ท่านทราบหรือไม่?
o ประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์จากการเผาเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ และอุตสาหกรรมซีเมนต์ ถึง 277,511,000 ตัน / ปี เป็นลำดับที่ 23 ของโลก
o ป่าชุมชนบ้านกลางช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซค์จากรถยนต์ได้ถึง 22,891 คัน/ปี
o ป่าชุมชนบ้านกลางให้อ๊อกซิเจนบริสุทธิ์แก่คน 57,797 คน/ปี ในจังหวัดลำปางที่อยู่ใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์
บ้านกลางซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขามานานนับร้อยปี มารู้จักก็เมื่อตอนที่พิจารณาคัดเลือกรับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 9 กรรมการตัดสินก็ได้พิจารณาเห็นชอบให้ได้รับรางวัลประจำปี 2550
พวกเขาเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์อพยพ จากกาญจนบุรีมาราว 300 ปีแล้ว จนสุดท้ายลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ เขานับถือศาสนาคริสต์ มีโบส์ถประจำหมู่บ้าน เพิ่งจัดงานนมัสการฉลองครบรอบ 125 ปี เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2550
เมื่อเราเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านผ่านบ้านจำปุยใกล้ประตูผา ในใจนึกย้อนกลับไปเมื่อปี 2503 สมัยเป็นนักเรียนป่าไม้รุ่นแรกที่มาฝึกงานที่ห้วยทาก เลยศาลเจ้าพ่อประตูผาไปไม่กี่กิโลเมตร ต้องกางเต้นท์นอนริมฝั่งห้วยทากอยู่หนึ่งเดือน พวกเราได้ยินว่ามีชาวเขาอยู่บนเขาหลังเต้นท์นี้ รู้เพียงว่าเป็นหมู่บ้านเย้า บางวันสาวเย้าเดินผ่านหน้าเต้นท์ เพื่อไปซื้อของในตัวอำเภอ วันใดว่างงานเพื่อนบางคนขออนุญาตอาจารย์ไปเที่ยวบ้านเย้า ผมนั้นเดินขึ้นเขาลงห้วยไม่เก่ง ก็มักอาสาเฝ้าเต้นท์เสมอ
บ้านกลางตั้งอยู่ตรงรอยต่อ อำเภอแม่เมาะ กับอำเภองาว จังหวัดลำปาง สกิดใจมาก ๆ ก็ตอนพิจารณารางวัลลูกโลกสีเขียว คือในป่าชุมชนพวกเขาจัดทำหมู่บ้านสัตว์ป่าด้วย เพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าให้แพร่พันธุ์ อันได้แก่พวกเก้ง ไก่ป่า หมูป่า กระรอก กระต่าย เป็นต้น แนวคิดก็คล้าย ๆ กับวังมัจฉา ฝรั่งเรียกว่า พื้นที่อนุรักษ์ประกาศโดยชุมชน (Community Conserved Area หรือ CCA) บางประเทศถึงกับมีกฎหมายรองรับ โดยจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์อีกประเภท (Category) หนึ่ง เช่นในประเทศเนปาล โครงการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาของสหรัฐ (USAID) ก็สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้จัดทำ CCA ที่ว่านี้ เมื่อก่อนหมู่บ้านสัตว์ป่าของบ้านกลางนั้นอยู่ไกล ตอนหลังพวกเขามาทำใกล้หมู่บ้าน เพื่อดูแลได้ง่าย สัตว์ชุกชุมเพราะเป็นป่าไผ่
