ถ้าดูในแผนที่โลก ละตินอเมริกาหมายรวมถึงประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกา นับตั้งแต่เม็กซิโกลงมา ปีเตอร์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันประธานาธิบดีฮูโก ชาเวส แห่งเวเนซุเอลา กำลังท้าทายอำนาจอเมริกา ด้วยการสร้างแนวร่วมประเทศในละตินอเมริกา ที่ไม่เอาอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมองแบบหยาบๆ ประเทศในทวีปอเมริกา สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ พวกไม่เอาอเมริกา ได้แก่ ประเทศคิวบา เวเนซุเอลา โบลีเวีย เอกวาดอร์ และนิคารากัว กลุ่มที่สองเป็นประเทศที่แอบอิงอเมริกาอย่างใกล้ชิด แน่นอน มีสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และโคลัมเบีย ส่วนประเทศที่วางตัวเองอยู่กลางๆ ไม่แน่นอน คือ บราซิล ชิลี อุรุกวัย อาร์เจนตินา และเฮติ
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อเมริกาพบความยุ่งยากมากมายในสงครามอิรัก ทำให้ไม่มีเวลาจัดการประเทศในละตินอเมริกา ที่เริ่มแข็งข้อกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวเนซุเอลา และโบลีเวีย ดูเหมือนน่าจะเป็นข้อดีและโชคดี ของประเทศเวเนซุเอลา และโบลีเวีย ที่อเมริกายังไม่สามารถรบชนะอิรักได้ ไม่เช่นนั้นก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่เมื่อสหรัฐมีโอกาส เวเนซุเอล่า และโบลีเวีย อาจจะเป็นประเทศต่อไปที่อเมริกา ต้องการจะรุกราน
ปัจจุบัน เวเนซุเอล่า พยายามชักชวนเพื่อนพ้องประเทศทั้งในละตินอเมริกาและนอกละตินอเมริกาให้เข้ามาเป็นแนวร่วมกับประเทศตน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย อาทิ เวเนซุเอล่า สามารถสนับสนุนน้ำมันราคาถูกให้กับประเทศแนวร่วมได้ เนื่องจากเวเนซุเอล่าสามารถผลิตน้ำมันได้เอง และราคาน้ำมันในเวเนซุเอล่าถูกกว่าน้ำดื่มเสียอีก คือตกลิตรละ 3 บาทเท่านั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา เวเนซุเอล่า ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศที่เวเนซุเอล่า ต้องการชักชวนให้เข้ามาเป็นแนวร่วม เช่นการใช้หนี้คืน IMF ให้กับอาร์เจนติน่า และให้อาร์เจนติน่า จ่ายเงินคืนเวเนซุเอล่า โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัดเหมือน IMF รวมทั้งการทำข้อตกลงความช่วยเหลือและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศแนวร่วม ที่เรียกกันว่า อัลบา ALBA โดยตอนนี้มีสมาชิกร่วมอยู่ในข้อตกลงเศรษฐกิจนี้ 6 ประเทศคือ คิวบา เวเนซุเอล่า โบลีเวีย นิคารากัว อาร์เจนติน่า และเฮติ
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในละตินอเมริกา
หากเรามองขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในละตินอเมริกา มองได้สองแบบ แบบแรกคือกลุ่มประเทศที่มีการรวมตัวของประชาชนขนานใหญ่ เป็นพลังประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลและประธานาธิบดีมาแล้วหลายครั้ง เช่น เวเนซุเอล่า โบลีเวีย และเอกวาดอร์ ในกรณีของโบลีเวียและ เอกวาดอร์ มวลชนขนานใหญ่ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลในแต่ละครั้งนั้นเป็นชนพื้นเมือง ในขณะที่ในเวเนซุเอล่า มวลชนขนานใหญ่ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลเป็นขบวนคนจนเมือง ประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ประชาชนประสบความสำเร็จในการขับไล่ประธานาธิบดีมาแล้วหลายครั้ง แต่ในทุกครั้ง พวกนักการเมืองหัวเก่าก็จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอยู่ร่ำไป มวลชนที่ออกมาจึงทำได้แค่ขับไล่รัฐบาล แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นของประชาชนได้ในอดีตที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ฮูโก ชาเวส อดีตนายทหารที่เกษียณ และได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มถลายจากคนจนในเมืองของเวเนซุเอล่า หลายปีก่อนเมื่อตอนชาเวสยังเป็นนายทหารคุมกำลังอยู่ เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ของคนจนเมือง ประธานาธิบดีเวเนซุเอล่าในขณะนั้นตัดสินใจใช้กำลังทหารจากหน่วยต่างๆ ปราบปรามประชาชน ในขณะที่ชาเวสละเมิดคำสั่ง และตัดสินใจใช้กำลังทหารหน่วยของตนเ อง ช่วยเหลือคนจนเมืองและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการแทน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมคนจนเมืองในเวเนซุเอล่าจึงรักชาเวสมาก แม้เมื่อหลายปีที่ผ่านมาเมื่อสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองในเวเนซุเอล่า โดยการสนับสนุนให้มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของชาเวส และจับกุมชาเวสไปไว้ในคุกที่อยู่ในเกาะห่างไหล หากขบวนคนจนเรือนแสนได้ออกมาชุมนุมประท้วงที่เมืองหลวงเรียกร้องเพื่อให้มีการนำชาเวสกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
เช่นเดียวกันกับที่ปัจจุบันประธานาธิบดีอีโว โมราเลส แห่งโบลีเวีย ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโบลีเวีย โมราเลส เป็นแกนนำเกษตรกร เคยเข้าร่วมและมีส่วนในการก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวชาวนาสากล เวียคัมปาซินา อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเบื้องต้นคือ แม้ว่า โบลีเวีย และเวเนซุเอล่า จะมีมวลชนขนาดใหญ่ที่สนับสนุนประธานาธิบดีที่พวกเขารัก แต่มวลชนเหล่านี้เป็นมวลชนที่ไม่ได้รับการจัดตั้งภายใน ไม่ได้มีองค์กรเกษตรกรชาวนา หรือชนพื้นเมืองที่เข้มแข็งในประเทศเหล่านี้ ซึ่งจะต่างจากที่บราซิลและเม็กซิโก ซึ่งถึงแม้จะไม่มีรัฐบาลหรือประธานาธิบดีที่เป็นฝ่ายประชาชน ณ ปัจจุบัน และทั้งบราซิลและเม็กซิโก ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีการจัดตั้งภายในอย่างเข้มแข็งและเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการสังคมในละตินอเมริกาและทั่วโลก
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในบราซิลและเม็กซิโก
ในละตินอเมริกา มีหลายประเทศที่มีประชากรเป็นชนพื้นเมืองเก่าแก่ดั้งเดิม ตั้งแต่ก่อนการรุกรานของสเปนและโปรตุเกสเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เมื่อผ่านช่วงเวลาของการยึดครองจากสเปนและโปรตุเกส ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ ก็ยังเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ประเทศกลุ่มเหล่านี้ มี เปรู กัวเตมาลา เอกวาดอร์ โบลีเวีย ส่วนในบราซิล และเม็กซิโก ถือได้ว่า ยังมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่มากแม้จะไม่ได้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม
ปัจจุบัน เอ็มเอสทีที่บราซิล มีสมาชิกอยู่ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนแรก ถือว่าประสบความสำเร็จในการยึดที่ดินแล้ว มีที่ดินและมีการตั้งชุมชนเป็นของตนเอง ในขณะที่อีก 1 ล้านคนที่เหลือยังอาศัยอยู่ร่วมกันในแคมป์เตรียมการสำหรับการยึดที่ดินแปลงต่อๆไป
ในขณะที่ซาปาติสตา มีสมาชิกทั้งสิ้น 4 แสนคน แต่ความแตกต่างคือ สมาชิกซาปาติสตา 4 แสนคน กระจุกตัวอาศัยอยู่ในเขตเดียวกันในรัฐเชียปาส ทางตอนใต้ของเม็กซิโก ในขณะที่สมาชิกเอ็มเอสทีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศบราซิล
เอ็มเอสทีมีการจัดองค์กรภายในที่แตกต่างจากซาปาติสตา แต่ใช้แนวคิดหลักการเดียวกันคือ การนำแบบรวมหมู่ ในทุกชุมชนสมาชิกของเอ็มเอสที จะมีการคัดเลือกตัวแทนเพื่อทำงานด้านต่างๆ ให้กับองค์กร ทุกสิบครอบครัวจะต้องจับกลุ่มกันเป็นหนึ่งกลุ่ม และจะต้องส่งตัวแทนสองคน ชายหนึ่งคน หญิงหนึ่งคน เพื่อขึ้นมาทำงานเป็นกรรมการชุมชน หรือสมาชิกสภาชุมชน ถ้าชุมชนนั้นๆ มีสมาชิก 500 คน แสดงว่าจะมีกลุ่มย่อยทั้งสิ้น 50 กลุ่ม และมีตัวแทนขึ้นมาทำงานในสภาชุมชน 100 คน เป็นชาย 50 คน หญิง 50 คน และสภาชุมชนนี้จะต้องส่งตัวแทนเพียง 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน เพื่อไปทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ในสภาตำบล ใช้ระบบนี้เช่นเดียวกันจนถึงระดับชาติ ซึ่งเอ็มเอสทีมีตัวแทนสภาระดับชาติ 44 คน คนพวกนี้จะอยู่ในวาระการทำงาน 2 ปี สภาระดับชาติเหล่านี้จะมีการประชุมกันทุก 45 วัน
ซาปาติสตา มีการจัดการองค์กรภายในโดยการแบ่งเขตการปกครองของตนเองเป็น 5 เขต แต่ละเขตจะต้องส่งตัวแทนของตนขึ้นมาทำงานในสภาเขต เขตละ 2-3 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในเขต สภาเขตแห่งนี้ ซาปาติสตาเรียกมันสภานักปกครองที่ดี (Good Governance Council) สมาชิกสภาจำนวน 10-15 คนจะทำงานแก้ไขปัญหาในทุกด้านให้กับสมาชิก เหมือนเป็นรัฐบาลให้กับเขตปลดปล่อย ซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกไม่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวใดๆ แล้ว สมาชิกสภาเขตมีอายุการทำงานเพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น ทุกคนทำงานเต็มเวลา ทิ้งแปลงไร่นาเสียสละมาเป็นรัฐบาล 2 อาทิตย์ แล้วกลับไปทำงานในไร่นาของตนเองต่อ ข้อดีคือทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเป็นรัฐบาล เข้าใจการทำงานของระบบรัฐบาลแต่ไม่มีโอกาสคอรัปชั่น ข้อเสียคือ มันค่อนข้างวุ่นวาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวสมาชิกสภาบ่อยมาก แต่ซาปาติสตาก็ใช้ระบบนี้มาแล้วกว่า 2 ปี
รายได้หลักของเอ็มเอสที มาจากการระดมทุนภายในถึง 90 กว่าเปอร์เซนต์ โดยสมาชิกจะต้องบริจาค 1 % ของรายได้จากการขายผลผลิตให้กับองค์กร บริจาคอีก 7 % จากเงินกู้ที่ได้จากรัฐบาลเข้าองค์กร รวม ทั้งในกลุ่ม 10 ครอบครัวจะต้องดูแลรับผิดชอบอาหารการกินและการทำการผลิคของครอบครัวนัก เคลื่อนไหวที่ต้องส่งมา 1 คน จากสมาชิกกลุ่ม 10 ครอบครัวนี้ ทำให้ในปัจจุบัน เอ็มเอสทีมีนักเคลื่อนไหวที่ทำหน้าที่แตกต่างหลากหลายตั้งแต่ การชุมนุมประท้วง การเข้ายืดที่ดิน การดำเนินกิจการการเกษตรของเอ็มเอสที เช่นสหกรณ์การเกษตร บริษัทเมล็ดพันธุ์และธุรกิจอื่น ถึง 25000 คนทั่วประเทศ
ในขณะที่ซาปาคิสตา เน้นการทำการผลิตแบบพึ่งตนเอง (self-reliance) มีรายได้มาจากทั้งการรับบริจาคจากองค์กรสนับสนุนจากภายนอก โดยมีการตั้งมูลนิธิที่ทำงานคล้าย NGO อยู่ภายนอกเขตปลดปล่อยและทำหน้าที่รับบริจาคเงินทุนสนับสนุน รวมถึงการใช้กำลังทหารเรียกค่าคุ้มครองจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำสัมปทานในเขตบริเวณใกล้เคียงเขตปลดปล่อยของซาปาติสตา
เป้าหมายการต่อสู้ในปัจจุบันของเอ็มเอสที อยู่ที่การต่อสู้กับทุนนิยมโลก เอ็มเอสทีเรียนรู้ว่า ถึงเม้คนไร้ที่ดินจะสามารถยึดที่ดิน มีที่ดินเป็นของตนเองแล้ว แต่พี่น้องเอ็มเอสทีก็ยังยากจนอยู่ เนื่องเพราะโครงครอบด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของบราซิล ยังกดทับให้คนจนยังจนต่อไป เป้าหมายการยึดที่ดินตั้งแต่ปีที่แล้วของเอ็มเอสทีจึงพุ่งเป้าไปที่ที่ดินของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น มอนซานโต้ คาร์กิจ และซินเจนต้า
