ภาย ใต้แนวนโยบายการพัฒนาของรัฐไทยในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น ได้สร้างปัญหามลพิษที่มีผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ของประชาชนและชุมชน
แม้ ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันจะได้รับรองคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการมีส่วน ร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการและคุ้มครองอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม สิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ก็ตาม แต่สิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกลับถูกจำกัดด้วยความล่าช้าในการประกาศใช้ กฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดในการรับรองและคุ้มครองสิทธิตามเจตนารมณ์ของ กฎหมาย หน่วยงานของรัฐไม่บังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายด้าน สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง กลไกและมาตรการของรัฐตลอดจนการควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการและบุคลากรใน กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องยังขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา มีความล่าช้า และไม่เท่าทันต่อสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ดัง เช่นปัจจุบัน
จากปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ประชาชนและชุมชนได้ใช้สิทธิเรียกร้องความยุติธรรมผ่านกระบวนการและกลไกตาม กฎหมาย และนำไปสู่การใช้สิทธิทางศาลในหลายกรณี โดยมุ่งหวังว่ากระบวนการตามกฎหมายจะสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นธรรม ต่อตนและชุมชนได้ บทความนี้จะได้เสนอปัญหา ข้อสังเกต มุมมอง ข้อเสนอแนะใน ๓ ประเด็น คือ การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานของรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง โดยผ่านกรณีศึกษาจากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ภายใต้ข้อจำกัดองค์ความรู้ กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย และยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานของศาลสูงที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็น การศึกษาวิจัยที่เหมาะสมต่อไป
ประเด็นที่ ๑ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน
๑.๑ การตีความเชิงปฏิเสธในการบังคับใช้กฎหมาย
ในประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐนั้น กฎหมายย่อมเป็นทั้งแหล่งที่มา(source) และข้อจำกัด (limitation) ในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐที่จะใช้อำนาจมหาชนในทางที่จะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้งและต้องใช้อำนาจไปตามที่ กฎหมายนั้นกำหนดไว้เท่านั้นจะใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ซึ่งหลักการที่ว่ากฎหมายเป็นทั้งแหล่งที่มาและข้อจำกัดในการใช้อำนาจของเจ้า หน้าที่รัฐนั้นเป็นหลักการที่อยู่เบื้องหลังบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๙
จากประสบการณ์การปฏิบัติงานของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมมากว่า ๗ ปี พบว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการแก้ไข อย่างที่ควรจะเป็น มาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยตรงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ เจ้าหน้าที่เลือกที่จะตีความกฎหมายอันเป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจของตน ไปในทางที่ทำให้กฎหมายนั้นไม่มีผลบังคับใช้ต่อกรณีที่ตนเกี่ยวข้องอยู่ เพื่อที่จะปฏิเสธการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีกรณีศึกษาหลายกรณีดังต่อไปนี้
กรณีศึกษาที่ ๑ การไม่ประกาศเขตพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเกิดจากมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมานาน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปของคนในสังคมไทย โดยมีหลักฐานและงานศึกษาทั้งจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการชี้ให้เห็นว่ามลพิษ อันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะร้ายแรง ขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่าง เช่น มีงานศึกษาพบว่าโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังใน พื้นที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูง จากสถิติผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลมาบตาพุด พ.ศ.๒๕๔๖ พบว่าผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลมากที่สุด คือ ๑๒,๙๔๐ คน[๑] หรือกรณีการเปิดผลวิเคราะห์ในห้องแล็บ จากงานวิจัยสารพันธุกรรม(DNA) ที่ผิดปกติของสิ่งมีชีวิต โดยการเก็บตัวอย่างเยื่อบุข้างแก้มของประชาชนจำนวน ๔๐๐ รายในเขตมาบตาพุด แบ่งเป็นผู้ใหญ่ ๑๐๐ ราย และเด็ก ๓๐๐ ราย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ พบว่าผู้ใหญ่ ๑๐๐ ราย จำนวนกว่า ๕๐ % พบสารพันธุกรรมที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของยีนในร่างกายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง[๒] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคทางเดินหายใจและโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังกับ มลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ที่ศึกษาโดยเปรียบเทียบอัตราป่วยในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดกับพื้นที่ของโรง พยาบาลบ้านฉางและพื้นที่โรงพยาบาลวังจันทร์ พบว่าอัตราป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของพื้นที่มาบตาพุดสูงกว่าทั้งสองพื้นที่ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของพื้นที่มาบตาพุดมีแนวโน้มสูงขึ้น พื้นที่ที่มีค่าคาดการณ์มลพิษสูงมีอัตราการเกิดโรคสูงกว่าพื้นที่ที่มีค่าคาดการณ์มลพิษต่ำ[๓] หรือกรณีการศึกษาวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำในบ่อน้ำตื้นของชุมชน ๒๕ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดพบการปนเปื้อนโลหะหนักหลายชนิดที่มีระดับเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำอุปโภค-บริโภคในชนบท ของคณะกรรมการการบริหารโครงการจัดให้มีน้ำสะอาดในชนบททั่วราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๓๑[๔] เป็นต้น
ชาวบ้าน ๒๕ ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามา ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีการเรียกร้องให้มีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐในการดำเนินการลดและขจัดมลพิษใน พื้นที่ แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๕๙[๕] กลับไม่ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จนนำไปสู่การฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองระยอง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดี ปฏิบัติหน้าที่ในการประกาศพื้นที่เทศบาลมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ[๖] โดยในระหว่างการพิจารณาผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การในประเด็นสำคัญว่า ข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงกับมลพิษที่เกิดขึ้นทำให้ เหตุแห่งการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ชัดเจน ต้องมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และในทางปฏิบัติได้มีการตั้งอนุกรรมการ ๒ ชุด เพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ หากการดำเนินการตามแผนไม่ประสบความสำเร็จจะพิจารณาประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ต่อไป นอกจากนี้อำนาจในการประกาศเขตควบคุมมลพิษดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้เป็นดุลพินิจ จะไม่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษก็ได้
จากกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ใช้ดุลพินิจตีความขยายเงื่อนไขในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ อันเป็นการตีความในเชิงปฏิเสธการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพราะโดย เงื่อนไขข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา ๕๙ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น กำหนดเพียงว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหา มลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของ ประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ” โดยไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขถึงขั้นต้องพิสูจน์ความเชื่อมโยงปัญหาผลกระทบ สุขภาพกับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าหากแผนลดขจัดมลพิษที่ตนกำหนดขึ้นไม่ ประสบความสำเร็จจะพิจารณาประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษต่อไปนั้น ก็จะส่งผลให้การใช้มาตรการตามกฎหมายในการลดขจัดมลพิษเนิ่นช้าออกไป ถือได้ว่าเป็นการกำหนดมาตรการที่สร้างภาระให้เกิดแก่ประชาชนจนเกินสมควรอีก ประการหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองระยองซึ่งต้องรอผลคำวินิจฉัยที่ชัดเจนต่อไป
กรณีศึกษาที่ ๒ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกับการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อม
พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๒ บัญญัติว่า
“ใน กรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๓๗ ถ้ามีเหตุที่ทางราชการสมควรเข้าไปดำเนินการแทน ให้ปลัดกระทรวง หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้บุคคลใดๆ เข้าจัดการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการเข้า จัดการนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับเบี้ยปรับในอัตราร้อยละสามสิบต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว
ถ้าทางราชการได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ เกิดจากโรงงาน ให้ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินการได้ และเมื่อได้รับเงินตามวรรคหนึ่งจากผู้ประกอบกิจการแล้วให้ชดใช้เงินช่วย เหลือที่ได้รับมาคืนแก่กองทุนสิ่งแวดล้อมดังกล่าวต่อไป”
จากประสบการณ์การทำงานทางคดีร่วมกับคณะทำงานของสภาทนายความ กรณีที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขุดดินดูดทรายในพื้นที่ ต.ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ฟ้องปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลางเป็น หมายเลขคดีดำที่ ๒๒๒๑/๒๕๕๐[๗] โดยมีคำขอข้อหนึ่งว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๕ ร่วมกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียหายจากการประกอบกิจการขุดดินดูดทรายและ แก้ไขปัญหาการพังทลายของดินเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็น การปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๒ จากประสบการณ์ในคดีนี้พบว่าเมื่อมีการฟ้องร้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม มาตรา ๔๒ คือ เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการประกอบ กิจการโรงงาน โดยให้ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ทั้งฝ่ายกรมโรงงานฯ และกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ให้ถ้อยคำในชั้นพิจารณาไปในทางเดียวกันว่า ทางราชการที่ได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตาม มาตรา ๔๒ วรรคแรกไม่สามารถขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ โดยให้เหตุผลว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่าง ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่จะขอรับเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้และกรณีตาม มาตรา ๔๒ ไม่เคยบังคับใช้มาก่อน อีกทั้งกรณีตามมาตรา ๔๒ ของ พ.ร.บ.โรงงาน ไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการให้ทุนสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมแต่ อย่างใด จากการตรวจสอบ “สรุปหลักเกณฑ์การสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม” ในเว็บไซด์ของสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อมก็ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่เปิดช่องให้ใช้เงินได้ตามมาตรา ๔๒ ของ พ.ร.บ.โรงงาน แต่อย่างใด[๘]
กรณีนี้จะเห็นได้ว่าถ้อยคำตามมาตรา ๔๒ มีความชัดเจนแน่นอนว่าทางราชการที่ได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๔๒ วรรคแรกสามารถขอรับเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับตีความกฎหมายไปในทางให้กฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้ การตีความเช่นนี้ในหลายกรณีทำให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ตามมาตรา ๔๒ พ.ร.บ.โรงงาน ไม่เข้าดำเนินการตามหน้าที่โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งต้องรอผลคำวินิจฉัยที่ชัดเจนต่อไป
๑.๒ การละเลย ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะของรัฐโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น วัตถุประสงค์ย่อมเพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณชน แม้รัฐจะมีความชอบธรรมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๖[๙] ก็ได้วางหลักการสำคัญไว้ว่าการใช้อำนาจของรัฐต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังนั้นในการใช้อำนาจของรัฐต้องคำนึงถึงทั้งประโยชน์สาธารณะและสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนและเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมที่สุด
เมื่อพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในหลาย ๆ กรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้มาตรการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลุกลามก่อผลกระทบในวงกว้าง อันจะเป็นการยากแก่การแก้ไขในภายหลัง แต่จากประสบการณ์การทำงานของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมพบว่าปัญหาที่สำคัญ ประการหนึ่งก็คือการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกิน สมควรของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวด ล้อมเป็นเวลายาวนานกว่าจะมีการแก้ไข การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการคุ้มครอง ประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
กรณีศึกษาที่ ๑ การละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้
สืบเนื่องจากราษฎรในชุมชนบ้านคลิตี้ล่างได้รับความเดือดร้อนจากการที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ตะกั่วที่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ปล่อยน้ำขุ่นข้นและตะกอนกากแร่ตะกั่วจากบ่อกักตะกอน ลงสู่ลำห้วยคลิตี้มาเป็นเวลานาน การปนเปื้อนของแร่และสิ่งอื่นที่มีพิษรวมถึงสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ได้ สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อผู้ฟ้องคดีและราษฎรชุมชนบ้านคลิตี้ อย่างต่อเนื่อง
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ชาวบ้านจำนวน ๒๒ รายในฐานะตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง ได้ดำเนินการฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษเป็นคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลข ดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๗[๑๐] ในฐานความผิดละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการกำจัดมลพิษ และฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ การเรียกค่าเสียหาย ค่าใช้จ่าย ในการฟื้นฟู และทรัพยากรธรรมชาติเสียหายจากเอกชนผู้ก่อมลพิษ และให้ชดเชยความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิที่ไม่สามารถดำรงชีพตามปกติใน สิ่งแวดล้อมที่ดี และชดเชยค่าเสียหายจากที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารจาก แหล่งธรรมชาติ
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา “...หลัง จากบริษัทฯ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในปี พ.ศ.๒๕๔๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะได้มีการติดตามตรวจสอบและเผ้าระวังการปนเปื้อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำก็ยังมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสีย หายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีจึงฟังได้ว่ากรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี ปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินสมควร และจาก ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ส่งผลให้เกิด ความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำและดินในบริเวณพิพาทแล้ว นับแต่เกิดเหตุจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี กรมควบคุมมลพิษมิได้ดำเนินการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กรมควบคุมมลพิษจึงละเลยหน้าที่ในการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็น การละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการดำรงชีพใน สิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนและให้ กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน คนละ ๓๓,๗๘๓ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๗๔๓,๒๒๖ บาท” [๑๑]
ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
กรณี ศึกษานี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและ แก้ไขปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมล่าช้าเกินสมควรอันเป็นการ กระทำละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
กรณีศึกษาที่ ๒ การละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายคดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐
บริษัทผู้จำหน่ายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ ได้ทำการขนย้ายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ เก่า ที่รับซื้อคืนจากโรงพยาบาลไปจัดเก็บที่ลานจอดรถของบริษัทในเครือ ซึ่งมีสภาพเป็นโรงเก็บรถเก่า โล่ง รกร้าง ไม่มีรั้วรอบ ไม่มีผนังบังมิดชิด ที่สามารถป้องกันการรั่วไหลแพร่กระจายของรังสี ไม่มีการจัดระบบเฝ้าดูแลสถานที่และสิ่งของ มิได้มีป้ายแสดงเครื่องหมาย หรือข้อความแสดงถึงการเตือนภัยอันตรายจากกัมมันตรังสี
ประมาณปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๓ มีพ่อค้าเร่รับซื้อของเก่ารับซื้อแท่งแสตนเลสชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสีจาก บุคคลไม่ทราบชื่อบริเวณลานจอดรถ โดยไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตรายและเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางกัมมันตภาพรังสี นำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าและได้มีการผ่าแยกแท่งตะกั่วที่ห่อหุ้มสาร กัมมันตรังสีโคบอลต์-๖๐ ทำให้สารกัมมันตรังสีโคบอลต์-๖๐ แพร่ออกมาในปริมาณสูงมีผู้เสียชีวิต ๓ ราย เจ็บป่วย ๑๐ ราย และผู้สัมผัสอีก ๑,๘๗๒ ราย
ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ ว่า “สำนัก งานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) ละเลยไม่ดำเนินการติดตามให้ผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ ที่มีสารกัมมันตรังสีซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ทำการขออนุญาตเพื่อจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยและติดเครื่องหมาย แสดงบริเวณรังสีให้ถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ พป. จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ติดตามเป็นเวลาถึง ๔ ปี ๖ เดือนเศษ จนกระทั่งได้มีการนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ ไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นต้นเหตุให้มีคนร้ายลักทรัพย์ไป จึงเกิดจากการที่ พป. มิได้ให้ผู้ครอบครองขออนุญาตจัดเก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ ดังกล่าวไว้ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย..…ดัง นั้น การที่มีรังสีแกมมาแพร่กระจายจึงเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติของ พป. เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองรายได้รับความเสียหายจากการละเลยดังกล่าวของผู้ ฟ้องคดีจึงถือได้ว่า พป. กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองราย จึงพิพากษาให้ พป. ชำระค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๒ คนรวม ๕,๒๒๒,๓๐๑ บาท” [๑๒] ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว
จาก กรณีศึกษาทั้ง ๒ กรณี เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติ หน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนนำมาซึ่งปัญหามลพิษและสุขภาพที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปกติและ ต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตอันเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕๖ ด้วย (ซึ่งปัจจุบันคือ มาตรา ๖๗ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐)
๑.๓ การขาดความรู้ความเชี่ยวชาญและขาดมาตรฐานในการจัดการกับปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการขาดความรู้ความเชี่ยวชาญและขาดมาตรฐานในการจัดการกับปัญหามลพิษและ สิ่งแวดล้อมของเจ้าหน้าที่ มักจะเป็นที่สนใจของสังคมก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหานี้มีความสำคัญมากเนื่องจาก ในกระบวนการอนุมัติอนุญาตให้มีการประกอบกิจการที่จะต้องมีการปล่อยมลพิษออก สู่สิ่งแวดล้อม/ในกระบวนการอนุญาตให้นำเข้าสารเคมีต่างๆ มาในประเทศนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมลพิษและสารเคมี ต่างๆ ทั้งด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนมาตรการควบคุม แก้ไขปัญหาที่เกิดจากมลพิษหรือสารเคมีเหล่านั้น เพื่อวางมาตรการในการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเป็นการรับประกันว่าหากเกิดปัญหาขึ้นหน่วยงานรัฐสามารถที่ จะจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จาก ประสบการณ์การทำงานพบว่าในหลายกรณีการอนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้อง ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการนำเข้าสารเคมีอันตราย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวขาดองค์ความรู้และความเข้าใจอย่าง เพียงพอที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากมลพิษหรือสารเคมีที่ตนเป็นผู้อนุมัติ อนุญาตให้ใช้หรือนำเข้า หรือมีมาตรการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มลพิษหรือสารเคมีรั่วไหล ออกสู่สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ทำให้สาธารณชนไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่าหากเกิดกรณีปัญหาขึ้นหน่วยงานรัฐจะ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยมีกรณีศึกษาดังต่อไปนี้
กรณีศึกษา การกำหนดค่ามาตรฐานสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่หนึ่งแล้วว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก มีข้อมูลที่เป็นทางการว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้รับรู้ถึงการใช้ และปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตั้งแต่ปี ๒๕๔๑[๑๓] แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการดำเนินการกำหนดค่ามาตรฐานเพื่อควบคุมการปล่อยสาร VOC ออกสู่สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
ปี ๒๕๔๘ ได้มีการตรวจพบสาร VOC ในพื้นที่มาบตาพุดว่ามีอยู่ถึง ๔๐ ชนิดและในบรรดาสาร VOC ที่ตรวจพบนั้นมีอยู่ถึง ๑๙ ชนิดที่มีปริมาณเกินมาตรฐานของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอเมริกาและเป็นสารก่อมะเร็ง
การตรวจพบสาร VOC เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทำให้ประชาชนใน พื้นที่มาบตาพุดเรียกร้องให้มีการประกาศให้เขตพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุม มลพิษจนนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางในปี ๒๕๕๐ ดังได้กล่าวมาแล้ว
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารอินทรีย์ระเหย ง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปจำนวน ๙ ชนิดในปี ๒๕๕๐ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้เหตุผลมาในคำให้การเพิ่มเติมในคดี หมายเลขดำที่ ๑๙๒/๒๕๕๐ สรุปสาระสำคัญได้ว่า การกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมสารในกลุ่ม VOC ในทางปฏิบัติจำต้องมีข้อมูลคุณภาพอากาศ การจัดลำดับความสำคัญของสารในกลุ่มนี้ เพื่อดำเนินการควบคุมสารในกลุ่มนี้บางชนิดก่อน ในขณะเดียวกันก็ทำการเฝ้าระวังสารในกลุ่มชนิดอื่น ๆ ด้วย และจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการของไทยในการเก็บและวิเคราะห์ ตัวอย่างเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้พยายามขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์กรระหว่าง ประเทศในการพัฒนาเทคนิค วิธีวิเคราะห์และการกำหนดมาตรฐานโดยได้เริ่มโครงการในเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ และโครงการได้มีการพัฒนาวิธีเก็บและตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่เป็นมาตรฐานฯ และสามารถดำเนินการได้ในประเทศไทยแล้ว รวมทั้งได้มีระบบการตรวจวัดสารในกลุ่ม VOC ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมาจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าการประกาศค่ามาตรฐานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเป็น การกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นการดำเนินการหลังจากนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุดเปิดดำเนินการกว่า ๑๗ ปี และหลังจากทราบการใช้และการมีอยู่ของสาร VOC กว่า ๑๐ ปี และเป็นการประกาศเพียงค่ามาตรฐานในบรรยากาศโดยทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีการประกาศค่ามาตรฐานจากแหล่งกำเนิดแต่อย่างใด กรณีนี้ก็เป็นหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยขาดมาตรฐานหรือ ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่อนุญาตให้นำเข้าและใช้ในประเทศ ทำให้ไม่สามารถกำหนดมาตรฐานหรือวิธีการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่าง ทันท่วงที ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อ คุ้มครองผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่ ๒. ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อม
ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่รัฐ ธรรมนูญและกฎหมายกำหนด โดยกระบวนการประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการรับฟังความคิดเห็นของบุคคล ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมทั้งรับฟังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับรู้และ แสดงความเห็นต่อการดำเนินโครงการที่จะเกิดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานรัฐพิจารณาประกอบการตัดสินใจ การอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการซึ่งอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและ คุณภาพชีวิตของชุมชน และเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นเครื่องมือสำคัญในแสดงออกการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งหลายครั้งนำมาสู่ การใช้ความรุนแรงของรัฐในการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๒.๑ ขาดกฎหมาย กลไกที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การรับฟังความคิดเห็นที่ชัดเจน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๒.๑.๑ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ชุมชน
ในคดีปกครองโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ [๑๔] กรณีเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้น้ำ มติพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตถึง ๑,๔๖๘ เมกะวัตต์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ บ้านหนองแหน ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ห่างจากแม่น้ำป่าสักประมาณ ๑ กิโลเมตร โรงไฟฟ้าใช้น้ำในกระบวนการผลิตวันละ ๕๔,๔๑๓ ลูกบาศก์เมตรหรือเดือนละ ๑,๖๓๒,๓๙๐ ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้น้ำเพื่อการหล่อเย็น ล้างเครื่องจักร กำจัดแร่ธาตุและน้ำใช้ในสำนักงาน ในปริมาณที่มากและตลอดเวลาเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอยมีความเห็นว่าอาจก่อให้เกิดภาวะขาด แคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณที่มาก มีการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงในแม่น้ำป่าสักโดยตรง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่าง รุนแรง เกษตรกรและผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอยจึงฟ้อง คดีต่อศาลปกครองกลางเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้พิจารณาถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของกรมชลประทานในการ อนุญาตให้โรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ สูบน้ำ คณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งมีมติพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเรื่องภาวการณ์ขาดแคลนน้ำที่มีอยู่แล้วในลุ่มน้ำ ป่าสัก และกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปใช้ เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน นั้น ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ เสีย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ๒๕๔๙ ม. ๓[๑๕] และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ (ซึ่งใช้บังคับขณะที่มีการอนุมัติ อนุญาตใบอนุญาตในโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒)
โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การประชุมประชาคมหมู่บ้าน ๑๑ หมู่บ้านและการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านป่า มิได้ดำเนินการให้บุคคลที่ต้องเกี่ยวข้อง ได้แถลงข้อเท็จจริงและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อนหาข้อสรุปจากการ ประชุม ไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆ เข้ามาแถลงข้อเท็จจริงหรือเสนอความเห็น ประกอบกับก่อนจัดให้มีการประชุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานรัฐและ บริษัทฯ ได้จัดทำข้อมูลเบื้องต้นที่มีสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด การอนุมัติ อนุญาตหรือเห็นชอบของโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องคดี และบริษัทฯ ผู้ร้องสอดก็อ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและ ชุมชนในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลตามกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิดังกล่าวไว้เสียก่อน บุคคลจึงมีสิทธิกล่าวอ้างการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ เป็นเอกชน มิใช่การดำเนินการโครงการของรัฐซึ่งอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธี ประชาพิจารณ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยในทางปฏิบัติ โรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ จัดให้มีเวทีสาธารณะ(ประชุมประชาคม ๑๑ หมู่บ้านและประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านป่า) เพื่อให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้ทราบข้อมูลในราย ละเอียดโครงการ มีการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ทั้งกรณีที่เห็นด้วยหรือคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ แล้ว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ม. ๕๖ และ ๕๙ แล้ว การอนุมัติ อนุญาตหรือเห็นชอบของโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ จึงไม่มีประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
อย่างไรก็ตามข้อโต้แย้งที่ปรากฏในคดีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิการรับฟังความคิดเห็นแต่ไม่มีการออกกฎหมายกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ สาระสำคัญในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแล้ว จะ ทำให้ในทางปฏิบัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่มีหลักเกณฑ์การบังคับ ใช้ที่แน่นอนชัดเจน ขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการแต่ละ โครงการว่าจะจัดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบใด ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไป เช่น การสำรวจทัศนคติ การกรอกแบบสอบถาม การจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน การประชุมสภาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การประชุมประชามติ และขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง เอาใจใส่ของประชาชนและชุมชน ในการติดตามข้อมูลข่าวสารและเจตนาแสดงความคิดเห็นของตน ซึ่งมักจะนำไปสู่ข้อถกเถียงและข้อขัดแย้ง ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐหรือผู้ประกอบการ และภายในชุมชนระหว่างกลุ่มคัดค้านกับกลุ่มสนับสนุนโครงการว่าได้มีการจัดให้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นชี้แจงข้อมูลโครงการ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมตัดสิน ใจอย่างถูกต้องเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร หรือเป็นเพียงการจัดประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อกล่าวอ้างว่ามีกระบวนการรับ ฟังความคิดเห็นแล้วเพียงเท่านั้น รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาเข้าร่วมตรวจสอบโครงการ แสดงความคิดเห็นเพียงใด
นอกจากนี้ แม้รัฐจะได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น สาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบางส่วน แต่ประชาชนมีข้อขัดข้องในการใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น ตัวอย่างเช่น การตีความคำว่า “โครงการของรัฐ” ตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ.๒๕๓๙ ข้อ ๓ ซึ่งให้นิยามว่า “การ ดำเนินงานไม่ว่าลักษณะใดๆ ตามนโยบายหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการบริหารราชการในกิจการของรัฐหรือโครงการที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ” ระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ.๒๕๔๘ ข้อ ๔ ซึ่งให้คำนิยาม “โครงการ ของรัฐในทำนองเดียวกันว่า การดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือโดยวิธีการให้สัมปทานหรือ อนุญาตให้บุคคลอื่นทำ ทั้งนี้ บรรดาที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น” ดังนั้น โครงการที่ต้องจัดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิด เห็นตามระเบียบดังกล่าว หมายถึงเฉพาะโครงการของรัฐโดยแท้หรือรวมโครงการของเอกชนที่จะต้องได้รับ สัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ ดังเช่นตัวอย่างในคดีเป็นต้น
ถึง แม้ว่า ม. ๕๗ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองหลักการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิด เห็นในลักษณะเดียวกับม. ๕๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ รวมทั้ง ม. ๖๗ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในกรณีโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่หากยังไม่มีการออกกฎหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ชัดเจน ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงถึงความชอบตามกฎหมายของโครงการต่างๆ เช่นเดียวกัน ส่งผลให้การแก้ไขข้อขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถบรรลุผลได้
๒.๑.๒ การรับฟังความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คดีปกครองโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย[๑๖] กรณีขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประเภทวางท่อส่งก๊าซ และมติพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อม แม้คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด แต่มีประเด็นที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ดังจะได้กล่าวต่อไป
โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย จากแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ในทะเลอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐทางเหนือของมาเลเซีย และขึ้นฝั่ง ที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยบริษัทฯ ได้ขอปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ประเภทวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่อกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ความยาวประมาณ ๒๗๗ กิโลเมตร เพื่อเป็นท่อส่งก๊าซให้กับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แต่โครงการมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น บริษัทฯ ได้ใช้ข้อเท็จจริงจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับ ความเห็นชอบที่ครบถ้วนจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ หน่วยงานรัฐไม่ได้แจ้งหรือสอบถามความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการให้องค์การ บริหารส่วนตำบลในพื้นที่โครงการทราบถึงรายละเอียดโครงการ และเมื่อมีการจัดให้มีประชาพิจารณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ไม่ได้นำผลการประชาพิจารณ์ไปประกอบการพิจารณาในการออกคำสั่งทางปกครองของ ตนแต่อย่างใด ต่อมาศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วน ตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ม. ๖๙[๑๗] และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙๐[๑๘] ซึ่งในการพิจารณาออกใบอนุญาตของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี มิได้แจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน และองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม ซึ่งเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่ได้รับใบอนุญาต วางท่อส่งก๊าซทราบล่วงหน้าก่อนการอนุญาต ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลทั้งสอง มิได้มีโอกาสประชุมปรึกษาหารือและมีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย- มาเลเซีย ส่งให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของท้อง ถิ่น
ในคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา ศาลวินิจฉัยว่าโครงการท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ปรากฏว่าเป็นโครงการของบริษัท ฯ ซึ่งเป็นเอกชน ไม่ใช่การดำเนินกิจการของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม และองค์การบริหารส่วนตำบลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทราบล่วงหน้าถึงการดำเนินกิจการใดๆ ตามสมควร ตามมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และวินิจฉัยว่าการออกใบอนุญาตของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ไม่ขัดต่อ มาตรา ๒๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่มีเงื่อนไขว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อในขณะที่ฟ้องคดี ยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายออกมาตาม มาตรา ๒๙๐ การออกใบอนุญาตของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีจึงชอบแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
๒.๑.๓ การนำผลของการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
จากคดีปกครองท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย[๑๙] ในข้อ ๒.๑.๒ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมิได้นำข้อสรุปและข้อเสนอแนะตาม รายงานการประชาพิจารณ์เข้าประกอบการพิจารณาอนุญาต ตามมาตรา ๒๑[๒๐] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งในการพิจารณาออกใบอนุญาตของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ มิได้มีการนำเอารายงานผลการประชาพิจารณ์ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม และตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เข้าประกอบการพิจารณาอนุญาตแต่อย่างใด
ในคำพิพากษาชั้นต้นของศาลปกครองสงขลา ศาลวินิจฉัยว่าการจัดให้มีการประชาพิจารณ์เป็นดุลพินิจที่จะให้มีหรือไม่ให้ มีการประชาพิจารณ์ก็ได้ แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้จัดทำประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าวแล้ว แต่ก็เป็น ดุลพินิจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับประชาพิจารณ์ดังกล่าว รวมถึงแจ้งให้หน่วยงานทางปกครองอื่นพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยว ข้องอย่างไรต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งผลการประชาพิจารณ์ให้กรมขนส่งทาง น้ำและพาณิชย์นาวีเพื่อดำเนินการต่อไปอย่างไร กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีจึงไม่จำต้องนำรายงานผลการประชาพิจารณ์ดัง กล่าวเข้าพิจารณาประกอบการออกใบอนุญาตแต่อย่างใด คดีอยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
จาก คำวินิจฉัยของศาลปกครองสงขลาสะท้อนให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยการประชาพิจารณ์โครงการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน มิได้มีหลักเกณฑ์วิธีการ รายละเอียด ในการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำผลที่ได้จากการประชาพิจารณ์ไปพิจารณา ประกอบการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่ชัดเจน ผลการประชาพิจารณ์ ที่จะใช้เป็นแนวทางหรือข้อมูลตัดสินใจของรัฐ ตามมาตรา ๒๑ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ถูกตีความจำกัดเป็นเพียงดุลพินิจของหน่วยงานรัฐผู้จัดทำประชาพิจารณ์ และไม่มีบทบังคับต้องแจ้งให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐเกี่ยวกับการรับฟัง ความคิดเห็นสาธารณะเพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน อันมีผลกระทบต่อประชาชนว่าเป็นเพียงการจัดประชุมชี้แจงประชาสัมพันธ์ มิใช่การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อประกอบการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของ ประชาชนและสาธารณะอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๒.๒ การใช้ความรุนแรงของรัฐในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชน
๒.๒.๑ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการใช้เสรีภาพการชุมนุม
คดีปกครองโครงการท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย[๒๑] กรณีเรียกค่าเสียหายจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุม คดีอยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในกรณีการเรียกร้องสิทธิโดยวิธีการชุมนุมเรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาทบทวนยกเลิกโครงการ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีและประชาชนกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาว่าได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้ทบทวนการอนุมัติโครงการ ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ณ โรงแรมเจ.บี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในขณะที่ผู้ชุมนุมได้หยุดรอรับประทานอาหารค่ำและประกอบพิธีละหมาดตาม พิธีกรรมทางศาสนา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าใช้กำลังเข้าสลายกลุ่มชุมนุมโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อย่างเพียงพออันจะเป็นเงื่อนไขให้มีคำสั่งใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครองใน การปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัยการประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ที่จัดเตรียมไว้ก่อนเกิดเหตุ เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยการขัดขวางการ ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของผู้ฟ้องคดี เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในชีวิต ร่างกายและทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง และผู้ฟ้องคดีจึงเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่
ใน คำพิพากษาชั้นต้นของศาลปกครองสงขลา ศาลวินิจฉัยว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ บริเวณสะพานจุติ-บุญสูง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อันเป็นสถานที่สาธารณะ เป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งการชุมนุมสาธารณะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้จะต้องเป็นการชุมนุมโดย สงบและปราศจากอาวุธ
เหตุการณ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินอ้อมแผงเหล็กเข้าไปอยู่ฝั่งที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ แล้วผลักดันเพื่อการสลายการชุมนุมนั้นและตั้งแถวใช้กระบองเคาะโล่และดาหน้า เข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมโดยใช้โล่ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ถอยร่น กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนกำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางส่วนนั่งล้อมวงใกล้แผงเหล็ก บางส่วนก็นั่งและบางส่วนก็ยืนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในที่ชุมนุม ไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใด ๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ากำลังจะใช้ความรุนแรง และไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งตามอำนาจหน้าที่หรือพยายามกระทำความผิดอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ผู้ชุมนุมได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เห็นว่าในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมนี้หาได้มีบทกฎหมายเฉพาะ ที่ให้อำนาจจำกัดการชุมนุมสาธารณะโดยสงบปราศจากอาวุธไม่ การ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยการสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่าเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะงดเว้นไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดเสรีภาพดังกล่าว หากมีการกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพดังกล่าวก็เป็นอำนาจศาลที่จะให้ ความคุ้มครอง มิฉะนั้นแล้วการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพไว้ ก็หาเกิดประโยชน์อันใดไม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธอันเป็นการใช้ เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อำนาจตามหน้าที่ ด้วยการผลักดันให้มีการสลายการชุมนุมอันเป็นการกระทำทางปกครองที่จำกัด เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้คัดค้าน โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุม และถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดที่มีความร้ายแรง เนื่องจากเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ได้รับความเสียหายโดยไม่อาจอยู่ชุมนุมต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
จากข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลปกครองสงขลาสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติไทย-มาเลเซีย สามารถใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตัว เอง สิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมต่อรัฐและ สาธารณชนซึ่งถือได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สำคัญประการหนึ่งในปัจจุบัน การที่หน่วยงานรัฐใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพการ ชุมนุมซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ดังที่ศาลได้วินิจฉัยไว้
ประเด็นที่ ๓ ปัญหาอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง[๒๒]
โดยเหตุที่ศาลเป็นองค์กรสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกติกาของสังคม และทำหน้าที่แปลบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำพิพากษาของศาลนอกจากช่วยส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ของประชาชน เยียวยาความเสียหายอันเป็นการจัดการปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ สำคัญแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาหลักกฎหมายที่จำเป็นต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด เป็นต้น
อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมและศาลปกครองของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ผ่านกรณีศึกษา ๒ กรณี คือกรณีอุบัติเหตุรังสีโคบอลต์-๖๐ และกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี[๒๓] พบปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมเป็นข้อสังเกต บางประการที่สำคัญ ดังนี้
๓.๑ ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
๓.๑.๑ ขาดมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินคดี
จาก คดีตัวอย่างทั้ง ๒ กรณี ผู้เสียหายซึ่งมีฐานะยากจนได้รับผลกระทบทางสุขภาพเจ็บป่วยจากมลพิษในสิ่งแวด ล้อม ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติวิสัยของตนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
แม้ ตาม มาตรา ๑๕๖-๑๖๐ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมาตรา ๔๕ (๑) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๘ จะกำหนดให้ผู้เสียหายที่ประสงค์จะฟ้องคดี สามารถร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาหรือร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลด้วยเหตุ ว่าไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ตามกฎหมาย อันเป็นการสนับสนุนให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ตามสมควร แล้ว แต่เนื่องจากในการดำเนินคดีนั้น ผู้เสียหายยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินคดีนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมศาล เช่น ค่าพาหนะ ค่าเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการเตรียมพยานหลักฐาน เป็นต้น อาการเจ็บป่วยและการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำเนินคดีดังกล่าวทำให้ผู้เสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิเยียวยาตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ จากกรณีศึกษาทั้ง ๒ กรณี ผู้เสียหายต้องขอความช่วยเหลือในการดำเนินการฟ้องร้องคดีจากสภาทนายความ โดยผู้เสียหายไม่ต้องรับผิดชอบค่าวิชาชีพของทนายความ รวมถึงต้องอาศัยความช่วยเหลือสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินคดี จากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ต้องกล่าวด้วยเช่นกันว่า ทั้ง ๒ กรณีนั้นต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากคดีด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป ที่อาจไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าให้การสนับสนุนในการใช้สิทธิทางศาล
๓.๑.๒ ผู้เสียหายขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิตามกฎหมาย
จาก คดีการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมทั้ง ๒ กรณี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งควรต้องมีวิธีการแก้ไขเยียวยาที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
