วิกฤตอาหาร ที่อาจนำไปสู่วิกฤตที่ดินและความมั่นคงของเกษตรกร
วิกฤตอาหารแพงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่คนทั่วไปไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิเคราะห์กลไกตลาดเสรีก็ไม่เคยกล่าวถึง หรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดวิกฤตอาหารแพงขึ้นมา น่าประหลาดใจที่ว่าลำพังภาวะธรรมชาติปรวนแปร และผลผลิตการเกษตรลดลงในบางประเทศ จะสามารถส่งผลสะเทือนกับวิกฤตอาหารโลกและประเทศไทยได้มากถึงเพียงนี้
ประเทศไทยเคยตั้งเป้าหมายการเป็นครัวของโลก ต้องการผลิตสินค้าและอาหารเพื่อป้อนให้กับสังคมโลก แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตอาหารแพงทั่วโลก คนไทยตาดำๆ ก็ต้องไปเข้าคิวซื้อข้าวสารราคาถูก ไม่ต่างกับประชาชนประเทศอื่นๆ ที่ผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอและเป็นประเทศผู้สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย
ถ้าไม่เกิดวิกฤตการณ์อาหารแพงในครั้งนี้ เราคงไม่ได้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกอาหารป้อนโลก แต่คนในประเทศของเรายังอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงและขาดแคลนอาหารในการ บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนและคนชั้นกลางในเมือง ที่มีรายได้ต่ำและฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคง พร้อมที่จะได้รับผลกระทบอย่างง่ายดาย เมื่อปริมาณอาหารลดลงและราคาสินค้าอาหารแพงขึ้น
เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงสองประการที่ว่า แม้ประเทศไทยจะมีปริมาณข้าวจำนวนมากส่งออกไปขายทั่วโลก แต่คนจนในประเทศไทย อยู่ในภาวะได้รับผลสะเทือนได้ง่ายในเรื่องความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก ถ้าราคาข้าวสารและสินค้าต่างๆ แพงมากขึ้นไปกว่านี้ เมืองไทยก็อาจตกอยู่ในภาวะที่คนจนจากหลากหลายสาขาอาชีพลุกขึ้นมาประท้วง เพราะไม่สามารถซื้อข้าวสารราคาแพงมาบริโภคในครอบครัวได้อีกต่อไป
ประการที่สอง วิกฤตอาหารครั้งนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ประเทศไทยเองไม่เคยได้วางระบบหรือมาตรการด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศไว้เลย เมื่อเกิดภาวะวิกฤต เราในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหาร ควรจะมีอาหารสำรองมากพอที่จะกระจายให้กับคนจนในประเทศ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ที่สำคัญเรากลับอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้เลย ต้องปล่อยให้กลไกตลาดเสรีทำงานส่งผลกระทบกับคนจนในประเทศ โดยที่รัฐบาลก็ยังหาวิธีช่วยเหลือคนจนจากกลไกตลาดเสรีนี้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงรู้สึกแปลกใจไม่ต่างจากผู้เขียนว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวไปขายแท้ๆ เราไม่ใช่ประเทศผู้นำเข้าข้าว อย่างประเทศฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย ทำไมคนจนในประเทศไทยถึงต้องกินข้าวราคาแพงด้วย ถ้าเรานำเข้าข้าวจากตลาดโลก ซึ่งมีข้าวซื้อขายอยู่จำนวนน้อย นั่นก็พอจะทำให้ผู้เขียนเข้าใจได้บ้าง แต่นี่เรามีข้าวอยู่เต็มประเทศ (ภาษานักเศรษฐศาสตร์ บอกว่า supply มีเหลือเฟือ) แล้วเราจะขายข้าวในประเทศให้แพง ให้คนจนในประเทศของเราเดือดร้อนกันไปทำไม ทำไมเราต้องเอาสวัสดิการของคนจนในประเทศไปแขวนไว้กับกลไกราคาตลาดโลก ทั้งๆ ที่ ข้าวที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้มาจากผืนนาในประเทศของเราแท้ๆ ไม่ได้มาจากตลาดโลกที่มองไม่เห็นเลย
อันนี้เป็นหลักคิดง่ายๆ ที่ผู้เขียนคิดว่าถ้ากลไกตลาดโลกดีจริง มันน่าจะทำให้เราขายข้าวในตลาดโลกได้ราคาดีขึ้น ชาวนาได้รับการกระจายรายได้มากขึ้น และเราคนไทยในฐานะผู้ผลิตข้าวก็ควรจะได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน คนไทยควรจะได้กินข้าวคุณภาพดีและราคาถูกกว่าที่อื่น