ในขณะที่เป้าหมายการต่อสู้ของซาปาติสตา ยังอยู่ที่รัฐบาลในระดับชาติเม็กซิโก แต่ในปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางนอกเขตปลดปล่อยของตนเอง โดยเฉพาะการเดินทางออกไปทั่วประเทศเม็กซิโก เพื่อเชื่อมร้อยกลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ ในประเด็นที่แตกต่างกันทั่วเม็กซิโก ให้ได้รู้จักกัน่และช่วยเหลือกันในยามที่เดือดร้อน รวมถึงการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า the other campaign ซึ่งแทนที่จะรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งเหมือนที่นักการเมืองเม็กซิโกกำลังทำอยู่ แต่ซาปาติสตาเรียกร้องให้คนเม็กซิโกยุติการไปเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้คนเม็กซิโกมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลย
ซาปาติสตาและเอ็มเอสที มีบทเรียนร่วมเรื่องข้ออ่อนในการทำงานจัดตั้งขบวนประชาชนที่คล้ายคลึงกัน ข้ออ่อนเหล่านี้ทำให้ขบวนประชาชนหลายแห่งในหลายประเทศทั่วโลกล้มเหลวมาแล้วมากต่อมาก เป็นหลักการที่เอ็มเอสทีและซาปาติสตายึดมั่นและให้ความสำคัญ
ประเด็นแรกคือ การต้องพึ่งพิงตนเอง (Autonomy) ของขบวนประชาชน ขบวนประชาชนจะต้องทำงานบนพื้นฐานที่เป็นอิสระจากการแทรกแซง ของสามสถาบันหลักที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในละตินอเมริกา นั่นคือ สถาบันศาสนาได้แก่กลุ่มโบสถ์ สถาบันเอ็นจีโอ และสถาบันนักการเมือง ในละตินอเมริกาสามสถาบันเหล่านี้มีแนวโน้มเข้ามาแทรกแซงการทำงานของขบวนประชาชน ทำให้ขบวนประชาชนแตกแยก หวังพึ่งพิง และไม่สามารถกำหนดทิศทางของตนเองได้อย่างอิสระ ในประเด็นเอ็นจีโอ ในละคินอเมริการ ในช่วงสี่สิบถึงห้าสิบปีที่ผ่านมา ขบวนประชาชนถูกล้อมปราบอย่างหนักจนหายเงียบไป เกิดสุญญากาศ และเมื่อราวๆ สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อแนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ได้เกิดขบวนการเอ็นจีโอมากมายในละตินอเมริกา มีการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เอ็นจีโอได้ทำงาน และเพิ่งจะ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ที่ได้เกิดขบวนประชาชนที่แท้จริงขึ้นในละตินอเมริกา ในช่วงเริ่มต้น ขบวนประชาชนอ่อนแอและพึ่งพิงเอ็นจีโอ ช่วงต่อมา ขบวนประชาชนปรับตัวและมีความตึงเครียดกับเอ็นจีโอ แต่ในยุคปัจจุบันขบวนประชาชนทำงานร่วมกับเอ็นจีโอแต่มีความเข้มแข็งมากกว่าขบวนเอ็นจีโอ
ข้ออ่อนประการที่สองที่ทำลายขบวนประชาชนในอดีต คือลักษณะการนำของแกนนำขบวนประชาชน ต้องไม่เป็นแบบนำเดี่ยว หรือวีรชนเอกชน (Not Personalistic or Individualistic) ลักษณะการนำของขบวนประชาชนต้องเป็นแบบนำรวมหมู่ มีการหมุนเวียนคนขึ้นมาเป็นแกนนำตลอดเวลา ไม่ใช่แกนนำคนใดคนหนึ่งอยู่ในวาระยาวนานจนรอบรู้ไปเสียทุกสิ่งแต่แกนนำรุ่นใหม่ไม่ได้รับรู้อะไรเลย ในที่นี้หมายรวมถึงกองเลขาและที่ปรึกษาองค์กรประชาชนที่ไม่ควรอยู่ในวาระนานเกินไป ในกรณีของซาปาติสตา มีการหมุนเวียนกันขึ้นมาเป็นแกนนำสภา ทุกสองอาทิตย์ ซึ่งถือว่าบ่อยมาก เกือบจะเรียกได้ว่า ทุกคนมีโอกาสขึ้นมาเรียนรู้ระบบการนำ ถึงแม้จะโกลาหลในช่วงต้น แต่ก็คุ้มค่าในแง่การเรียนรู้ของสมาชิก ในส่วนของเอ็มเอสที ใช้ระบบตัวแทน 2 คนจากสิบครอบครัว แกนนำระดับชาติที่มีอยู่ 44 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งระบบ 