ดัง เช่น กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ล่างซึ่งได้รับผลกระทบยืนยันว่า โรงแต่งแร่คลิตี้ปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ จนต่อมาน้ำในลำห้วยเกิดขุ่นแดง มีกลิ่นเหม็น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเคยไปร้องเรียนแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ[๒๔] ซึ่งชาวบ้านผู้เสียหายเมื่อทราบถึงผู้ละเมิดและเหตุแห่งการละเมิดสามารถใช้ สิทธิทางศาลเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายโดยทันที แต่โดยเหตุที่ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างเป็นชาวไทย-กะเหรี่ยง มีภูมิลำเนาในชนบทห่างไกล คือ อยู่รอบๆ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิของตนตามกฎหมายจึงมิได้ดำเนินการฟ้องร้อง ต่อศาลตามกฎหมายในทันที จนกระทั่งได้รับข้อมูลการช่วยเหลือทางคดีจากองค์กรพัฒนาเอกชนและสภาทนายความ จึงนำไปสู่การดำเนินการฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี และฟ้องเป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลางในปี ๒๕๔๔ ซึ่งทำให้การเยียวยา แก้ไขโดยกระบวนการยุติธรรมล่าช้าไปอย่างน้อยถึง ๗ ปี
๓.๒ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินคดี
๓.๒.๑ ข้อจำกัด-อุปสรรคในการเข้าถึงและรวบรวมพยานหลักฐาน
คดี สิ่งแวดล้อมจากทั้ง ๒ กรณี เกี่ยวข้องกับมลพิษ ซึ่งต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานข้อมูลการผลิต การดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับมลพิษของผู้กระทำละเมิด และการอนุมัติ อนุญาต การควบคุมตรวจสอบ ในการประกอบกิจการของเอกชนจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ เพื่อพิสูจน์ว่าความเสียหายของผู้เสียหาย เป็นผลจากการประกอบกิจการและหรือการปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของเอกชนและหน่วยงานรัฐผู้ กระทำละเมิด ตลอดจนต้องอาศัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เช่น ทางการแพทย์หรือวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประกอบในการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้น
ใน การรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวผู้เสียหายที่เป็นประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงและร้องขอให้ได้มา ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ เนื่องจากผู้เสียหายขาดความรู้ ความเข้าใจซึ่งรวมถึงการที่ประสานความร่วมมือขอข้อมูลความเห็นจากผู้เชี่ยว ชาญที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีคดีโคบอลต์-๖๐ และกรณีคดีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่างนั้น การรวบรวมพยานหลักฐาน เกี่ยวกับขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต หลักฐานการดำเนินกิจการเกี่ยวกับเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ รวมทั้งพยานหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากรังสีโคบอลต์-๖๐ และข้อมูลการดำเนินกิจการแต่งแร่ ข้อมูลการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากสารตะกั่วของชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง ๒ กรณีนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน และคณะทำงานสภาทนายความในการตรวจสอบพยานหลักฐาน และประสานผู้เชี่ยวชาญในการให้ความเห็นเพื่อพิสูจน์ความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติต้องประสบปัญหา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ อีกทั้งผู้เสียหายไม่มีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ จึงจำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์ตามความสมัครใจช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญแต่ละ บุคคล เช่น การขอข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ข้อมูลผลกระทบและการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จากอาจารย์ ด้านธรณีวิทยา และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น จากลักษณะเฉพาะของคดีสิ่งแวดล้อมที่ต้องอาศัยข้อมูลการผลิต การอนุมัติ อนุญาต ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำละเมิด และความเห็นทางวิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาในการพิสูจน์การกระทำ ความผิดและความเสียหาย คู่ความในคดีโดยเฉพาะผู้เสียหายจึงมีข้อจำกัดในการรวบรวมพยานหลักฐานที่ เกี่ยวข้อง
๓.๒.๒ การสืบพยานในศาลและหน้าที่นำสืบ หรือภาระการพิสูจน์
๑) ศาลยุติธรรมไม่มีระบบไต่สวนในการช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีสิ่งแวดล้อม
เนื่อง จากการที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ยังคงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จากลักษณะเฉพาะของคดีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทั้ง ๒ กรณี โจทก์ต้องนำสืบข้อมูลถึงประเภทสารเคมีหรือแร่ธาตุซึ่งก่อให้เกิดมลพิษที่ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการ พฤติการณ์ของจำเลยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของ มลพิษ โดยที่พยานหลักฐานดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในความรู้เห็นและการครอบครองของฝ่าย จำเลย รวมทั้งต้องอาศัยพยานหลักฐาน องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางรังสี ทางวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลย และความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์จึงมีข้อจำกัดในการนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นศาล
เมื่อพิจารณาเรื่องการสืบพยานในคดีตัวอย่างทั้ง ๒ กรณีแล้ว พบว่า นอกจากพยานหลักฐานที่ได้รับความช่วยเหลือในการรวบรวมเบื้องต้นจากองค์กร พัฒนาเอกชน คือ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานสภาทนายความแล้ว จากการที่ผู้เสียหายทั้ง ๒ กรณีได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองควบคู่กับการดำเนินคดี ทางแพ่งต่อศาลยุติธรรม พยานหลักฐานที่หน่วยงานรัฐนำเสนอต่อศาลปกครองประกอบกับพยานหลักฐานที่ศาล ปกครองตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเองนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความใน กระบวนพิจารณาระบบไต่สวนตามมาตรา ๕๕ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทำให้โจทก์สามารถนำพยานหลักฐานในคดีปกครองมาช่วยในการพิสูจน์ถึงมลพิษที่ อยู่ในความครอบครองและพฤติการณ์ของจำเลยที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษ ในคดีแพ่งได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนในการสืบพยานและ ภาระการพิสูจน์ความเสียหายจากมลพิษซึ่งเป็นข้อจำกัดของโจทก์ในคดีสิ่งแวด ล้อมดังกล่าว หากศาลมีกระบวนพิจารณาในระบบไต่สวนที่ช่วยในการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริง เพิ่มเติมจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอต่อศาลจะช่วยให้ศาลสามารถรับทราบ ข้อเท็จจริงประกอบการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีได้ชัดเจนและถูกต้องมากยิ่ง ขึ้น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความยุติธรรมที่เหมาะสมในคดีด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีทั่วไปได้
๒) ปัญหาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมโดยพยานผู้เชี่ยวชาญ
เนื่องจากการพิสูจน์ความเสียหายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคดีตัวอย่างทั้ง ๒ กรณีดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการพิสูจน์ความเสียหาย ศาลผู้พิจารณาคดีทั้ง ๒ ระบบ คือ ศาลยุติธรรมที่มีกระบวนพิจารณาคดีในระบบกล่าวหา และศาลปกครองที่มีระบบกระบวนพิจารณาคดีในระบบไต่สวน ไม่มีระบบบัญชีพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลที่มีลักษณะเฉพาะหรือครอบคลุมการ พิสูจน์ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง และศาลผู้พิจารณาคดีทั้ง ๒ ระบบมิได้มีการตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลโดยเฉพาะในการแสวงหาข้อเท็จจริง ดังกล่าวเพิ่มเติมนอกเหนือจากพยานผู้เชี่ยวชาญของคู่ความในคดี ทำให้โจทก์ หรือผู้ฟ้องคดีซึ่งมีข้อจำกัดในการแสวงหาพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ประสบปัญหาในการพิสูจน์ความเสียหายในทางคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบความเห็นทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่ในสังกัดของหน่วยงานของรัฐและเป็นคู่ความโดยตรงในคดีปกครอง
ดัง กรณีตัวอย่างปัญหาการแสวงหาพยานผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบความเห็นของกรมควบ คุมมลพิษที่ปฏิเสธหน้าที่ตามกฎหมายในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสาร ตะกั่ว โดยกรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างว่าการฟื้นฟูลำห้วยจะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของ ตะกอนตะกั่วและควรให้ธรรมชาติบำบัดฟื้นฟูตนเอง ทั้งๆ ที่การปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้มีสูงกว่าธรรมชาติหลายร้อย เท่าและก่อให้เกิดความเสียหายด้านสุขภาพและวิถีชีวิตโดยปกติสุขของชาวบ้าน ผู้ใช้ประโยชน์ในลำห้วยคลิตี้เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการแสวงหาพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายผู้เสียหายเพื่อนำเสนอความเห็นต่อศาลยัง ประสบปัญหา ไม่ได้รับความร่วมมือจากพยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยพยานผู้เชี่ยวชาญมีความวิตกกังวลในการเป็นพยานต่อศาล ผู้เสียหายก็ขาดแคลนเงินทุนเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการศึกษาตรวจสอบทาง วิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่มักปฏิเสธการเป็นพยาน ต่อศาลโดยเฉพาะในคดีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐในคดีปกครอง แม้ว่าฝ่ายผู้เสียหายจะประสานขอความอนุเคราะห์โดยผ่านสภาทนายความซึ่งเป็น องค์กรทางวิชาชีพทางกฎหมายก็ตาม ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถแสวงหาพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานศาลในการพิสูจน์ข้อ เท็จจริงหรือความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เพียงพอ
๓.๒.๓ การเยียวยาผู้เสียหายในคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากคดีตัวอย่างทั้ง ๒ กรณี โดยผลของคำพิพากษาได้สะท้อนปัญหาการเยียวยาผู้เสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมหลายประการ คือ
๑) ปัญหา การกำหนดค่าเสียหายทางสุขภาพ กรณีได้รับสารพิษแต่ยังไม่ปรากฏอาการ และข้อจำกัดของศาลในการสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๔๔๔ วรรค ๒
สืบเนื่องจาก ความเสียหายทางสุขภาพของผู้เสียหายที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารพิษ วัตถุอันตรายที่เป็นมลพิษในคดีสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างจากคดีละเมิดทั่วไป กล่าวคือ บางกรณีการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายในจำนวนมากก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยโดย เฉียบพลันเห็นได้ชัดเจน เช่น กรณีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐ ที่ผู้เสียหายได้รับรังสีจำนวนมาก ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ผมร่วง ไขกระดูกฝ่อ จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ บางรายที่สัมผัสรังสีอย่างใกล้ชิดเกิดบาดแผลต้องตัดนิ้วมือที่เป็นแผลทิ้ง เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วสารพิษหรือมลพิษเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสะสมอยู่ในร่าง กายหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบในร่างกายของมนุษย์ เช่น การได้รับรังสีจำนวนมากทำให้โครโมโซมในร่างกายเสียหาย ส่งผลให้แพทย์ต้องติดตามเฝ้าระวังผลเลือดและโครโมโซมผู้เสียหายไปไม่น้อย กว่า ๑๐ ปี เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าบุคคลทั่วไป หรือกรณีที่ ตะกั่วซึ่งสะสมในร่างกายอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อสมอง ระบบไต ระบบการสร้างเม็ดเลือดแดง การสร้างกล้ามเนื้อ ทารกในครรภ์เมื่อคลอดจะมีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งอาการเจ็บป่วยดังกล่าวมิได้แสดงผลให้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในปัจจุบัน แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการแสดงผลความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ความเสียหายทางสุขภาพที่ยังไม่ปรากฏอาการเจ็บป่วยที่ชัดเจนดังกล่าว ประกอบกับข้อจำกัดของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้เสีย หายที่ได้รับรังสีหรือมลพิษเข้าสู่ร่างกายมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยในอนาคตได้ แค่ไหน เพียงใด ทำให้ศาลไม่สามารถกำหนดค่าเสียหายต่อสุขภาพของผู้เสียหายในอนาคตได้อย่าง ชัดเจน ดังเช่นกรณีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐ ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า สำหรับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตนั้น เนื่องจากผู้ฟ้องคดีจะมีโครโมโซมเสียหายหรือมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือเจ็บป่วย อย่างอื่นหรือไม่นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจะเกิดหรือไม่อย่างไร แพทย์ผู้ทำการรักษาชี้แจงว่าเห็นควรติดตามผลเลือด โครโมโซม ไปไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จึงไม่อาจทราบได้ในขณะนี้ว่าผู้ฟ้องคดีจะมีอาการเจ็บป่วยในอนาคตหรือไม่ จึงเห็นควรไม่กำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตให้ขณะนี้ แต่สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้อีกในระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ตามมาตรา ๔๔๔ วรรค ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[๒๕] นอกจากนี้ในประเด็นค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่ศาลสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาไว้ ๒ ปี นั้นต่อมาศาลปกครองสูงสุดพิพากษา[๒๖]โดย สรุปว่าค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่ศาลปกครองแก้ไขให้ได้ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษากำหนดให้แล้ว แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมได้ภายใน ๒ ปี เมื่อค่าเสียหายตามอุทธรณ์ (ค่าตรวจติดตามผลการตรวจเลือด โครโมโซม ค่ารักษาพยาบาลเมื่อป่วยเป็นมะเร็งในอนาคต โดยวิธีการจัดตั้งกองทุนให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเบิกจ่ายเมื่อมีค่ารักษาพยาบาล เกิดขึ้นจริงในอนาคต เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ไม่มีฐานค่าเสียหายที่ศาลปกครองได้กำหนดไว้เดิม โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมไม่กำหนดค่ารักษา พยาบาลในส่วนนี้ให้ ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตในส่วนนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะกำหนด ให้ได้
ในขณะที่ศาลแพ่ง ก็มีคำพิพากษาในลักษณะเดียวกันว่า “เมื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ต้องใช้เวลาในการตรวจและติดตามผลในอนาคต ๑๐ ปี เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าบุคคลทั่วไป แต่ไม่สามารถทราบได้แน่ว่าโจทก์จะเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ และพ้นวิสัยที่จะทราบว่าความเสียหายมีเพียงใด จึงสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๔ วรรค ๒ ส่วนที่ขอให้จำเลยวางประกันนั้นเห็นว่าเมื่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ ๑ วางประกัน”[๒๗]
ซึ่ง คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และศาลแพ่งดังกล่าว นอกจากสะท้อนปัญหาความไม่ชัดเจนในการกำหนดค่าเสียหายทางสุขภาพในกรณีได้รับ สารพิษแต่ยังไม่ปรากฏอาการเจ็บป่วยแล้ว การที่ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษา ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าเสียหายในอนาคตไว้ภายในกำหนดเพียง ๒ ปี ตามมาตรา ๔๔๔ วรรค ๒ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการเยียวยาความเสียหายที่ไม่สอดคล้องกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสารพิษ หรือมลพิษในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการปรากฏผลความเสียหาย เพราะหากผู้เสียหายมีอาการเจ็บป่วยจากมลพิษในร่างกายเมื่อพ้นกำหนด ๒ ปี ตามคำพิพากษา จะทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างครบถ้วน และเป็นธรรมแม้จะชนะคดีแล้วก็ตาม และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้อง ให้ผู้กระทำละเมิดจัดหาหลักประกันหรือตั้งกองทุนใดๆ เพื่อชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง หากมีความเจ็บป่วยในอนาคตทำให้ผู้เสียหายขาดหลักประกันในการเยียวยาความเสีย หายทางสุขภาพอีกประการหนึ่งด้วย
๒) ปัญหาการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages)
การกำหนดค่าเสียหายจากแนวคิดเดิมในระบบ Civil Law ของศาลไทย คือ การเยียวยาให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่สถานะเดิม ผู้เสียหายไม่ควรได้รับการเยียวยาเกินกว่าความเสียหายที่ตนได้รับ แนวคิดดังกล่าวทำให้การกำหนดค่าเสียหายตามกฎหมายละเมิดในคดีสิ่งแวดล้อมมิ ได้ส่งผลเป็นการป้องปรามการกระทำผิดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวด ล้อมในอนาคต เนื่องจากศาลมิได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้มากกว่าความเป็นจริงหรือสูง กว่าปกติเพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำละเมิดในคดีสิ่งแวดล้อมอันจะส่งผลให้ผู้ ครอบครองมลพิษได้ตระหนักถึงผลร้ายจากการละเลยเพิกเฉยในการป้องกันมิให้มลพิษ แพร่สู่สิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณะวงกว้าง ซึ่งในคดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐ ทั้งคำพิพากษาคดีแพ่ง และคดีปกครองและคำพิพากษาคดีแพ่งกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย คลิตี้ ศาลมิได้กล่าวถึงค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้อย่างชัดแจ้ง ทั้งๆ ที่ศาลอาจปรับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา ๔๓๘ ที่กำหนดให้ศาลมีดุลพินิจวินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความ ร้ายแรงแห่งการละเมิดเป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษได้
๓) ปัญหาการเยียวยาความเสียหายทางสุขภาพโดยรัฐ ซึ่งผู้ก่อมลพิษไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
กรณี ผู้เสียหายมีความเจ็บป่วยจากสารพิษ รัฐได้ช่วยเยียวยาการรักษาพยาบาลโดยค่าใช้จ่ายของรัฐจำนวนมาก ทั้งการอนุมัติงบพิเศษและโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เช่น คดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐ รัฐช่วยค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นเงิน ๖ ล้านกว่าบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ศาลแพ่งมิได้กำหนดให้เอกชนผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ชดใช้ค่าเสีย หายเพราะผู้เสียหายมิได้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่เป็นการช่วยเหลือ โดยรัฐ[๒๘] และหน่วยงานรัฐมิได้มีการเรียกเก็บเงินดังกล่าวคืนจากเอกชนผู้ก่อมลพิษจนถึง ปัจจุบัน ทำให้ผู้ก่อมลพิษไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องเสียไป และเป็นภาระของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในต่างประเทศมีกรณีตัวอย่างที่รัฐฟ้องร้องเรียกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย จากมลพิษจากเอกชนผู้ก่อมลพิษ เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐบาลมลรัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทบุหรี่ เพื่อเรียกชดใช้ค่าดูแลรักษาที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้เป็นโรค ซึ่งเกิดจากบุหรี่ เป็นต้น
๔) ปัญหาการฟ้องบังคับให้เอกชนผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม
จาก คดีตัวอย่างกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ผู้เสียหายโจทก์ฟ้องให้ศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยผู้ก่อมลพิษแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมีสภาพ ดีตามธรรมชาติ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายภายใต้การควบคุมตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งศาลจังหวัดกาญจนบุรีวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการกระทำละเมิด แต่ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มีมาตรการและวิธีจัดการบำบัดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดมลพิษไว้โดยเฉพาะ เจาะจง อีกทั้งยังมีการบัญญัติให้รัฐสามารถฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าเสียหายในการจัดการเพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอยู่แล้วตามมาตรา ๙๖ และ ๙๗ คำขอบังคับของโจทก์ทั้งแปด ส่วนนี้จึงเป็นสิทธิของรัฐต้องเข้ามาดำเนินการและเรียกร้องโดยตรง ไม่อาจบังคับให้ได้[๒๙] ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา[๓๐]ในประเด็นนี้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองสิทธิโจทก์ฟ้องและขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวได้
คำ วินิจฉัยของศาลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดที่ผู้เสียหายจะบังคับให้เอกชน ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบในการดำเนินการฟื้นฟู ขจัดมลพิษโดยตรงตามมาตรา ๙๖ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเป็นสิทธิของรัฐเท่านั้นในการดำเนินการและเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการขจัด มลพิษจากเอกชน ซึ่งอาจทำให้การแก้ไขฟื้นฟูปัญหามลพิษล่าช้า และเป็นการจำกัดสิทธิผู้เสียหายที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ ต่อเนื่องตามที่มาตรา ๖๗ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรองและคุ้มครองไว้
๕) ปัญหาการฟ้องบังคับให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม
จากคดีตัวอย่างกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ในคดีปกครอง ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ ก่อมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วล่าช้าจนเกิน สมควรให้ชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชาวบ้านคลิตี้ล่างตามมาตรา ๕๖ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐[๓๑]
แม้ว่าโดยคำพิพากษาของศาลปกครองกลางจะได้วินิจฉัยรับรองสิทธิในการได้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีของ ประชาชนตามรัฐธรรมนูญและสิทธิของประชาชนในการเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐ ที่กระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการวางหลักกฎหมายที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิ ของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีได้บาง ส่วนแล้ว
แต่เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวมิได้กำหนดบังคับให้กรมควบ คุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้โดยมี แผนกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทำให้การเยียวยาความเสียหายฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็น ประเด็นหลักแห่งคดีขาดความชัดเจน แน่นอน และไม่สามารถคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ฟ้องคดีและชุมชนได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๔. ข้อเสนอแนะ
จากปัญหาความยุติธรรมและการจัดการความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมผ่านประสบการณ์ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง คณะผู้เขียนบทความมีข้อเสนอในภาพรวม เฉพาะประเด็นปัญหา ดังนี้
๔.๑ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ
๔.๑.๑ หน่วยงานของรัฐต้องกำหนดหลักการและหลักเกณฑ์การใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายใน การควบคุม ตรวจสอบ อนุญาตการดำเนินโครงการ การเยียวยาแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ละเอียดชัดเจนทั้งขั้นตอนในการรายงานข้อ เท็จจริง การตัดสินใจ ผู้รับผิดชอบ ในรูปแบบกฎหมายลำดับรอง เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่กำกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ เกี่ยวข้องทั้งการตีความบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยต้องเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายในการรับรู้และตรวจ สอบ เช่น การออกระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ การประกาศใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๔๕ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ อันเป็นการขยายรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามกฎหมายไว้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
๔.๑.๒ หน่วยงานของรัฐต้องพัฒนาระบบข้อมูล เสริมสร้างองค์ความรู้ ศึกษา วิจัย ข้อมูลสารเคมี และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้าและใช้ในประเทศเพื่อกำหนดใช้มาตรการทางกฎหมาย ที่จำเป็นในการป้องกันผลกระทบด้านมลภาวะในสิ่งแวดล้อมให้เท่าทันต่อ สภาวการณ์ และบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
