ที่ผ่านมาประเทศไทยเราได้ผ่านความเจ็บปวดอันเนื่องจากนโยบายและมาตรการประชานิยมของรัฐบาลเผด็จการเสียงข้างมาก นำมาซึ่งการสูญเสียเงินภาษีแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เปิดช่องทางให้เกิดการโกงกิน ทุจริตคอร์รัปชั่นและตอกย้ำความแตกแยกของการเลือกปฏิบัติ แล้วใช้โอกาสสร้างความนิยมเรียกคะแนนสนับสนุนจากประชาชนส่วนหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างฐานอำนาจ จนส่งผลให้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงกับมีข่าวคราวว่า จะกำหนดห้ามมิให้บรรดาพรรคการเมืองเสนอ หรือไม่ก็จะจำกัดขอบเขตของการนำเสนอนโยบายประชานิยมกันเลยทีเดียว
แต่อยู่ดีๆ ในวันนี้เรากลับได้เห็นนโยบาย ประชานิยมฟื้นคืนชีพ ถูกนำมาปฏิบัติกันอีก ผ่านทางนโยบายของรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท หรือโครงการหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท พร้อมด้วยขั้นตอนการปฏิบัติมากมายที่ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง (กระทรวงมหาดไทย) ในการที่จะอนุมัติโครงการ 5 ล้านบาทนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการประชาชน ที่ต่างเรียกร้องและมีความประสงค์ให้การปฏิรูปประเทศไทยมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อที่จะลดการกระจุกตัวของอำนาจรัฐที่ส่วนกลางหรือกรุงเทพมหานคร
และก็น่าแปลกใจเป็นทวีคูณที่ว่า บรรดาแวดวงนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ นักเคลื่อนไหว ภาคเอกชนและผู้เสียภาษีตรงจากรายได้ กลับนิ่งเฉยกับนโยบายเหล่านี้โดยไม่มีการท้วงติงรัฐบาลให้ทบทวน เป้าหมายวิธีการ หรือเรียกร้องให้นำเงินก้อนเดียวกันนี้ไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์และได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ที่ยังซบเซาให้คึกคัก เกิดการหมุนเวียนทางการเงิน ด้วยการจับจ่ายใช้สอยทันทีหรือโดยเร็วที่สุด และกระจายให้ถึงมือคนยากจน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ซึ่งลองย้อนคิดกันดูว่า ในกรุงเทพมหานครและในหัวเมืองต่างๆ นั้น มีผู้มีรายได้น้อย ผู้หาเช้ากินค่ำ เป็นแสนเป็นล้านคน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้น่าจะได้รับใบบุญจากโครงการประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะโดยแท้จริงแล้ว ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือชาวชนบทที่อพยพเข้ามาอยู่ในตัวเมือง เพื่อตั้งรกรากถิ่นฐาน หรือเพื่อหางานทำนั่นเอง
นอกจากนั้น การที่รัฐมุ่งความช่วยเหลือไปที่ผู้มีรายได้น้อยหรืออาชีพที่ต้องเสี่ยงกับดิน ฟ้า อากาศ มีความไม่แน่นอนของการจ้างงาน หรือการไม่ฟื้นตัวของตลาดค้าขาย รัฐก็มิควรมุ่งให้มีการสร้างหนี้เพิ่ม เพราะภาระหนี้ของประชากรโดยรวมก็สูงมากอยู่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังดูไม่กระเตื้องขึ้น การหารายได้ก็ฝืดเคือง แล้วจะให้มีหนี้เพิ่มอีกทำไม ฉะนั้น รัฐมีหน้าที่ช่วยหาทางเพิ่มรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่เอื้ออำนวยให้ประชากรมีหนี้เพิ่ม ซึ่งทั้งนี้ย่อมอยู่ที่ระบบความคิดและความมีใจจริงจังต่อคนยากไร้ ยากลำบากของผู้ที่ยังด้อยโอกาสอยู่ ที่อยากจะช่วยเหลือให้ชีวิตเขาดีขึ้น
หากเรามีความเห็นตรงกัน ก็น่าจะมี 2 วิธีการที่ควรนำมาใช้ นั่นคือ 1) การแจกเงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเฉพาะหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และ 2) การสร้างงานสร้างเงิน (Job Creation)
ซึ่งกรณีแรกนั้น อดที่จะนึกถึงกรณีของบราซิลและอินเดียไม่ได้ โดยบราซิลจัดให้มีการให้ค่าเดินทางไปทำงานประจำวันและค่าอาหารกลางวันแก่ผู้มีรายได้น้อย ส่วนอินเดียก็มีการแจกอาหาร เช่น ข้าวและน้ำมันพืช หมายความว่ารัฐเป็นผู้จัดซื้อ(กระตุ้นเศรษฐกิจ) และแจกจ่าย(ผ่านระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการรั่วไหล) โดยมีนัยว่า เมื่อไม่ต้องเสียค่าอาหาร