แต่ตอนนี้เหมือนกับว่ามือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาดโลก กำลังทำให้รัฐบาลไทยควบคุมอะไรไม่ได้เลย ต้องปล่อยให้ข้าวสารภายในประเทศราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด แล้วต้องไปหาเงินมาอุดหนุนช่วยเหลือคนจนให้มีเงินซื้อข้าวสารภายในประเทศกินในราคาที่แพงขึ้นด้วย
ผลกระทบล่าสุดจากวิกฤตอาหารแพง เศรษฐีน้ำมันจากตะวันออกกลางกำลังหวั่นวิตก ถึงความมั่นคงทางอาหารในประเทศตนเอง และอาจหมายรวมถึงการประเมินผลกำไรในอนาคตจากการลงทุนในบริษัทธุรกิจด้านอาหารและการเกษตร
ถ้าเศรษฐีน้ำมันพวกนี้สามารถกว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวหลัก รวมทั้งกว้านซื้อที่ดินในประเทศผู้ส่งออกข้าวในทวีปอื่นๆ ด้วย เช่น ปากีสถานและซูดาน พวกเขาจะสามารถควบคุมปริมาณผลผลิตข้าวในระดับโลก รวมทั้งกลไกราคาข้าวในตลาดโลกได้อย่างเบ็ดเสร็จ เหมือนที่พวกเขาสามารถควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกไว้ได้
วิกฤตข้าวแพงในวันนี้ จึงอาจนำไปสู่วิกฤตที่ดินอีกครั้งในอนาคตข้างหน้า เมื่อสินค้าเกษตรราคาแพง ที่ดินอาจถูกปั่นราคาให้แพงอีกครั้ง ชาวนาชาวไร่จะถูกกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ขายที่ดินให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ในบ้านของเรา
นี่เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า เราต้องมีมาตรการในการปกป้องความมั่นคงทางอาหารและภาคเกษตรกรรมของบ้านเรา รัฐบาลไทยจึงควรจะให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศ วางแผนให้ชัดเจนเพื่อที่ว่าพื้นที่เกษตรกรรมจะไม่ถูกรุกจากพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร เมืองใหญ่ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เราควรจะมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ชาวนาชาวไร่ สามารถรักษาพื้นที่ทำการผลิตของตนเองไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตที่ยังสูงเกินไป ประกันราคาผลผลิตที่เป็นธรรม หรือสนับสนุนการผลิตในระบบที่รักษาสิ่งแวดล้อม การวางมาตรการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้นสำหรับนายทุนที่กักตุนที่ดินไว้เปล่าๆ โดยที่ไม่ทำประโยชน์อะไร กระจายที่ดินออกไปให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินจริงๆ แต่ต้องการทำการผลิต รวมทั้งออกกฎเกณฑ์ห้ามนายทุนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทย หรือแม้แต่การออกกฎเกณฑ์ห้ามนายทุนในเมืองไทยถือครองที่ดินเกินกว่าที่รัฐกำหนด
การมีมาตรการที่ชัดเจนเหล่านี้ จะป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เคยเป็นที่เพาะปลูกพืชอาหารในบ้านเราตกเป็นของคนอื่น หรือถูกแปรสภาพไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช้เพื่อผลิตอาหาร รวมทั้งจะเป็นการกระจาย นำเอาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ไม่เคยได้ถูกใช้ประโยชน์อะไร นำกลับมาใช้ประโยชน์ เพาะปลูกพืชอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศหรือส่งออกไปขาย
การคุ้มครองความมั่นคงทางอาหารของประเทศเป็นเรื่องสำคัญเทียบเท่ากับการคุ้มครองความมั่นคงของประชาชน หวังว่าวิกฤตอาหารในครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนสติที่ดีให้กับรัฐบาล ให้หันกลับมาดูแลและมีมาตรการในการคุ้มครองภาคเกษตรกรรมและชาวไร่ชาวนาของไทยอย่างจริงจัง ก่อนที่ความมั่นคงทางอาหารของบ้านเราจะตกไปอยู่ในอุ้งมือของนายทุนธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
โดย...นรัญกร กลวัชร http://www.oknation.net/blog/landreformnetwork
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.