บริเวณแถบนี้ส่วนมากเป็นภูเขาหินปูน ที่ประตูผามีภาพเขียนสี อายุไม่ต่ำกว่า 3 พันปี เป็นภาพวาดคนและสัตว์เลี้ยง ดูแล้วคล้ายวัว แสดงว่ามีคนตั้งรกรากตั้งแต่สมัยโบราณ ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ จีงเกิดป่าไผ่ดาดดื่นอยู่แถวนี้
อากาศที่ลำปางช่วงนี้ ตอนกลางวันร้อนมาก ๆ แต่พอกลางคืนกลับหนาวเย็น เราวัดอุณหภูมิตอนกลางคืนได้ 12 องศาเซลเซียส คืนแรกใช้วิธีซักแห้ง คืนที่สองจำใจต้องสร้างวีรกรรมอาบน้ำก่อนนอน เพราะเดินขึ้นเขาลงห้วยมาทั้งวัน
มาป่าครั้งนี้ก็เพื่อเป็นผู้ช่วยนักวิจัยชาวบ้าน พวกเขาตั้งทีมวิจัยของหมู่บ้าน ประกอบด้วย เด็กนักเรียน เยาวชนวัยทำงาน พ่อแม่เด็กอายุไม่เกิน 40 ปี รวมกับคณะกรรมการป่าชุมชนด้วย ก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ ผู้ช่วยนักวิจัย (ตัวผม) คนเดียวที่อยู่ในรุ่น 7 อัพ (ครบ 70 เมื่อปลายปีที่แล้ว) จึงดึง คุณระวี ถาวร จากรีคอฟให้มาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย ลืมบอกว่า
ก่อนมาบ้านกลางได้ไปเที่ยวที่บ้านแม่อมกิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง เดินขึ้นลงภูเขาที่นั่น ปลายเท้าจิกตลอดเวลา เล็บเท้าช้ำสีคล้ำคล้ายจะหลุด อาจเป็นเพราะชอบใส่รองเท้าหลวม ไม่กระชับเท้า หมอที่กรุงเทพฯ ให้ยาแก้อักเสบ และแก้ปวดมากิน ทีแรกหมอจะถอดเล็บให้ แต่บอกหมอว่ายังถอดไม่ได้ เพราะต้องมาลำปางอีก มีนัดกับเขาไว้แล้ว
คืนแรกประชุมชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า หมู่บ้านมี 62 หลังคาเรือน 271 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน (รอบหมุนเวียน 7 ปีก็ยังมี) ทำนาตามที่ราบลุ่มริมเขา สวนมะแขว่น เลี้ยงสัตว์ หมู ไก่ หาของป่าบริโภค หน่อไม้ (ไผ่หก) น้ำผึ้งป่า ขายเป็นรายได้ ตั้งกองทุนหน่อไม้ เก็บเงินจำนวนหนึ่งมาทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่า มีกฎระเบียบการใช้ทรัพยากรในป่าชุมชนชัดเจน
ปี 2547 มีน้ำป่าไหลหลาก บ้านเรือนเสียหายฉับพลัน ชาวบ้านได้ตัดไม้ไปทำเสาเรือน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของหมู่บ้านแล้ว ถูกเจ้าหน้าที่มาจับดำเนินคดี ชาวบ้านไปมุงล้อมเจ้าหน้าที่ได้เจรจากัน ทำให้ยากต่อกัน นายอำเภอได้รับข้อมูลจากท่านปลัดถึงเรื่องชาวบ้านล้อมเจ้าหน้าที่นี้ ทางอำเภอตั้งกรรมการสอบ พบว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ มีกฎระเบียบการอนุรักษ์ชัดเจน และเคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ต่อมาจึงยกฟ้องเรื่องการล้อมจับเจ้าหน้าที่ ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่ารางวัลที่ได้ก็เหมือนยันต์กันภัย
