงานกว่า 2 พันล้านคน ที่ไม่มีบัญชีธนาคารและไม่เคยใช้บริการทางการเงินใดๆ กับธนาคารเลย
ในขณะที่ธุรกิจการเงิน ถือได้ว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่งสูงมากในระดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
จึงเกิดแรงผลักดันอย่างมากในระดับโลก ที่จะคะยั้นคะยอให้ภาคธุรกิจการเงิน หันมาค้นหาวิธีการในการทำธุรกิจที่จะเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นในสังคม มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยไม่เกิดการกีดกันขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายสู่การพัฒนาธุรกิจการเงินอย่างทั่วถึงไว้ 4 ประการ คือ
1. ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงการใช้บริการของสถาบันการเงินด้วย ค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ ซึ่งควรรวมถึง การเปิดบัญชีออมทรัพย์ การใช้บริการฝากเงิน บริการการชำระเงิน การขอสินเชื่อ และการให้ประกันทางการเงิน
2. การให้ความคุ้มครองจากภาครัฐ ด้วยการใช้กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ หรือการกำหนดมาตรฐานที่เป็นธรรมให้กับสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมทางการเงินต่างๆ
3. การพัฒนาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจการเงิน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการทำธุรกิจและความเชื่อถือได้ของการคุ้มครองการลงทุน
4. การแข่งขันทางธุรกิจที่จะนำไปสู่การเข้าถึงที่ยอมรับได้ของลูกค้าและผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึง
สถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กิจกรรมเพื่อพัฒนาความยั่งยืนให้กับธุรกิจ (sustainability development) หรือการขยายกิจการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการช่วยลดช่องว่างความยากจนของโลกในลดน้อยลง หรือให้หมดไป
กลยุทธ์หรือแนวทางการดำเนินการที่ธุรกิจการเงินได้เลือกนำมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงนโยบายของธุรกิจแต่ละแห่ง อาจมีได้ดังนี้
๐ จัดบัญชีเงินฝากประเภทไม่จำกัดเงินคงเหลือในบัญชีขั้นต่ำ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี แม้ว่าจะมียอดคงเหลือในบัญชีน้อย หรือไม่มียอดคงเหลือเลย
๐ ลดระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบประวัติบุคคลและประวัติทางการเงิน ที่ใช้ประกอบการเปิดบัญชีหรือการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน เช่น การยอมรับเงื่อนไขการรับรองโดยบุคคลที่ 3 ที่น่าเชื่อถือ หรือ มีเงื่อนไขที่ธนาคารอนุโลมให้เป็นพิเศษ ในกรณีที่เห็นเจตนารมณ์ที่ดีของผู้ฝากเงินที่ต้องการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตนเองหรือครอบครัว
๐ การให้ความรู้ทางด้านการเงิน หรือการให้คำแนะนำทางการเงินแก่ประชาชนในกลุ่มที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
๐ การลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการกลุ่มชนผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะ โดยเน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และสามารถใช้ได้โดยกลุ่มคนที่มีการศึกษาในระดับต่ำ หรือไม่มีการศึกษาเลย
๐ เป็นตัวกลางให้กับหน่วยงานภาครัฐในการโอนย้ายเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปยังบุคคลที่อยู่ในข่ายของการได้รับความช่วยเหลือ โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ที่ทำการของรัฐ ที่อาจมีระยะทางไกลและจำนวนไม่มาก ให้สามารถไปรับเงินได้ที่สาขาของธนาคารที่จะมีการกระจายกันอย่างกว้างขวางมากกว่า หรืออาจให้บริการผ่านระบบธนาคารที่ทันสมัย
๐ อนุญาตหรือส่งเสริมให้มีการเปิดสาขาขนาดเล็กของธนาคาร เข้าไปเปิดบริการในพื้นที่ที่ยังไม่มีสาขาให้บริการ เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่แม้จะดูว่าจะไม่สร้างผลตอบแทนให้ธนาคารอย่างคุ้มค่า แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน หรือใช้พนักงานที่เป็นคนท้องถิ่น
สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้กำหนดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ด้วยการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จัดให้มีแผนดำเนินการไมโครไฟแนนซ์แห่งชาติ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการดำรงชีวิตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การพัฒนาระบบประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (micro-insurance) และการเพิ่มความรู้ด้านการเงินและการออมให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
ส่วนในระดับบริษัท เราก็อยากเห็นความคิดริเริ่มใหม่ๆ ของธนาคารในประเทศที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่จะมีเป้าหมายเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ และการส่งเสริมให้เกิดความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การออม และการรักษาวินัยทางการเงินให้กับกลุ่มชนในระดับล่าง
โดยอาศัยทรัพยากรและบุคลากรที่ธนาคารต่างๆ ใช้ในการสร้างรายได้ให้กับธนาคาร โดยแบ่งปันบางส่วนมาให้กับสังคมที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้รูปแบบของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสังคมโดยรวม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.