2 คนจากทุกชุมชนนั้น ทำหน้าที่ในการตัดสินใจนโยบายต่างๆ ของขบวนเอ็มเอสที สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่แกนนำระดับชาติตัดสินใจ หากมีเรื่องโต้แย้ง ปัจเจกสมาชิกต้องนำเรื่องโต้แย้งกลับไปถกในกลุ่มพื้นฐาน 10 ครอบครัว และเสนอเรื่องโต้แย้งขึ้นมาตามตัวแทนสภาระดับต่างๆ สมาชิกแต่ละคนไม่สามารถเสนอตรงไปสภาระดับชาติได้ ในขณะที่เอ็นจีโอที่ก่อตั้งโดยเอ็มเอสที เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะมีอายุการทำงานได้ไม่เกินสองปีเพื่อป้องกันการผูกขาดข้อมูลและรอบรู้จนแกนนำชาวบ้านตามไม่ทัน
ประการที่สาม การไม่มีความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นแบบพึ่งพิงอุปถัมภ์ (Not Client- Patronage Relationship) ขบวนประชาชนจะต้องตรวจสอบตนเองว่า ขบวนจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องในลักษณะใด ในประสบการณ์ของเอ็มเอสทีและซาปาติสตา ความสัมพันธ์ที่พึ่งพาทำลายขบวนประชาชนในอดีต
ประการสุดท้าย คือ ขบวนประชาชนต้องชัดเจนในเป้าหมายร่วมของขบวน (Ideological Clarity) ประสบการณ์ของเอ็มเอสทีคือ ขบวนประชาชนในหลายประเทศยังไม่มีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนในหมู่ประชาชนและสมาชิก หรืออีกความหมายคือไม่ได้มีการสื่อสารหรือให้การศึกษากับสมาชิกอย่างเพียงพอถึงเป้าหมายของขบวนประชาชน ในกรณีของเอ็มเอสทีเป้าหมายคือการต่อต้านระบบทุนนิยม (Anti-capitalism) การต่อต้านนี้จึงอยู่ในทุกรูปแบบของการให้การศึกษาทางการเมือง (Political Education) ของเอ็มเอสที เอ็มเอสทีให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาทางการเมืองกับสมาชิกพื้นฐานสูงมาก การเข้ามาร่วมขบวนเอ็มเอสทีของปัญญาชนและนักศึกษาโดยการเข้ามายึดที่ดินร่วมและเป็นสมาชิกร่วม ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดอำนาจในเอ็มเอสที เนื่อง จากสมาชิกชาวนาพื้นฐานของเอ็มเอสทีได้รับการให้การศึกษาทางการเมืองในเรื่อง ทฤษฏีการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับที่สูงมากในระดับที่เท่าเทียมกับปัญญาชนจน สมาชิกแยกไม่ออกว่าใครคือชาวนาและใครเป็นปัญญาชนมาก่อน กล่าวกันว่ากระบวนการให้การศึกษาทางการเมืองประกอบไปด้วยหลักสูตรสามัคคีวิจารณ์ (Self-criticism) ทฤษฏีการเปลี่ยนแปลงสังคมคลาสสิคและแนวคิดการเมืองของเอ็มเอสที และการทำการเกษตรยั่งยืนมีระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยสลับการอยู่ในห้องเรียนและการลงไปทำงานในชุมชนอย่างละเดือน ในเดือนแรกทุกคนต้องผ่านหลักสูตรจับกลุ่ม 10 คน สามัคคีวิจารณ์พฤติกรรมแกนนำที่ทำลายขบวนประชาชน แกนนำที่เข้าร่วมหลักสูตรส่วนใหญ่จะท้องเสียทั้งเดือนในเดือนแรกที่ต้องผ่านกิจกรรมสามัคคีวิจารณ์ เนื่องจากค้นพบว่าตนเองมีพฤติกรรมทำลายขบวนโดยไม่รู้ตัวและถูกกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีสิทธิโต้แย้ง ในส่วนทฤษฏีการเปลี่ยนแปลงสังคม เอ็มเอสทีมีภาคบังคับที่แกนนำทุกคนต้องศึกษาแนวคิดของมาร์กซ เลนิน สตาลิน เหมาเจ๋อตุง โฮจิมินต์ และแนวคิดของนักปฎิวัติอีกหลายคน ก่อนที่จะมาสู่การศึกษาแนวคิดทางการเมืองของเอ็มเอสที แม้แต่จะช่วงเดินขบวน ทำกิจกรรมร่วมต่างๆ เอ็มเอสทีจะมีการแจกวิทยุคลื่นสั้นเพื่อให้การศึกษาสมาชิกสลับกับรายการบันเทิงอย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมการให้การศึกษาสมาชิกจึงอยู่ในลำดับต้นของการทำงานขบวนของเอ็มเอสที
สำราญ ไม้หอม
เก็บความ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.