ตอนที่ ๓: ผลของคำพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด
บทความชิ้นนี้เป็นตอนที่ ๓ ต่อจาก ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมี คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และ ตอนที่ ๒: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดี ที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงิน
จากกรณีที่ศาลปกครองพิษณุโลกออกนั่งพิพากษาคดีระหว่างนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ – ๕ ตามลำดับ และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ในกระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณาคดีและคำพิพากษามีการ ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาและพิพากษาคดี ดังกล่าวของศาลในเวลาต่อมา
คดีนี้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘
๒. เพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
๓. เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ ป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๐๒.๔/๑๓๙๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑
๔. ขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง ๕ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว
ซึ่ง ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่กรณีในฐานะผู้ร้องสอด โดยนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดีมีคำขอมาพร้อมคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธี การเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว และมีคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้ม ครองชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ดังนี้
๑. ให้ระงับการดำเนินการใดในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาท
๒. ให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้
๓. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อไม่ให้ฝุ่น ละอองและเสียงที่เกินมาตรฐานรบกวน ก่อความรำคาญต่อชาวบ้านและชุมชน อีกทั้งกำหนดไม่ให้ทำให้เกิดสารพิษเจือปนในน้ำใต้ดินและลำคลองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างร้ายแรง
แต่ หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอในเรื่องการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทา ทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้ว (โปรดดูบทความตอนที่ ๑) ศาลได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปโดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เรียกเอกสาร ตรวจสอบสถานที่การทำเหมืองและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ตั้งคณะกรรมการพยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ (โปรดดูบทความตอนที่ ๒) ต่อจากนั้นศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี รวมทั้งบทกฎหมายและกฎที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วจึงได้ออกนั่งพิจารณาคดีเมื่อ วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และรับฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของตุลาการผู้แถลงคดีด้วยแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงที่รับฟังได้จากการออกนั่งพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว มีประเด็นสำคัญหลายประการควรค่าแก่การศึกษาของสาธารณชน
ศาลได้พิเคราะห์ ว่าคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดี หรือ นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ฟ้องรวมมาสองข้อหา คือ ข้อหาที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ออกประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ (ประทานบัตรพิพาท) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับประทานบัตรพิพาทแล้วได้ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ต้องปฏิบัติ
ในข้อหาที่หนึ่ง ศาลได้พิเคราะห์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้ดุลพินิจตามหลักปฏิบัติราชการเพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม และตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีภายใต้หลักเกณฑ์ของ กฎหมายที่ให้อำนาจในการออกประทานบัตรพิพาทขณะนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ โดยลำดับที่ ๒.๒ ของตารางในเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดให้เหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตทุกขนาด เป็นโครงการหรือกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมายให้เสนอ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดระบุว่าต้องใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการ ผลิต จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รู้หรือควรรู้ว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดเป็นโครงการหรือ กิจการตามประกาศดังกล่าวซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เพื่อให้การออกประทานบัตรพิพาทเป็นไปโดยชอบตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงชอบที่จะแก้ไขคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทเดิมโดยให้ผู้ร้องสอดจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพของโครงการเหมืองทองคำเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือว่าคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทไม่เป็นตามขั้นตอนอันเป็นสาระ สำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดูเหมือนว่าบทพิเคราะห์ของศาลตามย่อหน้าที่กล่าวมาดู ดีที่พิเคราะห์ว่าคำสั่งอนุญาตประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลก็ได้พิเคราะห์ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับข้อหาที่สองว่า ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้น ผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ความไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว เท่านั้น ดังนั้นประทานบัตรพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะถูกเพิกถอน ศาลจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามคำฟ้องข้อแรกว่า การที่ผู้ร้องสอดผู้ถือประทานบัตรพิพาท หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด กระทำการปิดกั้นและขุดทำลายทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในพื้นที่ประทานบัตร เพื่อนำแร่ทองคำและเงินใต้ถนนมาเป็นประโยชน์ของตน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิเคราะห์ว่า บทบัญญัติตามมาตรา ๖๓ และ มาตรา ๑๓๘ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ มิได้ห้ามผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ โดยเด็ดขาด ผู้ถือประทานบัตรสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตปิดกั้นทางสาธารณะจากเจ้าพนักงาน อุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ได้ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอดได้ทำการปิดกั้น หรือทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะในเขต ประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๐/๑๕๓๖๕ (หนึ่งในประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ) และที่ ๑๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ (หนึ่งในประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่อยู่ในคำฟ้องคดีนี้) โดยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตรได้เปรียบเทียบปรับ ตามมาตรา ๑๓๘ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๓ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตร ได้ออกใบอนุญาตปิดกั้น ทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะให้ผู้ร้องสอด ตามเลขที่ประทานบัตรที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งยังได้ออกใบอนุญาตทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางสาธารณะให้แก่ผู้ร้อง สอดซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ อีกด้วย และแม้จะถูกร้องเรียนจากชาวบ้านต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ หรือ อบต. เขาเจ็ดลูก ว่าผู้ร้องสอดได้ล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นและทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณ ประโยชน์ และ อบต. เขาเจ็ดลูกมีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ เปิดเส้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว แต่เมื่อประมวลพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงประกอบแล้ว เห็นว่า กรณียังไม่ถึงขนาดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท
ศาลได้พิจารณาปัญหาตามคำฟ้องข้อ ต่อไปว่า การที่ผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้สารพิษจากโลหะหนัก เช่น สารหนู และแมงกานีส ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินในระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของ ผู้ฟ้องคดีและชุมชนชาวบ้านเขาหม้อที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการทำเหมืองและการแต่งแร่อันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่ง อื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิจารณาปัญหานี้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงตามพฤติการณ์แห่งกรณีและ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเป็นสำคัญ ศาลจึงพิเคราะห์ว่า แม้การปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีสและปรอทในแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินอาจมีสาเหตุมาจากการทำเหมือง หรือการแต่งแร่ของผู้ร้องสอดก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดสามารถแก้ไขเยียวยาได้ โดยปรากฏว่าผู้ร้องสอดได้ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาความเสียหายตามคำแนะนำของ คณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอีกด้วย
จึง มีปัญหาให้ศาลได้พิจารณาในข้อสุดท้ายว่า แม้ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้ วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเท่านั้น และโดยที่เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประทานบัตรพิพาทเป็นเพียงการไม่ ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยดำเนินการให้ครบถ้วนในภายหลัง ประกอบกับความเสียหายจากการที่ผู้ร้องสอดทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืน กฎหมาย แม้อาจเป็นเหตุให้สารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส และปรอทปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาทดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้หากศาลจะเพิกถอนประทานบัตรพิพาทโดยให้มีผลทันที แล้วให้ผู้ร้องสอดกลับไปดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ครบถ้วนก่อน ย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่เพียงแต่ผู้ร้องสอด พนักงาน ลูกจ้างและคนงานของผู้ร้องสอดเท่านั้นที่ต้องรับความเดือดร้อนเสียหายอย่าง มาก แต่ยังกระทบต่อประโยชน์เกี่ยวข้องที่ชุมชนชาวบ้านใกล้เคียงเคยได้รับไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของผู้ร้องสอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อรายได้ที่รัฐต้องได้รับจากการประกอบกิจการของ ผู้ร้องสอดอีกด้วย