ปี 2553 ก็โดนคดีฟ้องร้องว่าการทำไร่หมุนเวียนนั้นทำลายป่า และสิ่งแวดล้อมทำให้อากาศร้อนขึ้น ดิน น้ำ สูญหาย โดนคดีในแปลงรวม แต่ก็ยังเป็นคดีแห้ง ไม่มีบุคคลรับผิดชอบ หากชาวบ้านไปทำกิน ก็จะโดนคดีไปเลย ชาวบ้านที่ดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมแร้นแค้นอยู่แล้ว ยังต้องลำบากสับสนต่อไป
เราได้ให้ความรู้เบื้องต้นแก่นักวิจัยในคืนนั้น ถึงวิธีการสำรวจวัดต้นไม้ เพื่อเก็บข้อมูลคาร์บอนในต้นไม้ และไม้ไผ่ ตลอดจนพืชชั้นล่าง และในดิน เพราะชุมชนบ้านกลาง เขาต้องการศึกษารอยเท้านิเวศ (ecological footprint) อันเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้วัดควมยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรในชุมชน แม้จะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่หมู่บ้านก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์
เราได้วางแผนเก็บข้อมูลจากการใช้ประโยชน์ที่ดินทุกรูปแบบ โดยแบ่งทีมนักวิจัยเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มสำรวจวัดต้นไม้ วางแปลงตัวอย่างถาวร คาดสี ติดแผ่นเบอร์ต้นไม้ทุกต้นในแปลง กลุ่มเก็บข้อมูลพืชชั้นล่าง กลุ่มเก็บข้อมูลดิน และกลุ่มวัดอุณหภูมิทุก ๆ 2 ชั่วโมง ติดต่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ก่อนเลิกประชุมคืนนั้น ผู่ใหญ่บ้านได้ให้เครื่องรับส่งวิทยุ (วอ) ไว้ใช้งาน 4 ตัว เพื่อสั่งการตามกลุ่มต่าง ๆ
เช้าวันแรก รวมทุกคนมาทำงานร่วมกันก่อนในแปลงตัวอย่างในหมู่บ้านสัตว์ป่า เพื่อให้เข้าใจงาน ต้องเดินผ่านไร่หมุนเวียนขึ้นไปบนเขา อากาศเริ่มร้อนจนต้องถอดเสื้อหนาวพันเอว เหลือเสื้อยืดตัวเดียว ผมยอมรับว่าเป็นการสำรวจที่ขึ้นเขาลาดชันที่สุดที่เคยทำมา ยืนอธิบายต้องอาศัยหลังพิงต้นไม้ จะเดินจากมุมหนึ่งไปมุมหนึ่งของแปลงสำรวจนั้นยากมากเดินไปตามแนวขอบเขา ก็ลำบาก ต้องระวังเท้าพลิก การวัดต้นไม้ในที่ลาดชันค่อนข้างยุ่งยาก เที่ยงกว่าแล้วงานยังไม่เสร็จ ท้องเริ่มร้อง จะเดินลงไปกินข้าวที่ขนำข้างล่างแล้วกลับมาทำงานต่อ เล็บคงหลุดแน่ ๆ ผู้ใหญ่บ้านตัดสินใจวอลงไปสั่งอาหารให้นำขึ้นมาในป่า
พอหาที่นั่งหย่อนก้นได้ก็นั่งรอข้าวกลางวัน ปกากะญอคนหนึ่งตัดไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีกมาทำเป็นจานข้าวให้ มื้อนั้นมีน้ำพริก ปลากระป๋อง แคบหมู ผมได้รับเกียรติได้รับปลาทู 1 ตัว ข้าวเหนียวใส่มาในไม้ไผ่ผ่าครึ่ง มื้อนี้เป็นอาหาร 5 ดาว จริง ๆ ดีใจได้กลับมาใช้ชีวิตคนป่าไม้อีกครั้ง