ก็สามารถนำเงินรายได้หรือเงินออม ปรับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในกรณีหลัง ก็มีหลายๆ ประเทศสร้างงานโดยการว่าจ้างผู้คนไปขุดลอกคลองคูปรับปรุงถนนหนทาง สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร สร้างทำนบ สร้างกำแพงแม่น้ำลำคลอง ขยายปรับปรุงพื้นที่ข้างทางรถไฟเพื่อรองรับรถไฟรางคู่ ผู้คนก็มีงานทำ ได้ค่าจ้างอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แทนการถูกมอมเมาและลดค่าความเป็นมนุษย์ด้วยลัทธิให้คนแบมือขอ และคิดพึ่งพามากกว่าพึ่งตนเองเป็นหลัก
นอกจากนั้น ปัจจัยการผลิตทั้งทางภาคเกษตร ภาคบริการค้าขายรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจที่จ้างตนเอง(Self-employed) รวมทั้งนักตกแต่ง นักออกแบบ นักจัดทำโปรแกรมไอที เหล่านี้ต่างต้องการเงินลงทุนและเงินหมุนเวียน ซึ่งมักจะหายากเพราะขั้นตอน การกู้ยืมและค้ำประกัน ก็จำเป็นต้องหาแหล่งทุนที่สะดวก รวดเร็ว ซึ่งงบ “ประชานิยม” 100,000-200,000 ล้านบาทนี้ น่าจะนำส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการตั้งบริษัทธุรกิจใหม่ (Start up)
อีกปัญหาสำคัญหนึ่งของไทย คือบรรดาโรงงานแปรรูปพืชผลเกษตร มักมิได้ตั้งอยู่ท่ามกลางไร่นา และสวน ซึ่งไทยมีปัญหาใหญ่มากคือ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมยาง ไม่ว่าที่ภาคใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐก็น่าจะจัดหาผู้มาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปต่างๆ และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ ก็เป็นการตรึงมิให้ผู้คนต้องละทิ้งไร่นา มาหางานทำในตัวเมือง เป็นการกระจายโอกาสรายได้และพัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากในสภาวะของการต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนแล้ว ยังมีอีกประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การลดความเหลื่อมล้ำก็ขอพูดตรงๆ ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยานั้น เป็นโครงการเพื่อคนรวย เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้มีตัวเลขยืนยันแน่ชัดว่าจะคุ้มทุน แถมยังไม่มีข้อแน่ชัดว่า การร่วมทุนรัฐ-เอกชนนั้น ภาระหน้าที่แต่ละฝ่ายคืออะไร นอกจากนั้นกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้ร่วมทุนเอกชนอย่างโปร่งใสกันอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ความจำเป็นเร่งด่วน ของรถไฟเศรษฐีนี้ กับ ความต้องการของชาวยะลา เชียงใหม่ เชียงราย รายได้น้อยหรือปานกลาง ที่จำเป็นต้องเดินทาง หรือขนส่งสินค้า ก็น่าที่จะมีรถไฟรางคู่ความเร็วสัก 120-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากยะลาถึงเชียงราย ทำให้เขาสามารถเดินทางไป-กลับได้ สะดวก น่าจะเป็นภาวะเร่งด่วนของภาครัฐ มากกว่าเส้นหัวหิน พัทยา ดังกล่าว การที่จะเลือกทำสิ่งใดก่อนนั้น ก็เป็นการสะท้อนจิตสำนึกของผู้อาสาเข้ามาทำงานการเมืองว่า คิดถึงใครก่อนใครหลังในสังคมนี้
ส่วนแนวคิดการแจกเงินเพื่อสร้างหนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเซียนเศรษฐกิจก็คิดได้ แต่ถ้าเป็นเซียนแท้จริง ต้องคิดให้สมกับความต้องการคนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะเท่าที่เห็น ที่คิดแสดงออกมาและกำลังเริ่มกระทำนั้น ดูไม่ค่อยสมความคิด ไม่ค่อยสมประสงค์ของการสร้างงาน สร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ แลดูเป็นการทำอะไรเพียงเพื่อสร้างคะแนนนิยม และสมปรารถนาของฝ่ายทุนมากกว่า
ที่ เตือนกันตรงๆ แบบนี้ว่า ให้ระวังหน่อย ช่วยปรับเปลี่ยนหน่อย ก็เพราะเป็นห่วง ไม่ใช่ห่วงการคงอยู่ในอำนาจ หากแต่ห่วงประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นหัวใจของเรื่อง ที่ควรให้ความสำคัญและตอบสนองให้ถูกทางที่เสนอมาทั้งหมดนี้ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้สวัสดิการ การสร้างงาน และสร้างรายได้ให้ชาวไทย มิใช่ย้อนไปสู่นโยบายการสร้างหนี้ หรือประชานิยม ที่ทำประเทศไทยเกือบล้มมาแล้วในอดีต
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.