ในท้ายที่สุดศาลจึงได้มีคำพิพากษา ดังนี้ “พิพากษาเพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระ ทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก”
ผลของคำพิพากษา ในทางปฏิบัติจึงมีว่าหากปล่อยให้มีการทำเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในขณะที่ศาลสั่งให้มีการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือหากผู้ฟ้องคดีตัดสินใจอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองกลาง ก็จะส่งผลให้การทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ยังคงดำเนินต่อไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด นั่นย่อมทำให้สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ร่อยหรอหรือหมดลงไปได้ ซึ่งถ้าหากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มิสามารถจัดทำรายงาน EHIA ให้เสร็จสิ้นหรือไม่ได้รับความเห็นชอบภายในหนึ่งปีตามที่ศาลปกครองพิษณุโลก กำหนด หรือในกรณีที่ชาวบ้านเขาหม้อฟ้องอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองกลางแล้วคำ พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ออกมาว่าให้เพิกถอนประทานบัตรโดยไม่มีเงื่อนไข แต่การทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ได้ดำเนินไปจนทำให้สินแร่ร่อยหรอหรือหมดลงไป เมื่อนั้นศาลจะต้องมีคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง แร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง คำถามคือใครจะเป็นผู้ชดใช้ความเสียหาย ทั้งในแง่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ สุขภาพอนามัยของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่เสียหายถูกทำลายไป ใครจะเป็นผู้ไล่เบี้ยยึดคืนสินแร่ทองคำและเงินที่บริษัทฯ ดำเนินการขุดเอาไปในระหว่างจัดทำรายงาน EHIA หรือในระหว่างดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
ซึ่งตามความเป็นจริง แล้ว การปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแผนการทำเหมืองของบริษัทฯ เลย เนื่องจากว่ายังมีประทานบัตรอีก ๔ แปลง มาทดแทนการทำเหมืองได้ โดยประทานบัตร ๔ แปลงดังกล่าวเป็นประทานบัตรที่อยู่ติดกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประทาน บัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง รวมเป็นทั้งหมด ๙ แปลง เรียกรวมกันว่าแหล่งแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยใช้สันปันน้ำของเขาหม้อซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรพิพาทเพียงแค่ ๕ แปลง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรก็เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของเขตอำนาจศาลและเขต การเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ของตนเองจะข้ามไป ที่ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ไม่นำประทานบัตรอีก ๔ แปลง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เดียวกันคือแหล่งทองคำชาตรีเหนือ อยู่ในอีไอเอฉบับเดียวกันและได้รับประทานบัตรพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มารวมไว้ในคำฟ้องด้วย แต่ถ้าไม่มีมาตรการสั่งให้หยุดการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือระหว่างรอคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลาง อาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทฯ จะปรับแผนการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินโดยมุ่งทำเหมืองในส่วนของแปลงประทาน บัตรพิพาท ๕ แปลงก่อน เพื่อต้องการให้ผลของคำพิพากษาไม่เกิดผลในทางปฏิบัติใด ๆ เนื่องจากว่ากว่าที่การจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือผลพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลางจะแล้วเสร็จ สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ก็ร่อยหรอหรือหมดสิ้นลงไปแล้ว
ในส่วนของความช่วยเหลือจากหน่วย งานราชการของรัฐต่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เตรียมการไว้แล้วหากว่าชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อตัดสินใจไม่ยื่นฟ้องคดีนี้ ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางต่อไป คาดว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ อีก จะดำเนินการช่วยเหลือบริษัทฯ โดยทำหนังสือยื่นชี้แจงต่อศาลปกครองพิษณุโลกและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกแต่อย่างใด เนื่องจากว่าในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัทฯ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยนั้นไม่ได้ใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต ตามข้อ ๒.