ตอนบ่ายหลังเสร็จงานในหมู่บ้านสัตว์ป่า และป่าอนุรักษ์แล้ว เราไปเก็บข้อมูลในไร่หมุนเวียนปัจจุบันและในไร่เหล่าอายุ 3 ปี การเดินทางไปให้ถึงไร่เหล่าอายุ 3 ปี ยิ่งยากกว่าเมื่อตอนเช้าเสียอีก ต้องระวังกลัวฝ่าเท้าจะแพลง จนปกากะญอคนหนึ่งหันมาถามว่าอาจารย์หนักเท่าไร? ผมก็บอกว่า 65 กิโลกรัม แต่เขาก็เงียบไม่พูดอะไร เข้าใจได้ว่าคงเตรียมแบกกลับบ้านกันบ้างแล้ว
ค่ำคืนนั้นเรามีข้อมูลบางส่วนพอนำมาคำนวณเพื่อสรุปให้ชาวบ้านฟังวันพรุ่ง นี้ได้ เราได้ใช้ซอฟท์แวร์คำนวณคาร์บอนในป่าชนิดต่าง ๆ ได้ เด็กนักเรียน 5-6 คน ก็มาช่วยกันพล็อตกราฟ
เช้าวันที่สอง ทางทีมวิจัยตกลงกันว่าจะเก็บข้อมูลในไร่เหล่าอายุ 7 ปี ในระยะหลังไร่หมุนเวียนที่อื่นถูกทางการบีบให้หมุนเวียนสั้นเข้าเหลือเพียง 3 ปี คงจะเอาไร่เหล่าไปปลูกป่า เมื่อรอบหมุนเวียนสั้นทำให้ดินฟื้นตัวไม่ทัน มีวัชพืชมากขึ้น ชาวบ้านต้องหันไปใช้ยาฆ่าหญ้า และฆ่าแมลง เป็นหนี้เป็นสินกันถ้วนหน้า ทางทีมวิจัยเริ่มเห็นใจคนรุ่น 70 อัพ บอกว่าเช้าวันนี้อาจารย์ไม่ต้องไปพวกผมทำได้ มีปํญหาอย่างไรจะวอมาถาม ในใจคิดว่าเป็นงานวิจัยขั้นสูงที่สุดที่เคยทำ ทำงานบนเขา และใช้วอสั่งการ ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน
หลังทุกคนทำงานเสร็จเกือบบ่ายโมง และได้กินข้าวกลางวันแล้ว เราได้ถือโอกาศสรุปให้นักเรียน และเยาวชนฟัง ก่อนลาจากหมู่บ้านว่า :-
ป่าอนุรักษ์ 6,600 ไร่
หมู่บ้านสัตว์ป่า 1,025 ไร่
กักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินในต้นไม้ และไผ่ในป่าอนุรักษ์เฉลี่ย 33.8 ตัน/ไร่
ดังนั้นป่าอนุรักษ์ และหมู่บ้านสัตว์ป่า กักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินได้ 257,725 ตันC
ป่าใช้สอย 3,000 ไร่
กักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินเฉลี่ย 17 ตัน/ไร่
ดังนั้นในป่าใช้สอยกักเก็บคาร์บอนรวมได้ 51,000 ตันC
ทั้งป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอยรวมเก็บได้ = 308,725 ตันC
อัตราส่วนปริมาณคาร์บอนส่วนใต้ดิน = 0.26
ดังนั้นปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บใต้ดิน = 308,725 (0.26)
= 80,268.5 ตันC
ฉนั้น รวมปริมาณคาร์บอนบนดินและใต้ดิน = 388,993.5 ตันC
คิดเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ที่กักเก็บได้ = 388,993.5 (44/12)
= 1,426,310 ตันCO2
นักเรียนคนหนึ่งร้องถามว่า กักเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อไร?
จึงตอบว่า "ตั้งแต่บรรพบุรุษของเธอรักษาป่า นั่นแหละ" เขาอยู่ที่นี่มานาน ถ้าเขาเป็นพวกทำลายป่า ป่านนี้ป่าคงหมดไปนานแล้ว หากปีหน้าพวกเธอกลับไปวัดต้นไม้ที่คาดสีไว้ทุกต้น แล้วนำมาคำนวณใหม่ โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่ได้ให้ไว้กับหมู่บ้าน เธอก็จะรู้ปริมาณคาร์บอนในปีหน้า เมื่อนำมาลบกับของปีนี้ ก็จะรู้ว่ากักเก็บคาร์บอนได้เพิ่มปีละเท่าไร แล้วก็หาเป็นคาร์บอนไดออกไซค์ว่าต้นไม้กักเก็บไว้เท่าไรก็ได้ ตามวิธีที่อธิบายมานี้
แต่เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาจึงขอพูดต่ออีกนิดว่า ป่าเต็งรังขึ้นบนภูเขาหิน ทรายแห้งแล้งมีอัตราการเพิ่มพูนของมวลชีวภาพ (น้ำหนักแห้ง) ประมาณ 1.2% แต่ป่าดิบแล้งซึ่งชุ่มชื้นกว่า มีต้นไม้ขนาดใหญ่กว่า เช่น ตะเคียนหิน มีอัตราการเพิ่มพูนประมาณ 1.9% (Sangtongpraow and Sukwong, 1980) ป่าชุมชนของบ้านกลางเป็นป่าเบญจพรรณ มีลักษณะอยู่กลาง ๆ ขอประมาณว่า อัตราการเพิ่มพูนของมวลชีวภาพของป่าบ้านกลางราว ๆ 1.6% ไปพลางก่อน
ดังนั้นปริมาณคาร์บอนสุทธิเพิ่มพูน / ปี = 388,993.5 (.016)
= 6623.9 ตันC / ปี
คิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์ดูดซับได้ = 6623.9 (44/12)
= 24,310 ตันCO2 / ปี
รถยนต์ขนาดเล็ก (ใช้งานเดือนละ 375 กิโลเมตร) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 1.062 ตัน
ดังนั้นป่าชุมชนบ้านกลางช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์จากรถยนต์ขนาด เล็กได้ 22,891 คัน/ปี คิดเป็นปริมาณอ๊อกซิเจนที่ปลดปล่อยออกมา = 6623.9 (32/12)
= 17,663.7 ตันO2 / ปี
คนบริโภคอ๊อกซิเจน = 0.84 กิโลกรัม / วัน (อ้างโดย Nowak et al. 2007)
ป่าชุมชนบ้านกลางให้อ๊อกซิเจนแก่คน = 57,612 คน / ปี
แม้ว่าอ๊อกซิเจนในโลกยังมีเหลือเฟือ แต่อ๊อกซิเจนจากป่าเป็นอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์ โรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงงานไฟฟ้าถ่านหินใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ปลดปล่อยสารพิษมากมาย แม้ทางการจะพยายามแก้ไข แต่ก็เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ป่าไม้ยังช่วยดักฝุ่นจากเหมืองลิกไนท์ได้อีกมากมาย
คนบ้านกลางมีเพียง 62 หลังคาเรือน คนเล็ก ๆ เหล่านี้ได้ช่วยกันรักษาป่า ตามวิถีวัฒนธรรมเดิมของพวกเขานำหลักศาสนามาใช้อนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า อย่างเคร่งครัด บวชป่า ห้ามล่าสัตว์ป่า กองทุนหน่อไม้ ทำแนวกันไฟตลอดพื้นที่โดยรอบ จัดเวรยามเดินตรวจป่า และบุคคลภายนอกมาล่าสัตว์ ไร่หมุนเวียนที่ปล่อยให้ดินพื้นพักตัว 7 ปี ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเป็นการผลิตที่สะอาด (Clean Production Technology)
งานทำไร่นั้นเป็นงานหนัก แม้หน่อไม้ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 6 แสนบาท แต่เยาวชนคนหนึ่งเล่าว่า "อาชีพเก็บหาหน่อไม้ ก็มีเพียง 3 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาชีพใด ต้องออกไปรับจ้างแรงงาน" ถึงจะแร้นแค้นแต่พวกเขาก็ดูมีความสุขที่อยู่กับธรรมชาติ เขาจะสุขกว่านี้หากมีความมั่นคงในชีวิต ไม่ถูกคุกคามจากการประกาศพื้นที่อนุกรักษ์ซ้อนทับที่ดินทำกิน