๔.๒ ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๔.๒.๑ รัฐต้องดำเนินการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายระดับรอง ระเบียบ ข้อบังคับอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชน ก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจการใดๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่อาจมีผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนให้มีความชัดเจนแน่นอน มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยต้องมีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้ประชาชนได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผล อย่างครบถ้วนและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอ โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวให้ถือว่าเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระ สำคัญในการดำเนินโครงการที่ต้องจัดให้มีขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำผลการรับฟังความคิดเห็นในประกอบการพิจารณา อันจะเป็นการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนตามรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ , ๖๖ และ ๖๗ ให้บรรลุผล ลดความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔.๒.๒ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ เกี่ยวกับและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายระดับรองอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การรับฟังความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการดำเนินโครงการทั้ง ของรัฐและเอกชนที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ ให้มีความชัดเจนแน่นอน โดยถือเป็นขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะเพิกเฉย เสียมิได้ โดยต้องนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการ เช่นเดียวกับกฎหมายการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในข้อ ๔.๒.๑ โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญตามที่ มาตรา ๒๙๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นกลไกการจัดการความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกประการ หนึ่งเช่นเดียวกัน
๔.๒.๓ รัฐต้องลดเงื่อนไขการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยโดยการใช้ความรุนแรงในการ จำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่สำคัญของประชาชน ที่รวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นประการใดประการหนึ่งต่อรัฐ และสาธารณะซึ่งถือได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวด ล้อมที่สำคัญประการหนึ่งในปัจจุบัน โดยรัฐควรดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนให้เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธอันเป็นการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๓ ได้บัญญัติไว้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
๔.๓ ปัญหาอุปสรรคบางประการในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง
๔.๓.๑ ปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
รัฐต้องกำหนดมาตรการกลไกในการเยียวยาความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ กับประชาชน ตลอดจนกำหนดมาตรการในการสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนใช้สิทธิทางศาลได้โดย สะดวก โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เช่น
- จัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ในส่วนกองทุนสิ่งแวดล้อมให้มีวัตถุประสงค์ในการเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้กับประชาชนและชุมชนที่ได้รับผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีที่มาของรายรับเข้ากองทุนจากภาษี ค่าธรรมเนียม เงินประกัน จากผู้ประกอบการที่มีกิจการที่อาจส่งผลกระทบความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม และให้กองทุนดังกล่าวมีอำนาจในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืนจากเอกชนผู้ก่อ มลพิษ
- สนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กรช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ไม่แสวงหากำไรใน การดำเนินคดี เผยแพร่ อบรมความรู้ ด้านสิทธิและกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนและชุมชน
๔.๓.๒ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินคดี
๑) ควรกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่สะดวก รวดเร็ว สามารถอำนวยความยุติธรรม ในคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากคดีทั่วไป เช่น กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาคดีในระบบไต่สวนเพื่อให้ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติมจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอต่อศาล มีระบบการประนอมข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ยโดยศาลเป็นพิเศษ เพื่อระงับข้อพิพาทและเยียวยาความเสียหายได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ มีระบบในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งศาลแต่งตั้งขึ้นโดยตรง และมีหลักเกณฑ์การรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายครอบคลุมในการพิสูจน์ ประเด็นแห่งคดี
๒) ควรมีการตั้งแผนกคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะขึ้นในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ทั้ง ในศาลชั้นต้นและในศาลสูง หรือจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเป็นศาลชำนัญพิเศษในการพิจารณาคดีด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการพิจารณาคดี พัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการบังคับใช้กฎหมายตลอดจนพัฒนาหลักกฎหมายด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
๓) ควรมีการเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมให้กับผู้พิพากษาและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจในการดำเนินคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๔.๓.๓ การเยียวยาผู้เสียหายในคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑) กรณีความเสียหายต่อสุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในคดีสิ่งแวดล้อมควรมีการกำหนดค่าเสียหาย เชิงลงโทษ (Punitive Damages) เพิ่มเติมค่าเสียหายทางละเมิดเดิมที่มีอยู่แล้ว อาทิเช่น การปรับใช้กฎหมายตามมาตรา ๔๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค่าเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงิน ได้ประกอบกับมาตรา ๔๓๘ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดให้ ศาลมีดุลพินิจวินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่ง ละเมิดเป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือแก้ไขกฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเกี่ยวกับความผิด ละเมิดด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมโดยตรง
๒) การกำหนดค่าเสียหายทางสุขภาพของผู้เสียหายในกรณีที่ได้รับสารพิษแต่ยังไม่ ปรากฏอาการเจ็บป่วย และข้อจำกัดของศาลในการสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายทาง สุขภาพในอนาคตได้ในระยะเวลาเพียง ๒ ปี
ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการเยียวยาความ เสียหายทางสุขภาพที่ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับลักษณะคดีละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีละเมิดทั่วไป รวมทั้งมีมาตรการในการกำหนดเงินประกันความเสียหายจากผู้กระทำละเมิดในคดี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้เสียหายเพื่อเป็นการเยียวยาความ เสียหายเพิ่มด้วย
๓) ปัญหาการเยียวยาความเสียหายทางสุขภาพโดยที่ผู้ก่อมลพิษไม่มีส่วนร่วมรับผิด ชอบตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle : PPP) ควรมีการแก้ไข มาตรา ๙๖ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่ทางราชการต้องรับภาระจ่าย จริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษาทางสุขภาพตามหลักผู้ ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
๔) ควรมีการแก้ไขมาตรา ๙๖ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ให้สิทธิประชาชนผู้เสียหายในการฟ้องบังคับให้เอกชนผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ ในการดำเนินการฟื้นฟู ลด ขจัดมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ภาคผนวก
ข้อเท็จจริงทางคดีเบื้องต้น
- กรณีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-๖๐ ที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ
กรณีนี้ มีการดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางสุขภาพจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการจัดเก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ ให้ปลอดภัยต่อประชาชนตามกฎหมาย และบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด กับพวกรวม ๕ คน ซึ่งจัดเก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ โดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดเก็บโดยไม่ถูกต้อง ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนดตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์-๖๐ ทำให้ผู้เสียหายที่ได้รับรังสีเสียชีวิตและเจ็บป่วย โดยผู้เสียหายจำนวน ๑๒ ราย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือประสานงานจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ( AEPS ) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ในการนำเรื่องขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความและโครงการนิติธรรม สิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ( AEPS ) มีบทบาทอย่างมากในการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและงบประมาณในการดำเนินคดี
กรณีนี้ ผู้เสียหายได้ดำเนินการฟ้องร้องสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติต่อศาลปกครองกลาง (คดีหมายเลขดำที่ ๑๕๑๖/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๒๐/๒๕๔๕) และบริษัท กมลสุโกศล อิเลค ทริค จำกัด กับพวกต่อศาลแพ่ง (คดีหมายเลขดำที่ ๘๑๖/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๔/๒๕๔๗) โดยเรียกร้อง หนึ่ง-ค่าเสียหายทางสุขภาพได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล สอง-ค่าเสียความสามารถในการประกอบการทำงานในปัจจุบันและอนาคต สาม-ค่าจัดงานศพ สี่-ค่าไร้ผู้อุปการะ และ ห้า-ค่า ทดแทนความเสียหายอื่นอันมิใช่ตัวเงิน (ค่าความเสียหายจากความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและโอกาสที่จะเจ็บป่วยใน อนาคตจากการได้รับรังสี)
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติชดใช้ความเสียหาย จำนวนทั้งสิ้น ๕,๒๒๒,๓๐๑ บาทและสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายทางสุขภาพในอนาคตไว้ ๒ ปี ตามกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้มีการชดเชยค่า เสียหายทางสุขภาพในอนาคตเพิ่มเติม ค่าเสียหายจากการติดตามเฝ้าระวังทางสุขภาพและการตั้งกองทุนเพื่อเป็นค่า รักษาพยาบาลผู้ป่วยในอนาคต เนื่องจากผู้เสียหายที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์-๖๐ ส่วนใหญ่มีโครโมโซมผิดปกติ แพทย์ผู้ทำการรักษามีความเห็นว่าต้องติดตามเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดเป็นโรค มะเร็งหรือโรคอื่น ๆ ในอนาคตไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ เฉพาะประเด็นเรียกร้องให้ศาลปกครองแก้ไขคำพิพากษาที่สงวนสิทธิไว้ ๒ ปี ในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคต จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในอนาคตตามความเป็นจริงนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.415/2550 ว่า เมื่อค่าเสียหายตามคำขอในคำอุทธรณ์อ้างว่าเป็นค่ารักษาพยาบาลในอนาคตของผู้ ฟ้องคดีทั้งเก้าคนดังกล่าวเป็นค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่กล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีฐานค่าเสียหายที่ศาลปกครองได้กำหนดไว้เดิม โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมไม่กำหนดค่ารักษา พยาบาลในส่วนนี้ให้ ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตในส่วนนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะกำหนด ให้ได้ ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกคำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนของค่ารักษาพยาบาลใน อนาคตจึงชอบแล้ว พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว
๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด ชดใช้ความเสียหายเพิ่มเติมจากที่ผู้เสียหายได้รับชดใช้แล้วตามคำพิพากษาศาล ปกครองกลางจำนวนทั้งสิ้น ๖๔๐,๒๗๖ บาท โดยไม่ได้กำหนดให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้เสียหายที่โรงพยาบาลของรัฐให้ความ ช่วยเหลือโดยงบประมาณของรัฐจำนวน ๖,๙๒๘,๒๐๘ บาท และสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาแก้ไขค่าเสียหายทางสุขภาพในอนาคตไว้ ๒ ปีตามกฎหมาย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ซึ่งทั้ง ๒ คดี ผู้เสียหายอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังทางสุขภาพ โดยยังไม่ปรากฏอาการเจ็บป่วยแม้จะเกินระยะเวลาที่ศาลสงวนสิทธิแก้ไขคำ พิพากษาในส่วนค่าเสียหายทางสุขภาพในอนาคตไว้ ๒ ปีแล้วก็ตาม