๒ “เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ associated mineral)” ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ อย่างที่ศาลเข้าใจแต่อย่างใด แต่การใช้สารไซยาไนด์จะใช้เฉพาะในกระบวนการแต่งแร่หรือถลุงแร่ในโรงงานประ กอบโลหกรรมเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามข้อ ๕.๓ “อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี” ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่มีกำลังการผลิตทองคำ ๘,๐๐๐ ตันต่อวันในปัจจุบัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน อยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ (Public Review) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยคาดว่าขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำร่างรายงาน EHIA เสนอให้กับ สผ. และ คชก. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯ ที่ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ว่า “บริษัทอัคราฯได้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แม้จะเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศดังกล่าวแล้วก็ ตาม เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทอัคราฯ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วพอสมควรคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภาย ในเวลาที่ศาลกำหนด” และสอดคล้องกับคำให้การตามฟ้องคดีนี้ของ กพร. ต่อศาลที่ระบุว่า “โครงการของผู้ร้องสอดมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศดังกล่าว แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประ กอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตัน ต่อวัน ขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศดังกล่าวที่จะต้องจัด ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแจ้งให้ผู้ร้องสอดดำเนินการตาม ประกาศดังกล่าวแล้ว”
ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสหรือสวมอีไอเอที่แนบเนียนมาก โดยเอารายงาน EHIA ในส่วนของการขยายโรงประกอบโลหกรรมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำและเงินเป็น ๓๒,๐๐๐ ตัน ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ที่ใกล้จะเสร็จแล้วมาสวมในส่วนของการทำเหมืองแร่ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ต้องการให้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตทองคำสองฉบับด้วยกัน คือทั้งในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำฉบับหนึ่งและโรงถลุงแร่หรือแต่งแร่ ทองคำอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากเห็นพิษภัยรุนแรงจากอุตสาหกรรมผลิตแร่ทองคำที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวน การผลิตและอาจทำให้สารหนูและโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ในสภาพธรรมชาติเกิดความเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของ มนุษย์ขึ้นได้จากผลการระเบิดเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมือง (โปรดดูรายละเอียดในประเด็นนี้ในบทความตอนที่ ๒)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ จะช่วยเหลือบริษัทฯ โดยการฉวยโอกาสนำอีไอเอในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่ม กำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน มาสวมใส่ในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี เหนือที่มีแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องในคดีนี้รวมอยู่ด้วยหรือไม่ ชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองระมานและหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกับหมู่บ้านเขาหม้อก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง พิษณุโลกอีกหนึ่งคดีแล้ว กรณีที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อสร้างโรงงานดังกล่าวใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วแต่มาดำเนินการจัดทำ รายงาน EHIA และขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลหรือการขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขอผลิตทองคำจากกำลังการผลิต ปัจจุบันที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน มาเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้ทำการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายเกือบเสร็จหมดแล้ว รอเปิดระบบเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เรื่อยมาโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น เข้าทำนองก่อสร้างไว้ก่อนขอใบอนุญาตตามหลัง หรือเปรียบได้กับการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ใบอนุญาตที่จะต้องได้รับก่อนเพื่อนำมาขอก่อสร้างโรงงานส่วนขยายมีสอง รายการ คือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกรมโรงงาน แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทั้งสอง นั่นหมายความว่าขณะนี้บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานส่วนขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต
การกระทำของบริษัทฯ ได้สร้างความสับสนเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องอันเป็นสาระสำคัญ ตามที่กฎหมายกำหนดต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการดำเนินการที่สลับกลับหัวกัน ก็คือขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขยายกำลังการผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้จัดเวที Public Scoping หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ และ Public Review หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม และ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาตามลำดับ ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะปรับปรุงร่างรายงาน EHIA ให้สมบูรณ์และนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ต่อไป เพื่อจะได้นำรายงาน EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบมาอ้างความชอบธรรมในภายหลัง แต่สิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันกับการจัดทำรายงาน EHIA ก็คือปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนประเภท ๒.๒ กิจการทำเหมืองแร่หรือแต่งแร่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๙๗๘(๒)/๒๕๕๓ ทั้ง ๆ ที่มีความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานผลการตรวจสอบที่ ๖๗/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาข้อ ๔.๔ ว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณางดการส่งเสริมการลงทุน จากบริษัทต่างชาติในกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ดำเนินการในประเทศไทย ภายในเวลา ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้ แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอตอบข้อซักถามนี้เมื่อคราวที่คณะ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกมาชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่าไม่ได้ออกบัตรส่งเสริมในส่วนของ ‘การทำเหมือง/เหมืองแร่’ แต่ออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของ ‘โรงงานถลุงแร่’ หรือโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำเพิ่มเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน เท่านั้น
แต่ประเด็นที่จับเท็จได้ก็คือในเงื่อนไขบัตรส่งเสริม ระบุว่าบริษัทฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้าน โครงการเหมืองแร่ (คชก.) ในด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใน ๖ เดือน นับแต่ออกบัตรส่งเสริม จึงทำให้บริษัทฯ นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ (EIA ชาตรีเหนือ) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สผ. และคชก. เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ มาสวมหรือเป็นข้ออ้างต่อบีโอไอเพื่อบิดเบือนออกบัตรส่งเสริม ให้แก่บริษัทดังกล่าว กล่าวคือรายงาน EIA ชาตรีเหนือฉบับนี้เป็นรายงาน EIA ในส่วนของการขอขยาย 'การทำเหมือง/เหมืองแร่' เพื่อรวมการทำเหมืองแร่ทองคำจากแหล่งชาตรีกับแหล่งชาตรีเหนือเข้าด้วยกัน ไม่ใช่รายงาน EIA หรือ EHIA ในส่วนของการขอขยาย 'โรงงานถลุงแร่ทองคำ' หรือโรงงานประกอบโลหกรรมแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนออกบัตรส่งเสริมแบบผิดฝาผิดตัว
สิ่งที่บีโอไอ ผิดพลาดก็คือถึงแม้จะอ้างว่าออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของโรงงานถลุงแร่ก็ตามก็ไม่พ้นที่จะต้องนำสินแร่จากส่วนของการทำ เหมืองแร่มาป้อนแก่ส่วนโรงงานอยู่ดี แต่บีโอไอไม่สนใจว่าจะนำสินแร่มาจากที่ใดหรือจะเกิดปัญหาหรือผลกระทบอย่างไร ต่อประชาชนจากการที่ต้องทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเพื่อป้อนสินแร่เข้าสู่โรงงาน เพราะบีโอไอบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องคำนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อน่าห่วงกังวลก็คือการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายจะส่งผลให้ต้องทำเหมืองแร่ ทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาคือต้องใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ ปริมาณสินแร่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปป้อนโรงงานถลุงแร่ และเมื่อใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นแรงสั่นสะเทือน เสียง ฝุ่นละออง มลพิษจากการระเบิด การขนส่งสินแร่ป้อนโรงงาน การใช้ไซยาไนด์แยกแร่ สารหนูตามสภาพธรรมชาติถูกกระตุ้นจากการระเบิดเปิดหน้าดินส่งผลให้เกิดการ แพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดินและแหล่งน้ำในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่ง แวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
เนื่องจากแร่ทองคำเป็นชนิดแร่ที่มีอยู่ จำนวนน้อยมากในประเทศไทยหากไม่กำกับดูแลหรือวางนโยบายการสำรวจและทำเหมือง แร่ทองคำให้ดีจะทำให้ประชาชนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใดเลย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านหนองระมานและเขาดินยื่นฟ้องต่อศาล ปกครองเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เพราะหวั่นเกรงว่าหากบริษัทฯ สร้างโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำสูงจากปัจจุบันอีก สามเท่าตัว ผลกระทบด้านต่าง ๆ จะลุกลามจากหมู่บ้านเขาหม้อมาที่หมู่บ้านของพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ
และ คาดว่าคงจะมีคดีปกครองเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำและโรงถลุงแร่ ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นคดีที่สาม สี่ ห้า เรื่อยไป จากอีกหลายหมู่บ้านโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรพิพาทที่อยู่ใกล้เคียงรายรอบหมู่ บ้านเขาหม้อตามออกมาอีกอย่างแน่นอนในเร็ว ๆ นี้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.