คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
ด้วยความที่ต้องออกไปทำข่าวอยู่เสมอ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงต่างประเทศในบางครั้งด้วย จึงทำให้มีโอกาสพบเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้คนอยู่เสมอ
เหมือนอย่างไม่นานนี้ ผมมีโอกาสร่วมทริปไปดูงานเกษตรอินทรีย์ ที่เมืองชิบะ เมืองคานากาวะ และเมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงเป็นผู้ส่งเทียบเชิญ ยอมรับครับว่าตลอด 2-3 ปีให้หลัง มีโอกาสร่วมทริปไปดูงานเกษตรอินทรีย์ของหลายบริษัทมาก
ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวอินทรีย์ ที่อยู่ในเขตภาคอีสานของประเทศไทย
ปัญหาที่พบนอกจากจะเกี่ยวข้องกับบริเวณโดยรอบของการปลูกข้าวอินทรีย์เพราะต้องยอมรับในประเทศไทยเอง เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวอินทรีย์ไม่ถึง 1%
ดัง นั้นเมื่อเกษตรกร A ปลูกข้าวอินทรีย์ แต่เกษตรกร B-C-D ไม่ปลูกด้วย เพราะยังใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ทำอย่างไรผลผลิตของเกษตรกร A ก็ไม่มีทางสัมฤทธิผล
เนื่องจากระบบชลประทานของบ้านเราส่งผ่านน้ำมายังคลองส่งน้ำย่อยเพื่อเข้านามีสารปนเปื้อนเจือปนทั้งสิ้น
เกษตรกรA จึงต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร B-C-D เพื่อให้มีความคิดไปในทางเดียวกันว่าการปลูกข้าวอินทรีย์ดีต่อสุขภาพของตัวเองอย่างไร และดีต่อผู้บริโภคอย่างไร
ซึ่งกว่าเกษตรกรเหล่านั้นจะเข้าใจต้องใช้เวลาหลายปี
บางพื้นที่เห็นด้วย
แต่บางพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่พบจากการลงพื้นที่ในภาคอีสานอีกอย่างหนึ่งคือเดี๋ยวนี้ลูกหลานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเริ่มให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
บางคนเคยทำโรงงานในเมืองหลวง
หรือทำงานในเขตอุตสาหกรรมยังหัวเมืองต่างจังหวัด แต่เมื่อเห็นพ่อแม่ทำเกษตรอินทรีย์แล้วให้ผลผลิตค่อนข้างดี พวกเขาจึงค่อย ๆ หันมาปลูกข้าวอินทรีย์บ้าง บางส่วนปลูกพืช ผัก ผลไม้อินทรีย์บนที่ว่างเปล่าด้วย
ที่ไม่เพียงจะทำให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิด
ยังทำให้พวกเขาเหล่านั้นอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครอบครัวจนทำให้ครอบครัวชนบทเริ่มแข็งแรง
แต่กระนั้นยังพบอีกปัญหาหนึ่งคือการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการผลผลิตของชุมชน เพราะถ้าสามารถตั้งราคากลางมาตรฐานได้ พวกเขาก็ไม่ต้องนำสินค้าไปส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ไม่ถูกกดราคา ไม่ต้องเสียเปรียบ เพราะพ่อค้าเหล่านี้จะเข้ามาซื้อผลผลิตที่เทือกสวนไร่นาของเขาเอง
ในราคาที่ตัวเองต้องการ
ในราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม
เรื่องเดียวกันนี้เมื่อหันไปดูพื้นที่ของเมืองชิบะ เมืองคานากาวะ และเมืองไซตามะ จึงพบเรื่องแปลกใจที่ว่าเกษตรกรของทั้ง 3 เมืองส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่อายุเฉลี่ย 30 ต้น ๆ
ทุกคนเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อนในกรุงโตเกียว
เช้าไปทำงาน กลางวันพักกินข้าว ทำงานจนถึงค่ำ แล้วนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้านด้วยอาการคอตกทุกวัน ชีวิตของพวกเขาเป็นอยู่อย่างนี้ปีแล้วปีเล่า จนวันหนึ่งพวกเขาเริ่มถามตัวเองว่าความสุขของชีวิตอยู่ตรงไหน
จนพบคำตอบว่า ความสุขคือการได้กลับมาทำอะไรที่บ้าน
พวกเขาสำรวจตัวเองจนพบว่าที่บ้านของเขามีที่นาอยู่ ทำไมถึงไม่มารวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์ เพราะนอกจากจะได้กินพืช ผัก ผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพตัวเองแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคได้กินของที่ปลอดสารพิษด้วย
พวก เขาทั้งหมด 8 คน รวมกันปลูกพืช ผักอินทรีย์ บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง 4 คน คิดค้นพัฒนาในการปลูกพืชผักอินทรีย์ ส่วนอีก 4 คน ที่เหลือทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทางด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์
จนที่สุดเขาสามารถสร้างแบรนด์ของพวกเขาว่าฟาร์มไอโยะ
ทางหนึ่งนำพืชผักเหล่านี้ไปวางขายในร้านเกษตรชุมชนของพวกเขาเอง โดยมีคนในชุมชนเหล่านั้น รวมถึงชาวบ้านรอบข้างมาซื้อผลผลิต ขณะที่อีกทางหนึ่ง เขาส่งสินค้าไปยังร้านอาหารในชุมชน และอีกทางหนึ่ง เขาขายตรงให้กับเจ้าของร้านอาหารในกรุงโตเกียวที่เดินทางมายังฟาร์มของพวกเขา
โดยทุกแพ็กเกจจิ้งที่บรรจุหีบห่อสินค้าจะบอกถึงที่มาของชื่อเกษตรกรวันปลูก วันเก็บผลผลิต เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าเขาบริโภคพืชผักเหล่านี้จากเกษตรกรคนใด เชื่อไหมครับว่าหลังจากที่พวกเขาทำเกษตรอินทรีย์ผ่านไประยะหนึ่ง ต่างได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง
หลายคนมาศึกษาดูงานจนฟาร์มไอโยะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้
สำคัญไปกว่านั้นพวกเขาได้อยู่บ้านกับครอบครัวที่อบอุ่น โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 30 ล้านเยน หรือ 10 ล้านบาทเป็นผลตอบแทน ซึ่งผมเห็นแล้วก็อยากเชิญชวนทุกคนให้หันมาปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์กัน
รายละเอียดมีอีกมากครับ
แล้วจะเล่าให้ฟังอีกครั้งในหน้าซีเอสอาร์นะครับ
โปรดจงติดตามด้วยใจระทึกพลัน?
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.