- กรณีการแพร่กระจายของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี
กรณีการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ มีการดำเนินคดีเรียกร้องค่าชดเชยจากการที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดความระมัดระวังในการจัดการกากตะกอนตะกั่ว ทำให้ไหลลงมาปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้และไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ รวมทั้งทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษตะกั่วจากการมีตะกั่วในเลือดสูง ในเด็กและผู้ใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่ โดยเฉพาะในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้เพื่อการอุปโภคบริโภค
โดยตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านคลิตี้ล่างจำนวน ๘ คน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือประสานงานจากศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ในการนำเรื่องขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความและโครงการนิติธรรม สิ่งแวดล้อม โดยศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและองค์กรเครือข่ายจำนวนหนึ่งมีบทบาทอย่าง มากในการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินคดี
วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้เสียหายได้มีการดำเนินการฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดและผู้บริหาร เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี (คดีหมายเลขดำที่ ๑๐๖/๒๕๔๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๖๕/๒๕๔๙) เรียกร้องค่าเสียหายเพื่อเป็น หนึ่ง-ค่ารักษาพยาบาล สอง-ค่าเสียโอกาสในการทำงาน สาม-ค่าสูญเสียด้านจิตใจ อวัยวะ คุณภาพชีวิต การพัฒนาตน และความสามารถในการสืบต่อชาติพันธุ์ สี่-ค่าเสียหายจากการที่สัตว์เลี้ยงตายเนื่องจากกินน้ำในลำห้วยคลิตี้ และ ห้า-ให้ ดำเนินการแก้ไขและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งปนเปื้อนกากตะกอนตะกั่วให้กลับสู่ สภาพเดิมตามธรรมชาติภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายให้โจทก์ทั้ง ๘ คน ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารตะกั่วที่รั่วไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นจำนวนเงิน ๔.๓ ล้านบาท อย่างไรก็ดี ศาลมิได้กำหนดให้จำเลยต้องดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากสิทธิในการเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิทธิของรัฐที่ต้องเข้ามาดำเนิน การและเรียกร้องโดยตรง
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาว่าค่าเสียหายของโจทก์ทั้งแปด เมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองและความร้ายแรงแห่งการรั่วไหลหรือ แพร่กระจายของสารตะกั่วดังกล่าวแล้วที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้มายังไม่เหมาะสม สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปดใหม่ เป็นจำนวนเงิน ๒๙,๕๕๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ในประเด็นเรื่องการให้จำเลยต้องดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสาร ตะกั่วนั้น ศาลเห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองสิทธิให้โจทก์ ทั้งแปดฟ้องและขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ชาวบ้านจำนวน ๒๒ รายในฐานะตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง ได้ดำเนินการฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษเป็นคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลข ดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๗ ในฐานความผิดละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการกำจัดมลพิษ และฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ การเรียกค่าเสียหาย ค่าใช้จ่าย ในการฟื้นฟูและทรัพยากรธรรมชาติเสียหายจากเอกชนผู้ก่อมลพิษ และให้ชดเชยความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิที่ไม่สามารถดำรงชีพตามปกติใน สิ่งแวดล้อมที่ดี และชดเชยค่าเสียหายจากที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารจาก แหล่งธรรมชาติ
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ 637/2551ว่า “...หลัง จากบริษัทฯ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในปี พ.ศ.๒๕๔๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะได้มีการติดตามตรวจสอบและเผ้าระวังการปนเปื้อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำก็ยังมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสีย หายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีจึงฟังได้ว่ากรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี ปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินสมควร และจาก ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ส่งผลให้เกิด ความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำและดินในบริเวณพิพาทแล้ว นับแต่เกิดเหตุจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี กรมควบคุมมลพิษมิได้ดำเนินการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กรมควบคุมมลพิษจึงละเลยหน้าที่ในการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็น การละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการดำรงชีพใน สิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนและให้ คพ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน คนละ ๓๓,๗๘๓ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๗๔๓,๒๒๖ บาท”
ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด
[๑] มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย,รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำแผนแม่บทเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีศึกษา : ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด,๒๕๔๗, ตาราง ๓-๑ ,หน้า ๓ -๑๑
[๒] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๒, ๒๒๕ วันที่ ๑๐ - ๑๓ มิถุนายน๒๕๕๐
[๓] สม ชาย จาดศรี,การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคทางเดินหายใจและโรคผิวหนังกับมลพิษ ทางอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด,หน้า ๖๗ และ ๖๘
[๔] ดร.อาภา หวังเกียรติ,เอกสารการศึกษาปริมาณโลหะหนักในบ่อน้ำตื้นในเขตเทศบาลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
[๕]พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๕๙ “ใน กรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็น อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้”
[๖] คดี หมายเลขดำที่ ๑๙๒/๒๕๕๐ ศาลปกครองระยอง ระหว่าง นายเจริญ เดชคุ้ม กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี
[๗] คดี หมายเลขดำที่ ๒๒๒๑/๒๕๕๐ ศาลปกครองกลาง ระหว่าง นางสาวเดือนเพ็ญ บ่อน้ำเชี่ยว กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กับพวก ผู้ถูกฟ้องคดี
[๘] ดูข้อมูล สรุปหลักเกณฑ์การสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ที่ http://envfund.onep.go.th/index.php?option=content&task=view&id=52&catid=45&Itemid=53envfund.
[๙] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๖ “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
[๑๐] คดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๗ ศาลปกครองกลาง ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี
[๑๑] คำ พิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๖๓๗/๒๕๕๑ ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
[๑๒] คำ พิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๒๐/๒๕๔๕ ระหว่างสมใจ แก้วประดับ กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕
[๑๓] ดูมติฉบับเต็มได้ที่ http://www.onep.go.th/neb/3.%20Resolution/data/กก.วล.%202541/4-2541.pdf
[๑๔] คดีหมายเลขดำที่ ๖๔๒/๒๕๕๐ ศาลปกครองกลาง ระหว่างนายสมคิด ดวงแก้ว กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ กรมชลประทาน กับพวก ผู้ถูกฟ้องคดี
[๑๕] มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ๒๕๔๙ “ภาย ใต้บังคับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
[๑๖] คดี หมายเลขแดงที่ ๖๑/๒๕๕๑ ศาลปกครองสงขลา ระหว่าง นายกิตติภพ สุทธิสว่าง กับพวก ผู้ฟ้องคดี และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กับพวก ผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๑
[๑๗] มาตรา ๖๙ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ “อำนาจ หน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ นั้น ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ในอันที่จะดำเนินกิจการใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบล แต่ต้องแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลทราบล่วงหน้าตามสมควรในกรณีนี้องค์การ บริหารส่วนตำบลมีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าว ให้กระทรวงทบวง กรม หรือองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ นำความเห็นขององค์การบริหารส่วนตำบลไปประกอบพิจารณาดำเนินกิจการนั้นด้วย”
[๑๘] มาตรา ๒๙๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ “เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่
(๒) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอก เขตพื้นที่เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ของตน
(๓) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่”
[๑๙] คดีหมายเลขแดงที่ ๖๑/๒๕๕๑ ศาลปกครองสงขลา, อ้างแล้ว
[๒๐] ผล ที่ได้จากประชาพิจารณ์ย่อมใช้เป็นแนวทางหรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐ ให้การดำเนินงานตามโครงการของรัฐ มิใช่การตัดสินเด็ดขาดที่จะต้องดำเนินการตามนั้นในปัญหาที่มีข้อโต้เถียง หลายฝ่าย แต่ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐจะตัดสินใจดำเนินการตามผลที่ได้จากประชาพิจารณ์หรือไม่ ก็ตามให้หน่วยงานของรัฐรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากประชาพิจารณ์ไป พิจารณาด้วย
[๒๑] คดี หมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๔๙ ศาลปกครองสงขลา ระหว่าง นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ กับพวกผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
[๒๒] ปรับ ปรุงบางส่วนจาก รายงานวิจัยโครงการศึกษาการจัดตั้งรูปแบบองค์กรที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ในการพิจารณาคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการศึกษาแบบมีส่วน ร่วมเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทรัพยากรธรรมชาติ พ.ศ...... โดยโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
[๒๓] รายละเอียดปรากฏตามเอกสารภาคผนวกท้ายบทความ
[๒๔] คดี หมายเลขแดงที่ ๑๕๖๕/๒๕๔๙ ศาลจังหวัดกาญจนุบรี ระหว่าง นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ ๑ กับพวก โจทก์ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ๑ กับพวก จำเลย ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙
[๒๕] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๒๐/๒๕๔๕ , อ้างแล้ว
[๒๖] คำ พิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๑๕/๒๕๕๐ ระหว่าง น.ส.สมใจ แก้วประดับ กับพวก ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
[๒๗] คำ พิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๙/๒๕๔๒ ระหว่าง น.ส.จิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์ กับพวก โจทก์ กับ บริษัท กมลสุโกศลอิเล็คทริค จำกัด กับพวก จำเลย ฉบับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗
[๒๘] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๙/๒๕๔๗ , อ้างแล้ว
[๒๙] คำพิพากษาศาลจังหวัดกาญจนบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๕๖๕/๒๕๔๙, อ้างแล้ว
[๓๐] คำ พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๔๒๖/๒๕๕๐ ระหว่าง นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา กับพวก โจทก์ กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก จำเลย ฉบับวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐
[๓๑] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๖๓๗/๒๕๕๑, อ้างแล้ว
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.