ก่อนคณะของเราจะลาจากพี่น้องในตอนบ่าย มีแม่บ้านคนหนึ่ง เอาข้าวไร่ใส่ถุงพลาสติกเก่า ๆ ให้ 1 ถุง เมื่อมองตาเธอ แววตาเธอบอกถึงความซาบซึ้งที่มาช่วยเขา ข้าวไร่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งมีค่าที่เธอมีเป็นของฝากให้กับผู้มาเยือนได้ ผมขอบคุณเธอ เอาข้าวใส่ในกระเป๋าเสื้อผ้า ร่ำลาเสร็จเราก็เดินทางไปที่สนามบินเชียงใหม่
บ่ายมากแล้วที่เราเดินทางจากหมู่บ้าน เราทิ้งบ้านน้อยในป่าใหญ่ไว้เบื้องหลัง ในใจยังนึกถึงคำบอกเล่าว่าคนบ้านกลางได้ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินใน เขตป่าร่วมกับสมัชชาคนจนตั้งแต่ปี 2538 จนมีการเดินสำรวจทำรังวัดพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่ไร่หมุนเวียน กับเจ้าหน้าที่อุทยาน ผลการตรวจสอบพิสูจน์ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานระดับอำเภอแล้ว แต่กระบวนการต่อมาก็ยุติลงไม่ก้าวหน้าอันใด จนถึงปี 2547 พวกเขาขึ้นทะเบียนความยากจน ตามนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลสมัยนั้น ก็ไม่มีความคืบหน้าอันใดอีก ปี 2549 เข้าร่วมจัดการที่ดินโดยชุมชน ตามยุทธศาสตร์ของศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้ เพื่อเอาชนะความยากจน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีโครงการสร้างความหวัง แต่ในบั้นปลายทุกโครงการก็ไม่คืบหน้าอย่างใด แม้จะมีพระราชดำรัสในเรื่องคนรุกป่า หรือป่ารุกคน มานานหลายปีแล้ว ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนก็ยังคงเป็นปัญหาหมักหมมในสังคมไทยจนทุกวันนี้
บางครั้งรถของเราปีนขึ้นเขาชัน บางตอนก็ลงเขาที่มองเห็นตะวันต่ำลงเรื่อย ๆ ทางทิศตะวันตก พระอาทิตย์ก็ยังตกทิศทางเดิม แว่วยินเสียงไก่ป่า และนกร้อง เช่นเดิม ลมหนาวพัดมาอีกครั้ง ทำให้ตื่นจากภวังค์ ใจได้ทบทวนวันเวลาผ่านมา แล้วก็ผ่านไป พวกเขาตัวเล็กเกินไปใช่ไหม ไม่มีใครช่วยเหลือเขาจริงจัง ปัญหาที่ดินทำกินที่นี่เมื่อเปรียบเทียบปัญหานายทุนบุกรุกที่ป่าต้นน้ำที่ เกาะยาว อ่าวพังงา ที่เห็นมาก็ไม่เห็นมีใครฟ้องร้องค่าเสียหาย มันก็คงเป็นอย่างเดิม ๆ นั่นแหละ แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือปฏิรูปประเทศไทย ก็คงจะเหมือนเดิมเช่นเคย สุดท้ายนี้ก็ขอเพียงให้เราได้รับรู้ผลงานดี ๆ ของคนที่บ้านกลางแห่งนี้ ว่าเขาก็ช่วยโลกเราอย่างไร เผื่อมีใครไม่อยากเดินซ้ำรอยเท้าเดิมของผู้อื่น ช่วยอะไรเขาได้บ้าง
บทความโดยสมศักดิ์ สุขวงศ์
เอกสารอ้างอิง
Sangtongpraow, Suvit and Somsak Sukwong. 1980.
Economic assessment of forest resources in the SERS. Forest Research Bulletin No.76. December 1980.
Nowak D.J., R. Hoehn and D.E. Crane. 2007.
Oxygen production by urban trees in the United States. Arboriculture and Urban Forestry 33 (3): 220-226
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.